นุติ์ นิ่มสมบุญ

คุณโต๋ช่วยเล่าประวัติการศึกษาของคุณโต๋หน่อยนะคะ
ผมเรียนจบที่คณะศิลปกรรม สาขานิเทศศิลป์ ม.รังสิต จบแล้วก็ไปศึกษาต่อที่ สาขา Communication Design, Central Saint Martins College of Art & Design ที่ประเทศอังกฤษครับ แต่ช่วงที่เรียนอยู่ ม.รังสิตก็ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย โดยไปฝึกงานที่ Bakery Music ตั้งแต่ปี 2 หลังจากนั้นมาก็ทำที่ Bakery มาตลอด จนปี 4 เขาก็จ้างให้ทำประจำ…แต่พอเรียนจบตรีปุ๊บก็ไปเรียนต่อเลยไม่ได้ทำงานเลย

แล้วทำไมคุณโต๋ถึงไปเรียนต่อโทคะ คาดหวังว่าจะได้อะไรเพิ่มเติมจากการเรียนต่อบ้าง
จริงๆตอนนั้นไม่ได้มีเหตุผลว่าอยากไปเรียนเพิ่มเติมหรือว่าอะไร อยากไปเที่ยวเล่นหาประสบการณ์มากกว่า พอดีเราชอบฟังเพลง ชอบดูชอบซื้อปกซีดีมาก และส่วนใหญ่เพลงที่เราชอบก็มาจากอังกฤษ ก็เลยเลือกไปเรียนที่นี่ เพราะคิดว่าเป็นเมืองที่ใช่ แล้วมันก็เป็นเมืองในฝันของเราตั้งแต่เด็ก ก็เลยเลือกไปเรียนต่อโดยไม่คิดอะไร

พอได้ไปเรียนแล้วคิดว่าการเรียนต่อทำให้ความคิด หรือวิธีการทำงานของเราเปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม
ก็ได้เรื่องของ “ความไม่เยอะ” มากกว่า คือแต่ก่อนเราคิดว่ากราฟิกดีไซน์เนอร์ที่ดีต้องบ้าพลัง ต้องใส่อะไรที่เราคิดว่าแปลกใหม่เข้าไปเยอะแยะ ซึ่งผมคิดว่าสิ่งที่ได้มามันคิือ “ความคิด” ล้วนๆ แล้วก็ “การกลั่นกรอง” ให้ดีก่อนที่เสร็จชิ้นงานออกไป มันคือ ”ความพอดี” ในชิ้นงานของแต่ละชิ้น… คือจริงๆเราอาจจะคิดเยอะมาก แบบคิดแล้วคิดอีก แต่ภาพที่เราปล่อยออกไปอาจจะเป็นแค่ภาพเดียว โดยไม่จำเป็นต้องใช้กราฟิกที่ยุ่งยาก หรือเป็นแค่ตัวหนังสืออย่างเดียวก็รู้สึกว่าพอแล้ว สรุปคือได้ความขี้เกียจมา (ฮา)

เคยคิดจะเปลี่ยนไปเรียนหรือทางานด้าน Motion Graphic ไหม
คือตอนอยู่ที่นั่นก็เคยไปลงเรียนพวกคอรส์สั้นๆ นะครับ พวกทาหนังบ้าง ทาวีดีโอ อะไรแบบนี้ ก็เรียนไปเรื่อย เรียนถ่ายรูป คือเราก็สนใจนะสนใจทุกเรื่อง ซึ่งจริงๆ แล้วก็เรียนมาทุกอย่างแล้วล่ะ แต่ print นี่นับว่าถนัดสุดครับ ก็คิดว่าเราไม่จาเป็นจะต้องเก่งไปซะทุกอย่างกได้ คืออยากรู้จักคนโน้นคนนี้ อยากทางานกับคนอื่นไปเรื่อยๆ ผมไม่อยากคิดว่าเราทำได้ ทำเองดีกว่า อย่างถ่ายวีดีโอเองก็ได้ เราอยากแบบว่า อุ๊ยเห็นงานคนนี้แล้วสวยจังเลย อยากร่วมงานด้วยมากกว่า

