ลักขณา คุณาวิชยานนท์

น่าอุ่นใจแทนคนทำงานศิลปะ เมื่อวงการศิลปะในบ้านเราวันนี้มีศิลปินเกิดขึ้นมากมาย และมีพื้นที่ทางศิลปะเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว หลายปีที่ผ่านมาใจกลางมหานครที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คน แหล่งเสพความบันเทิงและศูนย์การค้า มีหอศิลปวัฒนธรรมกำเนิดขึ้นภายใต้การผลักดันจากหลายฝ่าย หวังให้เป็นสถานที่ๆรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับศิลปะ มีพื้นที่ให้ศิลปินจัดกิจกรรม เป็นสถานที่ๆให้ผู้คนมาพักผ่อนหย่อนใจพร้อมกับเสพสุนทรียะทางศิลปะไปพร้อมๆกัน และวันนี้หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครค่อยๆเติบโตขึ้น จนได้รับการต้อนรับจากผู้คนทุกสาขาอาชีพเป็นอย่างดี ด้วยพื้นที่ๆสร้างกิจกรรมที่หลายหลายสำหรับงานศิลปะ แกลเลอรี่ ห้องสมุด ร้านอาหาร ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้จะสามารถเกิดและเติบโตขึ้นได้อย่างไร ถ้าเราไม่มีนักบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ลักขณา คุณาวิชยานนท์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นผู้ร่วมผลักดันให้เกิดสิ่งใหม่ๆเหล่านี้ เพื่อมอบพื้นที่ทางสุนทรียะให้กับคนกรุงเทพฯ

ประวัติการทำงานที่ผ่านมาของผอ.
เคยเป็นผู้อำนวยการหอศิลป์ตาดูอยู่ 7 ปี ตอนที่หอศิลป์ตาดูยังอยู่ที่อาร์ซีเอ จากนั้นตาดูก็ย้ายไปใกล้ๆถนนเทียมร่วมมิตร แถวศูนย์วัฒนธรรม หอศิลป์ตาดูเป็นหอศิลป์เล็กๆที่ทำงานหลากหลาย คล้ายกับที่นี่คือ มีนิทรรศการ มีละคร มีฉายภาพยนตร์ เสวนา มีการจัดกิจกรรมศิลปะเด็ก เป็นศูนย์ศิลปะเล็กๆที่ทำงานกับศิลปินหลายสาขา 7 ปีที่นั่น หลังจากนั้นก็ไปเป็นที่ปรึกษาโครงการกิจกรรมนิทรรศการที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้า ตรงสะพานผ่านฟ้า ปีกว่าๆ จากนั้นก็พักอยู่บ้านเลี้ยงลูกอยู่สามสี่ปี แล้วมาเริ่มงานที่นี่

จบปริญญาที่คณะโบราณคดีที่ศิลปากร เอกภาษาอังกฤษ โทประวัติศาสตร์ศิลป์ จบมาก็ไปทำงานเป็นนักข่าวอยู่พักนึงที่เดอะเนชั่น สมัยที่ยังอยู่แถวสุขุมวิท นานมากแล้วก่อนที่จะย้ายไปบางนา อยู่ได้ปีเกือบสองปี ตอนนั้นเค้ายังมีเซคชั่นที่เรียกว่า โฟกัส เป็นเซคชั่นฟีเจอร์ที่ไม่ใช่ข่าวรายวัน เหมือนเอ้าท์ลุคในบางกอกโพส์ จะเกี่ยวกับสารคดี เป็นฟีเจอร์ เป็นคอลัมน์เกี่ยวกับเรื่องทั่วไป สิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม บันเทิง แต่ตอนนี้รู้สึกว่าโฟกัสจะไม่มีแล้ว เค้าจะยุบรวมในหน้าทั้งหมดของข่าวเนชั่น อยู่เนชั่นได้สองปีก็ไปเรียนต่อที่ออสเตรเลีย ด้านเอเชียศึกษาสามปี กลับมาก็ไปเป็นหัวหน้าวิจัยในโครงการศิลปะเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9 ตอนนั้นจัดประชุมที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต์ ซึ่งเป็นโครงการใหญ่มากเพราะว่าเป็นนิทรรศการที่นำเสนอเกี่ยวกับศิลปะในรัชกาลที่ 9 ทั้งหมด เตรียมงานจัดงานอยู่สองปี ทำให้เกิดมูลนิธิหอศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 ขึ้น จากงานนั้นก็มีศิลปินบริจาคงานให้กับมูลนิธิเยอะมาก เลยมีความคิดกันตั้งแต่ตอนนั้นว่าจะหาที่สำหรับเก็บงาน อันนั้นก็เป็นส่วนนึงที่ทำให้มีการผลักดันทำให้เกิดหอศิลป์นี้ แต่หลังจากเกิดหอศิลป์นี้ ทางมูลนิธิก็ไม่ได้มามีส่วนร่วมทั้งหมด กรรมการส่วนนึงที่จัดโครงการในนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติครั้งนั้นก็มาร่วมผลักดันทำให้เกิดหอศิลป์นี้ ในคีย์ของคณะกรรมการชุดนั้นก็คืออาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหวรรณ ซึ่งตอนหลังก็ได้มาเป็นรองผู้ว่า ไม่แน่ใจว่าเรียกตำแหน่งนี้รึเปล่า แต่เค้าเป็นที่ปรึกษาผู้ว่า ซึ่งก็นั่งทำงานอยู่ที่ กทม. นั่นแหล่ะในสมัย ดร.พิจิตร แล้วก็เลยเป็นหนี่งในแกนนำที่ผลักดันให้เกิด Bacc ส่วนมูลนิธิตรงนั้นเค้าก็ยังมีอยู่ ซึ่งปัจจุบันเค้าทำเว็บไซต์รัชกาลที่ 9 รามนายณ์อาร์ท ซึ่งเกิดจากการจัดนิทรรศการที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต์

