การประเมินคุณค่าศิลปะ

 

การประเมินคุณค่าศิลปะที่ไหน เมื่อไหร่ โดยใคร ประเด็นไหน และเพื่ออะไร ? โดย อารยา ราษฎร์จำเริญสุข
คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทบวงมหาวิทยาลัย และคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้จัดการสัมมนาทางทัศนศิลป์ขึ้นในวันที่ 20-22 ธันวาคม

การประเมินคุณค่าศิลปกรรมถูกตั้งเป็นหัวข้อหนึ่งในการอภิปรายสำหรับการสัมมนาครั้งนี้ ขณะเขียนบทความนี้ การสัมมนายังไม่เริ่ม อ่านถ้อยแถลงของผู้จัดเขียนไว้สั้น ๆ ว่า ” เป็นหัวข้อที่มีความสำคัญต่อการศึกษาทั้งในและนอกระบบและกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยขณะนี้” อ่านแล้วก็มีหมอกมัวก่อมวลขึ้นรอบๆ ตัว นอนนึกถึงภาพผู้คนเบียดเสียดมุงอยู่หน้าภาพเขียนโมนาลิซ่า ผู้หญิงเจ้าเสน่ห์ที่ศิลปิน ดาวินชี วาดไว้เมื่อ ค.ศ. 1503 ฝูงชนรุมไล้โลมรูปภาพด้วยสายตาอย่างไม่สงวนกิริยาใดตั้งแต่เช้ายันค่ำ ( เพราะเสียเงินเข้ามาพิพิธภัณฑ์ลูฟว์แล้วประการหนึ่ง แต่เหตุผลที่จริงกว่าก็เพราะรูปวาดชิ้นนี้ถูกรับรองในประวัติศาสตร์ศิลปะว่าเป็นผลงานอมตะชิ้นเลอเลิศ) จนผู้หญิงอย่างโมนาลิซ่าคงด้านชากับสายตาผู้คนไปแล้ว

เหตุการณ์เดียวกันเกิดกับ The Starry Night ของแวนโก๊ะห์ ที่ผู้ชมต้องตั้งท่ารอจังหวะเพื่อจะได้ก้าวไปยืนตรงหน้าภาพเขียน คนเหล่านั้นจะเป็นพวกชอบดูดาวบนท้องฟ้าทั้งหมดก็หาไม่ แต่ไปเฝ้ายืนดูอยู่ก็เพราะรูปนั้นชื่อ The Starry Night เพราะศิลปินผู้วาดชื่อวินเซนต์ แวนโก๊ะห์ เพราะราคารูปแพงลิบลิ่ว เพราะรูปเป็นดาราเด่นของหอศิลป์ เพราะเพลงเศร้าที่มีชื่อเดียวกันส่งให้รูปเป็นที่รู้จักทั่วไป เป็นอันว่า ” โมนาลิซ่า” และ “คืนที่มีดาว” ทั้งสองรูปหมดสิทธิ์ที่จะถูกประเมินค่าอีก เพราะเป็นภาพเขียนที่เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอมตะนิยมไปแล้ว คนส่วนใหญ่จะกล่าวแต่เพียงว่า ได้ไปดูโมนาลิซ่าของดาวินชีที่ลูฟว์ในปารีส และหรือคืนที่มีดาวของ แวนโก๊ะห์ ที่มิวเซียมอ๊อฟโมเดริ์นอาร์ต ในนิวยอร์กมา ไม่มีข้อสงสัยหรือข้อกังขาใด

แม้คนรุ่นหลังที่ต่างรสนิยมซึ่งอาจไม่รู้สึกชื่นชมไปด้วย แต่จะให้ปฏิเสธภาพเขียนในฐานะสัญลักษณ์แห่งศิลปะชิ้นเลิศที่ได้รับความนิยมมานานนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย การยอมรับจึงเกิดขึ้น แม้ไม่ใช่จากรสชาติของการเสพศิลปะ แต่คือการยอมรับในเกียรติประวัติและรางวัลดีเด่นที่รูปภาพนั้นมีอยู่

