เมื่อบทกวีคือสิ่งที่เขารัก และการเขียนบทกวีคือการงานของความรัก หน้าที่หลักของกวีซีไรท์อย่างอังคาร จันทาทิพย์ จึงต้องรับผิดชอบต่อความรักของตนเองอย่างดีที่สุด เพื่อถ่ายทอดผลงานออกมาให้เป็นมาตรฐานที่สูงที่สุดที่นักเขียนคนนึงพึงจะทำได้
สิ่งที่ทำให้คุณเป็นนักเขียนและยังคงเป็นอยู่
เริ่มจากความชอบ บ้านผมเป็นครอบครัวชนบท พ่อแม่พยายามที่จะให้ลูกได้เรียนหนังสือ เพราะรู้สึกว่าอาชีพการทำเกษตรกรรมของคนบ้านนอกมันลำบาก เราจะได้ยินคำพูดติดหูว่า เกษตรกรมีชีวิตที่ยากลำบาก พ่อแม่จึงพยายามที่จะผลักลูกออกมาสู่ที่ที่เขาคิดว่าชีวิตมันไม่น่าจะยากลำบากเหมือนที่เขาเป็น โดยการให้ลูกเข้าไปเรียนหนังสือในเมือง ให้ลูกได้มีการศึกษา จะได้ทำงานและมีอาชีพที่ดี บ้านผมจะแบ่งเป็นสองรุ่น รุ่นพี่จะเข้ามาเรียนหนังสือในเมืองก่อน เสาร์-อาทิตย์กลับมาที่บ้าน ก็ยืมหนังสือที่ห้องสมุดกลับมาอ่าน เป็นพวกวรรณกรรมที่สะท้อนภาพสังคมชนบทค่อนข้างชัดเจน อย่างงานของคำพูน บุญทวี นิมิตร ภูมิถาวร เรามีโอกาสได้อ่าน พออ่านแล้วรู้สึกชอบ เมื่อถึงเวลาที่เราได้เข้าไปเรียนในเมืองบ้าง ความชอบจากการได้อ่านหนังสือที่พี่ชายพี่สาวยืมมาจากโรงเรียน ทำให้เราต้องเข้าไปอ่านหนังสือในห้องสมุด ยิ่งอ่านยิ่งชอบ พออ่านเยอะๆ เราก็อยากที่จะเขียนบ้าง
ตอนเริ่มต้นเขียนเรารู้สึกว่ามันเป็นภาวะพิเศษมากๆ เราเคยพูดว่ามันเหมือนอารมณ์ของคนตกหลุมรัก จะมีความหวาบหวาม หวาบไหวอยู่ในหัวใจ เหมือนเราเข้าไปอยู่ในโลกที่มันเร้นลับ หัวใจพองโต ทำให้เราเกิดความรักการเขียนขึ้นมา พูดง่ายๆ ว่าเราไม่มีเหตุผลที่จะไม่ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก เมื่อได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักแล้วทำให้เรามีความสุข ความรักและความสุขนั้นทำให้เราต้องเขียนหนังสือมาเรื่อยๆ ขณะเดียวกันในวัยมัธยมต้นขึ้นสู่มัธยมปลาย วุฒิภาวะหรือความคิดความอ่านของเรามันเป็นไปตามวัย พยายามที่จะเขียนให้เยอะที่สุด อ่านให้เยอะที่สุด งานที่อ่านส่วนใหญ่จะเป็นงานวรรณกรรมไทย อ่านกวีนิพนธ์ที่เป็นงานชิ้นมาสเตอร์พีซของกวีคนสำคัญๆ รวมถึงงานวรรณคดี พอผ่านช่วงวัยมัธยมเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัย ก็มาเจอกลุ่มเพื่อนที่เขาอ่านหนังสือมาเยอะกว่าเรา เพื่อนแนะนำให้อ่านเล่มนั้นเล่มนี้ ซึ่งเป็นงานเล่มสำคัญ เล่มคลาสสิกของโลก คำแนะนำ การถกเถียงเกี่ยวกับงานวรรณกรรม บทกวีที่ดีควรเป็นอย่างไร ช่วยเปิดโลกทัศน์ทางการอ่าน การเขียนกว้างไกลมากขึ้น
แต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ไม่คิดว่านักเขียนหรือกวีสามารถยึดเป็นอาชีพได้ สิ่งที่ฝังหัวเราอยู่ก็คือความอยากเป็นนักข่าว ตั้งแต่มัธยมแล้วรู้สึกว่าอาชีพสื่อสารมวลชนมันเท่ เป็นคนที่รู้ทันโลก เป็นคนที่ตามกระแสข่าวคราวความเคลื่อนไหวต่างๆ พอเลือกเรียนก็เรียนสื่อสารมวลชน ขณะเดียวกันความชอบวิชาภาษาไทย ชอบวรรณคดียังฝังใจอยู่ ช่วงหลังพฤษภาทมิฬใหม่ๆ จะมีงานวรรณกรรมที่แบ่งออกสองสายค่อนข้างชัด คืองานวรรณกรรมที่เน้นภาวะความเป็นปัจเจกบุคคล และอีกแนวเน้นประเด็นที่เกี่ยวกับการเมือง สังคม ในกลุ่มเพื่อนๆ เราพูด เราถกเถียงกันว่างานวรรณกรรมที่ดีในความหมายของเรามันควรจะสะท้อนภาพทั้งสองอย่าง คือสะท้อนภาพความเป็นปัจเจกบุคคลด้วย สะท้อนภาพความเป็นไปของสังคม การเมืองด้วย เพราะยังไงก็ตามแต่ปัจเจกบุคคลก็เป็นหน่วยหนึ่งของสังคม เกิดอะไรขึ้นกับสังคมวงกว้างมันย่อมส่งผลกระทบกระเทือนถึงปัจเจกบุคคลด้วยอยู่แล้ว ฉะนั้นการสร้างสมดุลระหว่างเนื้อหาที่ให้ภาพความเป็นปัจเจกบุคคลกับสภาพสังคมที่เป็นอยู่ให้ได้สัดส่วนที่ลงตัวในงานชิ้นหนึ่ง จึงเป็นเรื่องจำเป็น ติดหัวและฝังใจเรามาตลอด ในขณะเดียวกันเราก็เชื่อว่าตัวบทกวีของเราไม่ควรย่ำอยู่กับที่ เราจะต้องทำงานให้มันมีพัฒนาการอยู่ตลอด การอ่านหนังสือให้เยอะ เขียนให้เยอะ และค้นหาน้ำเสียงใหม่ๆ จังหวะจะโคนใหม่ๆ วิธีการนำเสนอใหม่ๆ ค้นหาอัตลักษณ์ของตัวเองให้เจอ
ตราบใดที่เรายังรู้สึกว่าการเขียนหนังสือ การเขียนกวีมันเป็นความสุขของเราอยู่ เราต้องทำมัน เพราะถ้าไม่ได้เขียนบทกวีแล้วจะรู้สึกกระวนกระวาย รู้สึกเป็นทุกข์ การที่จะทำให้ตัวเองไม่เป็นทุกข์ก็คือ ต้องอ่านหนังสือเยอะๆ ต้องสนุกสนานกับการค้นหาวิธีการนำเสนอ ค้นหาประเด็น ค้นหาเรื่องเล่าที่มันแปลกใหม่ น้ำเสียงที่มันแปลกใหม่ไปนำเสนอผู้อ่าน ซึ่งผู้อ่านอยู่ในชั้นหลังแล้ว เราต้องทำงานของเราก่อน
เราเคยพูดว่า เมื่อบทกวีคือสิ่งที่รัก และการเขียนบทกวีคือการงานของความรัก หน้าที่หลักของกวีอย่างเราไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากการรับผิดชอบต่อความรักของตนเองให้ดีที่สุด ทำสิ่งที่ตัวเองรักอย่างดีที่สุด
ทัศนะต่อวงการนักเขียนไทยในปัจจุบัน
เป็นคำถามที่กว้าง ใหญ่ และตอบยากมากๆ พอเราพูดถึงวงการนักเขียน มันเหมือนเรากำลังพูดถึงบุคคลที่สาม พูดถึงภาพรวมที่มันกว้าง พร่าเลือน เสี่ยงที่คำพูดของเราจะไปกระทบบุคคลอื่น โดยส่วนตัวจริงๆ เลยไม่ค่อยได้มอง หรือรู้สึกถึงการมีอยู่ จับต้องได้ของคำว่าวงการนักเขียนเท่าไหร่ จะมองในแง่ของการรู้จัก ปฏิสัมพันธ์กันของคนที่รัก ชอบในการเขียนการอ่านด้วยกันมากกว่า คิดว่านักเขียน กวี หรือคนที่ทำกิจกรรมเกี่ยวกับการอ่านการเขียนคงมีความเป็นมืออาชีพของตัวเอง มีมาตรฐานการสร้างสรรค์งานที่คิดว่ามันดีตามความเชื่อของตนเองอยู่แล้ว วิธีคิด วิธีการทำงานของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว สุดท้ายคงต้องไปตัดสินกันที่ตัวบทซึ่งแต่ละคนสร้างสรรค์ขึ้นมา ว่ามันดี หรือไม่ดีอย่างไร ทั้งนี้แม้แต่เรื่องความเชื่อ ทัศนคติที่แตกต่างกันทางการเมืองก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ใครจะเชื่ออะไร ยังไงก็ตามแต่ แต่เมื่อขึ้นชื่อว่าคุณเป็นกวี เป็นนักเขียน คุณมีหน้าที่แสดงออกถึงความเชื่อความคิดของคุณ แต่คำถามต่อมาคือ มันถูกแสดงออกอย่างมีชั้นเชิงทางศิลปะที่ดีพอหรือไม่ สามารถโน้มน้าว หรือทำให้คนอ่าน หรือนักเขียน กวีที่คิดต่างจากคุณฉุกคิดถึงประเด็นที่คุณกำลังพูดผ่านตัวบทของคุณหรือไม่ เพราะถ้าจะว่ากันจริงๆ ส่วนตัวยังเชื่อเสมอว่า ตัวตนจริงๆ ของนักเขียนแต่ละคนปรากฏขึ้นและมีอยู่ในตัวบทของงานที่เขาสร้างมันขึ้นมา ไม่ใช่อะไรอย่างอื่น
