การลงทุนในงานศิลปะ

การลงทุนในศิลปะเป็นการลงทุนทางเลือก (Alternative Investment) ประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้มีความมั่งคั่งสูง การลงทุนในศิลปะแตกต่างจากการลงทุนในหลักทรัพย์และสินทรัพย์อื่น เพราะเป็นการลงทุนที่ใช้ “ศิลป์” มากกว่า “ศาสตร์” เนื่องจากมีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงมีประเด็นและแง่มุมที่ต้องพิจารณาแตกต่างไปจากการลงทุนอื่นๆ

ดิฉันได้มีโอกาสไปฟังคำบรรยาย ของผู้เชี่ยวชาญ คือ คุณเควิน ชิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของซอธเธอะบี เอเชีย จึงขอนำมาเขียนเป็นแนวทางสำหรับผู้ที่สนใจจะลงทุน

ศิลปะเกิดการสร้างสรรค์และแลกเปลี่ยนมือกันมาตั้งแต่โบราณ โดยอาจจะมีการแลกเปลี่ยนกันบ้าง มีผู้อุปถัมภ์ให้สร้างงานบ้าง เกิดจากความจงรักภักดีบ้าง ความศรัทธาบ้าง หรืออาจจะเกิดจากสุนทรียภาพของศิลปินเอง

ในยุคหลัง วิธีการซื้อขายงานศิลปะที่นิยมมากที่สุด คือวิธีประมูล หรือ Auction ท่านที่เคยเข้าไปในห้องประมูลจะทราบดีว่า บรรยากาศในการประมูลนั้น ชวนให้เกิดความอยากได้ ทำให้เกิดการแข่งขันในเพียงใด บรรยากาศนี้เองเป็นการสร้าง “ความต้องการ” ให้เกิดขึ้น ซึ่งทำให้งานศิลปะมีราคาสูงขึ้น

อย่างไรก็ดี ราคาหรือมูลค่าของศิลปะไม่ได้ขึ้นอยู่กับความต้องการเพียงอย่างเดียว เพราะหากเราต้องการอยู่คนเดียว เราก็ไม่สามารถขายต่อโดยมีกำไรได้ ผู้ลงทุนจึงต้องทราบด้วยว่า ผู้ลงทุนหรือผู้สนใจในงานศิลปะรายอื่นๆ เห็นความงามและคุณค่าของงานศิลปะชิ้นนั้นๆ จากอะไร ในแง่มุมไหนบ้าง และสิ่งที่ทำให้การลงทุนในศิลปะเป็นเรื่องยากก็คือ ปัจจัยต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้น และมีส่วนทำให้งานศิลปะมีค่านั้น โดยส่วนใหญ่ไม่สามารถวัดได้

ปัจจัยที่มีผลต่อมูลค่าหรือราคาของศิลปะเท่าที่คุณเควิน บรรยาย มีอยู่ 7 ปัจจัย ปัจจัยแรกคือ ศิลปิน ศิลปินจะมีส่วนอย่างมากต่อราคาของศิลปะ แต่การกำหนดนี้ตัวศิลปินเองกำหนดได้แต่เฉพาะตอนขายครั้งแรกเท่านั้น การกำหนดที่มีความหมายสำหรับการลงทุน คือการกำหนดราคาของ “ตลาด” โดยผู้สะสมหรือผู้ลงทุนอื่นๆ ในตลาดจะกำหนดให้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับชื่อเสียงของศิลปินผู้สร้างสรรค์ศิลปะชิ้นนั้นๆ

เรื่องราวหรือที่มาของศิลปะชิ้นนั้นๆ (Provenance) ก็มีส่วนทำให้งานศิลปะชิ้นนั้นๆ มีราคาสูงขึ้น ยกตัวอย่างภาพเขียนสีน้ำมันของมาร์ค รอธโค (Mark Rothko) เป็นภาพสีที่ถูกป้ายเป็นแถบ 3 แถบ มีสีแซมด้านข้างเล็กน้อย ใช้สีทั้งหมด 4 สี ชื่อภาพ White Centre (Yellow, Pink and Lavender on Rose) ซึ่งผู้เห็นภาพที่ยังไม่ทราบประวัติ หรือเรื่องราวก็อาจจะคิดว่า “ลูกฉันก็วาดได้” ถูกประมูลไปเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2550 ที่ผ่านมา ด้วยราคาถึง 72.84 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2,513 ล้านบาท เนื่องจากเป็นภาพที่เคยแขวนอยู่ในออฟฟิศของร้อกกี้เฟลเลอร์ถึง 30 ปี คือไม่ว่าจะย้ายไปทำงานที่ห้องไหน ก็จะนำภาพนี้ไปติดผนังด้วย จึงเป็นภาพที่มี “เรื่องราว”

