เท่าฝาหอย (SHELLS)

เท่าฝาหอย | shells นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของ จอม ปัทมคันธิน หลายคนรู้จักเขาในนาม จอม สุดยอดแฟนพันธุ์แท้เปลือกหอยสองสมัย เขาเกิดที่จ. เชียงใหม่แต่ด้วย การเติบโตขึ้นท่ามกลางธรรมชาติของท้องทะเลอันดามัน และหาดราไวย์ที่จังหวัดภูเก็ต

ชีวิตของเขาจึงผูกพันกับห้องเรียนธรรมชาติ เป็นศิลปะสถานแรกที่เริ่มเรียนรู้ สิ่งต่างๆ จากผู้เป็นพ่อผ่านความรักและความผูกพัน ผ่านลวดลาย สีสัน และรูปทรงของเหล่าเปลือกหอยหลากหลายที่ธรรมชาติเป็นผู้สร้าง จากเรื่องราวเมื่อเยาว์วัยของทั้งเขาและคุณพ่อกับการวิ่งเล่นบนหาดทราย ชาวประมง ธรรมชาติ ก่อนสึนามิและการเปลี่ยนแปลงที่ตามมา สิ่งเหล่านี้คือที่มาและแรงบันดาลใจในนิทรรศการครั้งนี้ โดยหยิบยกมาบอกเล่าอย่างตรงไปตรงมา จากความรู้สึกและความทรงจำอันอบอุ่น ผ่านภาพวาดในรูปแบบเรียบง่ายของเขา

งานเปิดนิทรรศการจัดในวันเสาร์ที่ 18 ตุลาคม 2557 เวลา 16.30 น. ณ มิตรไนซ์ แกลเลอรี่ โชคชัย 4 ซอย 18 ลาดพร้าว กรุงเทพฯ

บทสัมภาษณ์คุณจอม ปัทมคันธินเกี่ยวกับนิทรรศการ เท่าฝาหอย (SHELLS)
1.ปัจจุบัน คุณจอมทำอะไรอยู่บ้างคะ
ผมเดินทางน้อยลงในช่วงปีที่ผ่านมา อยู่ใกล้คุณพ่อคุณแม่มากขึ้น ท่านอายุมากขึ้นแล้วและเริ่มมีเรื่องสุขภาพที่ต้องดูแลใกล้ชิดมากขึ้น พออยู่บ้านมากขึ้น การอ่านหนังสือ นิตยสาร เสพสื่อสารคดีทางโทรทัศน์ดีๆ รวมถึงการได้ต้อนรับอาคันตุกะต่างแดนมากขึ้นที่บ้าน ที่มีมาหาแทบไม่เว้นวัน ก็ทำให้ผมเหมือนเดินทางท่องไปในอีกรูปแบบนึงจากการสะสมเรื่องราวผ่านการอ่านและพูดคุยสนทนา ‘ภาษาหอย’ กันครับ

2.เริ่มสนใจการวาดภาพตั้งแต่เมื่อไหร่
คุณพ่อคือคนที่เห็นว่าผมชอบขีดๆๆๆ ตามฝาผนัง ตามพื้นปูนที่บ้านตอนเด็กเอามากๆ ก็เมื่ออายุได้สักสามขวบนิดๆ คุณพ่อซื้อกระดาษเอสี่มาปึกนึง กับปากกาด้ามนึง วางไว้ให้ตรงหน้า และไม่เคยชี้นำอะไรมากมายนอกจากชวนลูกคุยนั่นนู่นนี่ แล้วปล่อยให้ผมขีดๆ วาดๆ ภาพประกอบเรื่องราวตามสิ่งที่ผมอยากระบายออกมา จำได้ว่าของขวัญวันเกิดชิ้นแรกตอนผมอายุได้ครบห้าขวบคือหนังสือภาพวาดปกแข็ง “กายวิภาคฯ” ของอาจารย์ เสน่ห์ ธนารักษ์สฤษดิ์ ผมตื่นตามากที่ได้เห็นสรีระมนุษย์แบบหมดเปลือยครั้งแรก และเป็นปีแรกที่เสียน้ำตาจากการเรียนรู้ของขวัญชิ้นพิเศษจากพ่อ คือพ่อสอนเรื่องการพรากจากคนที่เรารักและการอยู่รอดเป็นครั้งแรกในวันเกิดปีนั้น ผมไม่เคยรู้แน่นอนว่าตัวเองเริ่มชอบการวาดเมื่ออายุได้เท่าไหร่ รู้แต่เพียงว่าก่อนเรียน ก. ไก่ รู้เรื่องนั้นผมได้เขียนอะไรขยุกขยิก เป็นตุเป็นตะจนกระดาษเอสี่จากพ่อหมดไปหลายรีมแล้วครับ

