ภูมิปัญญาผ้าหม้อห้อม

“หม้อห้อม” เป็นภาษาพื้นเมืองภาคเหนือของประเทศไทย เกิดจากรวมคำว่า “หม้อ” กับ “ห้อม” เข้าด้วยกัน ห้อม (หรือบางครั้งเขียนเป็น ฮ่อม) เป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกับคราม ที่ชาวบ้านนำเอาลำต้นและใบมาหมักในน้ำตามกรรมวิธีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ ได้น้ำเป็นสีกรมท่า (น้ำเงินเข้ม) และนำสีที่ได้นั้นมาย้อมผ้าขาวให้เป็นสีครามหรือกรมท่า เรียกกันว่า “ผ้าหม้อห้อม” ซึ่งถือเป็นรากเหง้าทางวัฒนธรรมเครื่องแต่งกายอีกแบบหนึ่งคนไทย

เพื่อเผยแพร่ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สืบทอดกันมาอย่างแพร่หลาย และเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดแพร่ พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้จัดกิจกรรมปฏิบัติการ “ภูมิปัญญาผ้าหม้อห้อม” โดยได้รับเกียรติจาก วุฒิไกร ผาทอง จากร้านแก้ววรรณา จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในการทำผ้าหม้อห้อมมาให้ความรู้และสาธิตวิธีการทำผ้าหม้อห้อมให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ชมอย่างใกล้ชิด และยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสร้างสรรค์ผ้าหม้อห้อมด้วยตนเอง กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมพิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

กิจกรรมปฏิบัติการครั้งนี้ วิทยากรคนสำคัญ คือ วุฒิไกร ผาทอง ได้ให้ความรู้และสาธิตวิธีการทำผ้าหม้อห้อม โดยกล่าวถึงภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาว่า “ในโลกนี้มีพืชพรรณที่ให้สีหม้อห้อมอยู่ประมาณ ๓๐ ชนิด ซึ่งมนุษย์ใช้กันมาเป็นเวลานับพันปี จนกระทั่งในช่วงราวๆ ๒๐๐-๓๐๐ ปีที่ผ่านมา ชนชาติลื้อ จากประเทศลาว ได้อพยพเข้ามาอยู่ในหลายหมู่บ้านของจังหวัดแพร่ ทั้งทุ่งโฮ้ง พระหลวง และเวียงทอง และได้นำกรรมวิธีการย้อมสีด้วยต้นห้อมและครามมาด้วย ซึ่งคนแพร่รู้จักใช้มรดกที่บรรพบุรุษให้มานี้อย่างชาญฉลาด ทั้งการใช้พืชพรรณให้สีแบบดั้งเดิม จนกลายเป็นการย้อมสีหลากหลายชนิดในปัจจุบัน ทำให้เสื้อหม้อห้อมของจังหวัดแพร่นั้นมีชื่อเสียงติดปากติดหูคนไทยมาช้านาน

“ในระยะหลัง การย้อมสีหม้อห้อมแบบธรรมชาติได้หายไปจากเมืองแพร่ จึงเกิดการรวมตัวกันของชาวบ้าน จนนำไปสู่การก่อตั้งแก้ววรรณาหม้อห้อมธรรมชาติ เมื่อพ.ศ. ๒๕๔๒ เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการย้อมหม้อห้อมด้วยกระบวนการธรรมชาติดั้งเดิม ไม่ปล่อยน้ำเสียส่วนเกิน ไม่มีฝุ่น ไม่มีสารเคมี สีย้อมได้มาจากไร่ห้อมที่ชาวบ้านปลูกในป่าห้วย ซึ่งโดยปกติต้นห้อมเป็นพืชที่สามารถเกิดและเติบโตได้เองตามธรรมชาติ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์เท่านั้น จึงมีส่วนกระตุ้นให้ชาวบ้านตระหนักถึงคุณค่าของป่าไม้ และช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติไปในตัว”

วุฒิไกรเล่าว่าเขาได้ศึกษาค้นคว้าทดลองตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๑ โดยมีครูอาจารย์ภูมิปัญญาพื้นบ้านช่วยให้ความรู้ ให้โอกาสทดลอง ให้เมล็ดพันธุ์ กว่าจะมาถึงวันนี้ เขาได้ผ่านการค้นคว้าทดลองที่หลากหลาย ซ้ำแล้วซ้ำอีก เขามองว่าความล้มเหลวเป็นบทเรียนมีค่าที่สั่งสมไว้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เขาได้รับกำลังใจจากหลายส่วน ทั้งคนปลูกห้อม ปลูกคราม ตัดหญ้า รดน้ำ พรวนดิน คนย้อม คนทอ คนตัด คนเย็บ คนขายจนถึงคนซื้อ จึงทำให้ “แก้ววรรณา” ได้ผืนผ้าหม้อห้อมที่สวยงามมีคุณภาพมากขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ศิลปะดั้งเดิมของไทยไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ชื่นชม