ภารกิจหลักๆในการทำงานคืออะไร หรือมีแบบแผนที่จะพัฒนาปรับปรุงหอศิลป์ในอนาคตอย่างไร
คงพยายามรักษาพันธกิจเดิมที่เค้าตั้งกันไว้ว่าที่นี่เป็นมันสมองของประชาชน ทั้งในเชิงศิลปะ ในเชิงความคิด ในเชิงประวัติศาสตร์  ที่เกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัยทั้งหมด ตรงนี้มันเหมือนเป็นโครงสร้างอันนึงที่รวมองค์ความรู้ทั้งหมดเอาไว้เกี่ยวกับเรื่องศิลปะสมัยใหม่ในทุกๆแขนงเท่าที่ทำได้ หอศิลป์ตรงนี้เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นของขวัญของเมืองที่มอบให้กับประชาชน โดยมีมูลนิธิที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อมาบริหารที่นี่ ซึ่งก็คือมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเป็นผู้บริหารงานโดยได้รับการสนับสนุนจาก กทม. ภาระงานหลักของเราก็คือ หนึ่งเราเป็นสถานที่ที่จะเผยแพร่ศิลปะร่วมสมัย แน่นอนไพร์เลตี้เราให้ความสำคัญกับศิลปินไทย ที่นี่เป็นที่โชว์เคสของศิลปินไทย แต่เวลาเดียวกันก็ต้องไม่ลืมว่าเราต้องมีการสร้างเครือข่ายระดับนานานชาติด้วย ซึ่งก็คือมีระดับภูมิภาค เรามองกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทวีปเอเชีย ในอนาคต ซึ่งภายในปีสองปีคงมีความร่วมมือในระดับที่ขยายใหญ่ขึ้นไปอีกในระดับอินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งตอนนี้เราอยู่ระหว่างเริ่มทำเครือข่าย เริ่มพยายามติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน มีการพูดคุยถึงความเป็นไปได้ที่เราอาจจะมีทัวร์โชว์ดีๆเข้ามาที่ Bacc ซึ่งงานระดับนั้นต้องมีการพูดคุยกัน เราอยู่ในระหว่างเริ่มต้นที่เรากำลังมองหาเครือข่าย พาร์ทเนอร์ที่จะทำงานร่วมกัน ปีหน้าอาจจะเห็นงานระดับทวีปเอเชียก่อน ปีถัดๆไปเรามีแพลนที่จะนำงานระดับโลกเข้ามา แต่อยู่ในระหว่างวางแผนงานพูดคุยกันอยู่

ส่วนศิลปินไทยเรามีการสนับสนุนแน่นอน มีทั้งโครงการที่ศิลปินคิดขึ้นมาอยู่แล้ว และโครงการที่เชิญมาแสดง จัดเป็นตีมเมจิกโชว์ มีการคิดหัวข้อคอนเซ็ปต์ อย่างเช่น นิทรรศการตระกะสังสรรค์ที่ผ่านไป ซึ่งก็เป็นงานที่เราจะมีภัณฑารักษ์หลักของเราเป็นคนคิดคอนเซ็ปต์ว่านิทรรศการหลักของเราจะเกี่ยวกับอะไร จะพูดเรื่องอะไรบ้าง นิทรรศการของเราจะไม่เน้นในแง่ความสวยงามอย่างเดียวจะเน้นในเรื่องการคิดด้วย งานที่เลือกมาหรือหัวข้อที่นำขึ้นมาเราจะใช้ศิลปะเป็นตัวสร้างกระบวนการคิดวิเคราะห์ในสังคมไทย เรามองว่าศิลปะเป็นเครื่องมือที่จะสร้างครีเอทีฟติ้งกิ้งโซไซตี้ได้ เพราะฉะนั้นตัวงานที่เราเลือกหรือตัวตีมที่เราเลือกขึ้นมามันจะมีกระบวนการที่ชวนให้คนคิด ชวนให้คนมีปฎิสัมพันธ์กับศิลปะในรูปแบบที่เหมือนเดิม ที่ไม่ใช่ว่าเดินมาแล้วดูได้อย่างเดียว แต่งานจะต้องเชื้อเชิญให้คนดูเข้าไปมีปฎิสัมพันธ์ มันไม่ใช่รูปแบบศิลปะที่เราคุ้นๆกันมา ไม่ใช่แปะๆตามผนังตามป้าย แต่เป็นงานที่คนดูต้องเข้าไปมีส่วนร่วมปฎิสัมพันธ์กับงานด้วย ซึ่งมันจะได้ในส่วนของกระบวนการที่เราต้องตั้งคำถามกันว่า แล้วชั้นจะเข้าไปอยู่ในส่วนไหนของงาน ต้องทำตัวยังไง คุณไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่เฉยๆเป็นฝ่ายรับอย่างเดียวแล้ว คุณต้องมีปฎิกิริยาร่วมด้วย ซึ่งเรามองว่าศิลปะเป็นกระบวนการที่ช่วยให้คนเกิดความคิดวิเคราะห์กระบวนการที่จะสังเคราะห์สิ่งต่างๆในชีวิต ซึ่งมันเป็นกระบวนการที่เราอาจจะขาดอยู่ในระบบการเรียนการสอนในโรงเรียน แต่หอศิลป์พยายามที่จะนำเสนอเหมือนกับพาราเรลไปกับกระบวนการศึกษาปกติได้ กระบวนการคิดวิเคราะห์ การใช้ศิลปะเป็นตัวถอดรหัส

อย่างบางทีเรามองงานศิลปะมันไม่ได้ตรงไปตรงมา ไม่ได้เป็นตัวหนังสือที่จะบอกว่านี่คือสีแดง แต่ถ้าเป็นศิลปะสีแดง เค้าอาจจะเขียนเป็นสีเหลืองก็ได้ มันไม่ใช่อะไรที่ตรงไปตรงมา จะต้องมีการตั้งคำถาม คนดูจะต้องคิดตามหรือต้องทำอะไรกับมัน เราเห็นงานชิ้นนึง งานนามธรรม เป็นงานนามธรรมที่ไม่ใช่ตัวแทนอะไรเลย ไม่ใช่รูปหมา ไม่ใช่รูปแมว ไม่ใช่รูปคน แต่คือเค้าสกัดอะไรบางอย่างมาแล้วจากรูปทรงที่มีในธรรมชาติ อะไรก็แล้วแต่หรือแม้แต่จะเป็นรูปทรงที่ไม่เคยมีมาแล้วก็ได้ เป็นสิ่งที่ศิลปินคิดขึ้นมา มันเป็นกระบวนการที่ศิลปินคิดอะไรมาเยอะมากแล้ว เพราะฉะนั้นคนที่จะดู ถ้าดูทางด้านความงามอย่างเดียวก็ได้ รูปทรงสวย เชฟของมัน ผิวที่กลมกลืนดูแล้วบางทีเราก็ปล่อยใจไปได้ว่าดูแล้วเป็นรูปทรงที่สวยงาม ถ้าจะมองแค่เลเวลนั้นจบก็ได้ ไม่มีใครว่าอะไร แต่ถ้าคุณใช้ประโยชน์ได้อีก คือมองลึกว่าศิลปินเค้าคิดอะไร ทำไมต้องทำให้กลมอย่างนี้ ทำไมไม่เหลี่ยม คือถ้าเราเริ่มมีกระบวนการตั้งคำถามถึงที่มาที่ไปของสิ่งต่างๆอันนั้นเป็นสิ่งที่หอศิลป์พยายามจะทำให้เกิด คือปฎิสัมพันธ์ระหว่างคนดูกับงานศิลปะ ซึ่งสิ่งที่จะเกิดในแต่ละคนเราบอกไม่ได้ว่ามันคืออะไร มันแล้วแต่ประสบการณ์ของคนๆนั้น มุมมองในชีวิต แบล็คกราวน์พื้นฐานการศึกษา การเลี้ยงดูในครอบครัว ซึ่งแต่ละคนก็จะเกิดเคมีขึ้นมาบางอย่างที่แตกต่างกัน เราว่ามันน่าสนใจ แล้วมันก็สร้างความหลากหลายในสังคม ตรงนี้กระบวนการศิลปะเข้ามาช่วยได้ แล้วเมื่อไหร่ที่คนมีกระบวนการคิดวิเคราะห์หรือใช้เวลาในการหาเหตุผล คนจะมีความเข้มแข็งขึ้นในการที่จะตัดสินใจอะไรต่างๆในชีวิต ใช้ปัญญาพิจารณาในเรื่องต่างๆที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ถ้าเราสร้างคนในชาติให้มีกระบวนการแบบนี้ได้ ประเทศไทยจะไปได้ดีกว่านี้ เรามองว่าลึกๆแล้วมันคือการศึกษาระบบนึงนอกโรงเรียนผ่านกระบวนการศิลปะ มันไม่ใช่อยู่ที่ว่าเรามาดูงานศิลปะเพื่อความงาม อย่างเดียวแล้ว ไม่ได้ปฎิเสธเรื่องความงามตรงนั้นก็ยังมีอยู่ แต่มันมีส่วนที่มันลึกลงไปอีก