ทัศนะต่อการอ่านของคนไทยในปัจจุบัน
เปลี่ยนไปเยอะ เอาเฉพาะวรรณกรรมก็แตกแนว แตกแขนง มีความหลากหลายมากขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น เหมือนจะเป็นการบอกผู้เขียนกลายๆ ว่าไม่อนุญาตให้พูด หรือตัดสินอะไรง่ายๆ และไม่อนุญาตให้เขียนอะไรซ้ำๆ ย่ำๆ อยู่กับที่ ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องดีที่จะสามารถเปิดพื้นที่ให้กับคนอ่านได้มีตัวเลือกที่หลากหลายมากขึ้น โลกของการอ่านเป็นเรื่องของเสรีภาพในการเลือกอย่างแท้จริง เพราะยิ่งมีตัวเลือกให้เลือกมากขึ้น มันจะยิ่งเกิดข้อเปรียบเทียบว่างานแนวไหน สไตล์ไหน มันตอบโจทย์ความชอบ หรือคนอ่านอ่านแล้วชอบ แต่ความหลากหลายที่ตอบโจทย์เรื่องการเพิ่มตัวเลือกให้กับผู้อ่านมากขึ้น กับประเด็นเรื่องคุณภาพของตัวบทก็เป็นคนละประเด็นกันนะครับ มันอาจจะเป็นสัดส่วนที่ผกผัน ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันก็ได้ ซึ่งว่ากันว่ามีแนวโน้มจะเป็นเช่นนั้นด้วย สุดท้ายก็ต้องกลับมาเริ่มที่ตัวผู้เขียนนั่นแหละครับว่า เขาคาดหวังกับงานเขียนชิ้นหนึ่งๆ ไว้อย่างไรบ้าง โดยส่วนตัวเราคิดว่าหนังสือหนึ่งเล่ม บทกวีหนึ่งสำนวนมันก็อาจจะเรียกร้องวุฒิภาวะ เรียกร้องประสบการณ์ทางการอ่านจากผู้อ่านด้วยเหมือนกัน คำถามที่อาจจะฟังดูแรงกว่านั้นก็คือ มีเหตุผลมากน้อยขนาดไหนที่นักเขียน หรือกวีคนหนึ่งต้องเปลี่ยนความคิด ความเชื่อของตัวเองเพื่อเขียนอะไรตอบโจทย์ทางการตลาด เป็นคำถามที่กวี นักเขียนแต่ละคนต้องตอบตัวเองให้ได้
สิ่งสำคัญที่วรรณกรรม หรือบทกวีชิ้นหนึ่งพึงมี
เราไม่ใช่นักวิจารณ์น่ะ ตอบยากว่ามันต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง ถ้าพูดถึงวิธีคิด วิธีการทำงานของตัวเอง มันก็เปลี่ยนไปตามวัย ตามวุฒิภาวะนะครับ ตอนเริ่มต้นเขียนใหม่ๆ อาจจะคิดอะไรที่ใหญ่โต ขนาดเคยคิดว่าบทกวีคือภาชนะสำหรับบรรจุสัจธรรม หรือเป็นสัจธรรมของโลกและชีวิต แต่ตอนนี้คิดง่ายๆ แค่ว่าบทกวีสำหรับเราคือทัศนียภาพระหว่างทางแต่ละช่วงชีวิตที่ปฏิสัมพันธ์กับโลกและมนุษย์คนอื่นๆ ซึ่งเราอยากชี้ชวนให้ผู้อ่านหยุดพักเพ่งมองดู หรือเป็นหลักกิโลเมตรเล็กๆ ระหว่างทางในแต่ละช่วงวัย ซึ่งเป็นเครื่องบอกว่าเราสนใจเรื่องราวใดเป็นพิเศษ และในเรื่องราวนั้นบอกอะไรกับเราบ้าง คงประมาณนี้ครับ
