Vogue Dance & Life of Thai’s Voguer Sunya Phitthaya Phaefuang

GENDER – ART – POWER

มนุษย์ไม่ได้ใช้ศิลปะเป็นเพียงเครื่องจรรโลงใจหรือเพื่อความบันเทิงเท่านั้น หากแต่ใช้เพื่อแสดงตัวตน และเป็นเครื่องมือสื่อสารแสดงอำนาจ โดยอาศัยความวิจิตรงดงาม ความอลังการ ความประทับใจ ความเคลิบเคลิ้มหลงใหล ความเร้าใจ ฯลฯ ที่เกิดจากอำนาจศิลปะมาสร้างให้เกิดความเชื่อความศรัทธาและการยอมรับมาตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงปัจจุบัน

ประวัติศาสตร์โลกได้พิสูจน์ความจริงซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า การกล่อมเกลามวลชนให้เกิดความศรัทธาหรือการยอมรับถึงอำนาจด้วยกลไกแห่งศิลปะนั้น ทรงพลังยิ่งกว่าการทำสงครามหรือการบังคับขู่เข็ญ

ศิลปะที่เหนือกว่า ครองใจคนได้มากกว่า หมายถึงอารยธรรมที่สูงส่งและแข็งแกร่งกว่า

การแสดงออกเพื่อสื่อสารตัวตน สถานภาพ และทวงถามสิทธิเสรีภาพ เพื่อดำรงความหลากหลายทางเพศสภาพและเพศวิถี มีมากมายหลายวิธี ไม่ต่างกับการแสดงออกเพื่อสิทธิทางการเมือง การปกครอง ที่ล้วนต้องใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็นศิลปะการพูด การเขียน การแต่งกาย การออกแบบสถาปัตยกรรม การแสดง ภาพยนตร์ ดนตรี ฯลฯ

หากพิจารณากันด้วยชุดความคิดนี้ ย่อมไม่น่าแปลกใจที่ VOGUE DANCE จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางศิลปะที่ถูกใช้เพื่อสื่อสารสถานภาพและอำนาจของ LGBT ได้อย่างเกรี้ยวกราดและทรงพลังยิ่งนัก

VOGUE DANCE คืออะไร

ดิฉันรู้จักกับคำว่า “VOGUE DANCE” ครั้งแรกเมื่อได้คุยกับ “วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล” ศิลปินมากความสามารถซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม “พิช รักแห่งสยาม” โดยดิฉันปรึกษากับพิชว่า อยากให้ลูกชายซึ่งอยู่ในช่วงวัยรุ่น มีบุคลิกภาพที่ยังงงๆ ได้รับการฝึกฝนและพัฒนาให้เป็นคนที่มีบุคลิกภาพสง่างาม เพื่อสร้างความมั่นใจในตัวเอง ไม่ว่าเขาจะเลือกแสดงออกในเพศวิถีแบบใด และพิชได้แนะนำว่า มีเพื่อนของเขา ชื่อ ซัน เปิดคอร์สสอน VOGUE DANCE ดิฉันจึงตามเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมในเฟซบุ๊คแฟนเพจของ Tentacles Art Space ที่มีข้อมูลคอร์สของ ซัน และในเว็บต่างๆ เกี่ยวกับคอร์สดังกล่าว ได้ข้อมูลว่า