ประสบการณ์ที่ผ่านมาสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานในปัจจุบันได้ไหม
ค่อนข้างตรง งานที่ทำที่หอศิลป์ตาดู โดยเนื้องานในกิจกรรมไม่ได้แตกต่างกันมาก เพียงแต่สเกลของสถานที่ต่างกันมาก เพราะตอนนั้นเทียบแล้วซัก 400 ตารางเมตร แต่ที่นี่ห้องแสดงงานห้องนึงก็พันกว่าเข้าไปแล้ว มีตั้งสามชั้นที่เป็นพื้นที่แสดงงานหลักๆชั้น 7 และ 9 เนี่ยยังไม่นับร้านค้าต่างๆข้างล่างอีก ความต่างที่นี่คือไม่เหมือนที่ไหนในโลก มีส่วนผสมระหว่างช็อปปิ้งมอลล์กับหอศิลป์อยู่ในที่เดียวกัน จริงๆแล้วถือว่ายูนีคมากแต่เวลาเดียวกันมันก็ท้าทายสำหรับคนที่จะมาบริหารว่าทำยังไงที่จะไม่ให้คนสับสนหรือมีเอกภาพร่วมระหว่างร้านค้าที่มีจุดประสงค์ที่จะมาช่วยในการหาสตางค์ที่จะดำเนินต่อไป ในส่วนเนื้อหาที่จะเป็นงานศิลปะ ทำยังไงไม่ให้คนสับสนระหว่างคอมเมอร์เชียลกับนอนคอมเมอร์เชียล เพราะว่าตัวงานนิทรรศการข้างบนเราไม่ทำในลักษณะมุ่งหวังทางการค้าอยู่แล้ว เราไม่มีการขายงานข้างบน แต่เป็นการจัดงานที่มีตีม มีคอนเซ็ปท์ มีมุมในแง่ประวัติศาสตร์การนำเสนอ

ตรงนี้มันเป็นความยากที่จะบริหาร ไม่แน่ใจว่าคนที่มาบ่อยๆคงจะไม่สังเกตุตรงนี้ เพราะรู้แล้วว่าเราจะไปดูอะไร แต่คนที่เพิ่งมาครั้งแรกเลยเดินเข้ามาจะงงมากว่าหอศิลป์อยู่ตรงไหน ทำไมมีช็อปเต็มไปหมดเลย งานก็แขวนกระจัดกระจายอยู่ตามระเบียง เดินขึ้นชั้นสอง ชั้นลงไปชั้นสาม เดินไปชั้นสี่ เดินมาชั้นห้าไม่เห็นมีอะไรเลย หมดแล้วนี่ บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะดูนิทรรศการต้องขึ้นไปที่ชั้น เจ็ด แปด เก้า ยังไม่รู้เลยว่าชั้น เจ็ด แปด เก้าอยู่ไหน ถ้าเราลองค่อยๆสำรวจจะพบว่าการใช้พื้นที่ยังสับสนมาก ส่วนนึงอาจจะเป็นเพราะการดีไซน์ของตึก มันต้องอาศัยการสื่อสารที่เยอะมาก ในเรื่องป้าย การให้อินฟอร์เมชั่นต่างๆแต่ละจุดที่เป็นทางเข้า ซึ่งตัวนี้ตอนนี้กำลังเริ่มอยู่ ตั้งแต่เข้ามายังไม่ค่อยมีเวลาดูเรื่องแผนงานนิทรรศการเลย กำลังไล่ปรับสตรัคเจอร์ โครงสร้างของตึกที่มันยังไม่ค่อยลงตัวอยู่ ปัญหาเรื่องอาคารค่อนข้างเยอะเหมือนกัน เตรียมพร้อมในสถานที่ก่อน แล้วก็ภาพลักษณ์องค์กร ทำให้คนไม่สับสนว่าตกลงเรามีพื้นที่อะไรบ้าง เดี๋ยวคนจะเข้าใจว่าพื้นที่ร้านค้าทั้งหมดนั่นเป็นของหอศิลป์แล้ว ซึ่งเป็นอิมเพรสชั่นที่ว่าคุณพูดความจริงไม่หมด พูดความจริงไปครึ่งเดียว มันยังมีอีกครึ่งต้องสื่อสาร เรื่องภาพลักษณ์องค์กรทั้งหมดว่ายังไง ปัจจุบันคนก็ยังเรียก หอศิลป์กทม หอศิลป์กรุงเทพ หอศิลป์มาบุญครอง หอศิลป์ปทุมวันอะไรต่างๆ เวอร์ชั่นเยอะมาก เราอยู่ในระหว่างการคอนเซาท์ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้านคอเปอร์เรทไอเดนดีตี้ คงจะมีคนเข้ามาช่วยมากขึ้นว่าต่อไปนี้เราจะสื่อสารกับสังคมข้างนอกยังไง จะให้คนเรียกเราว่าอะไรกันแน่ ถ้าต่างชาติง่ายมากเลย Bacc จบ เด็กวัยรุ่นก็ Bacc จบ แต่เราต้องไม่ลืมว่าเราทาร์เก็ททุกกลุ่ม  ไม่เน้นว่าอยู่ตรงนี้เราจะรับแต่วัยรุ่นที่อยู่สยาม เราต้องการให้เป็นที่ของทุกคน เป็นที่พักผ่อน เป็นที่ๆมาใช้เวลาว่างกับครอบครัวในวันหยุด มาได้ทุกชนชั้น ทุกวัย เพราะฉะนั้นการสื่อสารมันต้องนึกถึงคนกลุ่มที่กว้างมาก แล้วเป็นที่เข้าใจตรงกัน ขึ้นแท็กซี่บอกแท็กซี่แล้วไม่หลง มาถูก มันเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องพื้นฐาน บางทีเรานั่งอยู่ตรงนี้เรานึกไม่ออก

