จาก จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้าฯ ถึง กระท่อม

จาก “จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้าฯ” ถึง “กระท่อม” ของประเทือง เอมเจริญ โดย พิษณุ ศุภ.
ครับ ตามที่ได้สัญญากันไว้ว่าจะได้พูดถึงงานศิลปะของคุณประเทือง เอมเจริญ กันในสัปดาห์นี้ ก็เป็นอันตกลงด้วยความเต็มใจและมั่นใจหลังจากที่ได้ไปชมผลงานจริงๆมาแล้วที่สถาบันวัฒนธรรมเยอรมันซึ่งจะเปิดแสดงจนถึงวันที่ 12 เมษายน

ประการแรกผมมั่นใจว่างานศิลปะของคุณประเทือง เอมเจริญ มีคุณค่าควรแก่การวิจารณ์ และในประการที่สองผมเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าผมจะวิจารณ์ไปอย่างไร คุณประเทืองก็ยังคงเป็นคุณประเทืองไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าผมจะชม หรือตำหนิติเตียน คุณประเทืองก็คงไม่ยินดียินร้ายให้เป็นที่ปริเวทนาแต่อย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ผมจึงคิดว่าการพูดถึงความจริงด้วยเหตุผลจึงน่าจะเกิดประโยชน์ยิ่งไปกว่าคำสรรเสริญเยินยอ หรือคำติเตียนทั้งแก่ตัวคุณประเทืองเอง ประชาชนทั่วไป และตัวผมเอง

การที่ได้พูดถึงชีวิตของคุณประเทืองอย่างยืดยาวไปแล้วนั้น ก็เพื่อที่จะปูพื้นให้เข้าใจถึงงานศิลปะของคุณประเทืองได้ง่ายขึ้น เพราะว่าผลงานของคุณประเทืองอยู่ในประเภทที่มีเนื้อหาทางการแสดงออกในทางด้านอารมณ์และความรู้สึกจากจิตใจ ประสบการณ์ของชีวิตที่สั่งสมอยู่ในตัวศิลปินจึงเป็นเนื้อหาที่จะต้องสัมพันธ์กับการแสดงออกทางศิลปะอย่างแนบแน่น สภาพแวดล้อมของศิลปินเป็นอย่างไรก็น่าจะสะท้อนให้เห็นออกมาในผลงานนั้นๆ ใครที่รู้จักชีวิตของคุณประเทืองก็จะเข้าใจถึงงานศิลปะของคุณประเทืองได้ไม่ยากนัก เหมือนกับเราได้เห็นรูปรองเท้าคู่เก่าของวินเซนต์ แวนก็อก เราเข้าใจถึงชีวิตที่แสนลำเค็ญของเขาได้

งานศิลปะของคุณประเทือง มีลักษณะเป็นภาพของการแสดงทรรศนะด้วยการรวบรวมจากประสบการณ์ในชีวิตของคุณประเทืองหลายๆ ด้าน เช่น จากธรรมชาติ จากความสับสนวุ่นวายในสังคม จากชีวิตในอดีตอันลำเค็ญ และจากความคิดฝัน รวบรวมแล้วแสดงความคิดเห็นต่างๆที่ประสบมาไว้ในภาพเดียวกัน ด้วยรูปแบบและวิธีการที่เป็นสากล และเป็นตัวของคุณประเทืองเอง

ในด้านเนื้อหาเรื่องราวที่คุณประเทืองเสนอในงานศิลปะในระยะแรกๆ นั้น คุณประเทืองเคยบอกอยู่เสมอว่าได้ศึกษาศิลปะด้วยตนเองจากธรรมชาติ จากดวงอาทิตย์ สิ่งเหล่านี้ถ้ามองดูในฐานะที่ศิลปินเป็นเพียงมนุษย์เล็กๆ คนหนึ่งในจักรวาลนี้ การที่จะหยิบจับความยิ่งใหญ่ของ ธรรมชาติ และพลังของจักรวาลอันลี้ลับให้ผู้อื่นได้เห็นเป็นภาพในงานศิลปะ จึงเป็นเรื่องที่ยากและห่างไกลจากความสามารถของมนุษย์เกินไป บางครั้งจึงดูเป็นการกล่าวถึงเพื่อให้ดูขลังๆ เล่นเท่านั้นเอง

ทีนี้ถ้าจะพูดถึงธรรมชาติก็จะต้องตีปัญหาให้แตกว่า ธรรมชาติในทรรศนะของศิลปินนั้นคืออะไร และธรรมชาติที่จะใช้แสดงออกนั้นเป็นส่วนไหน กำหนดขอบเขตลงไปให้ชัดเจน เพราะธรรมชาตินั้นมีความหมายกว้างขวาง อะไรๆ ก็ธรรมชาติไปเสียทั้งนั้น