ตราประทับรับประกันคุณค่าของประวัติศาสตร์ศักดิ์สิทธิ์จริงหรือ ก็ขอให้ดูเรื่องเหล่านี้ เป็นรูปเขียนในสมัยรุ่งเรืองสุดของสมัยเรอเนสซองค์ราวระหว่าง ค.ศ. 1490-1510 ถ้าจำไม่ผิดเป็นผลงานของศิลปินราฟาเอล ผลงานชิ้นที่ได้รับความชื่นชมมานาน ถูกตรวจพบว่าไม่น่าจะใช่ฝีมือของตัวราฟาเอลเองแต่เป็นของลูกศิษย์ การให้ค่าภาพเขียนชิ้นนั้นเป็นเช่นดาวเด่นในยุคสมัยหนึ่งก็จบลงทันที ปัจจัยที่ทำให้รูปเขียนมีค่าน้อยก็คือชื่อศิลปินเช่นกัน เรื่องนี้คงบอกกล่าวได้เป็นอย่างดีว่า คุณค่าของรูปอาจไม่อยู่ที่ตัวรูปเองเสมอไป สำหรับตัวอย่างนี้ คุณค่าของรูปอยู่ที่ความเชื่อ คือเชื่อในชื่อศิลปิน

ตัวกำหนดคุณค่าอีกประการหนึ่งคือความต้องการ คุณค่าของสิ่งเดียวมีความหมายได้หลายอย่าง เช่นคุณค่าของอาหารทางโภชนาการ ค่าในการบำบัดความหิว ค่าในรสอร่อย เราเลือกที่จะให้คุณค่าของอาหารตามความประสงค์ก็ไม่เคยตายตัวเปลี่ยนแปลงไปตามภาวะและเวลา

บางครั้งค่าที่มีอยู่ก็สวนทางกันเองเช่น อาหารอร่อยรสอาจไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ หรือคำกล่าวที่ได้ยินบ่อยๆ ว่า ศิลปะนำเสนอความดี ความงาม ความจริง ถ้าความจริงเป็นความชั่วและความน่าเกลียดศิลปะจะเสนอได้หรือไม่ ?

คำกล่าวข้างต้นกำหนดคุณค่าของศิลปะอย่างอุดมคติ เหมือนกับที่อีกหลายๆสิ่งถูกกำหนดให้คู่กับสิ่งมีค่าอื่นๆ เช่น การกีฬากับชัยชนะของชาติ “ไทยจะเป็นเจ้าซีเกมส์” เป็นต้น หรือเผยแพร่วัฒนธรรมดีงามของไทยผ่านการท่องเที่ยวบนพื้นฐานของการตลาด

มีคำกล่าวว่า ” ไม่มีแม้แต่ฝุ่นสักเม็ดเดียวที่หลุดรอดจากการตลาด” คำว่า กีฬาเป็นยาวิเศษ ก็นำมาเป็นยาชนิดใหม่ ที่ไม่ได้แก้กองกิเลสทำคนให้เป็นคน(อาจเป็นคนของการตลาด) จึงไม่เพียงแต่ขายบัตร ขายชื่อนักบอล ขายเสื้อยืด กางเกง ถุงเท้า และรองเท้ากีฬา การท่องเที่ยวขาย “ไทย” จนความภูมิใจของเจ้าของบ้านต้องเกิดตามความชื่นชมของนักท่องเที่ยวไปเสียแล้ว ขาดเสียซึ่งนักท่องเที่ยว ก็ไม่รู้จะรักวัฒนธรรมไทยไปทำไม ถามว่าศิลปะหลุดไปจากเงื่อนไขนี้ หรืออย่างไร ก็ต้องตอบว่า ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของศิลปินว่าสอดคล้องกับผู้บริโภคแบบอยากมีไว้เป็นเจ้าของหรือเปล่า ชื่อศิลปิน การขาย เหล่านี้ดูเหมือนว่าเป็นตัวกำหนดค่าที่ชัดเจน ยังมีตัวกำหนดอื่นๆอีกมาก เช่น วัฒนธรรม ความเชื่อ เชื้อชาติ ฯลฯ ที่ซึมจนเข้าเนื้อศิลปะไปแล้ว