วิธีการมองโลกเปลี่ยนไหม
เป็นเรื่องที่น่าดีใจที่เรามีตรงนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่คุยกันมานานแล้ว อย่างที่คนรู้ว่ากรุงเทพเป็นเมืองที่รถติดมาก จริงๆเรามีทรัพยากรที่ดีมากอยู่แล้ว ศิลปินเราก็มีเยอะ ในความเยอะก็มีคุณภาพในระดับนึงด้วย ซึ่งสามารถที่จะเดินทางไปโชว์ที่ไหนก็ได้แต่ขาดพื้นที่ๆชัดเจน แกลเลอรี่เราก็มีเยอะ ถ้าเราไปดู อาร์ทแมพหรือแกลเลอรี่แมพ เราจะไปหมดไหม มันเยอะจริงๆ เพราะว่าอยู่คนละที่กระจัดกระจายมาก มันขาดศูนย์รวม ซึ่งบางคนที่เค้าไม่สนใจเรื่องนี้เค้าบอกว่า ไม่เห็นจะต้องมีศูนย์รวมเลย ก็ดีแล้ว กรุงเทพก็เป็นอย่างนี้แหล่ะ ปล่อยให้มันเป็นไป แต่ต้องนึกถึงคนที่เค้ายังไม่รู้เรื่องพวกนี้อะไรเลย จะให้เค้าไปตามวิ่งดูทีละจุดอย่างนี้มันก็ไม่ไหว ฉะนั้นมันก็น่าจะมีเซนเตอร์แบบนี้ขึ้นมา แล้วถ้าพูดถึงต่างชาติ เค้าไม่มีสิทธิ์จะรู้เลยว่าอะไรอยู่ในซอกหลืบไหนของกรุงเทพฯ บ้าง เวลามาเมืองไทยทีนึง อย่างน้อยกรุงเทพฯก็เป็นจุดนึงที่เค้าจะมา มันควรจะมีที่เป็นอินฟอร์เมชั่นกลางหรือภาพรวมกลางๆที่ทำให้เค้าเห็นว่าประเทศไทย ศิลปินไทยเค้าทำอะไรกันอยู่

อย่างบางคนมา ขึ้นเครื่องบินมาปุ๊ปเปิดหนังสือท่องเที่ยว มันอาจจะไม่ค่อยมีข่าวเกี่ยวกับศิลปะสมัยใหม่ เค้าจะไปวัดพระแก้ว แพลนอะไรไว้หมดแล้ว เหลือวันจะกลับนั่นแหล่ะมาเดินช็อปปิ้งแถวนี้ ถึงได้ค้นพบว่ามีหอศิลป์ด้วยนะ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก ถ้าเค้าอยู่ต่ออีกวันสองวัน เค้าจะได้ดูอะไรได้มากกว่าที่เค้าดู แล้วเค้าจะรู้ว่ากรุงเทพฯ มันซับซ้อนมากกว่าที่เค้าคิด มันมีการต่อยอดทางวัฒนธรรมอีก มันไม่ได้จบแค่โขน นาฬิกาเรายังเดิน ยังไม่ตาย คนจะมองว่าวัฒนธรรมไทยฟรีซอยู่แค่เมื่อห้าสิบปีที่ผ่านมา ไม่มีอะไรใหม่ ส่วนใหญ่ยังทำแบบเดิมๆยังขี่ช้างกันอยู่ ซึ่งมันไม่ใช่แล้ว สังคมเราก็ซับซ้อน ทัดเทียมนานาชาติ แต่เรื่องการสื่อสารอาจจะน้อยไปหน่อย ซึ่งทาง Bacc เองต้องหันกลับมาดูตัวเองเหมือนกันว่าสามปีที่ผ่านมา ที่ยังไม่ซัคเซสเรื่องการทำพีอาร์ ก็ต้องทำเรื่องพวกนี้มากขึ้นในอนาคต ในระดับโลโคลเราก็สื่ออยู่แล้ว แต่ระดับเนชั่นแนลเราต้องทำงานหนักมากขึ้น ไม่ใช่ว่ามาแล้วเพิ่งมารู้ว่ามีหอศิลป์ มันควรจะอยู่ในแพลนเค้ามาตั้งแต่แรกแล้ว ว่าถ้าเค้ามากรุงเทพฯ แล้วเค้าเป็นกลุ่มที่สนใจศิลปวัฒนธรรม ที่นี่คือหนึ่งในเดสซิเนชั่นที่เค้าต้องใช้เวลา เค้าต้องเผื่อเวลาไว้ ซึ่งตรงนี้อีกหน่อยเราจะมีการทำงาน เราไม่ได่ตั้งเป้าว่าเราอยากเป็นที่แสดงงานอย่างเดียว แต่เราจะเป็นสถาบันที่เป็นองค์ความรู้ในเรื่องนี้ด้วย ในอนาคตเราต้องส่งเสริมพวกงานวิจัยอะไรต่างๆอาจจะมีการให้ทุน คนที่จะมาทำศึกษาวิจัยเรื่องเกี่ยวกับแวดวงศิลปะร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของในมุมของพัฒนาการทางด้านศิลปะหรืออาจจะเป็นมุมเรื่องเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างของศิลปะ การมีหอศิลป์จะทำให้เจเนอร์เรจรายได้อย่างไร ไม่มีใครศึกษาเลย ในอนาคตเราอาจจะเป็นคนที่เข้ามาสนับสนุนเรื่องพวกนี้ เพราะว่าความพร้อมเราน่าจะมีอยู่ในระดับนึง อีกหน่อยเรื่องงบประมาณชัดเจน แก้ปัญหาเรื่องโครงสร้างอะไรต่างๆได้ กรรมการที่เข้ามาทำงานกันเต็มที่ สำนักงานเองสามารถประสานงานให้กลไกทุกอย่างมันเดินไปอย่างที่มันจะเป็น คิดว่าน่าจะผลักดันตรงนี้ได้

