อภิศักดิ์ สนจด

อภิศักดิ์ สนจด ผู้อำนวยการหอศิลป์ตาดู  จุดเริ่มต้นของหอศิลป์ตาดู และการเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของคุณ หอศิลป์ตาดู ได้ดำเนินกิจการในแง่มุมของศิลปะร่วมสมัยมา 10 ปีแล้ว คือ เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 โดยคุณ วิทิต ลีนุตพงษ์ กรรมการบริหารยนตรกิจ กรุ๊ป เป็นผู้ก่อตั้งร่วมกับคุณ คุณวนิช เมฆธนสาร เดิมเลยหอศิลป์แห่งนี้ตั้งอยู่ที่อาคาร พาวิลเลียน วาย แถวอาร์ซีเอ ซึ่งเป็นทั้งโชว์รูมรถ ร้านอาหาร แล้วก็ทำชั้นสองเป็นหอศิลป์ด้วย เรียกว่าเป็นการรวมสุดยอดงานออกแบบชั้นนำมาไว้ที่เดียวกันเลย ทั้งสุดยอดรถยนต์ อาหาร ไวน์ แล้วก็งานศิลปะ

ในระหว่างนั้นผมก็มีโอกาสได้ไปช่วยงานเป็นที่นี่เป็นโครงการๆ คือผมเรียนจบการบริหารวัฒนธรรม มาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พอจบมา…ในปี 2546 คุณ ลักขณา คุณาวิชยานนท์ ซึ่งก็เป็นรุ่นพี่ของผม และเป็นผู้อำนวยการหอศิลป์ตาดูในเวลานั้น ก็บอกว่า อย่าเพิ่งไปทำอย่างอื่นเลย มาทำที่นี่ก่อนไหม

พอดีในปี 2546 ทางยนตรกิจก็ได้เปลี่ยนสัญญาเช่าตึกพาวิลเลียน วาย ทางผู้บริหารเองก็ไม่ได้คิดจะยุบหอศิลป์แห่งนี้เลย คุยกันว่ามีตึกดีดีอยู่ มาดูหน่อยไหมว่าตึกไหนจะใช้ได้ เราก็เลือกตึกกัน โดยมีคุณลักขณาช่วยเลือกเป็นหลัก

ทำเลตรงถนนเทียมร่วมมิตร คือที่ที่เราเห็นว่าน่าจะเหมาะสม ตอนนั้นก็ได้ข่าวว่ามีเศรษฐีมาซื้อที่แถวๆนี้เยอะ (หัวเราะ) ศูนย์วัฒนธรรมก็อยู่แถวๆนี้ สยามนิรมิตก็จะเปิด แล้วก็มีโครงการของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ไร่ 35 หลังศูนย์วัฒนธรรม ก็คิดว่าตึกนี้น่าจะเป็นทำเลที่เหมาะสมในระยะยาวนะครับ แต่ในระยะสั้นอาจจะต้องขลุกขลักกันหน่อย ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

เราเห็นว่าโดยตัวพื้นที่เองมันค่อนข้างสวย ในแง่ของปริมาณ ก็คือความกว้างมันก็พอเหมาะ พอดี อันที่จริงมันใหญ่กว่าเดิม แล้วเราก็ได้งบประมาณจากยนตรกิจ มาปรับปรุงจากห้องที่เป็นออฟฟิศ เขากั้นเป็นห้องๆไว้ เราก็รื้อหมดเลย แล้วก็เปลี่ยนใหม่เป็นหอศิลป์ พอย้ายมาที่ใหม่ก็เริ่มผมเป็นคนดูแล ก็ประมาณปี 47 แล้วก็เริ่มแสดงนิทรรศการเรื่อยมา