ส่วนสิ่งควรจะมีในบทกวีชิ้นหนึ่ง หากบทกวีหมายถึงทัศนียภาพของความรู้สึก ความคิด ทัศนะ มุมมองที่มีต่อชีวิตและโลกที่ปฏิสัมพันธ์อยู่ คิดว่านอกจากจะต้องเป็นทัศนียภาพที่กว้างไกลจาก ‘สายตาที่กว้างไกล’ อย่างที่เคยมีผู้กล่าวไว้แล้ว น่าจะต้องมี ‘ความเข้าใจลึกซึ้ง’ ในทัศนียภาพนั้นๆ ด้วย ซึ่งน่าจะหมายความว่านอกจากการใช้ชีวิตอย่างปกติธรรมดาทั่วไปแล้ว ในฐานะของผู้ที่จะต้องสื่อสารเรื่องราว ในฐานะของนักเล่าเรื่อง การ ‘อ่าน’ ปรากฏการณ์ของโลกและชีวิตเพื่อที่จะทำให้เข้าใจมากขึ้น เห็นแง่มุมหลากหลายกว้างไกลมากขึ้น ก่อนจะส่งผ่านสิ่งที่เข้าใจและเห็นจากการ ‘อ่าน’ ไปยังผู้อ่าน ควรมีและผ่านกระบวนการอ่าน ค้นคว้า เรียนรู้ที่หลากหลาย หนักหน่วง เข้มข้นกว่าปกติด้วย
อย่างที่บอกแหละครับว่ามันก็เปลี่ยนไปตามวัย ตามวุฒิภาวะ ถ้าเข้าใจไม่ผิด คิดว่านักเขียน กวีแต่ละคนคงมีกฎเหล็กเรื่องการทำงานอย่างไรให้มีพัฒนาการ ไม่ย่ำ ไม่ซ้ำอยู่กับที่ ซึ่งนี่น่าเป็นเสน่ห์ เป็นความสนุกของการคิด การเขียน เช่นช่วงหนึ่งเคยตั้งข้อสังเกตด้วยความสงสัยว่า บทกวีแนว ‘สารัตถนิยม’ ซึ่งสร้างข้อสรุป สัจธรรมแบบครอบจักรวาลขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อเป็นกรอบ เป็นแว่นสำหรับอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ สามารถอธิบาย หรือสร้างความเข้าใจลึกซึ้งต่อความเปลี่ยนแปลง เป็นไปในสังคมและโลกยุคสมัยปัจจุบันที่มีมิติอันสลับซับซ้อนมากขึ้นได้จริงหรือไม่ แล้วได้ข้อสรุปว่าไม่น่าจะได้ เราก็ต้องไปหาเครื่องมือ หาวิธีการใหม่ ในรวมบทกวีเล่ม ‘หัวใจห้องที่ห้า’ ถ้าอ่านและลองสังเกตดู จะเห็นว่าเราอาศัยเครื่องมือที่ได้จากทั้งงานที่เป็นมานุษยวิทยา สังคมศาสตร์ ภูมิศาสตร์ คติชนวิทยา นิเวศวิทยา ประวัติศาสตร์ และศาสตร์แขนงอื่นๆ มาใช้ในบทกวีเพื่อเชื่อมร้อย เชื่อมโยง เปิดให้เห็นมิติมุมมองความเปลี่ยนแปลง เป็นไป ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในโลกปัจจุบันและกำลังส่งผลสะเทือนกับชีวิต ซึ่งเป็นชีวิตของคนตัวเล็กๆ หลายๆ เคสที่กำลังได้รับผลกระทบ ส่วนวิธีการนำเสนอ บางเรื่องก็อาศัยวิธีเล่าผ่านกรอบโครงของตำนาน เรื่องเล่า ปรัมปรานิทานที่คนในแต่ละวัฒนธรรมมีเป็นของตัวเองอยู่แล้ว ซึ่งจริงๆ มีลักษณะคล้ายๆ กับบทกวี เพราะเป็นการเชื่อมโยงจินตนาการเข้ากับโลกแห่งความจริง และตำนาน เรื่องเล่า ปรัมปรานิทานก็มีลักษณะพิเศษคือสามารถดำรงอยู่มาได้ยาวนาน มีความลื่นไหล สามารถปรับตัว ถูกปรับใช้ รับใช้สถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างหลากหลายภายใต้กระแสวัฒนธรรม สภาพสังคม ยุคสมัยที่มีพลวัต การเคลื่อนเปลี่ยน ซึ่งทำให้การเดินทางของเรื่องเล่า ตำนาน ปรัมปรานิทานเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เป็นการเชื่อมโยงและบอกเล่าต่อในบริบทใหม่ของสังคมยุคสมัยใหม่
รางวัลมีความจำเป็นไหมสำหรับวงการวรรณกรรม
ในแง่ของการเปิดพื้นที่เผยแพร่ผลงานของคนรุ่นใหม่ๆ นับว่าจำเป็นนะครับ เราพบเห็นนักเขียน กวีรุ่นใหม่มีผลงาน ปรากฏตัวตนขึ้นมาจากเวทีการประกวดต่างๆ อยู่ตลอด นี่น่าจะเป็นข้อดีของการมีรางวัลต่างๆ ทางวรรณกรรม ส่วนข้อเสียน่าจะอยู่ที่ระยะเวลาที่มีจำกัดในการให้สร้างและส่งผลงาน อาจจะเป็นข้อจำกัดบีบให้ทำงานเร็วเกินไป ซึ่งอาจจะส่งผลต่อคุณภาพของตัวงาน ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามแต่ รางวัลควรจะเป็นเรื่องที่มาทีหลังตัวงาน คนอื่นไม่รู้นะ แต่ส่วนตัวคิดว่าควรจะทุ่มเทเขียนงานให้ดีให้ได้ตามมาตรฐานที่ตัวเองตั้งไว้ก่อนที่จะคิดถึงเรื่องรางวัล
