วิถีคนกล้า การแสดงเชลโลกับเปียโนที่ซอยเกอเธ่

วิถีคนกล้า : การแสดงเชลโลกับเปียโนที่ซอยเกอเธ่
โดย เจตนา นาควัชระ
ในบรรดารายการแสดงเชลโลกับเปียโนที่ได้เคยรับฟังมาในประเทศไทย ยังไม่เคยมี นักดนตรีผู้ใดที่กล้าจัดรายการที่ท้าทายเช่น Duo Recital โดย I-Bei Lin ( เชลโล ) และนภนันทน์ จันทอรทัยกุล ( เปียโน ) ที่มูลนิธิวัฒนธรรมไทย – เยอรมัน ซอยเกอเธ่ เมื่อคืนวันที่ 5 สิงหาคม 2545

ทั้งนี้เพราะนำเสนองานที่หลากหลาย ยากทั้งในเชิงเทคนิคและทั้งในเชิงศิลปะและทั้งในเชิงกายภาพ สิ่งแรกที่ทำให้ผมทึ่งก็คือน้ำเสียงซอเชลโลของ I-Bei Lin ทั้งใหญ่ทั้งลึก ทั้งก้องกังวาน ชวนให้หวนคิดกลับไปถึงนักเชลโลชาวรัสเซียผู้ยิ่งใหญ่คือ Rostropovitch ดูลีลาท่าทางในการเล่นของเธอแล้ว ทำให้เชื่อแน่ว่าเธอเลือกเล่นเครื่องดนตรีชิ้นนี้ด้วยใจรักและใจภักดิ์ เวลาที่เธอไล่นิ้วมือซ้ายขึ้นลงชวนฟังและชวนดูเป็นอย่างยิ่ง ยิ่งโน้ตเสียงต่ำด้วยแล้วยิ่งซาบซึ้งกินใจนัก กล่าวโดยสรุปเทคนิคของเธออยู่ในระดับที่จะเล่นอะไรก็ได้ หลังจากการแสดงจบแล้วผมรีบบอกกับผู้จัดการวงบีเอสโอ (B.S.O.) ไปเลยว่านี่แหละคือนักเชลโลที่น่าจะเชิญมาแสดงเดี่ยวกับวงบีเอสโอ และงานที่ผมอยากฟังก็คือ เเชลโล คอนแชร์โต หมายเลข 1 ของ Shostakovitch

ผมได้กล่าวถึงความหลากหลายของโปรแกรมไปแล้วในตอนต้น และก็คิดว่าความหลากหลายดังกล่าวเป็นสิ่งที่ท้าทายนักดนตรีเป็นอย่างยิ่ง การเริ่มต้นด้วย sonata for Violoncello and Piano โดย Claude Debussy และจบลงด้วย sonata for Cello and Piano in A Major ของ Ludwig van Beethoven ก็เท่ากับเป็นการตั้งโจทย์ที่ยากยิ่งให้แก่ตนเอง เพราะงานของเดบูซีนั้น ใช้สีสัน สลับไปมา เดี๋ยวค่อยเดี๋ยวดัง ปรับเปลี่ยนโดยฉับพลัน ชวนให้น่าตื่นเต้น และสองสาวคีตศิลปินก็ดูจะจับวิญญาณและลีลาของเดบูซีได้อย่างสนิทใจ เกือบจะกล่าวได้ว่าความสดใหม่ของเดบูซีดูจะพ้องกับอารมณ์ความรู้สึกของเธอทั้งสอง แม้ I-Bei Lin จะมีปัญหาเรื่องความเพี้ยนบ้างเล็กน้อยในตอนต้น แต่เพียงไม่กี่นาทีการเล่นของเธอก็เข้าที่แล้ว งานของเดบูซีตื่นเต้นเร้าใจ บางตอนก็อ่อนหวาน แต่ก็จบแบบถึงใจพระเดชพระคุณ เรียกได้ว่าเป็นดุริยางคนิพนธ์ที่เหมาะอย่างยิ่งในการเริ่มโปรแกรม และนักดนตรีทั้งสองก็ดูจะเข้ากันได้ดี