การคัดเลือกผลงานศิลปะที่จะนำมาจัดแสดงที่ตาดู

ในระยะหนึ่งปี ถ้าหอศิลป์วางนิทรรศการไว้ในระยะนิทรรศการละสองเดือน ก็จะจัดได้ประมาณ 5-6 ครั้ง ถ้าเราสนับสนุนศิลปินเดี่ยวก็เท่ากับแค่ 6 คนเท่านั้น เราก็มามองว่า ใน 5-6 ครั้งนี้ จะแบ่งสรรพื้นที่และระยะเวลากันอย่างไร ในส่วนของคนทำงานอย่างผมเองก็ยึดหลักว่า นิทรรศการ 5-6 ครั้งนั้น แต่ละครั้งประมาณเดือนครึ่ง ไม่ต้องถึงสองเดือน แล้วในนิทรรศการ 5-6 ครั้งนี้ เราก็จะพยายามเอางานของศิลปินต่างชาติเข้ามาสักครั้งหรือสองครั้ง แล้วก็สนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่สักครั้งหรือสองครั้ง ส่วนครั้งหรือสองครั้งที่เหลือก็รับจากผลงานที่ศิลปินเสนอมา

แนวทางของงานที่จะนำมาจัดแสดง

ศิลปะร่วมสมัยทุกแขนงครับ ตรงนี้ต้องย้อนกลับไปว่า ในเรื่องของทัศนศิลป์ผมค่อนข้างที่จะมาทีหลังเป็นรุ่นน้องคนอื่นเขาหน่อย เพราะเนื้องานที่ทำมาโดยตลอดจะเป็นตัวงานเชิงวัฒนธรรมเป็นส่วนใหญ่ เช่น งานละครเวที งานคอนเสิร์ต งานดนตรี แบบนี้

แต่ผมมองว่าอันที่จริงงานศิลปะมันกว้างมาก ถ้ามองเป็นแง่ของงานศิลปกรรมมันจะมีหลายสาขา อย่างที่สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยแบ่งออกเป็น 9 สาขา พอผมมาทำตาดู เมื่อจะดีออกแบบห้องจัดแสดง เราก็มองว่ามันน่าจะมีพื้นที่ที่จะสามารถจัดกิจกรรมอื่นๆได้ เช่น เวิร์คชอปก็จะทำห้องเล็กได้ ฉายหนังก็ห้องเล็กได้ คอนเสิร์ตก็เล่นห้องใหญ่ได้ ละครก็เล่นได้ เป็นต้น ก็วางแผนไว้ว่าพื้นที่ของนิทรรศการในระหว่างปี ก็อยากจะให้มีงาน Performance สักสองงานที่เราจัดเอง หรือว่าไปร่วมกันกับคนอื่นเขา

สนใจละครเวทีตั้งแต่เมื่อไร และเริ่มต้นงานด้านนี้ได้อย่างไร

ผมคิดว่าเด็กมหาวิทยาลัยทุกคนที่ทำงานด้านศิลปะก็จะต้องเคยมีส่วนร่วมกับงานละคร ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง เด็กจุฬาฯ เด็กธรรมศาสตร์ก็อาจจะเคยเป็นทีมงานในงานละครเวที

ก็เหมือนกัน ผมก็เป็นหนึ่งในทีมงานละครสมัยก่อน ตอนไปทำกิจการกับพี่ๆที่ธรรมศาสตร์ ก็ได้ไปทำด้านการจัดการ เป็น Stage Manager บ้าง เป็นนักแสดงบ้าง หมุนวนกันไป จนกระทั่งได้มาร่วมงานกับศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแสงอรุณ ตอนประมาณปี 2539

ตอนนั้นแสงอรุณโดยอาจารย์ รัศมี เผ่าเหลืองทอง ทำคณะละครสองแปด ผมก็ไปเป็นทีมงานเ ซึ่งทำให้ ได้เรียน ฝึกทำละคร ฝึกช่วยกำกับ ฝึกจัดแสง ฝึกทุกอย่างเกี่ยวกับการละคร คิดว่ามันน่าสนใจดี วิธีการทางด้านละครมันเกี่ยวข้องกับองค์รวมในด้านการทำงานเกี่ยวกับศิลปะได้ดี