Vogue Dance คือเป็นการเต้นของกลุ่ม LGBT ที่เป็นคนผิวสี มีทั้งคนผิวดำและคนลาติน ในย่านฮาร์เล็มของมหานครนิวยอร์ค ช่วงปี 1980 การเต้นนี้มีวิวัฒนาการมาจาก the Harlem Ballroom Scene ในปี 1960 ทีนี้ก็มาหาข้อมูลต่อว่า Harlem Ballroom คืออะไร ก็ได้คำตอบว่า Ball Culture หรือ Ballroom Community นี้คือ อีเวนท์เฉพาะของกลุ่มคน LGBT ที่เปิดโอกาสให้แต่ละคนได้แสดงออกถึงแรงขับดันภายในที่ไม่อาจแสดงได้อย่างเปิดเผยในโลกภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกายอย่างวิจิตรอลังการ การเต้น การโพสท่า หรือแม้แต่การเดิน ที่นำไปสู่การประกวดประขัน การให้รางวัล ไม่ต่างกับการประกวดนางงาม หรือการได้โพสท่าถ่ายปกนิตยสาร ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงในยุคนั้น นอกจากจะไม่มีพื้นที่แสดงออกให้กลุ่ม LGBT อย่างเด็ดขาดแล้ว การเป็นเพศที่สาม สี่ หรือ ห้า จะไม่ได้รับการยอมรับในสังคมและเป็นสิ่งที่โดนดูถูกเหยียดหยาม ถูกรังแกมาโดยตลอด

การรวมกลุ่มของ LGBT ที่เป็นผิวสีในอีเวนท์เหล่านี้ก็จะเรียกเป็น House ต่างๆ ซึ่งคำว่า House ในบริบทนี้ นอกจากจะหมายถึงพื้นที่บ้านหรือครอบครัวในทางจิตใจที่อ้าแขนรับกลุ่มคน LGBT ที่มักถูกปฏิเสธจากครอบครัวหรือสังคมให้เข้ามาอยู่ร่วมกันด้วยความรัก ให้การยอมรับในตัวตน ยังหมายถึงแต่ละสำนักหรือชุมชนย่อยของสังคม LGBT ที่มีการดูแลซึ่งกันและกัน มีบุคคลที่เป็น “ตัวพ่อ-ตัวแม่” ของแต่ละบ้านคอยเป็นผู้นำที่ให้การดูแลและสั่งสอนสมาชิกในกลุ่มของตน เพื่อนำไปสู่การประกวดเมื่อถึงวาระของการจัด Vogue Ballroom ก็จะมีแต่ละ House ส่งสมาชิกของตนเข้ามาร่วมประชันความสามารถในด้านต่างๆ เช่น การแต่งกาย การเต้น การโพสท่า การเดิน ฯลฯ

แค่จุดเริ่มต้นก็เดาได้แล้วว่า เป็น Subculture ระดับใต้ดินของคนกลุ่มน้อยที่ถูกกดดันในสังคมอเมริกันอย่างมากเพราะในโลกของการเหยียดผิวเหยียดเพศ การเกิดมาเป็นเพศที่สามก็โดนกดขี่มากอยู่แล้ว ยิ่งเป็นคนผิวสีซึ่งมักถูกกดให้ต่ำชั้นสุดๆในโลกของคนผิวขาวเข้าไปอีก ยิ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่า คนกลุ่มนี้จะระเบิดความอัดอั้นตันใจออกมาผ่านศิลปะการแสดงได้เสียดแทงเพียงใด จึงเป็นที่มาของการเต้น Vogue Dance ที่ผสานท่าทางการโพสท่าอย่างนางแบบบนปกนิตยสาร Vogue ที่เรียกกันว่าการทำ Voguing ผสานกับแรงบันดาลใจจากท่าทางในจิตรกรรมฝาผนังอักษรภาพเฮียโรกลีฟิกของอารยธรรมอิยิปต์

จากที่มาและแรงบันดาลใจนี้ ทำให้เข้าใจได้ไม่ยากว่า VOGUE DANCE เป็นมากกว่าการเต้นรำธรรมดา แต่เป็นการแสดงออกถึงจุดยืนทางสังคม การเรียกร้องสิทธิในพื้นที่ต่างๆที่ LGBT โดยเฉพาะคนผิวสีมักถูกมองข้าม ไม่ว่าจะเป็นบนหน้าปกนิตยสารแฟชั่นชื่อดัง บนรันเวย์ของงานแฟชั่นวีค หรือแม้แต่ในจิตรกรรมฝาผนังยุคโบราณก็ไม่มีใครจารึกเรื่องของเขาเอาไว้ ความพยายามที่จะผงาดขึ้นมาสู่ความเป็น Mainstream ของวัฒนธรรม VOGUE จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงพลังแห่งความเคียดแค้น โกรธเกรี้ยว ในการทวงคืนเกียรติยศศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิเสรีภาพ ที่สังคมเคยปล้นชิงจากพวกเขากลับคืนมาในรูปแบบของการแสดงออกที่เข้มข้น ร้อนแรง สนุกสนานและมีสีสัน