การปรับเปลี่ยนจากลีลาน่าตื่นเต้นของเดบูซีมาสู่งานที่น่าตื่นใจของเบโธเฟนมิใช่ของง่าย แม้ว่านักดนตรีทั้งสองจะได้แสดงงานชิ้นอื่นอีกเป็นจำนวนถึงอีก 4 ชิ้นคั่นกลางมาแล้ว แต่ก็ดูประหนึ่งว่า ถึงจะเครื่องร้อนแล้วแต่ก็ยังติดขัดอยู่บ้าง ผู้ฟังบางท่านอาจจะเหมาเอาว่าเธอทั้งสองซ้อมมาน้อยเกินไป คือยังไม่เข้าที่ แต่อาจมีเหตุผลอื่นที่ชวนให้คิด เพราะปราชญ์แห่งดุริยางคศิลป์เจ้าสำนักแห่งกรุงเวียนนานั้น ใช้ดุริยางคศิลป์บอกความอันล้ำลึกเชิงปรัชญา และวิธีการดึงผู้ฟังให้เข้ามาสู่จิตวิญญาณของตัวงานของท่านก็เป็นวิธีการที่เรียกร้องสมาธิในระดับที่สูงมาก ไม่มีการปรับเปลี่ยนสีสันและจังหวะอย่างรวดเร็วและฉับพลัน ถ้าจะดังก็ค่อยๆดัง ถ้าจะเร็วก็ค่อยๆเร็ว ถ้าจะปรับขึ้นสูงลงต่ำก็วางมาตรแห่งทางสายกลางเอาไว้อย่างลึกซึ้ง การจะจับพลวัตแห่งงานของเบโธเฟนได้นักดนตรีจะต้องเข้าถึงวิญญาณของปราชญ์ผู้นี้ หาไม่ก็จะสะดุดหยุดอยู่ในระดับของตัวโน้ต ไม่อาจจับแก่นของงานได้ ผมยังคิดว่านักดนตรีทั้งสองมีศักยภาพที่จะเข้าซึ้งถึงงานชิ้นนี้ได้ ถ้ามีเวลาครุ่นคิดพินิจนึกมาเพียงพอ แต่สำหรับการแสดงในคืนวันที่ 5 สิงหาคมนั้นอาจจะยังเป็นเพียงการซ้อมใหญ่เท่านั้น กระบวนที่ดูจะเป็นปัญหาก็คือท่อนที่สอง Scherzo : Allegro molto เพราะความมีชีวิตชีวาแบบของเบโธเฟนนั้นห่างไกลจากเดบูซีมากนัก ดุริยางคนิพนธ์บทนี้ ให้โอกาสนักเปียโนได้แสดงฝีมือมากอยู่ มิใช่ในฐานะผู้ติดตาม แต่ในฐานะผู้ร่วมทาง การที่เพื่อนเก่าสองคนจะมาพบกัน และตัดสินใจเล่นดนตรีร่วมกันสักครั้งหนึ่งนั้น เป็นการยากที่จะทาบกับการบรรเลงของนักดนตรีที่บรรเลงร่วมกันต่อเนื่องเป็นแรมปี