จนกระทั่งปี 2539 – 2540 พระจันทร์เสี้ยวการละครจะจัดทีมเพิ่มขึ้นมา ผมก็เข้าไปร่วมด้วย ทำหน้าที่ Producer และทำประชาสัมพันธ์ให้กับกลุ่มด้วย คืออยู่ที่พระจันทร์เสี้ยวนี้ก็ต้องทำทุกอย่าง เนื่องจากดำรงตนเป็นกลุ่มละครเล็กๆ ร่วมกับแสงอรุณ(หัวเราะ) ก็ต้องเป็นนักแสดงร่วมไปกับการจัดการด้วย

ความยากง่ายแตกต่างของการทำงานทั้งสองแขนง

ส่วนตัวผมชอบงานจัดการมากกว่าการแสดงนะครับ เป็นนักแสดงมันเหนื่อย(หัวเราะ) อันทีจริงก็ได้เอาวิธีการจัดการหรือวิธีคิดของการทำละครมาใช้กับการจัดการเหมือนกัน

สมมุติเราเป็นผู้ชมหนึ่งคนไปดูเบื้องหลังการทำงาน จะเห็นได้เลยว่า เบื้องหลังการทำงานละคร โอ้โห…ทีมงานใส่เสื้อทีมกันเต็มเลย บางทีจะมีรุ่นน้อง มีใครต่อใครมาช่วยเยอะ เพราะคนอยากทำละคร อยากสนับสนุนละคร แล้วเขาก็รู้ว่าเมื่อทำแล้วมันได้อะไร มันเกิดผลอะไร แต่พอเป็นนิทรรศการ ทีมงานค่อนข้างน้อย เพราะเสียงตอบรับ หรือสิ่งที่เขาจะได้มันช้าเร็วต่างกัน

ส่วนตัวผมเองก็พยายามจะผลักดันเรื่องอาสาสมัครของนิทรรศการ แต่ทีนี้นอกเหนือจากเรื่องค่าใช้จ่าย เรื่องเบี้ยเลี้ยงแล้ว มันก็ยังมีเรื่องของวิชาการที่จะนำมาให้อาสาสมัครได้พัฒนาตนเองขึ้นไปด้วย คนมาทำงานละครเพราะเขาสามารถพัฒนาตนเองขึ้นไปได้ อย่างเป็น Stage Team วันนี้ เขาแค่จัดเก้าอี้หรือยกอุปกรณ์ประกอบฉาก วันหน้าเขาก็อาจจะกลายเป็น Stage Manager ได้ เพราะรู้ว่า…มันจะเข้ายังไง มันจะออกยังไง หรือเป็น Costume วันหน้าเขาก็อาจจะพัฒนาฝีมือจะเป็นดีไซน์เนอร์ได้ เพราะมันเป็นสนามให้เราฝึกฝีมือ

ส่วนนิทรรศการนั้น เราก็มองว่ามันน่าสนใจมากที่จะเอาวิธีการ วิธีคิดเหล่านี้มาใช้เพื่อผลักดันหรือพัฒนาอาสาสมัคร เพื่อเป็นเวทีเพื่อให้เขาฝึกฝีมือในแบบของการจัดนิทรรศการ เช่นการเป็นภัณฑารักษ์ หรือ Exhibition desige หรือ Project Manager ของงานนิทรรศการ, งานศิลปะ, งานเทศกาล เป็นต้น