แน่นอนว่าการทำงานย่อมหนีไม่พ้นปัญหาและอุปสรรค ถ้าเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมามีหลักการ แง่คิด ในการแก้ไขปัญหาอย่างไร
ไม่มีอะไรที่เกินที่จะเป็นไปได้ หลายๆคนก็เตือนว่าจะไหวเหรอ เพราะที่ผ่านมาพอจะเห็นว่ายังไม่มีความเคลื่อนไหวอะไรมาก แล้วโครงการที่จะเป็นโครงการที่หอศิลป์ผลักดันเองจริงๆอาจจะน้อย เพราะสามปีที่ผ่านมาอาจจะทั้งเรื่องงบประมาณที่ยังไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ยังไม่ค่อยชัดเจน  องค์กร ความเป็นสถานะขององค์กรยังไม่ค่อยชัดเจน อาจจะเป็นความยากลำบากเป็นเงื่อนไขให้กับทีมผู้บริหารก่อนหน้านี้ ซึ่งอาจจะติดขัดในหลายๆเรื่อง แต่ตอนนี้เราเริ่มจะเห็นแล้วว่าก๊อกไหนโดนปิดอยู่ จะมีวิธีไปไขก๊อกยังไง พูดคุย สื่อสารกันมากขึ้น ในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นกทม.เอง กรรมการมูลนิธิเอง ทางสำนักวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องโดยตรงที่เป็นเหมือนกับตัวกลางหน่วยงานใหญ่ กทม. ซึ่งมีสำนักอะไรเยอะแยะกับมูลนิธิซึ่งรับหน้าที่มาบริหาร ข้อต่อเหล่านี้มันเริ่มจะมาพลักอินกันแล้ว ก่อนหน้านี้มันอาจจะวางไว้ห่างๆยังไม่มาเสียบปลั๊กกันเต็มที่ เหมือนกับว่าเรามาทำให้เกิดการพูดคุยชัดเจน มีข้อตกลงร่วมกันชัดเจน มีการเซ็นสัญญาที่แบ่งหน้าที่กันชัดเจนแล้วว่าใครจะทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุน ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารแล้วก็มีการดำเนินงานที่เป็นหน้าที่อิสระแต่เกื้อหนุนกัน ทางกทม.ซัพพอร์ทงบประมาณหลัก ซึ่งเราก็ดูแลเรื่องเชิงนโยบาย มูลนิธิเป็นคนบริหารอย่างเป็นอิสระ ตรงนี้มันเริ่มมีการพูดคุยที่ชัดเจนขึ้น ไม่ว่ามันจะมีปัญหาขนาดไหน ถ้าเราค้นพบว่าชาแนลการคุยมันเป็นอย่างนี้แล้ว เราคิดว่าในอนาคตไม่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ สิ่งที่จะท้าทายต่อไปคือ ทำยังไงให้ที่นี่เป็นที่รู้จัก ทำยังไงที่เราจะผลิตผลงานที่มีคุณภาพอย่างที่เราตั้งเป้าไว้ ทำยังไงเราจะเป็นตัวกลางระหว่างผู้สร้างงาน ศิลปิน ไม่ว่าจะสาขาไหน ทัศนศิลป์ ภาพยนตร์ ละคร ดนตรี การแสดง กับคนที่จะมาเสพงาน ทำยังไงเราจะเป็นตัวกลางที่เชื่อมสองส่วนนี้ได้ดีที่สุด ทำยังไงเราจะเป็นผู้ที่เผยแพร่ศิลปะออกไปได้กว้างที่สุด สร้างความเข้าใจในหมู่คนได้มากที่สุด ตรงนี้เป็นภาษีของประชาชน เราต้องทำให้มันเต็มที่ที่สุด

แบ็คอัพเราคงจะดี คนในครอบครัวช่วยได้เยอะ ครอบครัวอบอุ่น สามีเป็นที่ปรึกษาที่ดี โดยส่วนตัวเป็นคนที่ไม่ค่อยแบกด้วย เพราะรู้สึกว่าไม่มีประโยชน์ที่จะแบกอะไรไว้ตลอดเวลา หนักก็วางๆไว้ก่อน วันนี้คิดไม่ออกเดี๋ยวพรุ่งนี้ก็คิดออกเอง อาจจะเป็นเพราะว่าเราโตด้วยวุฒิภาวะ เราผ่านประสบการณ์การทำงานมาเยอะ ความเป็นแม่ของเรา ซึ่งเราเรียนรู้ที่จะอดทน การเลี้ยงลูกช่วยเราได้มาก การที่มีโอกาสเลี้ยงลูกเต็มๆในช่วงวัยสี่ห้าขวบแรกของเค้า มันเป็นที่สุดของความอดทนแล้ว การเป็นแม่ คือเราไม่สามารถจะหาเหตุผลสาระอะไรชัดเจนกับเด็กได้ เพราะฉะนั้นมันทำให้เราบรรลุอะไรบางอย่างว่าเรื่องบางเรื่องจะไปคาดคั้นเอากับมันตอนนั้นทันที ไปหาเหตุผล หาสาระ บางอย่างไม่ได้ แต่ถ้าเราถอยมาซักพักแล้วให้เวลากับมัน ทำความเข้าใจกับมัน มันก็มีเหตุผลบางอย่างเหมือนกันที่มันเป็นแบบนั้น ที่ลูกเราอยู่ก็ทำไมโวยวาย แม่ซื้อไอติมให้ด้วยความที่รู้สึกว่ารักลูกมาก ซื้อไอติมให้ลูก เอาใจลูก ซื้อปุ๊ปฉีกซองเลย ทำไมลูกร้องโวยวาย ถ้าโมเม้นท์นั้นเราเอาตัวเองทิฐิเป็นหลักว่าก็แม่หวังดีกับลูกขนาดนี้ ทำไมต้องร้องโวยวาย มันจะไม่มีอะไรดีขึ้นเลย มันจะสร้างความรู้สึกขัดแย้ง ระหว่างแม่กับลูก แต่ถ้าถอยออกมาว่าลูกโวยวาย พยายามทำความเข้าใจกับวัยของเค้า ว่าวัยของเค้าประมาณสามสี่ขวบเริ่มมีความคิดว่าจะต้องช่วยตัวเอง แต่อยู่ๆแม่ไปฉีกซองไอติมให้ นี่คือการปล้นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของเค้า มันเป็นเรื่องลึกซึ้งมาก ถ้าเรานิ่งพอกับสถานการณ์นั้น พยายามทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรในสมองของลูก หรือในอารมณ์ของลูก เราจะแก้ปัญหาได้ แต่ถ้า ณ โมเม้นท์นั้นเราเอาตัวเองเป็นใหญ่ เอาความตั้งใจของเราเป็นหลัก เราจะผ่านตรงนั้นไม่ได้เลย แล้วทุกคนจะมองว่าแม่ใจร้ายทำอะไรลูก ซึ่งตรงนี้เป็นอะไรที่ยากมากที่จะเข้าใจ เราดิวกับศิลปินแห่งชาติ ดิวกับคนอื่นมามากมาย แก้ไขปัญหามาได้แต่เราจัดการลูกวัยสามขวบไม่ได้ เพราะว่าทุกคนมีครั้งแรกในชีวิตเสมอ นั่นคือครั้งแรกของการมีลูกอายุสามขวบ แล้วพอลูกสี่ขวบก็จะเป็นครั้งแรกของเราอีก สถานการณ์เปลี่ยนไปเรื่อยๆ พัฒนาการก็เปลี่ยน ถ้าเราไม่คิดว่าถอยมาก่อนแล้วพยายามทำความเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่งเวลมีคอนฟริคเราจะแก้อะไรไม่ได้เลย ถ้าเราเอาตัวเองเป็นที่ตั้งอย่างเดียว แล้วไม่พยายามทำความเข้าใจอีกฝ่ายนึง อันนั้นเป็นบทเรียนที่ดีมาก การฉีกซองไอติมลูก ไปคุยกับครูหรือคนเลี้ยงเด็ก เราคือแม่มือใหม่ นี่ก็คือครั้งแรกในการมีลูก เค้าว่าก็คุณไปปล้นความคิดริเริ่มของเค้าน่ะ แล้วมันเอาคืนไม่ได้ด้วยนะ ให้ซื้ออันใหม่ ก็ยังยืนร้องให้อยู่อย่างนั้น อีกสิบนาทีก็ไม่จบ นี่เป็นเรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจ ตัวเองคิดว่างานตรงนี้มันยากกว่า ดิวกับเด็กสามขวบง่ายกว่าด้วยซ้ำ แต่เค้าทำให้เราใจเย็นมาก เราผ่านเรื่องจุ๊กจิ๊กอย่างนี้มาซักพัก โอ้โฮ เราเปลี่ยนไปเยอะ นิ่ง สุขุม ใจเย็นมาก ตรงนั้นเอามาปรับใช้ได้หมดเลยกับอีกซีกนึงที่ทำงานกับผู้ใหญ่ ถ้าไม่เข้าใจแล้วเรายังจะไปดึงดัน ใช้เหตุผลความเป็นผู้ใหญ่ของเรากับเค้าเนี่ย เสียเวลาเปล่าๆ