คนจีนโบราณนั้น ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่ยอมรับในธรรมชาติเป็นอย่างยิ่ง จิตรกรจีนได้แสดงทรรศนะที่ตนมีต่อธรรมชาติในภาพเขียนของเขาด้วยการยอมรับความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ ในลักษณะของรูปแบบที่ง่ายๆ ธรรมดาๆ เช่น รูปภูเขา น้ำตก ลำธาร ต้นไม้ แต่สิ่งง่ายๆ เหล่านี้เองต่างหากที่ทำให้คนดูเกิดจินตนาการไปถึงธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ ความสัมพันธ์กันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และความกลมกลืนกันของทุกสรรพสิ่งในจักรวาล การพูดง่ายๆ ก็คือ จิตรกรจีนนั้นเขียนเพียงภูเขาลูกเดียว ก้อนหินก้อนเดียว ต้นไผ่สักต้นหนึ่งก็สามารถบอกถึงความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติในจักรวาลนี้ได้

งานศิลปะของคุณประเทืองในชุดแรกๆนั้น จึงมองเห็นได้ถึงการตั้งจุดมุ่งหมายในเนื้อหาที่สูง และอยู่ห่างไกลจากธรรมชาติของตนเองมากเกินไป ผลงานจึงเป็นเพียงภาพของการแสดงออกถึงพละกำลังของธรรมชาติ ขาดความลึกซึ้งและยากแก่การประเมินคุณค่า ที่ผมพูดเช่นนี้ก็เพราะว่า คุณประเทืองนั้นผ่านชีวิตอันแสนเข็ญ ได้พบกับสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง การที่คุณประเทืองจะได้สะท้อนถึงสภาพของชีวิตการต่อสู้ จึงน่าจะเป็นความจริงแท้ที่คุณประเทืองรู้สึกได้มากที่สุด การแสดงออกด้วยภาพของพลังดวงอาทิตย์ ความเป็นไปในจักรวาลจึงเป็นเหมือนภาพเขียนที่ขู่คนดูด้วยคำพูดที่ลึกซึ้งเป็นปรัชญามากกว่าที่จะพูดกันด้วยภาษาชาวบ้าน พูดง่ายๆ และกินใจ

แต่ในระยะหลังช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมานี้ คุณประเทืองได้กำหนดช่วงเวลาของการทำงานขึ้น โดยตั้งเป้าหมายในการเสนอเนื้อหาในมุมใดมุมหนึ่งที่คุณประเทืองได้เจาะจงเลือก วิธีการเช่นนี้ผมคิดว่าเป็นวิธีการทำงานศิลปะที่ถูกต้อง กล่าวคือตั้งจุดมุ่งหมายไว้ก่อน แล้วดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายที่ต้องการ

ในช่วงปี พ.ศ. 2519 คุณประเทืองได้เจาะจงที่จะเสนอเรื่องราวของชีวิตผู้คนในยุคที่สังคมประชาธิปไตยกำลังเบิกบาน ด้วยภาพที่เสนอปัญหาของสังคมอันพิกลพิการนับว่าเป็นผลมาจากการเศรษฐกิจและการเมือง และในช่วง ปี พ.ศ. 2520 ภาพชุดที่กำลังเปิดแสดงอยู่นี้ก็เช่นกัน ที่คุณประเทืองตั้งเป้าหมายที่จะออกไปธุดงค์เดียวด้นดั้นอยู่ในกระท่อมโดดเดี่ยวกลางทุ่งนาหนองแขมเป็นเวลาสี่เดือนกว่า เพื่อบันทึกความเคลื่อนไหวความเปลี่ยนแปลงของทุ่งนา ตั้งแต่ ชาวนาไถหว่าน ข้าวกล้าเขียวขจีไปทั้งทุ่งนาแล้วก็ออกรวงเหลืองอร่าม และในฤดูเก็บเกี่ยวเมื่อลมหนาวโชยมา ภาพเขียนชุดนี้นอกจากจะบันทึกความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล แล้วก็ยังได้บันทึกถึงชีวิตและหยาดเหงื่อของชาวนา โดยได้เสนอภาพเหล่านั้นอย่างลึกซึ้งแอบแฝงอยู่ในรายละเอียดต่างๆในภาพ ผลงานชุดนี้จึงเป็นการกำหนดขอบเขตของความคิดไม่ให้กระเจิดกระเจิงออกไป และแสดงให้เห็นถึงการเน้นเจาะจงในเนื้อหาสาระที่จริงจังชัดเจนขึ้นของคุณประเทือง