ตอนเรียนที่อังกฤษได้เจอเพื่อนร่วมชั้นที่ไม่มีพื้นฐานทางด้านดีไซน์มาก่อนบ้างไหม
ก็มีเพื่อนจบตรรกศาสตร์มา หรือเศรษฐศาสตร์ก็มี ซึ่งวิธีคิดเขาก็แปลกดีนะ เวลา research เค้าก็จะมีเหตุผล การใช้ไอ้โน่นไอ้นี่เพราะอย่างนี้อย่างนั้นอีกแบบ มันก็เป็นมุมมองต่างๆ นานา ก็อาจจะด้วยวิธีการมั้ง แทนที่จะเป็นงานปรินท์ออกมาสวยงาม เค้าก็จะไป adapt เป็นพวกความหมายซ่อนอยู่ สื่อความหมายต่างๆ เมื่อเราเห็นก็ทำให้เราคิดได้มากขึ้น…ซึ่งผลมันก็มีประโยชน์มาถึงตอนนี้นะอย่างเวลาไปพรีเซนท์ลูกค้าเราก็สามารถเชื่อมโยงเรื่องต่างๆ ได้ คือโม้ได้ไม่หยุดน่ะครับ (ฮา) แต่ความสวยก็แล้วแต่ skill ของแต่ละคนอยู่ดี

คุณโต๋คิดว่าคนที่ไม่ได้เรียน Graphic Design มาโดยตรง สามารถทำงานทางด้านดีไซน์ได้ไหม
ผมว่าไม่เกี่ยวนะครับ เกี่ยวกับประสบการณ์ส่วนตัวมากกว่า จริงๆ แล้วอย่างเช่นบางคนตอนเด็กเค้าอาจจะเรียนอักษรศาสตร์ แต่ตอนอยู่บ้านเค้าอาจจะทำคอมพิวเตอร์ ซื้อหนังสือดีไซน์ตลอดเวลาก็ได้ ผมว่ามันเกี่ยวกับความชอบส่วนตัวประกอบกับการที่เค้ามีอะไรในหัวแล้วก็สามารถดึงออกมาใช้ในชิ้นงานมากกว่า

หลังจากเรียนจบกลับมาเมืองไทย ได้คิดแผนเกี่ยวกับการทำงานไว้บ้างหรือเปล่า
คือตอนนั้นคิดอยู่ในหัวแต่ว่าจะทำซีดี จะอยู่ใน Music Industry แน่นอน เพราะตอนก่อนไปเรียนต่อ ช่วงนั้น Bakery บูมมาก ดีไซน์เนอร์เก่งๆ เยอะมาก ผมก็เลยโดนโยกไปทำแมกกาซีน Katch ซึ่งพอเรียนจบกลับมาก็ยังติดใจอยู่ว่า ทำไมเราไม่ได้ทำซะทีวะ แบบว่าอยากทำน่ะ… แต่การทำแมกกาซีนก็ได้ประสบการณ์นะ ได้เรียนรู้หลายอย่างมากเช่น เรื่องความถึก เรื่องอาร์ตเวิร์ก เรื่องความเนี้ยบอะไรแบบนี้ ได้หมด ก็ถือว่าเป็นโชคดี