SUNYA พิทยา แพเฟื่อง
ผู้นำกระแส VOGUE CULTURE ผ่าน VOGUE DANCE ในเมืองไทย

ซัน-พิทยา แพเฟื่อง เป็นนักเต้นที่ได้ร่ำเรียน VOGUE DANCE จากนิวยอร์ก และกลับมาเป็นศิลปินในพำนักที่เมืองไทย โดยระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน 2561 ที่ผ่านมา เขาได้เปิดสอนเวิร์คช็อป Vogue dance ที่ Tentacles ในเวิร์คชอปนี้ผู้เรียนจะได้เรียนรู้พื้นฐาน 5 อย่างของการเต้นโวคเฟม (Vogue femme) การใช้มือ, การเดินแคทวอล์ค, ดัควอล์ค, การเต้นบนพื้นและการดิพ

 

ดิฉันได้รู้จักกับซัน หรือ ซันย่า ในวันที่พาลูกชายไปเข้าคอร์ส Vogue femme โดนลูกชายบังคับแกมขอร้องให้เรียนเต้นด้วย และพบว่าเป็นการเต้นที่ใช้พลังอย่างมาก จนแทบต้องหามกลับบ้าน ประวัติของ ซันย่า ระบุว่า เขาศึกษาการเต้นร่วมสมัยและสมัยใหม่ที่ Oslo National Academy of the Arts และร่วมงานกับศิลปินและภัณฑารักษ์ชื่อดังมากมายเช่น พิเชษฐ์ กลั่นชื่น, Tang Fu Kuen, Daniel Kok, Cheng Ta Yu และ Jereh Leung เขาสนใจวัฒนธรรมโวคที่ถูกสร้างขึ้นในกลุ่ม LGBT ในนิวยอร์คและเข้าร่วมกลุ่ม House of Amazon ที่ถูกก่อตั้งโดย Mother Leiomy Maldonado โวคเกอร์ในตำนานของนิวยอร์ค หลังจากนั้นเขาได้เข้าร่วมการแข่งขันโวคในเอเชียและชนะในหลายการแข่งขันเช่น Virgin Vogue, Vogue femme dramatics, face, runway และ sex sirens

หลังจากดูประวัติและคุยกันวันแรก ดิฉันก็คิดเอาเองว่า ซันย่าคงเป็นเด็กลูกครึ่งจากบ้านที่มีฐานะดี ได้มีโอกาสไปใช้ชีวิตสนุกสนาน ได้เรียนเต้นที่เมืองนอก และกลับมาเปิดสอนเป็นศิลปินในเมืองไทยแบบเก๋ๆ สักพักก็คงได้เป็นคนดัง ตามครรลองลูกท่านหลานเธอทั่วไป แต่ผิดคาด…

เรื่องราวชีวิตของ ซันย่า พิทยา แพเฟื่อง กว่าจะประสบความสำเร็จใน Vogue Society มาถึงวันนี้ มีสีสันฉูดฉาดบาดใจไม่แพ้ประวัติศาสตร์การก่อกำเนิดของ VOGUE CULTURE  จนแทบไม่น่าเชื่อว่า เด็กหนุ่มที่เป็น LGBT และต้องผ่านชีวิตวัยเยาว์อันสาหัสอย่างเขาสามารถเปลี่ยนพลังแห่งความเจ็บปวดมาเป็นความสำเร็จและการหยิบยื่นแรงบันดาลใจที่ดีให้คนอื่นๆ ได้มากมาย

