สูตรสำเร็จประเทศไทย

สูตรสำเร็จประเทศไทย: เอกลักษณ์ไทยในสายตาของสุธี คุณาวิชยานนท์ ธนาวิ โชติประดิษฐ เรื่อง สุธี คุณาวิชยานนท์ ภาพ
ประวัติศาสตร์นั้นสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นกับ “ ความเป็นชาติ ” และหนึ่งในวิธีการการปลูกฝังความรู้สึกชาตินิยมก็คือผ่านการให้การศึกษานั่นเอง

“สูตรสำเร็จประเทศไทย ” (stereotype Thailand ) ของสุธี คุณาวิชยานนท์ เล่นกับความคิดเรื่องการถอดรื้อประวัติศาสตร์อันนำมาซึ่งความรู้สึกชาตินิยมโดยตรง ศิลปินทำการล้อเลียนสิ่งที่เป็นแบบฉบับ ( stereotype) ของคนไทย หรืออีกนัยหนึ่ง “ เอกลักษณ์ไทย ”

สิ่งที่เป็นแบบฉบับ ( stereotype) หรือที่สุธีเรียกว่า “ สูตรสำเร็จ ” นี้เป็นมายาคติอย่างหนึ่ง กล่าวคือ เป็นสิ่งที่ถูกคิดว่าจริง มีอยู่แล้วเสมอมา และเป็นธรรมชาติ สุธีคัดเลือกเอาสิ่งเหล่านั้นมาผสมเข้ากับข้อเท็จจริงอีกอย่างที่ตรงข้ามกัน เป็นความจริงในอีกด้านหนึ่ง หรือไม่ก็เลือกที่จะมองเรื่องเดิมในอีกมุมหนึ่ง ผลที่ได้คือการล้อเลียน เสียดสีอย่างมีอารมณ์ขันต่อสิ่งที่ (คิดว่า) เป็นเอกลักษณ์ของคนไทย “ นิ้วกลางอันแสนอ่อนช้อย ” เป็นภาพของนิ้วกลางที่มีความหมายที่ไม่สุภาพ แต่ถูกเขียน / สลักอย่างอ่อนช้อยด้วยเส้นโค้งตามแบบภาพเขียนไทยประเพณี สอดคล้องกับหน้าหนึ่งในหนังสือเล่มเล็กๆ ที่ศิลปินแจกให้ผู้ชม เป็นภาพหญิงไทยทำท่าเหมือนกำลังร่ายรำแต่ชูนิ้วกลางขึ้น โดยมีคำบรรยายใต้ภาพว่า “ อ่อนช้อยแต่ไม่อ่อนแอ อ่อนนอกแข็งใน ”
ผลงานของสุธีโดดเด่นด้วยกลวิธีที่เขาดึงเอาผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมีชั้นเชิง การมีส่วนร่วมของผู้ชมได้เข้ามาเติมเต็มให้แนวความคิดของผลงานชัดเจนมากยิ่งขึ้น ศิลปินจำลองบรรยากาศของห้องเรียนขึ้นมาด้วยการใส่โต๊ะเล็คเชอร์จำนวน 16 ตัวลงไป ผู้ชมได้รับการเชื้อเชิญให้นั่งลงฝนกระดาษบนโต๊ะที่สลักภาพและข้อความต่างๆ ไว้ มันเหมือนกับเราได้กลับเป็นนักเรียนอีกครั้ง และรับ “ ความรู้ ” ( ที่แฝงสารบางอย่างอย่าง) จากห้องเรียน