มันมีเสน่ห์ต่างกันหรือไม่ระหว่างงานทัศนศิลป์กับงานละคร

มันขึ้นอยู่กับคนชอบนะครับ เสน่ห์มันขึ้นอยู่กับคนรัก คนที่คลุกคลีอยู่กับสองวงการนี้มันก็จะเห็นเสน่ห์ต่างกัน คนที่สนใจหรือรักงานละคร ความประทับใจของเขามันก็อยู่ที่เมื่อมีการแสดงเกิดขึ้น แล้วมีผู้ชมเข้ามาชม ความสามารถในการรับส่งสารกันระหว่างสิ่งที่เขาทำกับสิ่งที่คนได้รับมันเกิดขึ้น แล้วสิ่งเหล่านั้นมันเป็นสิ่งใหม่ เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเขารับได้หรือรู้สึกได้ คนที่อยู่ในวงของการทำงานมันก็จะได้เรียนรู้ไปเรื่อยๆกับขบวนการที่เกิดขึ้น การแสดงกับการชม เพราะฉะนั้นมันก็จบ

แต่เสน่ห์ของงานนิทรรศการมันจะนิ่งกว่านั้น จะเงียบกว่านั้น เพราะงานนิทรรศการมันเป็นการสื่อสารทางเดียว คือเรียกร้องการเดินเข้าไปแล้วก็ชม แล้วก็ตีความผ่านสัญลักษณ์ที่ศิลปินแสดงออกมา แต่งานแบบนี้ศิลปินไม่ได้อยู่อธิบาย อยู่แต่ผลงาน เพราะฉะนั้นความลึกซึ้งหรือความประทับใจมันจะมีความต่างกัน มากน้อยตามแต่ผลงาน อย่างเราไปดูงานที่มันสะเทือนใจ เราก็จะรู้สึกว่างานนี้มันน่าประทับใจ บางทีก็ไม่ต้องมีศิลปินมาอธิบายก็รู้สึกประทับใจแล้ว

พัฒนาการของงานทั้งสองแขนง

ผมมองในส่วนของการจัดการนะครับ เพราะว่าในส่วนของเนื้อหาหรือรูปแบบคงไม่ได้เข้าไปพัฒนาด้วยแล้ว แต่ส่วนของการจัดการเรามีส่วนในการพัฒนาทั้งบุคลากร ศิลปิน เนื้อหา ไปจนถึงรูปแบบ อย่างในส่วนศิลปิน เราก็สามารถช่วยได้ถ้าหากคุณอยากจะพัฒนางานของคุณให้ไปอีกขั้น เราก็สามารถที่จะช่วยผลักดัน ช่วยจัด หรือช่วยหาคนมาพูดคุยพัฒนากันไป

หรือถ้าหากคุณอยากจะพัฒนางาน Conceptual Art ของคุณให้พัฒนาไปไกลยิ่งกว่านี้อีก เราก็จะหาคนมาเป็น Commentator หรือเอาผู้ชมมาเพื่อจัดกิจกรรมตอบสนองให้รู้ว่า สิ่งที่เขาทำออกมานี้มันใช่แล้วหรือเปล่า หรือสิ่งที่เราทำออกมาแล้ว สื่อสารออกมาแล้ว ผู้ชม ตีความแบบที่เราคิดไว้ แล้วมันดีไหม มันตรงไหม หรือมันไม่ใช่เลย คุณก็ต้องประเมินผล ซึ่งในส่วนนี้ถือเป็นส่วนของการจัดการที่ตัวผมเองทำอยู่ คือสิ่งที่พยายามจะทำอยู่