ดังนั้นข้อที่น่าสังเกตก็คือ การเลือกขอบเขตของเนื้อหาในการทำงานก็ยังต้องมีข้อแม้ว่า จะต้องคำนึงถึงการเลือกลักษณะของรูปแบบที่เหมาะสมในการแสดงออกอีกด้วย ในกรณีนี้ผมอยากจะเปรียบเทียบผลงาน 2 ชิ้นของคุณประเทืองที่มีรูปแบบต่างกัน ชิ้นแรกเป็นผลงานของในปี 2515 ชื่อ “จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า ขอข้าวให้ข้ากิน” ได้นำออกแสดงเมื่อเดือนตุลาคม 2518 ที่หอศิลป์ พีระศรี กับผลงานที่นำมาแสดงในครั้งนี้ชื่อ “กระท่อมหมายเลข 5” ดูกันด้านเนื้อหาโดยกว้างขวางแล้วจะเห็นได้ว่าทั้งสองภาพนี้เสนอเรื่องราวของชีวิตเหมือนกัน แต่แตกต่างกันที่ลักษณะของการเน้นเรื่องราว ในรูปแรกนั้นเน้นถึงปัญหาสังคม เป็นภาพของเด็กอดโซที่คอยความเมตตาจากเพื่อนมนุษย์พร้อมด้วยจานข้าวที่ว่างเปล่าวางอยู่ข้างหน้า เบื้องหลังของเด็กเป็นความสับสนวุ่นวาย และมีดวงจันทร์อยู่เป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังและเมตตา จานอันว่างเปล่าวางอยู่ในองค์ประกอบที่เด่นชัดเป็นคำตอบของภาพว่า ความหวังยังคงเป็นความหวังซึ่งไม่มีทางจะเป็นความจริงขึ้นมาได้ คุณประเทืองเลยตั้งชื่อว่า “จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า ขอข้าวให้ข้ากิน” เป็นการประชดประชันให้เห็นว่า ในเมื่อมนุษย์ด้วยกันยังขาดความเมตตาต่อกันแล้ว ก็ไปขอสิ่งที่อยู่สูงส่งขึ้นไปคือดวงจันทร์ ซึ่งเป็นความหวังเท่านั้น เพราะดวงจันทร์ไม่อาจจะทำให้ท้องใครอิ่มได้เลย

การเสนอเนื้อหาที่เป็นการบอกเล่าเรื่องราวเช่นนี้ ในทางศิลปะประเภททัศนศิลป์แล้ว ถือว่ามีส่วนทำให้เรื่องราวนั้นแบ่งแยกความสนใจในสาระของศิลปะไปเสีย ศิลปะแขนงนี้ท่านให้จดจำไว้ว่า ทำอย่างไรจึงจะเสนอเรื่องราวให้น้อยลงแต่แฝงเนื้อหาสาระอันลึกซึ้งได้ การบอกเรื่องราวในภาพเขียนว่าเป็นรูปใครกำลังทำอะไร ในภาพนี้ดูจะเป็นไปเพื่อประกอบเรื่องราวในวรรณกรรม หรือภาพบันทึกเหตุการณ์เสียมากกว่า

ทีนี้ทางด้านรูปแบบที่แสดงออกรูปทรงของเด็กที่กำหนดให้นั่งอยู่กลางภาพนั้น มีลักษณะก้ำกึ่งระหว่างความเป็นจริงในธรรมชาติกับลักษณะที่ดัดแปลงให้เป็นรูปทางสัญลักษณ์ จึงทำให้มองไม่เห็นในสภาวะที่เป็นจริง และไม่แน่ใจว่ารูปทรงของเด็กที่เน้นให้มีลักษณะเกินความจริงนั้นจะเป็นชีวิตจริงไปได้อย่างไร และที่สำคัญก็คือขาดความสมบูรณ์ทางด้านโครงสร้างของรูปคน ปัญหาทางด้านความงามในศิลปะจึงติดตามมา อีกประการหนึ่งรูปเด็กกับส่วนที่เป็นพื้นหลังขาดความสัมพันธ์ต่อกัน ด้วยรูปเด็กนั้นเป็นรูปที่มาจากแบบเหมือนจริง แต่ในพื้นหลังเป็นลักษณะของความคิดพ้นจากจินตนาการของคุณประเทืองเองเป็นเส้นขดไปงอมา ความไม่สมบูรณ์ในรูปแบบเหล่านี้จึงอาจวินิจฉัยได้ว่าเป็นผลมาจากการกำหนดให้เสนอเรื่องราวที่เด่นชัดเกินไปนั่นเอง ทีนี้มาดูรูปที่สองที่ชื่อ ” กระท่อมหมายเลข 5″ เป็นรูปกระท่อมชาวนาเด่นอยู่กลางภาพ ข้างบนเป็นเนื้อที่ว่างของท้องฟ้า จะเห็นว่าการเสนอเรื่องราวของภาพนี้เป็นไปอย่างง่ายๆ แต่เป็นภาพของความจริงที่ได้เคยพบเห็นอยู่ ความลึกซึ้งจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเราได้มองดูด้วยความสังเกตด้วยความพินิจพิเคราะห์ กระท่อมชาวนาเก่าๆ หลังนี้คุณประเทืองต้องการให้เป็นสัญลักษณ์ เป็นตัวแทนของชาวนาซึ่งมีชีวิตอยู่อย่างสันโดษ ต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ความเก่าของกระท่อมได้เน้นถึงการต่อสู้ของชาวนาที่เกิดขึ้นอย่างนี้มาแล้วทุกสมัย