ผมอดคิดไม่ได้ว่านักดนตรีทั้งสองคงจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปในการเตรียมงาน Variations on a Theme by Paganini ของ Gregor Piatigorsky นักเชลโลชาวรัสเซียผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20 ซึ่งถือได้ว่าเป็นดุริยางคนิพนธ์ที่ยอดเยี่ยม ดุริยกวีใช้เชลโลและเปียโนเป็นเครื่องมือในการวาดภาพของเพื่อนนักดนตรีรวมด้วยกัน 15 คน การจับเอาเอกลักษณ์แห่งบุคลิกภาพของแต่ละบุคคลให้ได้นั้นก็ยากยิ่งอยู่แล้ว แต่การที่ตั้งกรอบของ Variations เอาไว้ให้แก่ตนเองเท่ากับเป็นการประกาศว่าพวกเขานักดนตรีเกาะกันอยู่เป็นประชาคมอย่างเหนียวแน่น แต่ความเป็นหนึ่งอันเป็นส่วนรวมนี้หาได้เป็นปฏิปักษ์ต่อความเป็นเอกแห่งปัจเจกลักษณ์ของแต่ละบุคคลไม่ ผมเองโชคดีที่เคยได้ฟังการแสดงสดของนักดนตรีบางคนที่ปิอาติกอร์สกี้นำมาวาดเป็นภาพเหมือน (portraits) เอาไว้ อาทิ Variation ที่ 7 อันเป็นภาพของ Yehudi Menuhin และ Variation ที่ 8 อันเป็นภาพของ Nathan Milstein ผมอยากจะกล่าวว่าปิอาติกอร์สกี้สามารถเจาะเข้าไปให้ซึ้งลึกถึงวิญญาณของเพื่อนนักดนตรีของเขาแต่ละคน ซึ่งต่างจากภาพลักษณ์สาธารณะที่เราอาจจะได้เห็นกันมา ยกตัวอย่างกรณีของเมดูฮิน เราอาจจะประหลาดใจที่ปิอาติกอร์สกี้วาดภาพของเมดูฮินเอาไว้ค่อนข้างจะร้อนแรง และ I-Bei Lin กับนภนันทน์ก็สะท้อนความร้อนแรงดังกล่าวออกมาได้ดังใจ แต่ถ้าเราได้ฟังการแสดงของเมดูฮินหรือได้อ่านงานเขียนของท่านหรือได้ฟังการให้สัมภาษณ์ของท่าน เราอาจจะเหมาเอาว่าภาพนี้บิดเบือน แต่งานเขียนที่เกี่ยวกับเมดูฮินที่ได้รับการตีพิมพ์ออกมาในระยะหลังๆ รวมทั้งรายการที่เกี่ยวกับชีวประวัติของท่านอันรวมถึงการสัมภาษณ์สมาชิกในครอบครัวของท่านเองบ่งบอกไว้อย่างชัดเจนว่า ในเบื้องลึกแล้วเมดูฮินอาจจะเป็นบุคคลประเภทที่ ” ไฟแลบ ” เลยทีเดียว ถ้าไม่รู้จักท่านดีก็จะไม่เข้าใจท่าน ปิอาติกอร์สกี้ดูจะเข้าใจเมนูฮินดีมาก เช่นเกี่ยวกับเพื่อนสนิทของท่านคือ นาธาน มิลชไตน์ ผู้ซึ่งเป็นนักไวโอลินประเภทที่เรียกได้ว่าเล่นได้เป็นธรรมชาติเหนือกว่าใครทั้งหมด ภาพของมิลชไตน์จึงออกมานุ่มนวล ลื่นไหล

ในส่วนของท่านอื่นๆก็เช่นกัน เสียงซอเชลโลที่เราได้ยินได้ฟังในส่วนที่เป็นภาพวาดของนักเชลโลเอกของโลกชาวสเปน คือ Pablo Casals นั้น เสียงซอของ I-Bei Lin ที่เดินตามดุริยางคนิพนธ์ของปิอาติกอร์สกี้ชวนให้เราหวนกลับไปคิดถึงนักดนตรีเอกท่านนั้น ( แม้ว่าผมเองจะเกิดไม่ทันได้ฟัง Casals แสดงจริง ) เสียงซอใหญ่ ก้อง ลึก ชวนให้เกิดอารมณ์ครุ่นคิดตามไปด้วย Variation สุดท้ายเป็นภาพของนักดนตรีเอกของรัสเซีย 2 คนคือ นักไวโอลิน Heifetz และนักเปียโน Horowitz ซึ่งวงการดนตรียอมรับแล้วว่าหาคนอื่นมาทาบได้ยากนัก เป็นการจบเพลงที่น่าประทับใจยิ่ง แต่เราก็คงไม่ลืมว่าตัวทำนองหลักนั้นผู้แต่งระบุว่าเป็น “A Theme by Paganini” ซึ่งแก่นทำนองที่ว่านี้มีผู้นำมาแต่งใหม่จนเป็นงานที่โด่งดังไปแล้วคือ Brahms กับ Rachmaninoff การที่ปิอาติกอร์สกี้ไม่กล้าวาดภาพ Rachmaninoff ซึ่งเขารู้จักและเคารพ ( ยำเกรง ) เป็นสิ่งที่ชวนให้พิศวง เขา “ แหยง ” หรือเขาไม่ต้องการจะแข่งกับราคมานินอฟกันแน่ เราคงจะต้องขอบคุณ I-Bei Lin เป็นอย่างยิ่งที่นำงานอันยากยิ่งเช่นนี้มาบรรเลง ( เข้าใจว่าเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ) เป็นการเปิดโลกแห่งดนตรีให้เห็นมิติอันน่ารักของประชาคมดนตรีตะวันตก และก็นักเชลโลแนวหน้าเท่านั้นที่จะกล้าบรรเลงงานชิ้นนี้ และก็ต้องขอชมเชยนภนันท์เช่นกันที่ร่วมเดินทางไปกับเพื่อนรักได้อย่างไม่หวาดหวั่น ผมไม่ลังเลที่จะยกย่องว่าการแสดงงานชิ้นนี้ในคืนวันที่ 5 สิงหาคม เป็นการเผยแสดงทางจิตวิญญาณและทางสุนทรียภาพที่ยากที่จะลืมเลือน