ซันเรียกตัวเขาว่า “เรา” แทนคำว่า ผม หรือ ฉัน

“เราเกิดที่พิจิตร แม่เราเป็นคนอำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ พ่อเป็นคนฝรั่งเศส แม่ทำงานที่พัทยา คนที่เลี้ยงเรากับน้องชายฝาแฝดคือพ่อใหญ่แม่ใหญ่ นามสกุลที่เราใช้เป็นนามสกุลของลุง เพราะพ่อกับแม่ของเราไม่ได้อยู่ด้วยกัน ย้ายไปอยู่นอร์เวย์ตอนอายุ 3 ขวบ แม่พาพวกเราไปอยู่กับสามีใหม่เป็นทหาร ก็เติบโตใช้ชีวิตที่นอร์เวย์จนถึงอายุ 24 ปี”

หากฟังผ่านการบอกเล่าเรื่องราวส่วนตัวของ ซันย่า ระหว่างปีที่ 3 ปี ถึงปีที่ 24 ของชีวิตแบบไม่เจาะรายละเอียด หลายคนคงนึกว่า ชีวิตวัยเยาว์ของเขาคงเหมือนเด็กทั่วไป แต่ความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น

“แม่เราอยู่กับสามีนอร์เวย์ 10 ปีแล้วก็แยกทางกัน มีน้องสองคนเป็นลูกของสามีใหม่ก็ไปอยู่กับพ่อเขา แม่ไม่มีเงินเลย และยังไม่สบายเกี่ยวกับ mental อยู่ได้ด้วยเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เงินในบ้านไม่พอ ตอนอายุ 13 เราต้องย้ายไปอยู่ Foster home ”

ปัญหาร้ายแรงในครอบครัวที่ทำให้แม่ของเขาไม่สามารถรับผิดชอบลูกๆได้ ทำให้ซันย่าและพี่ชายฝาแฝดในวัย 13ปี ต้องถูกแยกจากครอบครัวเดิมของเขาไปสู่การอุปการะของครอบครัวอุปถัมภ์

“เราเริ่มเปิดเผยว่าตัวเองเป็นเกย์ตอนอายุ 16 ตอนเข้าไฮสกูล ก่อนนั้นก็จะเป็นแนวผู้ชายที่น่ารัก อาจจะออกหญิงกว่าตอนนี้ แม่เราบอกว่า เขารู้มาตลอดว่าลูกชายเขาเป็นเกย์ ไม่เหมือนลูกชายคนอื่น ตั้งแต่เราอายุ 7-8 ขวบแม่เขาก็ซื้อบาร์บี้ดอลให้เล่น ตอนเด็กเราจะขี้อาย เป็นคนเงียบๆ ตั้งใจเรียน สุภาพเรียบร้อย เรียนเก่ง ตั้งใจอยากเป็นคนดี”

ฟังชีวิตวัยเด็กเศร้าๆของเขาที่น่าจะประชดชีวิตด้วยการแหกคอกไปทำอะไรแบบสุดขีดเหมือนวัยรุ่นทั่วไป แล้วอดสงสัยไม่ได้ว่า…ทำไมถึง อยากเป็นคนดี

“อยากเป็นคนดี เพราะเป็นความรู้สึกที่…มันใช่ มันเป็นความ Make sense สำหรับตัวเอง เราจำได้ว่า ทุกครั้งที่เรารู้สึกว่าสามารถทำอะไรได้ดีมาก การได้ทำดีกับคนอื่น มันทำให้เราแฮปปี้ ส่วนหนึ่งเพราะตอนที่โตมาเราก็ชอบดูคนอย่าง Oprah Winfrey, Ellen DeGeneres ซึ่งเราคิดว่าคนพวกนี้เขาทำดีมากกับโลกนี้ ก็รู้สึกว่าอยากเป็นคนแบบนั้นบ้าง”