สภาพ หรือ Condition ของศิลปะ เป็นส่วนสำคัญอีกปัจจัยหนึ่ง ชิ้นงานที่มีความสมบูรณ์จะได้ราคาดี ชิ้นงานที่ไม่สมบูรณ์จะมีราคาตกลงไป เช่น แจกันเคลือบสมัยราชวงศ์ชิง ที่นำออกมาประมูลเมื่อเดือนเมษายน 2550 ตราประทับใต้ฐานถูกขูดออกไปตอนที่ผู้นำออกมาจากวัง ลักลอบนำออกมา เพื่อกันไม่ให้ติดตามได้ ราคาที่ประมูลได้ไปคือ 10.9 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือประมาณ 47 ล้านบาท ในขณะที่หากเป็นชิ้นสมบูรณ์ จะได้ราคาสูงกว่าถึง 2-3 เท่าเลยทีเดียว

ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อราคาของศิลปะ งานศิลปะชิ้นเยี่ยมที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ หรือเป็นหลักฐานให้ทราบถึงช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์มักจะมีราคาสูงเป็นพิเศษ

นอกจากนี้ ความหายาก หรือ (Rarity) เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้งานศิลปะชิ้นนั้นๆ มีราคาสูง จริงๆ แล้ว ปัจจัยนี้ไม่ได้ใช้กับงานศิลปะอย่างเดียวเท่านั้น แต่ใช้ได้กับทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ หรือแม้กระทั่งอาหาร ศิลปะที่หายากจะถือว่าเป็นชิ้นเอก หรือ Masterpiece เช่น เป็นชิ้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่มีการสร้างในสมัยนั้นๆ หรือมีการสร้างจำนวนน้อย หรือมีลักษณะพิเศษมีความวิจิตรบรรจงกว่าชิ้นใดๆ

รสนิยม คือปัจจัยที่มีผลต่อราคาของศิลปะมาก เศรษฐีบางคนจะชอบบางอย่าง และหากอยากได้จะทุ่มเงินซื้อ ซึ่งอาจจะทำให้ราคาขึ้นไปสูงเกินความคาดหมายได้ ในปีที่แล้ว การซื้อขายงานศิลปะที่ขายผ่านการประมูลจากผู้จัดการประมูล 2 รายหลักของโลกคือ ซอธเธอะบี และคริสตี มียอดถึง 8,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 276,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์เลยทีเดียว

และท้ายที่สุด ที่มีผลต่อราคาของศิลปะคือ การลงทุนในศิลปะเพื่อวัตถุประสงค์ในการกระจายพอร์ตการลงทุน New MEI Moses Annual All Art Index ซึ่งเป็นดัชนีราคาศิลปะ มีความเคลื่อนไหว ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนี S&P 500 เสมอไป ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าศิลปะไม่มีการซื้อขายกันบ่อยนัก แต่ดิฉันสังเกตเห็นว่า หากเศรษฐกิจดี ราคาหุ้นขึ้น ราคาศิลปะก็จะขึ้นด้วยค่ะ เพราะคนได้กำไรจากธุรกิจหรือจากหุ้นก็จะมีอารมณ์ดี อยากซื้องานศิลปะ และถ้าซื้อของตอนอารมณ์ดี ก็จะยอมจ่ายแพงได้ เวลาเศรษฐกิจไม่ดี ราคาหุ้นตก ราคาศิลปะก็จะตกด้วย ถือว่ามีความสัมพันธ์สูงมากทีเดียว

คุณเควิน ปิดท้ายด้วยการให้คำแนะนำว่า หากจะลงทุนก็ขอให้เลือกชิ้นที่ชอบ เพราะหากลงทุนผิด ซื้อมาราคาสูงเกินไป ทำให้ขายไม่ออก อย่างน้อยก็ยังได้เอาไว้ดูเล่นชื่นชมกับความงามค่ะ

เป็นที่น่าเสียดายที่ศิลปะของไทยมักไม่ค่อยมีบทบาทในโลกสากล สาเหตุน่าจะมาจากการเก็บรักษาที่ไม่ถูกต้อง ทำให้งานศิลปะดีๆ เสียหายไปมาก นอกจากนี้ เรายังไม่ค่อยเผยแพร่ให้ชาวโลกได้เข้าใจในศิลปะของไทย ความเข้าใจและ “เรื่องราว” จะช่วยให้มีค่ามากยิ่งขึ้น ไม่ควรคิดแต่เพียงว่าของดีย่อมมีคุณค่าในตัวเอง สมัยนี้มีดีต้องป่าวร้องให้คนอื่นรับรู้ เมื่อเข้าใจก็จะเห็นคุณค่า และมูลค่าหรือราคาก็จะตามมาค่ะ

 

You may also like...