การแสดงในคืนนั้น เรียกได้ว่า “ ครบเครื่อง ” เพราะนักเชลโลของเรามีดุริยางคนิพนธ์บทใหม่ติดตัวมา ซึ่งคีตกวีชาวอเมริกัน Donald Reid Womack ได้แต่งให้เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งเป็น sonata for Solo Violoncello ทั้งผู้ประพันธ์และผู้บรรเลงเพลงเป็นผู้ร่วมงานกัน ณ คณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยฮาวาย และดูจะรู้ใจและรู้ฝีมือกันดี การพิจารณางานชิ้นใหม่ก็คงจะต้องเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามว่า งานดังกล่าวน่าจะทำหน้าที่อะไรได้บ้าง ถ้าเป็นงานสำหรับเครื่องดนตรีเดี่ยวในลักษณะที่ว่านี้ ผู้แต่งก็จำจะต้องเข้าใจศักยภาพของเครื่องดนตรีได้ดีพอ ซึ่งในที่นี้ Womack ได้แสดงความสามารถเอาไว้ให้เป็นที่ประจักษ์ว่าเขารู้จักเครื่องดนตรีเชลโลดีมาก ความหลากหลายของน้ำเสียง เทคนิคต่างๆ ทั้งสำหรับมือขวาและมือซ้ายจัดได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าทึ่ง และผู้บรรเลงก็มีโอกาสได้แสดงฝีมืออย่างเต็มที่ แต่สิ่งที่ท้าทายยิ่งไปกว่านั้นก็คือความหลากหลายของอารมณ์ ซึ่งมีทั้งแบบครุ่นคิด ร่าเริง และเผ็ดร้อน I-Bei Lin แสดงฝีมือ (virtuosity) ได้อย่างเต็มที่ และตรงนี้แหละที่น้ำเสียงซอของเธอที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นเป็นตัวหนุนที่ดีเยี่ยม ถ้าพูดถึงความกล้าของนักแสดงก็คงต้องพูดถึงความกล้าของผู้ประพันธ์ดนตรีเช่นกัน เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าในบรรดาองคนิพนธ์สำหรับซอเชลโลเดี่ยวนั้นเขามีบรรพบุรุษที่เป็นยักษ์ใหญ่แห่งดนตรีคลาสสิกค้ำอยู่ อันรวมถึงท่านมหาดุริยกวี โยฮันน์ เซบาสเตียน บาค ด้วย ในตอนที่ผู้แสดงประกาศรายการนั้นได้มีการเน้นถึงแบบแผนใหม่ที่ไม่ตามระบบ tonality ของดนตรีตะวันตกโดยทั่วไป แต่ถึงกระนั้น เอกภาพ ของงานก็ดูจะยึดแบบแผนคลาสสิกอยู่ไม่น้อย ด้วยสามตัวโน้ตหลัก ดุริยางคนิพนธ์บทนี้แปรผันรูปแบบไปได้อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะในท่อนช้านั้นดูประหนึ่งจะเป็นการแต่งให้เชลโลสนทนากับเราเป็นเชิงปรารภและพร่ำบ่น แต่ไม่ทำให้เกิดลักษณะเพ้อเจ้อเพราะไม่ว่างานจะเดินไปทางใด โน้ตสามตัวที่ว่านั้นก็ยังเป็นเครื่องกำกับเอกภาพของงานอยู่ ผมคิดว่าเราน่าจะได้มีโอกาสได้ฟังผลงานของ Womack ให้มากกว่านี้ เพราะดูจะเป็นดุริยกวีร่วมสมัยที่สามารถผสมผสานขนบดั้งเดิมให้เข้ากับแนวทางบุกเบิกใหม่ได้