อังคาร จันทาทิพย์ เกิดเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2517 ที่อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น เริ่มเขียนบทกวีมาตั้งแต่เรียนมัธยม จบปริญญาตรีจากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มีผลงานโดดเด่นต่อเนื่อง มีผลงานกวีนิพนธ์หลายเล่ม ได้แก่ คนรักของความเศร้า, วิมานลงแดง (รางวัลสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี 2545), ที่ที่เรายืนอยู่ (เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ 2550), หนทางและที่พักพิง (รางวัลสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี 2553) และผลงานล่าสุด รวมกวีนิพนธ์ ‘หัวใจห้องที่ห้า’ ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประจำปี 2556 นอกจากนี้ บทกวี ‘เสียงกบภูเขาที่ถนนข้าวสาร’ ได้รับรางวัลบทกวีดีเด่นจากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ปี 2554, บทกวี ‘ความตายของสันติสุข’ ได้รับรางวัลกวีนิพนธ์ยอดเยี่ยมนายอินทร์อะวอร์ด ปี 2554 และบทกวี ‘บ้านไม่มีใครอยู่’ ได้รับรางวัลกวีนิพนธ์ยอดเยี่ยมนายอินทร์อะวอร์ด ปี 2556 ปัจจุบันเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการนิตยสาร mars
Angkarn Chanthathip was born on 9 July 1974 in Munjakiri , Khonkaen province. He has been writing poem since he was in secoundary school . He graduated from Ramkamheang university’s faculty of humanities . With his outstanding prominent poetic he launched continuosly books of poetry such as
• Khon rak kong kwam sao ( Lover of Sadness)
• Wiman long daeng ( Agony in Paradise ) Winner of National book award 2002
• TeeTee Rao Yuen Yu (Where we stand) – The S.E.A write award shortlist 2007
• Hontang lae Teepakping (The road and Shelter) – Winner of National book award 2010
and most recently “Hua jai hong tee ha” ( The fifth chamber of the heart) has won the South East Asia Writer awards 2013
Angkarn is the recipient of numerous other major awards as follows
• Seang Kob Pu kao bon thanon Kaosarn ( Crying of Blyth’s mountain frog on Kaosarn Road) – The Best poetry 2011 by P.E.N. International Thailand-Centre Under the Royal Patronage of H.M. The King
• Kwam tai kong santisuk ( Death of peace) -The Best poetry naiin award ,2011
• Ban mai me krai yu ( In the Home of the homeless) – The Best poetry naiin award, 2013
He currently works as Editor at Large of Mars Magazine