“เราไม่เคยลืมช่วงนั้น แต่ไม่อยากคิดถึงมัน พยายามคิดถึงแต่ปัจจุบันว่า เราจะทำอะไรดีๆได้บ้าง มีคนแปลกใจเกี่ยวกับเราหลายคนเหมือนกันว่า เรื่องต่างๆในวัยเด็กที่เราผ่านมา น่าจะนำเราไปในทางที่ไม่ถูกต้อง แม้แต่คุณแม่อุปถัมภ์ของเราเองซึ่งทำงานช่วยเหลือเด็กจากครอบครัวที่มีปัญหามาหลายคน ก็ยังแปลกใจที่เรากับคู่แฝดไม่ได้เดินทางผิด ไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ไม่ดูดบุหรี่ ไม่ลองดื่มเหล้าก่อนอายุสิบแปด เพราะส่วนมาก เด็กที่มาจากครอบครัวที่พ่อแม่ไม่ได้เลี้ยงดีมากก็มักจะเดินไปในทางหนึ่ง ส่วนเรากลับมาอีกทางหนึ่ง ก็คิดว่า เหตุผลหนึ่งอาจจะมาจากการที่เราเป็นเด็กเอเชียนะ เพราะเด้กเอเชีย น่าจะทนได้มากกว่า มีความแตกต่างในเรื่องของ Mindset ในขณะที่เด็กนอร์เวย์อาจจะไม่อดทนทางอารมณ์ได้เท่าเรา อันนี้ดูจากน้องชายต่างพ่อของเราที่ต้องไปอยู่ Foster Home เหมือนกัน ซึ่งพวกนั้นเขาจะไปดูดบุหรี่ กินเหล้า มีชีวิตที่ไม่ค่อยดี จากที่เคยคุยกับบางคนซึ่งเป็นคนนับถือศาสนาพุทธ เชื่อเรื่องกรรม เขาบอกว่า อาจเป็นเพราะชาติก่อนเราเป็นคนดี ชาตินี้ก็เลยเป็นคนดี ทำในสิ่งที่ถูก น่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ตอนเด็กเราเลือกที่จะเดินไปในทางที่ถูกต้องได้”

 

SEXUALITY IS SOMETHING WE MADE UP

นอกจากความยากลำบากในชีวิตครอบครัว ความเป็นเกย์ก็ดูเหมือนจะเป็นอีกหนึ่งความท้าทายในชีวิต แต่ซันย่ามีทัศนะต่างไปจากที่เราคาดไว้

“เพศเป็นอะไรที่เราไม่ได้นึกถึงเลย และยิ่งทำให้เรามีความ Open minded เยอะขึ้น เราไม่ได้คิดเลยว่าการเป็นเกย์มัน Define who you are สมัยเป็นเด็กเรามีท่าทีดูเป็นผู้หญิงมากกว่านี้ แต่พอโตขึ้น เราถามตัวเองว่า เราจะแสดงท่าทางแบบนั้นไปเพื่ออะไร ออกหญิงน้อยลง มีความ Neutral มากขึ้น บางทีเราคิดว่ามันเป็นเรื่องของสตินะ เมื่อไหร่ที่เรามีสติ อยู่กับตัวเองจริงๆ เราจะลดท่าทางเป็นหญิงน้อยลง ภาวะความหญิงหรือเป็นชายในตัวเอง จะมีความ Balance มากกว่า และทำให้เรารู้สึกว่า จริงๆแล้ว ท่าทางที่เป็นหญิงนั้นเป็นแค่ Performance”

“การแสดงท่าทีออกหญิงมากๆของ LGBT นั้น ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากความไม่เป็นตัวเอง อาจจะไม่มีสติ และส่วนหนึ่งอาจจะมาจิตวิญญาณ คนเป็นเกย์บางคนก็ไม่ออกหญิงเลย ทำตัวเหมือนผู้ชายแท้ แต่ก็มีผู้ชายแท้หลายคนที่มี Femininity เยอะ อย่างเวลาไปญี่ปุ่นหรือเกาหลี ก็จะพบผู้ชายที่ออกหญิงมากกว่าที่ยุโรป น้อยมากนะที่เราจะเห็นผู้ชายในยุโรปที่จะไขว้ขา หรือเวลาขำแล้วจะยกมือป้องปากแบบผู้หญิง”