ขั้นตอนในกระบวนการย้อมสีหม้อห้อมธรรมชาติ เริ่มต้นจากการทำหัวห้อม โดยนำใบห้อม มาแช่น้ำ ๑ คืน น้ำจะมีสีเขียวๆ จากนั้นตักกากใบห้อมออก ตีปูนขาวแดงกับน้ำที่เหลือจนได้ฟองสีน้ำเงิน ปล่อยไว้ ๑ คืน ให้ตกตะกอน โดยตะกอนที่ได้ คือ หัวห้อม จากนั้นนำน้ำด่าง (น้ำขี้เถ้า) และหัวห้อม มาตั้งหม้อห้อม โดยมีส่วนผสมเป็นผลไม้ อาทิ สัปปะรด อ้อย กล้วยสุก เปลือกเพกา เป็นต้น หมักรวมไว้ด้วยกัน และหมั่นคนส่วนผสมในหม้อห้อมทุกวัน ประมาณ ๗-๑๕ วัน จึงจะสามารถนำหม้อย้อมนี้ไปใช้ย้อมได้ ก่อนอื่นต้องเตรียมเส้นด้าย โดยซักด้วยน้ำหมักจนด้ายสะอาด และตากให้แห้งพร้อมย้อม จากนั้นลงย้อมในหม้อย้อม ค่อยสาวด้ายย้อมๆ นวดช้าๆ ให้สีซึมซาบเข้าเส้นใย เมื่อทั่วแล้ว ยก บิด ซัก ตาก แห้ง (ถือเป็น ๑ จุ่ม) และจุ่มย้อมใหม่ ในอีก ๗ ชั่วโมง เพื่อรอหม้อย้อมทำปฏิกริยาใหม่ หรือ ลงย้อมหม้อใหม่ จนได้สีที่ต้องการ เมื่อแห้งแล้วจึงเตรียมส่งให้ช่างทอต่อไป

วุฒิไกรยังกล่าวถึงเคล็ดลับเฉพาะในการทำหม้อห้อมของแก้ววรรณาว่า “หม้อห้อมนั้นมีเคล็ดอยู่มาก และต้องอยู่กับ ‘เขา’ ทุกวัน ว่ากันว่าต้องพูดต้องคุยกับหม้อห้อม ซึ่งที่แท้แล้วคือการกวนหม้อให้ออกซิเจนเข้าไปทำปฏิกริยากับครามกับด่างนั่นเอง เมื่อได้หม้อห้อม เราลองย้อมแล้วออกมาซักด้วยน้ำด่าง ก่อนจะตากให้แห้ง แล้วนำมาใช้ ตรงนี้เป็นเคล็ดลับที่ทำให้หม้อห้อมสีไม่ตก จึงรับรองได้ว่าหม้อห้อมดี สีจะไม่ตก จึงกลายเป็น “แก้ววรรณา หม้อห้อมหม่าเก่า บ้านเหล่าปางควาย” เป็นที่ ๆ เราคุมการผลิตได้ว่าเป็นของ“ธรรมชาติหม่าเก่าโดยแท้” และเป็น “หม้อห้อมสีไม่ตก”

สำหรับบรรยากาศภายในกิจกรรมปฏิบัติการครั้งนี้ นอกจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับความรู้ในการย้อมผ้าหม้อห้อมจากภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้ว ยังได้สนุกสนานกับการเพ้นท์ และสกรีนลวดลายต่างๆ ผ่านบล็อกสกรีน อาทิ ลายช่อคราม ลายใบห้อม ลายแผนที่โบราณของเมืองแพร่ ลายกราฟิกต่างๆ เป็นต้น โดยใช้หมึกห้อมซึ่งเป็นสีที่ได้มาจากหัวห้อม มาสกรีนลงบนผ้าขาวให้เกิดเป็นลวดลายตามจินตนาการของแต่ละคน

ก่อนเสร็จสิ้นกิจกรรมครั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญการทำหม้อห้อมแห่งเมืองแพร่ ทิ้งท้ายแรงบันดาลใจสำคัญที่ ทำให้สนใจศึกษาเรื่องหม้อห้อมอย่างจริงจัง เนื่องจากต้องการรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนให้คงอยู่ และช่วยเผยแพร่ภูมิปัญญาดั้งเดิมนี้ให้ลูกหลานชาวแพร่ได้สืบทอดต่อไป รวมทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้ชาวบ้านตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ และช่วยกันดูแลรักษาป่าไม้ให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อรักษาระบบนิเวศของต้นห้อมให้คงอยู่คู่ป่าต่อไป

สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมประจำเดือนครั้งต่อไป กับกิจกรรม “ผูกผืนเก่า พันผ้าใหม่” ลุ้นรับผ้าพันคอจากร้านพิพิธภัณฑ์ หรือ บัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์ฟรี ติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ที่ เฟซบุ๊ก www.facebook.com/qsmtthailand อินสตาแกรม @queensirikitmuseumoftextiles
พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเปิดให้ประชาชนเข้าชมทุกวัน เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๓๐ น. ปิดจำหน่ายบัตรเข้าชมเวลา ๑๕.๓๐ น. อัตราค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ ๑๕๐ บาท ผู้สูงอายุ (อายุ ๖๕ ปีขึ้นไป) ๘๐ บาท นักเรียน/นักศึกษา ๕๐ บาท เด็กอายุ ๑๒ – ๑๘ ปี ๕๐บาท เด็กอายุต่ำกว่า ๑๒ ปี เข้าชมฟรี สำหรับผู้ซื้อบัตรเข้าชมพระบรมมหาราชวัง สามารถใช้บัตรดังกล่าวเข้าชมพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

You may also like...