มีปรัชญาในการดำเนินชีวิต อะไรเป็นแรงผลักดันให้ประสบความสำเร็จได้จนมาถึงทุกวันนี้
ตัวเองมาสุดท้าย ส่วนรวมต้องมาก่อน ไม่ว่าจะเรื่องอะไร เรื่องการบริหารงานศิลปะหรือชีวิตส่วนตัว เราต้องมองผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก เราไม่ค่อยกล้วความท้าทาย รู้ว่ามันไม่ใช่งานง่าย มันมีโจทย์ที่เยอะความต้องการสูงจากหลายๆฝ่าย เพราะถือว่าหนึ่งที่นี่เป็นองค์กรที่มาจากภาษีประชาชน ไม่ใช่เงินของบริษัทใดบริษัทนึง ว่าเค้ามีนโยบายอย่างนี้ก็ต้องทำแบบนี้ แต่นี่มันต้องตอบโจทย์ความต้องการหลายๆฝ่ายก็ต้องทำแบบนี้ เราต้องพยายามหาว่า ประชาชน สังคมโดยรวมเค้าได้ประโยชน์อะไรจากตรงนี้ ในเวลาเดียวกันเราก็มีแมสเซจบางอย่างมานำเสนอให้กับสังคมด้วย เราต้องนำมาบาลานซ์กัน ความต้องการของสังคมกับสิ่งที่คิดว่าสังคมควรพัฒนาไปก็ต้องเอามาผนวกกันให้ได้ เราไม่สามารถบอกได้ว่าความคิดเราถูกต้องทั้งหมด เราต้องการให้สังคมเดินไปแบบนี้ ตามเราแบบนี้ทั้งหมด แต่เราก็เป็นเหมือนกับผู้จับกระแสหนึ่ง เราว่าบางอย่างต้องมาคุยกันใหม่ เปิดพื้นที่คุยกัน หาโซลูชั่นร่วมกันในการที่จะใช้ศิลปะเป็นตัวขับเคลื่อน ให้เราก้าวเข้าไปอยู่ในสังคมที่ดีขึ้นได้มั๊ย เราก็ไม่ได้มีคำตอบ แต่เราน่าจะเป็นส่วนนึงในการดึงหรือว่ากระตุ้นให้คนรู้สึกว่าเราต้องมานั่งคุยกัน เราต้องมานั่งพูดกัน นั่งคิดร่วมกัน หาแรงบันดาลใจ หาจุดร่วม อัตลักษณ์ของเราเองผ่านงานศิลปะทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นแขนงไหน ถึงเวลาคนจะบอกเองว่าศิลปะไทยคืออะไร เราไม่มีคำตอบ คุณมาดูละกัน มันอยู่บนความหลากหลายที่เห็นทั้งหมดนี่แหล่ะ ส่วนนึงมันคือความเป็นสังคมไทย ศิลปะมันถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐาน ไม่ได้ลอยมาเฉยๆมันต้องออกมาจากสังคมใดสังคมนึง สังคมเป็นแบบไหน ศิลปะก็เป็นแบบนั้น มันเป็นตัวสะท้อน

