บทนำ – กลยุทธ์การตลาดและการประชาสัมพันธ์ในงานจัดการศิลปวัฒนธรรม

top01

บทนำ     กลยุทธ์การตลาดและการประชาสัมพันธ์

บนพื้นฐานความเชื่อว่า ความเจริญด้านศิลปวัฒนธรรมเป็นหมุดหมายแห่งความเจริญของสังคมและประเทศชาติ  ในฐานะเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงระดับความเจริญทางจิตใจ สติปัญญา และรสนิยม ของผู้คนแต่ละยุคแต่ละสมัย องค์ความรู้ในการบริหารจัดการงานด้านศิลปวัฒนธรรม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาวงการศิลปวัฒนธรรมของชาติทั้งในภาพรวม และในส่วนของการสนับสนุนศิลปิน นักออกแบบ นักวิชาการ รวมถึงบุคลากรและองค์กรด้านศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทุกแขนง ให้สามารถพัฒนาศักยภาพของตนเอง เพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่ทรงคุณค่า ควบคู่ไปกับการมีสถานภาพที่ดี จากการปฏิบัติวิชาชีพด้านศิลปวัฒนธรรมได้อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นสถานภาพทางสังคมหรือสถานภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปัจจัยที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งในการบริหารจัดการศิลปวัฒนธรรมให้ประสบสำเร็จนั้น  คือปัจจัยด้านธุรกิจ ผู้บริหารงานศิลปวัฒนธรรมจึงจำเป็นต้องมีความรู้และมุมมองในเชิงธุรกิจมาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงาน โดยเฉพาะ ‘องค์ความรู้ด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์’ ที่มีส่วนสำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนวิชาชีพด้านศิลปวัฒนธรรมให้ก้าวไปได้อย่างมั่นคงในทิศทางที่สร้างสรรค์

การอบรมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ  ‘กลยุทธ์การตลาดและการประชาสัมพันธ์’ ในครั้งนี้ มีเป้าหมายให้ผู้เข้าอบรมซึ่งจะเป็นบุคลากรรุ่นใหม่ที่เข้ามาบริหารจัดการงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง สำหรับการพิจารณางานด้านศิลปวัฒนธรรมด้วยมุมมองเชิงธุรกิจ ในฐานะที่ศิลปวัฒนธรรมก็เป็นหนึ่งในสินค้าหรือบริการของโลกธุรกิจที่จะต้องมีการบริหารให้อยู่รอดได้ ภายใต้กลไกตลาด (DEMAND & SUPPLY) จำเป็นต้องมีผลตอบแทนที่สอดรับกับความคาดหวัง ให้คุ้มกับการลงทุน  เป็นสิ่งที่ต้องการความรับรู้ในกลุ่มเป้าหมาย (AWARENESS) มีความเป็นไปได้ในทางธุรกิจ (FEASIBILITY) มีการสร้างผลตอบแทน (PROFITABILTY) ต้องการความเจริญก้าวหน้าและการขยายตัวที่เป็นรูปธรรม (GROWTH) รวมไปถึงต้องการระบบวิจัยและพัฒนา (RESEARCH & DEVELOPMENT) เช่นเดียวกับธุรกิจทั่วไป ผู้บรรยายจึงกำหนดกรอบเนื้อหาความรู้ที่จำเป็นเบื้องต้น ให้สมควรแก่เวลา ดังนี้

  1. ความหมายทั่วไปของ ‘กลยุทธ์การตลาดและการประชาสัมพันธ์’
  2. ความจำเป็นของการวางกลยุทธ์การตลาดและการประชาสัมพันธ์ ในงานศิลปวัฒนธรรม
  3. ข้อพิจารณาที่สำคัญ (CRITERIA) ในการกำหนดกลยุทธ์การตลาดและการประชาสัมพันธ์
  4. วิธีการเขียนแผนการตลาดและการประชาสัมพันธ์สำหรับงานศิลปวัฒนธรรม

ซึ่งเมื่อผู้เข้ารับการอบรมได้รับความรู้พื้นฐานภาคทฤษฎีครบตามหัวข้อสำคัญที่วางไว้แล้ว ก็จะได้รับโจทย์ให้คัดเลือกงานศิลปวัฒนธรรมเพื่อใช้เป็นกรณีศึกษาจริงสำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการ (WORKSHOP) และนำมาประเมินผลเพื่อพัฒนาต่อไป

You may also like...