ความรู้สึกต่างๆนี้เกิดขึ้นได้จากรูปแบบต่างๆทางศิลปะ เช่นการใช้สีเรียบง่ายเป็นโครงสีน้ำเงินเข้มบอกถึงความเศร้าสร้อย ความเวิ้งว้าง การวางองค์ประกอบของกระท่อมกลางความว่างเปล่ามีท้องฟ้าอันเวิ้งว้างอยู่เบื้องบนเน้นถึงความสันโดษ การต่อสู้โดยลำพังของชาวนา คนด้านรูปทรงของกระท่อมนั้น มีลักษณะง่ายๆ ไม่งดงามอย่างกระท่อมที่จะอยู่อาศัยได้ แต่เป็น รูปทรงที่ผสมกับบุคลิกลักษณะของคุณประเทืองโดยเฉพาะ มีลักษณะเหมือนกับสิ่งที่มีชีวิตที่เหน็ดเหนื่อยจากการงาน ค้อมร่างกายสู่พื้นดิน รูปทรงแบบนี้ให้ความรู้สึกที่ต่ำต้อยเจียมตัว ในรายละเอียดของกระท่อมนั้นก็เป็นการบันทึกถึงความเปลี่ยนแปลงด้วยกาลเวลา ด้วยเปลวแดด ด้วยสายฝน และลมหนาว จะเห็นได้จากลักษณะความเคลื่อนไหวของเส้นที่บอกถึงการต่อสู้ด้วยความอดทน สรุปแล้วการเสนอเรื่องราวแต่น้อยในภาพชุดท้องนาของคุณประเทืองในครั้งนี้ เรียกได้ว่าเป็นความก้าวหน้าที่จะต้องติดตามต่อไป ทั้งเนื้อหาที่เข้มข้น และรูปแบบที่ชัดเจนขึ้น … รูปที่เด่นที่สุดนอกจากรูป “กระท่อม” ที่ได้กล่าวมาแล้วก็ยังมีอีกรูปหนึ่งคือ “กล้าสีเขียว” ซึ่งได้แสดงให้เห็นถึงพลังความกว้างไกลของต้นกล้าสีเขียว เป็นพลังของความอุดมในผืนดิน นอกจากนี้ก็มีรูปที่อยู่ในอันดับรองลงไปคือ ” ข้าวเปลือกสีทอง” “คลื่นข้าวเปลือก” และ ” ลมกลางคืน”

มีสิ่งที่ขอฝากเป็นข้อคิดสำหรับการแสดงภาพเขียนในครั้งนี้ ก็คือจำนวนภาพที่นำออกแสดงมากเกินไป บางภาพนั้นมีสาระมีความประณีตน้อยเกินไปที่จะนำออกแสดง เช่น รูป “ขึ้น 15 ค่ำ” ” ทุ่งนา” “ย่ำค่ำ” “ตกปลา” และ “สะพาน” ภาพเหล่านี้ยังเสนอจุดมุ่งหมายไม่ชัดเจน จึงมีส่วนทำลายภาพอื่น ๆ ให้ลดความเข้มข้นลงไปด้วย ในการแสดงครั้งต่อไป ผมขอเสนอให้คุณประเทืองได้คัดเลือกผลงานไม่ต้องมากนัก แต่มีจุดมุ่งหมายชัดเจนดังเช่นรูป “กระท่อมหมายเลข 5” กับ “กล้าสีเขียว” ให้ผมมาดูเพียง 2 รูปเท่านี้ ผมก็อิ่มใจพอแล้วครับ

ที่มา: พิษณุ ศุภ. “จาก ‘ จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้าฯ ‘ ถึง ‘ กระท่อม ‘ ของประเทือง เอมเจริญ.” สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 24 ฉบับที่ 40 ( เมษายน 2521), หน้า 30-32.

You may also like...