ชลิตา บุพศิริ

เชื่อว่าทุกวันนี้เราไม่สามารถปฏิเสธความสำคัญของงาน Graphic Design ได้ นั่นก็ด้วยว่าศาสตร์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของศิลป์แขนงนี้คือหนึ่งในฟันเฟืองหลักของการขับเคลื่อนในหลายๆ องค์กร ทว่าอีกหนึ่งด้านของเหรียญหลายคนก็ยังไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วอาชีพนี้มีที่มา ที่ไป รวมถึงรายละเอียดในเบื้องเป็นอย่างไร Graphic Designer สาวคนนี้รอพร้อมแล้วล่ะที่จะมาเล่าให้ฟัง ท่วงทำนองของศาสตร์ Graphic Design

“แก่นจริงๆ ของศาสตร์และศิลป์ Graphic Design นั้นจะหมายถึงการใช้ความคิดรวมเข้ากับสามัญสำนึกและถ่ายทอดความคิดนั้นออกมาเป็นทัศนสัญลักษณ์ เช่น ออกแบบหนังสือ นิตยสาร โฆษณา หีบห่อ ป้ายภาพยนตร์ โทรทัศน์ โปสเตอร์ แผ่นพับ นิทรรศการ เว็บไซต์ ฯลฯ ส่วนความสำคัญของงานออกแบบโดยส่วนตัวนั้นมองว่า คือการออกแบบที่ดีจะช่วยจัดระเบียบของข้อมูลให้มีความกระชับและชัดเจน ช่วยให้ระบบการถ่ายทอดข้อมูลนั้นมีความฉับไวและรัดกุม ทั้งยังเป็นช่วยพัฒนาระบบการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำให้ผู้รับสารเกิดแนวคิดสร้างสรรค์และจินตนาการได้ดี สิ่งนี้จะนำมาซึ่งสร้างค่านิยมทางความงามและส่งเสริมความก้าวหน้าทางธุรกิจต่อไปค่ะ”

ตัวตนและผลงานในวันนี้
“ด้วยความที่การทำงานด้านนี้ที่ตั้งอยู่บนศิลปะบวกเข้ากับการครำ่หวอดในวงการนี้มานานร่วม 10 ปี นับตั้งแต่การทำงานในบริษัทโฆษณา ในสำนักพิมพ์ ในกองบรรณาธิการนิตยสาร ฯลฯ ดิฉันจึงค้นพบว่าอาชีพนี้ไม่เหมาะกับการทำงานประจำ ดังนั้น เมื่อประสบการณ์อิ่มตัวจึงหันหลังให้แก่การงานประจำแต่มารับงานเอง ซึ่งการทำงานในลักษณะนี้ส่วนตัวคิดว่าเหมาะสมที่สุดเพราะเป็นการทำงานที่เป็นอิสระ ดังนั้น ผลงานที่เราสร้างสรรจึงสะท้อนตัวตนของเราอย่างเด่นชัด แต่ก็มีข้อเสียที่ควรคำนึงคือต้องมีวินัยในตัวเองรวมทั้งต้องตรงเวลากับผู้จ้างงานมากกว่างานประจำค่ะ ”

เติมความสร้างสรรค์ด้วยการเรียนและล่ารางวัล
“สิ่งที่ดิฉันค้นพบกับการทำหน้าที่ Graphic Design ก็คือว่าเป็นอาชีพที่ต้องทำงานเพื่อสะท้อนรสนิยมทางด้านศิลปะของผู้คนในสังคม นอกจากนั้นยังเป็นอาชีพที่ต้องทำงานภายใต้เทรนด์หรือกระแสที่กำลังมาในช่วงเวลาหนึ่งๆ ดังนั้น การเพิ่มเติมความรู้จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อไหร่ที่เราตามเทรนด์ไม่ทันต่อให้เรามีความสามารถมากแค่ไหนก็เปล่าประโยชน์ค่ะ และการแสวงหาความรู้จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก ซึ่งวิธีการแสวงหาความรู้ในมุมของดิฉันก็คือการส่งผลงานเข้าประกวดตามเวทีต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ แนวทางนี้จะทำให้เรารู้ว่าผลงานของเรามีจุดไหนบ้างที่ต้องปรับปรุงหรือจุดไหนที่ถือว่าลงตัวอยู่แล้วค่ะ”

การออกแบบกราฟิก (Graphic Design) เป็นส่วนสำคัญที่มีบทบาทยิ่งต่อการออกแบบกระบวนการผลิตสื่อ โดยเฉพาะสื่อที่ต้องการการสัมผัสรับรู้ด้วยตา (Visual Communication Design) ได้แก่ หนังสือ นิตยสาร วารสาร แผ่นป้ายโฆษณา บรรจุภัณฑ์ แผ่นพับ แผ่นปลิว โทรทัศน์ ภาพยนตร์ เว็บไซต์ ฯลฯ นักออกแบบจะใช้วิธีการทางศิลปะและหลักการทางการออกแบบร่วมกันสร้างสรรค์รูปแบบสื่อเพื่อให้เกิดศักยภาพสูงสุดในการที่จะเป็นตัวกลางของระบวนการสื่อความหมายระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร
**********************************************
ขอบคุณที่มาและภาพประกอบจาก นิตยสาร Lisa

You may also like...