“ในทัศนะของเรามองว่า Femininity กับ Masculinity มันเป็น Gender ไม่ใช่เป็น Sexuality การแสดงออกในเรื่องท่าทางอาจเป็นแค่ Expression หรือเป็น acting หรือใครที่ทำท่าทางแบบนั้นมาโดยธรรมชาติ มันอาจมาจากจิตวิญญาณ อาจมาจากชีวิตในชาติก่อนที่เราเป็นแบบนั้นมาก็ได้ เราเชื่อของเราว่า สุดท้ายสิ่งที่เหลืออยู่ของเราทุกคนก็แค่จิตวิญญาณ”

“เราเคยไปทำกิจกรรมเกี่ยวกับ Vogue Culture ที่ญี่ปุ่นเมื่อปีที่แล้ว ก็มีผู้หญิงมาสัมภาษณ์เรา แล้วเค้าก็เซอร์ไพรส์ว่า ไม่เคยเจอเกย์ที่จะพูดอะไรเกี่ยวกับ LGBT ในลักษณะนี้ เพราะคนที่ออกมาแสดงออกในแวดวง LGBT ส่วนใหญ่เขาก็จะออกมาในฐานะ Gays’ Right Activist ที่เรียกร้องให้ยกระดับสิทธิเสรีภาพของ Gay community ในขณะที่เราต่างจากคนเหล่านั้น เพราะเราไม่ได้ให้ Homosexuality define ตัวเรา

 

นับเป็นโชคดีนะที่เราอยู่ในประเทศไทยที่เปิดรับ Homosexuality แม้ว่าบ้านเราจะไม่มี Gay’s Right แต่เราก็ยังอยู่ได้ การกำหนดหรือเรียกเราว่า Homosexual นั้นเป็นแค่ Label

 

ความจริงแล้ว เราเป็นแค่จิตวิญญาณอิสระดวงหนึ่ง ในร่างกายของผู้ชาย ที่มาชอบผู้ชายเท่านั้นเอง เราเลือกไม่ได้หรอกนะว่าเราจะ attract กับ sex อะไร ตอนเราเกิดมาเราไม่ได้เลือกว่า เราจะเกิดมาในร่างกายแบบไหน ความเป็นร่างกายของชายหรือหญิง มันเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องของจิตวิญญาณ”

“สำหรับเราคิดว่า SEXUALITY IS SOMETHING WE MADE UP เป็นสิ่งที่ถูกสมมุติขึ้นโดยคน เช่นเดียวกับเชื้อชาติ สัญชาติ บ่อยครั้งที่เราแสดงออกท่าทางหญิงมาก เพราะเราเชื่อว่า เราถูก Labelว่าเป็นเกย์ เราก็เลยแสดงออกว่าเป็นหญิงมาก แต่พอเราไม่ยึดติดกับการสมมุติหรือการแบ่งแยกนั้นแล้ว เราเป็นตัวของตัวเอง ท่าทางที่แสดงเป็นหญิงมากๆก็ลดลงไปเอง คำว่า Femininity หรือความเป็นผู้หญิง จริงๆแล้วมันคือ Energy ชนิดหนึ่ง อย่างเวลาสอน Vogue Dance เราพูดถึงการ Bring out your Femininity ซึ่งของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน”

“เราสนับสนุน Women’s Right นะ ในทัศนะของเรามองว่า Feminism เป็นเรื่องทางร่างกาย ผู้หญิงควรมีสิทธิตามที่เหมาะสม แต่ที่จริงแล้วสังคมน่าจะมองทุกคนเท่าเทียมกันหมด”


Text & Photo: Wannasiri Srivarathanabul

 

 

You may also like...