3.นิทรรศการครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรและอะไรเป็นแรงบันดาลใจกับงานในนิทรรศการครั้งนี้
นิทรรศการนี้เกิดจากความเชื่อมั่นของนักจัดนิทรรศการทางศิลปะกลุ่มหนึ่ง ผมเคยได้รับเกียรติถูกเชิญเข้าร่วมงานนิทรรศการ Nature Diaries ปลายปี 56 ณ หอศิลป์ตาดูไทยยานยตร์ และความสำเร็จเล็กๆ จากครั้งนั้นผลิดอกออกใบมาเป็นนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในคราวนี้และแรงบันดาลใจมาจากความทรงจำวัยเยาว์ของผมกับคุณพ่อที่มีเปลือกหอยเป็นสื่อกลางมานับแต่ผมจำความได้รวมถึงคลื่นสึนามิ (Tsunami) ที่ถล่มชายฝั่งรอบทะเลอันดามันเมื่อปลายปีพ.ศ. 2547 นั้นได้พัดพาเอาคราบสกปรกในท้องทะเลออกไป เปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ในท้องทะเลชายฝั่งบางพื้นที่ และ “คืนมา” ซึ่งสรรพชีวิตหลายอย่างในทะเลที่เคยมีและหายไปนาน…. เหมือนสึนามิได้หอบเอาไข่ของหอยบางชนิดกลับมาเติบโตในท้องทะเลรอบเกาะภูเก็ตอีกครั้ง ผมเพิ่งค้นพบว่าเปลือกหอยเบี้ยตัวจิ๋วชนิดแรกที่เป็นซากเกยหาดที่ผมเดินเก็บกับพ่อตอนอายุได้สักสามสี่ขวบนั้นได้กลับมามีบนหาดราไวย์ที่ผมเติบโตมาอีกครั้ง เป็นหอย เบี้ย ‘ursellus’ และอีกหลากหลาย เป็น connection เล็กๆ เป็นความทรงจำอันแสนพิเศษระหว่างผมกับพ่อที่ทำให้ผมสนใจเหล่าเปลือกหอย ศิลปะ และการเดินทางมาจนถึงทุกวันนี้ครับ

4.งานในนิทรรศการนี้เป็นแนวไหน/ใช้เทคนิคอะไรบ้างในการนำเสนอในงาน
งานศิลปะในนิทรรศการนี้มันมีความหลากหลายมากในหลายๆ ส่วน ผมฝึกฝนวาดรูปด้วยตนเอง จากพ่อ จากครู จากผู้รู้ชี้แนะ ใครหรืออะไรๆ ก็แทบจะเป็นครูสอนผมได้ทั้งนั้น…. ผมอยากค้นพบ “ความสุข” จากการวาดภาพ ชอบทดลอง เลยลองวาดดูทั้งเทคนิคสีน้ำ สีอะคริลิก และสีบาติก ซึ่งล้วนแล้วให้อิทธิพลและบรรยากาศที่แตกต่างกัน

ผมรู้สึก ‘บ้ามาก’ ที่กล้านำเสนอตนเองผ่านนิทรรศการในครั้งนี้ (หัวเราะ) เพราะไม่เคยได้ผ่านการเรียนรู้จริงจังจากสถาบันศิลปะไหนๆ เลย อาศัยเพียง ‘ตาดูหูฟัง’ ฟังจากพ่อตัวเองมากที่สุด และ เดินทางไปชื่นชมและถามไถ่เรื่องราวของการวาดภาพจากอาจารย์ที่ผมรักหลายท่านที่ท่านล้วนเมตตาบอกเล่าเรื่องราวชีวิตและผลงานให้ฟัง ทำงานให้ดูตรงหน้าอย่างเปิดเผย…. ผมถือประสบการณ์เหล่านั้นเป็น ‘ครู’ … และผมเพียงเป็นคนวาดภาพประกอบเรื่องราวชีวิตคนรอบข้างและเปลือกหอย ที่ถ่ายทอดจากใจผมออกมาโดยไม่มีรูปแบบอะไรที่งดงามหรือชัดเจนเพียงพอเลย เพียงรู้ว่าภาพที่วาดออกมาไม่เคยงามได้เท่าเสี้ยวของภาพที่เห็นอยู่ในใจเลยสักครั้งในชีวิต เป็นเด็กน้อยที่แทบไม่ได้เติบโตขึ้นมาเลยในโลกของศิลปะที่อัดแน่นอยู่ภายในใจ ผมยังเป็นเด็กห้าขวบคนเดิมที่เดินๆ วิ่งๆ ริมทะเลยามน้ำลดกับพ่ออยู่ (หัวเราะดัง) และไม่เคยก้าวข้ามความสนุกในการขีดๆ เขียนๆ อะไรไปตามประสาในตอนนั้นไปได้เลย

5.ถ้า จอม ปัทมคันธิน ไม่ได้วาดหอย คุณจอมจะวาดอะไร 
ผมจะวาด ‘ชีวิต’…. ถ้าสักวันผมทำได้นะ ผมจะวาด ‘ลมหายใจ’ ของชีวิต ผมเชื่อในเสียงหัวใจที่มันเต้นตุบๆ อยู่ในอกของสิ่งมีชีวิต ผมไม่เคยมองว่ามนุษย์ยืนอยู่เหนือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในห่วงโซ่อาหารแบบสมมุติที่มนุษย์เรียนรู้ สรุป และสอนต่อๆ กันมา และผมเชื่อว่าเราต่างมีความคล้ายคลึงกัน ผมคงหยุดวาดเปลือกหอยไม่ได้ในชีวิตนี้ เพราะผมไม่เคยมองเห็นมันเพียงแค่ ‘เปลือก’ แต่กลับมองทะลุไปถึงเกลียวข้างใน ได้ยินเสียง ‘ลมทะเล’ ที่มันพัดผ่านเข้าและออกในเกลียวเหล่านั้น กึกก้อง สะท้อน และชัดเจนอยู่ในใจเสมอครับ…

 

นิทรรศการ : เท่าฝาหอย (SHELLS)
ศิลปิน : จอม ปัทมคันธิน
วันที่ : 15 ต.ค.-15 พ.ย. 57
สถานที่ : มิตรไนซ์ แกลเลอรี่ (Midnice Gallery)
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : 087-675-6664

You may also like...