และในที่สุดคุณวรุฒน์ที่ Bakery เค้าก็โยนงานทำปกโมเดิร์นด็อกชุด The Very Common Of Moderndogcumentary ที่เป็น DVD มาให้ทำอันนั้นเป็นงานแรก ก็ทำเต็มที่เลย ก็ดีใจที่ได้ทำซีดีเสียทีแล้วก็เป็นโมเดิร์นด็อกด้วย เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากก็ทำให้ได้งานอื่นๆ ตามมา เช่น ก้านคอคลับของโจอี้บอยซึ่งงงมากเลย เพราะไปเรียนอังกฤษามาวาดฝันว่าจะทำปกซีดีเป็นอย่างงั้นอย่างงี้ ดันไปเจองานแก๊งค์ฮิปฮอปเข้าไปเต็มๆ ถ้าโจอี้บอยคนเดียวยังพอไหว นี่มาเป็นแก๊งค์ แต่ก็สนุกดีนะครับ คือผมก็ทำงานปกติ โดยก็ต้องไปรีเสิร์ช ต้องไปใช้ชีวิตร่วมอยู่กับเค้า ไปเป็นเด็กฮิปฮอป ไปเที่ยวกับพวกเค้าเพื่อที่จะทำปกให้เค้า ก็ทำอยู่หลายอัลบั้มเหมือนกัน

แล้วเป็นมาอย่างไรถึงมาเป็น Slowmotion
ก็คาบเกี่ยวจากงานออกแบบปกซีดี ช่วงนั้นงานมันก็เยอะขึ้น ผม, โน้ต (พงษ์สรวง คุณประสพ) ที่ทำปาร์ตี้ Dudesweet, และกัน (ภฤศิษฐ์ รัชไชยบุญ) ที่เป็นเพื่อนๆกัน ก็เลยรวมตัวกันเป็นบริษัทครับ

ชื่่อ Slowmotion ได้มาอย่างไร
คือตอนแรกก็คิดเยอะมาก แล้วพอดีตอนนั้นมีซีดีเพลงของ Flaming Lips ครับ โน้ตก็หยิบมากพลิกดูแล้วบอกว่า เอ้า! หาเอาจากในนี้แล้วกัน แล้วมันมีเพลงชื่อสโลว์โมชั่นพอดีซึ่งโน้ตก็ชอบเพลงนี้ พอโน้ตพูดขึ้นมาคนเค้าก็ขำกันหมด มันเป็นเหมือนอารมณ์แบบยิ้มๆ น่ะฮะ เฮ้ยตลกดี แต่ว่าไม่ได้ตลกมากอะไรแบบนี้ แล้วก็ตรงกับคาแรกเตอร์ของแต่ละคนที่เนิบๆ โน้ตก็ช้าอีกแบบหนึ่งช้าแบบ…เนี่ยยังไม่มาเลย (บ่ายสามโมงกว่า) แต่มีคนชอบคิดนะว่าเราทำโมชั่นกราฟิกด้วย ซึ่งก็ดี หรือลูกค้าบางคนก็จะมีแซวว่าทำงานช้าหรือเปล่า ซึ่งก็ถ้าช้าก็ช้าสมชื่อ แต่ถ้าไม่ช้าก็โชคดีไป

คิดว่าแนวงานหรือสไตล์ของ Slowmotion เป็นอย่างไรเมื่อมารวมตัวกันแล้ว
ก็ 3 คน 3 แนวเลยครับ อย่างโน้ตเนี่ยจะแนวรกๆ ร็อคๆ ใช้สีเยอะๆ ส่วนผมจะเป็นแนวละเอียดเรียบนิ่ง ถ้ากันก็จะหนัก Typography หน่อย …คือถ้าใครถนัดแนวไหนก็ให้คนนั้นทำแต่ก็จะช่วยๆกันดูครับ

ซึ่งผมกับโน้ตเคยคุยกันว่า อยากให้เรียกสไตล์งานของ Slowmotion ว่า “คลาสสิก”ก็แล้วกัน อยากให้มันอยู่ได้เรื่อยๆ เราจะไม่มีแบบว่าช่วงนี้เทรนด์อะไร เราก็ต้องทำตามสไตล์นั้น…แต่เราอยากให้ดูแล้วอิ่ม แบบ 10 ปีผ่านไป กลับมาดูก็ยังดูดีอยู่