ในเรื่องของศิลปะการแสดงกับนิทรรศการนี้ ผมมองว่า มันเป็นกลุ่มที่แยกออกจากกันอย่างชัดเจน ที่ตาดูเราจัดงานทั้งสองแขนง กลุ่มคนที่รับงานของตาดูก็จะรู้ว่ามันมีงานละครนะ มีสัมมนานะ หรือมีนิทรรศการนะ ก็พยายามจะให้คนที่ทำละครหรือทำกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรมมาดูนิทรรศการบ้าง แลกเปลี่ยนผู้ชมกันบ้าง หรือเอาคนที่ดูนิทรรศการไปดูละครบ้าง ซึ่งตอนนี้ก็คงจะต้องบอกว่ามันยังเกิดขึ้นน้อย ไม่เยอะมาก คือมันยังไม่มีการแลกเปลี่ยนกันจริงๆจังๆในสองสาขา แต่จะเห็นได้ว่าในแง่ของการจัดการ ในหน่วยงานของรัฐเอง ตอนนี้ก็มีสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ค่อนข้างที่เข้ามามีส่วนร่วมในการให้การสนับสนุนในด้านเงินทุน ซึ่งในส่วนตัวผมคิดว่ารัฐจ่ายไม่ต้องเยอะ แต่คนทำงานไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการหรือละครสามารถเอาไปทำงานได้ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องดี เพราะที่ผ่านมาคนทำละครต้องทำเองหมดทุกอย่าง คือเป็นนักแสดงด้วย ตอนเช้าต้องมานั่นแฟกซ์เอกสารขอทุน แฟกซ์ให้นักข่าวตอนเย็น ตอนค่ำก็ต้องไปซ้อมละคร อะไรแบบนี้ ซึ่งมันเหนื่อยมาก

ที่ผ่านมาเราขาดคนที่จะมาทำงานจัดการแบบจริงๆจังๆ เพราะคนพวกนี้มองว่าทำงานละครแล้วมันอยู่ไม่ได้ ในขณะที่คุณเข้าไปทำงานในบริษัทจัด Event ได้งานที่มันใหม่สดเท่ากับการทำละครเลยเลย แต่คุณได้ผลตอบแทนมากกว่าเยอะเลย เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าคนทำ Event จะมีพื้นฐานจากงานละครเวทีเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นมันก็เลยทำให้วงจรตรงนี้มันไม่ครบ

แต่พอมีภาครัฐเข้ามาสนับสนุน มันทำให้คนทำงานมั่นใจขึ้น เพราะคิดว่าเมื่อมีคนเข้ามาทำการบริหารจัดการแล้ว มันก็มีแนวโน้มที่จะหาสปอนเซอร์ได้ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยอาจจะให้ให้สปอนเซอร์เป็นทุนพื้นฐานในการดำเนินการขั้นต้น อีกก้อนหนึ่งไปหาจากที่อื่นมาปะอีกนิดหน่อย ที่เหลือขายบัตร เพราะฉะนั้นคณะละครก็จะพอมีชีวิตอยู่ได้บ้าง ละครมันก็จะค่อยๆก้าวหน้าไป พอทำละครเรื่องนี้เสร็จ คนทำละครก็ไม่หยุดนิ่ง เพราะเขาก็อยากจะพัฒนาฝีมือเขาต่อ

มองว่าศิลปะกับสังคมยังสื่อสารถึงกันหรือไม่

ศิลปะมันไม่มีอะไรที่ดูรู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่องหรอกครับ แต่มันก็เป็นไปไม่ได้ ที่จะให้คนมาดูแล้ว ห้ามคิด ห้ามสงสัย ห้ามตั้งคำถาม เพราะตัวคนทำเองมันต้องคิดเผื่อ ถ้ามันยากเกินไปสำหรับผม ผมก็จะต้องมีคำอธิบายเลย อาจจะเป็นข้อความของคนทำงาน บางทีก็เป็นศิลปิน บางทีก็เป็นภัณฑารักษ์ เพื่อที่จะแปะอธิบายว่างานชิ้นนี้มันแปลว่าอะไร ซึ่งมันก็จะทำให้คนเข้าใจ แล้วยิ่งเป็นงานร่วมสมัย เป็นงานสมัยใหม่ บางทีเอาความคิดไปใส่ไว้ในภาพถ่าย ทีนี้ตอนำเสนอมันเสนอเฉพาะภาพถ่าย ความคิดมันอยู่ไกล มันต้องคิดเข้าไปในภาพ ต้องถึงหลายอย่าง เบื้องหลังของศิลปิน เหตุการณ์ในสังคม อะไรต่ออะไรอีก มันก็ทำให้คนดูนึกไม่ถึง พอนึกไม่ถึงก็จะดูไม่เข้าใจ พอไม่เข้าใจมันก็ไม่เห็นอะไร บางทีเราเชิญเพื่อนหรือคนที่สนใจมาชม เราก็ว่ามาดูนะงานนี้งานดี คำว่าดีของเรากับของเขามันต่างกันแล้ว คำว่าดีของเราก็อาจจะความคิดดี เขาเลือกมาดีนะ ดีของเขาก็อาจจะมันสวยตรงไหน คือมีมุมมองต่างกัน