นอกจากโต๊ะเล็คเชอร์แล้ว บนผนังห้องนิทรรศการก็เต็มไปด้วยวอลเปเปอร์รูปหญิงไทยพนมไหว้เรียงรายจากพื้นจรดเพดาน ผลงานชิ้นนี้ประชดประชันภาพลักษณ์ของหญิงไทยที่อ่อนช้อยด้วยการให้ภาพของผู้หญิงพนมมือไหว้ ฉีก “ ยิ้มสยาม ” อันกว้างขวาง ดวงตาเบิกโตบนใบหน้าที่แข็งค้าง รูปผู้หญิงที่นั่งเรียงเป็นแถวนี้มีจำนวนนับไม่ถ้วน ก่อให้เกิดการเน้นย้ำความหมายที่ว่าด้วยความเป็นแบบแผน และมายาคติอันไม่มีที่สิ้นสุด

บนผนังยังประกอบไปด้วยภาพทิวทัศน์เมืองกรุงเทพ ที่ศิลปินได้ทำการตัดต่อใส่ภาพอย่างเช่น โมเดลวีรบุรุษ วีรสตรีลงไป เรื่องของวีรบุรุษ วีรสตรีนี้ก็เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นในประวัติศาสตร์เช่นกัน – หากจะอิงกับงานเขียนเชิงถอดรื้อทั้งหลาย – มันก็ไม่แน่ชัดว่าพวกเขามีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ ทว่า นั่นก็ไม่ได้สำคัญมากไปกว่าคำถามที่ว่าเพราะเหตุใดเรื่องของบุคคลเหล่านี้จะต้องถูกบอกเล่าให้ตราตรึงอยู่ในสำนึกของคนในสังคมไทย ตลอดช่วงเวลาอันไม่นานนักที่ “ ประเทศไทย ” ได้ปรากฏตัวขึ้นมาพร้อมๆ กับ “ ประวัติศาสตร์ชาติไทย ” การพยายามสร้างความเป็นชาติและการปลูกฝังความรู้สึกแบบชาตินิยมหลากรูปแบบก็เกิดควบคู่ไปด้วยกัน ภาพของสุธีก่อให้เกิดบรรยากาศประหลาด เพราะมันเป็นการผสมระหว่างเก่า ใหม่เข้าด้วยกัน ด้วยการวางมันเทียบเคียงกันนี้ ผลงานทำให้เกิดการมอง 2 สิ่งที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ร่วมกันในสังคมไทย มันชี้ถึงภาวะลักลั่นบางอย่างระหว่างความต้องการจะเป็นสมัยใหม่ กับความอนุรักษ์นิยม

เสมือนหนึ่งภาพ “ นางวันทองเหยียบเรือสองแคม ” ภาพรวมในนิทรรศการของสุธีบ่งบอกถึงอารมณ์ของสังคมไทยที่ยังคงสองจิตสองใจ ผสมปนเปกันระหว่างต้องการความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุกับการพยายามรักษาความเป็นชาติ “ สูตรสำเร็จประเทศไทย ” จึงเต็มไปด้วยอารมณ์ประชดประชัน ศิลปินได้ชี้ให้เห็นถึง “ ความเป็นไทย ” ในมุมมองของเขา นิทรรศการนี้เป็นคล้ายๆ การรวบรวมผลงานหลายชิ้นที่กระจัดกระจายในหลายๆ นิทรรศการของสุธีเข้าด้วยกัน บางชิ้นขยายต่อมาเป็นชิ้นใหม่ “ สูตรสำเร็จประเทศไทย ” จึงประกอบไปด้วยสิ่งละอันพันละน้อยที่ถักทอขึ้นมาจากงานเก่า มากกว่าจะเป็นผลงานใหม่โดยแท้ หากทว่า สิ่งที่ไม่เคยลดน้อยลงไป คือความช่างสังเกตสังกาและมุมมองอันเต็มไปด้วยอารมณ์ขันแบบแสบๆ คันๆ ของสุธีนั่นเอง

นิทรรศการ สูตรสำเร็จประเทศไทย โดยสุธี คุณาวิชยานนท์ จัดแสดงที่ 100 ต้นสน แกลเลอรี่ ตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม – 2 ตุลาคม 2548

 

You may also like...