ปัจจุบัน Slowmotion อยู่มาได้ 6 ปีแล้ว เราจะค่อนข้างให้อิสระกับทีมเต็มที่ในการทำงาน เพราะเราเลือกทีมงานที่แต่ละคนคาแรกเตอร์จะไม่เหมือนกัน ในแต่ละงานน้องๆแต่ละคนจะคิดกันเยอะครับ และสเก็ตช์กันแบบปล่อยพลังกันอย่างเต็มที่ ซึ่งเรามีหน้าที่ตัดแล้วก็ผลักดันครับ…แต่เราไม่ได้คิดว่าสไตล์เราต้องนิ่งซะทุกงาน บางงานที่เยอะๆ มันก็มี แต่หลักการง่ายๆที่เราใช้กันก็คือ อย่าคิดมาก ใช้ feel เข้าว่า คืออยากให้งานมันเหมือนภาพเพนท์ติ้ง ให้คนเสพแล้วได้อะไรจากมัน มองนานๆ แล้วก็ให้คนดูรู้เองว่ามันคืออะไร ไม่ใช่มามองแล้ว ปรื๊ด…สวย หวือหวา เป็นกราฟิกฟอร์มน่าก๊อปปี้จัง มันไม่ใช่ครับ

คุณโต๋มีวิธีการทำงานอย่างไร ที่จะรักษาแนวคิดและคุณภาพงานของเราไว้ได้ โดยไม่ต้องเปลี่ยนไปตามใจลูกค้า
“หนีสิครับ หนีลูกค้า” (ฮา) คือเราก็ลองมาหมดแล้วนะ หน้าที่ของเราคือการ compromise กับลูกค้าให้ได้มากที่สุด แต่ว่ามันก็มีบาง area เช่นเคยลองทำงานที่ได้เงินเยอะๆ แมสมากๆ แต่พอเราเข้าไปแล้วเรารู้ว่ามันไม่ได้จริงๆ ก็เหมือนเลือกงานที่เราอยากจะทำ…จริงๆ แล้วเราก็ทำดีไซน์ได้หมดนะ แต่ส่วนใหญ่จะมีปัญหากับคนออกสตางค์ หรือกับคนที่เรา deal ด้วย หลังๆถ้าไปเจอคนที่ไม่ไหวจริงๆ ที่ไม่รู้เรื่องเราก็จะไม่ทำครับ ถ้าให้พูดง่ายๆ เต็มที่ 50-50 จะไม่มีแบบเค้าเกินเรานะ ถ้าเกินการคอนโทรลของเรา เราก็จะขอหยุดดีกว่า แล้วก็ไปหางานอื่นแทน จะไม่ฝืนทำเพื่อให้มันผ่านน่ะครับ เพราะสงสารเด็กๆ ทุกคนที่ทำงานที่นี่ทำงานกันอย่างเต็มที่น่ะ อย่างพอโดนแก้งานทีมันก็นั่งเศร้า เครียด ไม่อยากให้เกิดบ่อยๆจนเค้าท้อ ถ้าเกิดแบบนี้ไปเรื่อยๆ เค้าก็อาจจะอยากเลิกทำอาชีพนี้ไป บางทีตอนนี้ถ้าเจอลูกค้างี่เง่ามากๆ ตอนกลางคืนผมๆกับโน้ตก็มาแก้งานกันเอง

คุณโต๋คิดว่ากราฟิกดีไซน์เนอร์ควรมีสไตล์เป็นของตัวเองไหม
ผมว่าสไตล์มันเป็นเหมือนตัวตกแต่งให้สะดุดตา ซึ่งถ้าเราสะดุดตากับมันแล้วหนหนึ่ง ครั้งหน้าเราอาจจะไม่สะดุดกับมันอีกแล้วก็ได้ ซึ่งผมว่ามันก็ดีถ้าเด็กรุ่นใหม่จะมีสไตล์เป็นของตัวเอง แต่ว่าต้องปรับใช้ไปเรื่อยๆ พอเค้าโตขึ้นเค้าก็น่าจะปรับของเค้าเอง คงไม่มีใครอยากอยู่กับที่