หัวใจของการบริหารจัดการวัฒนธรรม

หัวใจของมันคือการอยู่ตรงกลางระหว่างศิลปินกับสิ่งที่ศิลปินอยากได้ คือเป็นตัวเชื่อมนั่นเอง มองในแง่ของผู้อำนวยการหอศิลป์ ผมมองว่าผู้บริหารจัดการวัฒนธรรมในแง่ของการทำงานนิทรรศการมี 2 คน คือ Curator กับ Director

ภัณฑารักษ์ หรือ Curator เป็นผู้คัดสรรค์งาน ผมถือว่า Curator เป็นศิลปินคนหนึ่ง ถ้าเขาไม่คิด Concept ไม่สร้างสรรค์มาก่อน งานนั้นก็ไม่สนุกพอ แต่ Curator ต้องคิด Concept ก่อน ว่าจะนำเสนออย่างไร แล้วค่อยเอาศิลปินมาประกอบในเรื่อง มันก็จะเกิดนิทรรศการที่น่าสนใจ และสนุกสนาขึ้นมา

แต่ในส่วนของผู้อำนวยการนั้น ทำหน้าที่อำนวยการ อำนวยความสะดวก ทำสิ่งที่คิดไว้ให้เป็นจริง ในขณะเดียวกันสำหรับศิลปินรุ่นใหม่ๆ เราจะพยายามอธิบายเรื่องการจัดการหรือเงื่อนไขต่างๆที่เกิดขึ้น อย่างเช่น เราทำงานนิทรรศการ เราก็จะอธิบายหมดเลยว่ามันมีอะไรบ้างที่ศิลปินแล้วก็หอศิลป์ต้องรู้ เช่น จัดอย่างไร มีเวลาเท่าไร ค่าใช้จ่ายเป็นยังไง สิ่งที่จะได้รับมีอะไรบ้าง คุณอยากได้ Catalogue คุณอยากได้โปสการ์ด คุณอยากได้หนังสือ สูจิบัตร เราก็จะคิดไปเลยว่า มันมีค่าใช้จ่ายพวกนี้เท่าไร ถ้าเกิดคุณมีเวลา เราก็อาจจะมาบริหารจัดการร่วมกัน

ผมคิดว่าเวลานี้ศิลปินทุกคนต้องมีวิธีคิด และระบบการบริหารการจัดการอยู่ในตัวเองบ้าง เมื่อถึงเวลาจะได้สามารถจัดการในแบบที่ตัวเองอยากทำได้ ถ้าเรามองศิลปินในฐานะบุคคล ศิลปินทัศนศิลป์โหดที่สุดนะครับ(หัวเราะ) เพราะเวลาที่จะจัดนิทรรศการหรือนำเสนอความคิดของตัวเอง คุณต้องทำคนเดียว ในขณะที่ศิลปินแขนงอื่น เช่น ผู้กำกับหนังมี Producer ที่จะขายงานให้ มีคนเขียนบท ผู้กำกับละครมี Producer , Stage Manager มี Project Manager ที่จะคอยจัดการเรื่องการซ้อม การจัดคิว อะไรต่าง ๆให้ แต่ศิลปินทัศนศิลป์ต้องแบกรูปออกมาจากบ้านเอง ต้องมานั่งดูเอง ต้องควบคุมเอง ทั้งหมด

