ตีความพุทธศิลป์ด้วยสงสัย

ตีความพุทธศิลป์ด้วยสงสัย โดยอำนาจ เย็นสบาย
ในวงการศิลปะทุกวันนี้ ศิลปกรรมแนวประเพณีร่วมสมัยถือได้ว่าเป็นช่วงที่กำลังได้รับความสนใจจากกลุ่มศิลปินผู้สร้างสรรค์ และจากผู้ดูโดยทั่วไป การได้รับความสนใจหรือเกิดความตื่นตัว โดยเฉพาะในกลุ่มของศิลปินนั้น หากพิจารณาอย่างกว้างๆย่อมมีมูลเหตุมาจากหลายกรณี

เช่น สำนึกในการค้นหาความเป็นตัวของตัวเอง ( อันเป็นผลกระทบมาจากขบวนการแสวงหาบางกลุ่มในสังคม) แรงจูงใจจากวงการธุรกิจระดับธนาคารที่ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการประกวดแข่งขัน รากฐานความคิดที่ต้องการอนุรักษ์และพัฒนา ความรักและความรู้สึกท้าทายต่อการเป็นผู้คลี่คลายศิลปะแนวประเพณีเพื่อเป็นตัวแทนแห่งยุคสมัย ฯลฯ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นก็มิได้หมายความว่า ศิลปินทุกคนที่สนใจตื่นตัวจะต้องขึ้นอยู่กับเหตุผลดังกล่าวเสมอไปทุกคน

อย่างไรก็ตาม เมื่อใดที่เราพูดถึงศิลปะแนวประเพณีร่วมสมัยผลงานศิลปะแนวหนึ่งที่ปรากฏอยู่และมีการพูดถึงกันอยู่เสมอก็คือ ” พุทธศิลป์” แน่นอน เมื่อเราพูดถึงพุทธศิลป์ตามความเข้าใจแบบทั่วๆไปคำตอบที่คล้ายคลึงกันก็คือ งานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมได้แก่ สถาปัตยกรรมโบสถ์วิหารวัดวาอาราม ประติมากรรมพระพุทธรูป จิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติหรือปริศนาธรรม ฯลฯ นั่นเป็นความเข้าใจที่เข้าใจกัน และถ้าพูดถึงพุทธศิลป์ในแง่ร่วมสมัยปัจจุบัน ความเข้าใจของคนทั่วไปก็คือ ผลงานการสร้างสรรค์ที่ศิลปินได้พัฒนาขอบเขตของเรื่องราว รูปแบบ การแสดงออก ตลอดจนเทคนิควิธีการขึ้นมาใหม่ ซึ่งถ้าเราจะสรุปอย่างหยาบๆ ในด้านเรื่องราว มีความสมจริงตามที่ตามองเห็นมากขึ้น ให้เสรีภาพในการคิดจินตนาการนอกกรอบความคิดดั้งเดิม ส่วนรูปแบบการแสดงออก เทคนิควิธีการ ศิลปินจำนวนไม่น้อยอาศัยวิทยาการบางอย่าง แนวคิดบางอย่างจากซีกโลกตะวันตกมาพัฒนาปรับปรุงผลงานของตน เช่น ผลงานบางชิ้นของถวัลย์ ดัชนี วรฤทธิ์ ฤทธาคณี สุรสิทธิ์ เสาวคง ปรีชา เถาทอง สมหมาย พันธุ์บ้านแหลม ดำรง วงศ์อุปราช กิลเบิร์ต ลอย ฯลฯ