ในประเทศที่วงการศิลปะครบวงจร กลไกในวงการศิลปะเอง เช่น นิตยสาร สื่อต่างๆ ชื่อเสียงของพิพิธภัณฑ์ใหญ่ และชื่อนักจัดการศิลปะ ชื่อนิทรรศการศิลปะ เหล่านี้ล้วนมีบทบาทในการกำหนดค่าของศิลปะทั้งสิ้น หลายๆคนที่จริงจังกับศิลปะ กล่าวว่า ชีวิตของศิลปินหรือตัวตนของศิลปินกับชิ้นงานศิลปะจะต้องไปในทิศทางเดียวกัน เช่นศิลปินที่กล่าวหาสังคมว่ามีสีดำมืด ก็จะต้องไม่กระทำให้สังคมสกปรกและหม่นมัวไปอีก ศิลปินบางคนเคยกล่าวไว้ว่า ” คำว่าศิลปินมีขึ้นเมื่อนักวาดสามารถแสดงตัวตนให้ปรากฏในงานได้ และช่วงเวลาปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่ศิลปินสามารถเป็นนายตัวเองได้เต็มที่” แต่ดูเหมือนเส้นทางแห่งการเป็นนายตัวเองของศิลปินไม่ใช่ถนนสายเรียบ สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะติดค่าของคุณค่าต่างๆอย่างเดียว สองอย่างหรือหลายๆอย่างรวมกัน

หลายคนบอกว่าบ้านเรายังปลอดภัยจากระบบครบวงจรทางศิลปะ เรามีนิตยสารศิลปะชั่วครั้งชั่วคราว มีหอศิลป์ที่เรียกคนดูได้ไม่มากนัก มีนิทรรศการอายุมากที่เน้นการให้รางวัลจากการประกวด มีนิทรรศการนอกระบบที่อ่อนเยาว์ สิ่งเหล่านี้ไม่อาจเป็นตัวกำหนดค่าศิลปะในบ้านเราได้ แต่เพราะความไม่มีนี่เอง ทำให้เราผูกค่าศิลปะไว้กับสิ่งที่สังคมให้คุณค่าอยู่แล้ว ประเภทงานที่ได้รับความนิยมทั้งในการบริโภคซื้อขาย เช่นศิลปะเนื่องในศาสนาหรือนิทรรศการเชิดชูสถาบัน เช่นจิตรกรรมเฉลิมพระเกียรติ หรือนิทรรศการการกุศลอื่นๆเหล่านี้ ต่างชี้นำการให้ค่าของศิลปะในบ้านเราอย่างเข้มข้น ขณะถูกประคองด้วยกลยุทธ์เชิงการตลาดไปด้วย

ในสถานที่เดียวกันนี้ ในช่วงเวลาที่ต่างกัน โดยคนรุ่นอื่นและเพื่อเป้าหมายอื่น “ค่า” ของศิลปะก็คงจะเปลี่ยนไป ลองดูคำกล่าวต่อไปนี้

” คนทุกคนเป็นศิลปินได้” (โจเซฟ บอส์ย)
” ถ้าคนทุกคนเป็นศิลปิน โลกนี้ก็จะไม่มีศิลปะ” (พอล วิริวิโอ)
” จะเข้าถึงศิลปะได้ต้องลืมโลกแห่งความเป็นจริงเสียก่อน” ( ศร.แบรดลีย์)
” อะไรที่อยู่ในความจริง มนุษย์ก็น่าจะหาได้จากศิลปะ” ( เกอเธ่)

ไม่มีคำตอบสำหรับประโยคตรงข้ามข้างต้น ไม่มีคำตอบชัดถ้อยคำสำหรับหัวข้อบทความนี้ แต่กลับต้องถามซ้อนว่า ที่ไหน ? เมื่อไหร่ ? โดยใคร ? ประเด็นไหน ? และเพื่ออะไร ?

ที่มา: อารยา ราษฎร์จำเริญสุข. “การประเมินคุณค่าศิลปะ ที่ไหน เมื่อไหร่ โดยใคร ประเด็นไหน และเพื่ออะไร ?.” กรุงเทพธุรกิจ (จุดประกาย). 23 ธันวาคม 2539, หน้า 8.

You may also like...