แต่ในอนาคตศิลปินเหล่านี้ก็ต้องรู้จักการทำงานร่วมกับ Director หรือ Curator แล้ว ก็ต้องประสานกัน คุณบอกมาเลยว่าคุณมีความคิดอะไร เราก็จะบอกว่ามันควรจะเป็นอย่างนี้ไหม อย่างนั้นไหม คุยกันจนจบแล้วเราต่างคนก็ต่างทำหน้าที่แยกกัน คุณก็ทำงานของคุณไป เราก็ไปทำงานในส่วนของเรา หาสปอนเซอร์ได้เท่านี้ๆนะ ประชาสัมพันธ์อย่างนี้ๆนะ

ในแง่ของการบริหารจัดการวัฒนธรรม จะต้องมองภาพร่วมของวัฒนธรรมซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ต้องทำให้มันเคลื่อนที่ไปอย่างมั่นคง แล้วก็ไปพร้อมกันทั้งระบบ การบริหารจัดการวัฒนธรรมในบ้านเรามันยากตรงที่เมื่อคิดออกมาแล้วจะทำให้มันเป็นจริงได้ค่อนข้างยาก คนที่ทำงานด้านศิลปะหรือวัฒนธรรมส่วนมากก็มักจะมีอะไรในใจ แต่เมื่อคิดแล้ว จะทำอย่างไรต่อ จะเป็นอย่างไรต่อ การขับเคลื่อนมันค่อนข้างยาก เพราะว่าตัวงานด้านวัฒนธรรมมันไม่ได้ตอบโจทย์ของภาพรวมด้านธุรกิจของสังคม เมื่อไปเจอกับใครมันก็ต้องอธิบายเยอะ

ชีวิตของคนไทยกับวัฒนธรรมมันถูกเบียดบังด้วยกิจกรรมอย่างอื่น อิทธิพลของโฆษณามีผลอย่างมาก เสาร์-อาทิตย์นี้มีเอ็กซ์โปที่นั่นที่นี่ มีลดราคาที่ห้างนั้นห้างนี้ คนก็แห่กันไป มันทำให้ลืมงานในส่วนของศิลปวัฒนธรรม คือคนมันถูกแย่งไปทางอื่นกันเสียหมด

ผมก็เคยคิดกันเล่นๆว่าถ้าเรายกงานนิทรรศการเข้าไปอยู่ในที่เหล่านี้ เช่นเอางานนิทรรศการไปตั้งไว้ที่ โฮมโปร มันจะเป็นอย่างไร ผมว่ามันก็อาจจะออกมาสนุกดีนะ

สศร.

คืออันที่จริงมี สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยอย่างเดียวมันก็อาจจะน้อยเกินไป แต่ถ้าเราจะหวังพึ่งเขา และคาดหวังเขามากเกินไปมันก็เป็นการถ่ายภาระไปไว้ให้เขา ซึ่งจริงๆแล้วมันไม่ควร ตัวศิลปะเองควรจะขวนขวายเพื่อให้ตัวเองอยู่ได้ ในขณะที่ สศร.ก็อาจจะช่วยด้านพื้นฐาน เช่นการบริหารจัดการ วิธีคิด หรือการพัฒนาองค์รวม การแลกเปลี่ยนแนวคิดระหว่างกัน เช่นศิลปินกับศิลปิน ศิลปินกับคน ผมก็คิดว่าถ้าเราเชื่อว่าศิลปะมีความสำคัญกับชีวิต ภาครัฐในระดับใหญ่ก็ควรจะมีการจัดสรรอะไรมา เพื่อให้คนที่ทำงานศิลปะอยากจะดำรงตนอยู่เพื่อทำงานศิลปะอย่างแท้จริง
——————————————————————————–

ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

You may also like...