ก็ด้วยความปรารถนาที่จะสร้างโปรแกรมที่หลากหลายนั่นเอง นักดนตรีทั้งสองจึงไม่ละเลยงานสั้นๆประเภทโรแมนติก เพื่อให้เกิดความผ่อนคลายรายการที่เต็มไปด้วยความคมเข้ม ขึงขัง เอาจริงเอาจัง บทเพลงของ Chopin คือท่อนช้าจาก cello Sonata บทเดียวที่นักเปียโนเอกแห่งศตวรรษที่ 19 แต่งเอาไว้ ดูจะเป็นงานที่เบาสมอง ใครๆก็ฟังได้และชื่นชมได้ ในขณะที่ “Swan” จาก Carnival of the Animals ของ Saint-Saens นั้นจัดได้ว่าเป็นม้าสงครามแก่ที่ไม่ยอมแก่และก็ไม่มีวันจะแก่ และม้าสงครามแก่ตัวนี้แหละที่พยศให้ใครต่อใครตกม้ากันมามากแล้ว I-Bei Lin ก็เกือบไปทีเดียว เพราะวิธีการเล่นของเธอยังขาดความต่อเนื่องและความลื่นไหล อันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับงานที่โรแมนติกสุดๆ เช่น ” หงส์ ” ตัวนี้ กล่าวโดยสรุปก็คือหงส์ไม่ยอมเหิน เพราะเป็นหงส์โรแมนติกที่ดื้อมือไม่ยอมทำตามผู้เชี่ยวชาญดนตรีศตวรรษที่ 20 และ 21 ดุริยางคนิพนธ์ที่ดูจะเป็นของกล้วยๆจึงกลายเป็นอุปสรรค ยิ่งเทคนิคง่ายก็ยิ่งเล่นยาก เพราะปรมาจารย์เท่านั้นที่จะรู้จักทำสิ่งที่ นิ่ง อยู่แล้วให้ นิ้ง ขึ้นมาได้

ผมจึงจำเป็นจะต้องจบบทวิจารณ์ด้วยข้อสังเกตแบบสรุปรวมทั่วไปสักเล็กน้อย เรามักจะชอบพูดกันว่าดนตรีเป็นศิลปะที่ข้ามพรมแดนแห่งเชื้อชาติและถิ่นที่ได้ง่ายกว่าศิลปะประเภทอื่น และก็คงจะต้องยอมรับกันว่านักดนตรีแนวหน้าของโลกที่เติบโตมาจากอเมริกานั้นมีอยู่มากทีเดียว ถ้าจะพูดถึงโลกาภิวัตน์ในทางคีตศิลป์ อเมริกาเหนือเป็นตัวอย่างที่ดีของการหลอมรวมกระแสต่างๆในโลกของดนตรี และคนอเมริกันเองก็คิดใหม่ บุกเบิกใหม่ได้ตลอดเวลา ในเรื่องของการศึกษาดนตรี สถาบันดนตรีชั้นสูงของอเมริกาก็อยู่ชั้นแนวหน้าของโลก ไม่ว่าด้วยเรื่องของเทคนิค ด้วยเรื่องของการตีความ หรือด้วยเรื่องของวิทยาการทางดนตรี ( และนักดนตรีทั้งสองก็ได้รับปริญญาเอกจากสถาบันในสหรัฐมาแล้วทั้งคู่ ) แต่มีเรื่องของจิตวิญญาณที่อธิบายให้เป็นเหตุเป็นผลได้ยาก ดังเช่นในกรณีของหงส์ที่ไม่ยอมเหินตัวนี้ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะดนตรีมีจุดกำเนิด มีสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม มีจิตวิญญาณอันอยู่เบื้องลึก ซึ่งผูกติดอยู่กับต้นกำเนิด ถ้าจะให้หงส์เหินได้ก็คงจะต้องได้มีโอกาสสัมผัสกับวัฒนธรรมต้นกำเนิดในขั้นที่ลึกซึ้งจนถึงกับจับวิญญาณของวัฒนธรรมและถิ่นที่นั้นได้ ข้อแนะนำจากผู้รักสมัครเล่นก็คือ สองสาวผู้เปี่ยมด้วยความสามารถคู่นี้ควรจะลาไปเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการในยุโรปแผ่นดินเก่าเสียบ้าง น่าจะเป็นการดี
 

You may also like...