แล้วถ้าหากต้องทำงานสไตล์ที่ไม่ใช่ตัวเองล่ะคะ
มันก็ได้ประมาณหนึ่ง สมมติเรามีอะไรที่ผ่านตาแล้วชอบอยู่ว่าโห…คิดได้ยังไงวะ เราก็อาจจะทดลองในบางชิ้นงาน ซึ่งพอถึงเวลา ผมก็จะตัดมันให้เป็นแบบของผมอยู่ดี (หัวเราะ) แต่ถ้าถามว่าทำได้ไหม เท่าที่ทำงานมาระดับหนึ่ง ผมว่าผมก็ทำได้ทุกแบบแหละ แต่ก็จะทำอะไรที่มันไม่ขัดแค่นั้นเองแม้ว่ามันจะเยอะหรือน้อย ผมไม่ได้บอกว่าผมทำเยอะไม่ได้นะ เช่นถ้าให้ทำโปสเตอร์ร็อคผมก็ทำได้ครับ แต่ผมว่าสไตล์ของผมจะเป็นแนวคิดเยอะแต่ไม่อยากให้คนรู้ว่าคิดเยอะมากกว่านะ

คุณโต๋มองกราฟิกดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่เป็นอย่างไรบ้าง
ผมว่าเด็กสมัยนี้น่าสนใจมาก คือเค้าจะไม่ได้สนใจอะไรอยู่เรื่องเดียวแล้ว ด้วยความที่เป็นโลกของอินเตอร์เนทด้วยมั้ง และชอบลองทำอะไรใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ

กราฟิกดีไซน์เนอร์ที่ดีควรเป็นอย่างไร
ขยันสิครับ สนใจทุกเรื่องๆ แบบไม่มีอั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง gossip ดารา, เรื่องรอบตัว, เรื่องสัตว์, เลี้ยงเต่า หรือ เป็น DJ ตอนกลางคืน ไม่ใช่แค่สนใจแต่เรื่องดีไซน์ ซึ่งผมว่าคนพวกนี้น่ะ vision มันกว้างกว่าคนทั่วไป

คุณโต๋มองอนาคตของ Slowmotion ไว้ว่าอย่างไร
อนาคตผมหวังว่าจะประสบความสำเร็จในวงกว้าง เราก็จะเป็นของเราแบบนี้ต่อไปโดยที่เราไม่ต้องฝืน ผลตอบแทนดีขึ้น ทุกคนรับได้ แฮปปี้ ประเทศชาติสวยงามขึ้นละกัน

เคยหรือเริ่มรู้สึกอิ่มตัวกับอาชีพกราฟิกดีไซน์เนอร์บ้างหรือยังคะ
ยังไม่อิ่มตัวจนกว่าจะได้ทำป้ายถนนละกัน (หัวเราะ) ผมว่ากราฟิกดีไซน์สมัยนี้มันต้องไม่อยู่แค่นี้อีกต่อไปแล้ว แต่มันคือการ adapt กราฟิกไปใช้ในงานต่างๆ เช่น Installation, ดีไซน์อาหาร, หรือทุกๆอย่างรอบตัวเรา อยู่ที่ว่าเราจะเจริญเติบโตไปกับมันได้แค่ไหน คือตอนนี้โอกาสมันเปิดให้เราสามารถทำได้ทุกอย่างแล้ว ไม่ใช่แค่สิ่งพิมพ์อย่างเดียวอีกต่อไป เราแค่สนุกกับมันนะ…ผมว่า 🙂

ตบท้าย คุณโต๋มีอะไรจะฝากฝังกับกราฟิกดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่บ้าง
ไม่มีครับ ขอให้โชคดี (ยิ้ม)
****************************************
ขอบคุณภาพประกอบและบทสัมภาษณ์จากhttp://www.gfxterminal.com/master_tips.php?article_id=7
ข้อเขียนและภาพประกอบนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของ www.gfxterminal.com ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

You may also like...