แม้ศิลปินบางท่านอาจจะปฏิเสธ โดยถือว่าผลงานของตนเป็นงานต้นฉบับชนิดปลอดอิทธิพลใดๆ ศิลปินก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธได้โดยสมบูรณ์ แต่ในสายตาของคนอีกกลุ่มหนึ่ง มิได้ถือว่าวิทยาการเป็นเรื่องของความเลวร้าย เป็นเรื่องของการทำลายคุณค่า ต่อเมื่อเรานำวิทยาการซึ่งถ่ายเทกันได้ตามลักษณะสังคมเปิดมาประกอบงานสร้างสรรค์แล้ว ตัวผลงานศิลปะอันเป็นผลรวมของหลายสิ่งหลายอย่างส่งผลกระทบแก่ผู้ดูในแง่ของความรู้สึกนึกคิดในแง่ของความงดงาม หรือในแง่ของการส่งเสริมความเป็นมนุษย์ ฯลฯ มากน้อยเพียงใดต่างหาก ถึงกระนั้น แนวทางพุทธศิลป์ที่ศิลปินนำมาสร้าง และจัดอยู่ในกลุ่มศิลปะแนวประเพณีร่วมสมัยก็ยังมีกลุ่มความคิดอีกกลุ่มหนึ่งตั้งข้อสงสัยเอาไว้ เขาสงสัยว่า พุทธศิลป์ร่วมสมัยมีความหมายเพียงความเข้าใจแบบที่กล่าวตามข้างต้นเท่านั้นหรือ แตกต่างไปจากนั้นไม่ถือว่าเป็นงานพุทธศิลป์หรือ งานพุทธศิลป์จำเป็นด้วยหรือที่จะต้องอยู่ในกรอบของวัด พระพุทธรูป ภาพ พุทธประวัติ จริยวัตรของภิกษุสงฆ์ พิธีกรรมทางศาสนา สัญลักษณ์ของอดีตที่นำมาจัดองค์ประกอบใหม่ ฯลฯ แล้วผลงานบางชิ้นอย่างผลงานภาพพิมพ์ชื่อ “สังขาร” ของสันต์ สาราณบริรักษ์ ประติมากรรมชื่อ “ปลายวิถีแห่งชีวิต” ของสิทธิเดช แสงหิรัญ ประติมากรรมชื่อ ” อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” ของ นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน จิตรกรรมชื่อ “ใบไม้สีส้ม” ของวิเชียร วงศ์ศุภลักษณ์ ฯลฯ ซึ่งมองไม่เห็นวัด ไม่เห็นพระ ไม่เห็นพิธีกรรม ไม่เห็นพุทธประวัติ เหล่านี้จะเป็นพุทธศิลป์ร่วมสมัยได้หรือไม่ น่าจะได้ คือคำตอบของคนกลุ่มความคิดที่ตั้งข้อสงสัย เหตุผลของเขาก็คือ พุทธศิลป์ความหมายของเขา เป็นศิลปะที่เกี่ยวพันกับผู้ที่ตื่นแล้ว โดยตีความผ่านพุทธธรรม และพุทธธรรมอันเป็นหนังสือเล่มสำคัญของพระราชวรมุนี ได้แยกพุทธธรรมออกเป็น 2 ส่วน คือ สัจธรรมหรือกฎธรรมชาติ กับจริยธรรมหรือการรู้จักกฎธรรมชาติ แล้วนำมาใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ อีกนัยหนึ่งเป็นความรู้ในการประยุกต์สัจธรรม กล่าวกันเฉพาะสัจธรรมหรือกฎธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องทันสมัยตลอดกาล พระพุทธองค์ได้แสดงให้เห็นในไตรลักษณ์ว่าด้วยหลักอนิจจตา ทุกขตา และอนัตตา เพียงหลักอนิจจตา หรือความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ผลงานศิลปะของสันต์ ของนนทธิวรรธน์ ของวิเชียร ตามที่กล่าวมาก็พูดได้ว่า ศิลปินสร้างงานโดยอาศัยรากฐานความคิดดังกล่าว เหล่านี้คือการตีความพุทธศิลป์โดยอิงหลักพุทธธรรมที่แตกต่างไปจากเดิม และเป็นเรื่องนำมาซึ่งการถกเถียงในหมู่ศิลปินผู้ใฝ่รู้ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม การตีความพุทธศิลป์ที่แตกต่างกันระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ระหว่างปัจจุบันกับปัจจุบัน ซึ่งมีอยู่หลายกลุ่มความคิดนั้น จำเป็นที่เราจะต้องแยกส่วนที่เป็นการตีความออกจากส่วนที่เป็นความงาม เพราะความงามอันเป็นความสามารถจัดเจนของศิลปินในการสร้างสรรค์ศิลปะ ย่อมปรากฏตัวขึ้นได้ในผลงานศิลปะทุกกลุ่มที่ตีความแตกต่างกัน นั่นก็หมายความว่า ไม่ว่าศิลปินจะสะท้อนสัจธรรม หรือตรงข้ามกับสัจธรรม ย่อมไม่ใช่เงื่อนไขชี้ขาดว่าศิลปินจะสะท้อนด้านใดออกมาในผลงาน …

ทุกวันนี้ มีศิลปินจำนวนไม่น้อยในบ้านเมืองของเรากำลังตื่นตัวให้ความสนใจต่อการ สร้างสรรค์งานศิลปะแนวประเพณีร่วมสมัยกันมากขึ้น โดยมีพุทธศิลป์ในหลายความหมาย หลายความเข้าใจรวมอยู่ด้วย ตั้งแต่การตีความพุทธศิลป์เจือปนพราหมณ์ การตีความพุทธศิลป์ที่รูปแบบพิธีกรรม จริยวัตรตามที่เห็น และอีกหลายนัย จนถึงการตีความแบบเจาะลึกพุทธธรรม แล้วแสดงออกในทางศิลปะ โดยทุกกลุ่มอาศัยวิทยาการใหม่ๆมาพัฒนาผลงานของตนเป็นจุดร่วม และล่าสุดนี้ ศิลปินหนุ่ม 2 คน คือ ปัญญา วิจินธนสาร กับเฉลิมชัย โฆษิพิพัฒน์ ผู้มีบทบาทค่อนข้างโดดเด่นในการเป็นคลื่นลูกใหม่ของวงการศิลปะแนวประเพณีร่วมสมัย ที่มีเรื่องราวพุทธศิลป์เข้าไปเกี่ยวข้องกับผลงานจำนวนหนึ่ง กำลังเปิดงานแสดงของตนอยู่ที่บริติช เคาน์ซิล ผลงานของบุคคลทั้งสองนับว่าท้าทายอดีต และท้าทายความคิดที่ขัดแย้งกันในปัจจุบันอยู่ไม่น้อย

หากเรา-ท่านทั้งหลายได้สัมผัส เสวนาแลกเปลี่ยนความคิดก็ไม่แน่ … ท่ามกลางการคิดค้น การแสดงหาทางออกใหม่ๆให้กับวงการศิลปะแนวประเพณีร่วมสมัย อาจจะมีลูกระเบิดทางความคิดของบรรดาศิลปินลูกใหม่ๆเกิดขึ้นตามมาอีกหลายลูกก็ได้ ใครจะรู้

ที่มา: อำนาจ เย็นสบาย. “ตีความพุทธศิลป์ด้วยความสงสัย.” สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 31 ฉบับที่ 3 ( กรกฎาคม 2527). หน้า 30-31.

You may also like...