นอกจากไม่กลัวสิ่งท้าทายใหม่ๆหรือว่าอุปสรรคที่รออยู่ข้างหน้า ผอ.คิดว่าอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้ผอ.เป็นที่ยอมรับในการทำงานหรือได้รับความไว้วางใจในการคัดเลือกมาเป็น ผอ.หอศิลป์ที่นี่
ส่วนนึงเป็นเพราะว่าประสบการณ์ที่เราสะสมมาด้วยบวกกับงานบริหารที่ตาดู ที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้า เราก็ร่วมรับรู้เกี่ยวกับเรื่องการรณรงค์เรียกร้องที่นี่มาโดยตลอดตั้งแต่แรก เคยเข้ามาช่วยในเรื่องการร่างแนวความคิดเหมือนกันว่าหอศิลป์ควรจะมีขึ้นมาทำไม ก็คือเป็นทีมซัพพอร์ทในส่วนข้อมูลที่เค้าเรียกร้องกันมา เราอยู่ในขบวนการนี้มาระดับหนึ่งอาจจะมีหายไปบ้าง มีบุตรต้องไปเลี้ยงดูเท่าที่เค้าอยากให้ซัพพอร์ทในเชิงข้อมูลความรู้ ตอบโจทย์ว่าทำไมประเทศไทยต้องมีหอศิลป์ เราก็เป็นหนึ่งในทีมที่ช่วยซัพพอร์ทข้อมูลตรงนี้ ให้การเรียกร้องตรงนี้มันมีน้ำหนัก ซึ่งคิดว่าตรงนี้เราคลุกคลีมา ทุกคนรู้ว่าจริงๆเราเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแล้วก็รู้ปัญหาต่างๆมาตลอด ด้วยความที่ไม่ได้เป็นคนที่มีสูตรตายตัว ค่อนข้างที่จะยืดหยุ่น พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นของแต่ละฝ่าย พร้อมที่จะทำงานร่วมกับคนหมู่มาก เพราะที่นี่มีเจ้าของเยอะ ไม่ว่าจะเป็น กทม. มูลนิธิ เครือข่ายประชาชนที่ร่วมรณรงค์กันมา ไหนจะต้องตอบโจทย์ความต้องการสังคมในภาพรวมอีก ต้องเป็นคนที่พร้อมจะยืดหยุ่น ทำงานกับคนหลายๆฝ่ายค่อนข้างจะรับฟัง ซึ่งคิดว่าคนอาจจะมองว่าเราเป็นคนที่ค่อนข้างเปิดที่จะรับฟังความคิดเห็นของคนหลายๆฝ่าย แน่นอนท้ายที่สุดเราก็ต้องเอามาประมวล คงไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้ แต่ก็พร้อมที่จะรับฟัง

ตัวเองเป็นคนที่มีจุดยืน แต่จะถือธงไว้ข้างหลัง เรารู้ในตำแหน่งของเรา  พยายามจะซัพพอร์ททีมงานทั้งหมด รับฟังปัญหาของเขา ความคับข้องใจ อันไหนทำอะไรไม่ได้ติดปัญหาอะไร หน้าที่ของเราคือไปทำให้เค้าเดินหน้าต่อได้ ทำให้กลไกที่มันติดอยู่เดินต่อ เป็นจารบี ไขควง เป็นทุกอย่างอันนั้นคือส่วนนึง อีกส่วนคือเราเปิดโอกาสให้เค้าเป็นส่วนนึงในการนำเสนอความคิด หรือการวางแผนงาน เราจะไม่ทำงานแบบท๊อปดาวน์ เพราะเราไม่สามารถรู้ทุกเรื่องทุกแผนก เพราะฉะนั้นพยายามจะให้ทุกคนมีอินพุทของตนเอง มีส่วนร่วมในการนำเสนอ คิดแผนงานในแต่ละแผนกของตัวเอง ให้เค้าไปประมวลว่าที่ผ่านมาทำอะไรมาแล้วบ้าง แล้วเค้าจะทำได้ดีอีกแค่ไหน จะทำอะไรได้บ้าง แล้วเราก็มาดีเวลลอปแผนร่วมกัน เราทำหน้าที่เป็นผู้ซัพพอร์ทว่าแผนงานของเค้าทำยังไงให้มันเกิดให้ได้ เค้าต้องการอะไร เค้าต้องการเครื่องมืออะไร เรามีหน้าที่ไปเจรจาจัดหามาให้ได้ด้วยคณะกรรมการชุดต่างๆที่มีอยู่ ด้วยศักยภาพของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลาย จริงๆแล้วมันยังมีความเป็นไปได้อีกหลายๆเรื่องแต่ว่าเราต้องทำหน้าที่เป็นผู้ประสานสิบทิศทั้งหมด ให้มาเจอกัน เพราะฉะนั้นก็จะเป็นเหมือนตัวเชื่อม ที่วิ่งอยู่ระหว่างอะตอมที่มีอยู่ จับให้มาเจอกันให้ได้ แต่ถ้ามันไม่สามารถสรุปลงเอยได้ซักทีบางอย่างก็จะขอใช้อำนาจฟันธง

ด้วยภาระของแม่ ภาระของงานมากมายที่ต้องรับผิดชอบ มีการจัดสรรเวลายังไงบ้าง
สามีช่วยได้เยอะ พอเค้ารู้ว่าตัดสินใจมาทำตรงนี้ ก็ต้องปรึกษาเค้าก่อนว่าไหวไหม เพราะว่าภาระของลูกคงต้องถ่ายไปที่เค้าเยอะ เค้าบอกลองดูก็ได้ เค้ายินดีที่จะรับตรงนั้นไป เพราะว่าเค้าสอนหนังสือ เวลาอาจจะยืดหยุ่นกว่า มีบางวันไม่ได้สอน ไม่ได้เข้ามหาลัยตลอดก็อาจจะรับได้บ้าง พยายามจะบาลาสน์อยู่ เช้ามาไม่ว่าจะนอนดึก กลับดึกยังไง เราก็ต้องตื่นมาขับรถไปส่งลูก คือได้มีเวลาช่วงเช้ากับลูกพอสมควร ดูแลจัดการให้เค้า เปลี่ยนเสื้อผ้าไปโรงเรียน ทำอาหารขึ้นไปกินบนรถ ขับไปส่งที่โรงเรียน จะมีเวลาช่วงเช้า เพราะเดี๋ยวนี้กลับมืดเหมือนกัน ช่วงแรกๆเราต้องทำความเข้าใจกับงานเยอะอยู่ ยังดีว่าได้หยุดอาทิตย์-จันทร์ วันอาทิตย์ก็ได้อยู่กับเค้าเต็มๆไม่คุยเรื่องงานเลย ส่วนวันจันทร์จะเป็นวันที่เราได้ไปรับเค้าจากโรงเรียน ได้มีเวลาตรงนั้นเยอะ พาเค้าไปแตะบอล เรามีเวลาคุยกับครู พ่อแม่ผู้ปกครองคนอื่นๆอย่างน้อยก็ได้มีเวลารับรู้พัฒนาการของเค้าบ้าง

กิจกรรมยามว่าง
ถ้าเมื่อก่อนจะไปเล่นโยคะ แต่ตอนนี้แทบจะไม่มีเวลาเลย ฟังเพลง เล่นกับลูก อ่านหนังสือกับลูก เล่นเกมทายชื่อ อ่านหนังสือการ์ตูนด้วยกัน เล่นเกมกัน ใช้เวลากับครอบครัว อันนี้คือการพักผ่อนที่ดีที่สุด

บุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจ
ไม่ชัดค่ะ อาจจะแบบว่าจากคนนั้นหน่อยนึง ไปอ่านสัมภาษณ์เจอทัศนคติของเค้า คนนี้คิดได้อย่างนี้ เป็นมุมที่ดี น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีกับเรา มีหลายคนไม่ได้ประทับใจใครเป็นพิเศษ จะมีอาจารย์ป๋วย ไม่ใช่รุ่นที่ทันกัน แต่ได้เคยดูทีวี อ่านสัมภาษณ์เกี่ยวกับชีวิตท่าน รู้สึกว่าเป็นคนที่เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับคนทุกรุ่น เพราะเป็นคนที่ค่อนข้างนึกถึงส่วนรวม ถึงแม้ตนเองต้องลำบาก ถูกเนรเทศ ไม่ได้อยู่ในสังคมอย่างสงบ แต่ก็เป็นคนที่พยายามทำอะไรเพื่อส่วนรวม เรารู้สึกว่าเรามองตรงนี้เป็นหลัก ไม่ว่าจะทำงานในสายงานไหนก็คิดว่าจริงๆถ้าเราคิดถึงส่วนรวมก่อน คนอื่นก่อน ตรงนี้จะเป็นตัวที่พาให้เราผ่านพ้นวิกฤตต่างๆหรือปัญหาต่างๆได้ ถึงเวลาถ้าไม่ไหวจริงๆจะมีคนที่เห็นความตั้งใจของเรายื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาหรือช่วยทำให้เราเห็นอะไรขึ้นมาบ้างที่จะฝ่าปัญหาไปได้

มุมมองของ ผอ ที่มีต่อวงการศิลปะร่วมสมัยของไทยทั้งผู้สร้างงานแล้วก็ผู้ชมงานทั้งประเทศเราและทั่วโลก อยากจะฝากอะไรถึงกลุ่มคนเหล่านี้บ้าง
จริงๆแล้วเรารู้สึกว่าเราน่าจะมาเป็นตัวเชื่อม เป็นสะพานระหว่างคนสร้างงานกับคนเสพงานให้ได้มากขึ้น จริงๆศิลปะร่วมสมัยของไทยเราก็พัฒนามาตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ 9 มันห้าสิบกว่าปีแล้ว แต่ว่ายังค่อนข้างที่จะมีจุดติดๆขัดๆอยู่มาก คนยังไม่ค่อยรู้จักศิลปิน คนยังไม่ค่อยเข้าใจว่าศิลปะสมัยใหม่มันคืออะไร เป็นยังไง ส่วนนึงอาจเป็นเพราะว่าองคาพยพของมันไม่ค่อยสมบูรณ์ ทั้งเรื่องการเรียนการสอนความเข้าใจศิลปะเหล่านี้ในโรงเรียน คนไทยยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับการที่มีงานศิลปะสะสมในบ้าน มันยังเป็นเรื่องใหม่อยู่ ทั้งๆที่มันผ่านมาห้าสิบปีแล้ว ส่วนนึงเพราะว่าการซื้อขายงานยังไม่พัฒนาให้มันเป็นธรรมชาติ คนสะสมงานก็ยังมีน้อย งานศิลปะก็ยังแพงอยู่ คนรู้สึกว่ายังเอื้อมไม่ถึง เราคงต้องพยายามเข้ามาเชื่อม ทำให้เกิดวงจรที่มันครบมากขึ้น เราจะมีส่วนช่วยผลักดันในส่วนของแกลเลอรี่อย่างไรบ้าง ถ้าแกลเลอรี่อยู่ได้ เค้าสามารถสร้างผู้ชมให้กลายมาเป็นผู้สะสมในอนาคตได้ เค้าจะเป็นส่วนนึงที่ทำให้ศิลปิน คนที่เรียนศิลปะจบมาแล้วจะสามารถยึดอาชีพเป็นศิลปินได้ แทนที่จะไม่ต้องไปทำในสายงานอื่นที่หาเลี้ยงชีพได้ มันเหลือศิลปินจำนวนไม่มากที่จะดำรงชีพด้วยการทำงานศิลปะอย่างเดียว เราจะขาดโอกาสในการที่จะได้คนคุณภาพลงไป เพราะฉะนั้นต้องอาศัยการต่อสู้มาก

องค์กรของเราจะเป็นส่วนช่วยในการผลักดันพวกองคาพยพต่างๆ เราอาจจะเป็นคนที่คุยกับรัฐบาลให้เข้ามาช่วยอะไรได้บ้างในการให้ทุนต่างเพื่อที่จะพยุงทำให้วงการศิลปะขับเคลื่อนได้ ยังมีการสร้างงานต่อเนื่อง ศิลปินรุ่นใหม่ๆที่มีแววสามารถสร้างงานต่อได้ หรือแกลเลอรี่อยู่ได้ระดับนึง มีแกลเลอรี่เกิดขึ้นมาใหม่แล้วสามารถที่จะอยู่ได้ด้วยเชิงพาณิชย์จริงๆด้วยการมาเป็นส่วนหนึ่งกับเรา เราจะช่วยสะท้อนแวดวงตรงนี้ให้คนรู้จักมากขึ้น มันก็จะเป็นการสนับสนุนเอื้อกันไป หรือในอนาคตอาจจะมีการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องต่างๆอาจจะช่วยได้บ้าง ลดหย่อนภาษี ถ้าคุณสะสมงาน คือเป็นเรื่องในเชิงโครงสร้างทั้งหมดที่เราจะทำหน้าที่เป็นหนึ่งในกลไกที่จะผลักดันตัวนี้ร่วมกับเครือข่ายศิลปิน สมาคม แกลเลอรี่ต่างๆ สถาบันการศึกษา หรือเราจะเป็นหนึ่งในผู้ผลิตองค์ความรู้พวกนี้ อีกหน่อยเราจะมีฝ่ายวิชาการเข้ามาดูแลเรื่องการจัดสัมมนา จัดการบรรยายให้ฟังดูเรื่องศิลปะสมัยใหม่ อาจจะให้ทุนในการทำงานวิจัย เพื่อจะได้เผยแพร่เรื่องพวกนี้ออกไปให้มากขึ้น ทำให้เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันมากขึ้น

ไม่แปลกใจเลยที่วันนี้หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครสามารถก้าวกระโดดและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายใต้การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพจากคนทำงานที่รู้จักและเข้าใจถึงปัญหาทางศิลปวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี เราหวังว่าตึกที่ออกแบบได้ทันสมัย สวยงามและมีพื้นที่ๆหลากหลายแห่งนี้ จะสามารถตอบโจทย์ทางศิลปะและวัฒนธรรมได้ตลอดไป ไม่ร้างไร้และล้มหายตายจากไปเหมือนตึกทางวัฒนธรรมอื่นๆที่ผ่านมา

 

You may also like...