อ่านเพื่อรู้ เปิดประตู(ใจ)อาเซียน

“นวนิยาย” สร้างมิตรภาพ อ่านเพื่อรู้ เปิดประตู(ใจ)อาเซียน การทำความรู้จักและเรียนรู้ประเทศเพื่อนบ้าน นับเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเตรียมความพร้อมของการย่างเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน

สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ หรือ TK park ในฐานะเป็นหน่วยงาน ที่มีบทบาทหลักในการส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้ ได้จัด “นิทรรศการพิพิธอาเซียน… …A journey through ASEAN ” เพื่อนำเสนอข้อมูลความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนมาตั้งแต่ปี 2554 ปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 3 โดยใช้
ชื่อว่า “นิทรรศการพิพิธอาเซียน…A journey through ASEAN ภาค 3 ตอน หลากความเหมือน หลายความต่าง ASEAN…Unity in Diversity” เป็นการเน้นให้ความรู้ ความเข้าใจอาเซียนในมุมที่ลึกซึ้ง และหลากหลายมิติมากขึ้น ทั้งในแง่มุมความเหมือนและความต่าง ซึ่งจัดขึ้นทั้งหมด 4 สัปดาห์ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา – 9 มิถุนายน 2556 โดยแต่ละสัปดาห์มีการนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ที่น่าสนใจแตกต่างกันไป โดยเฉพาะสัปดาห์ที่ผ่านมามีการเสวนา “วรรณกรรมสู่ความเป็นหนึ่ง” โดยได้รับเกียรติจากคุณหญิงลักษณาจันทร เลาหพันธุ์ นายกสมาคมอาเซียน – ประเทศไทย ,คุณประภัสสร เสวิกุล” ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2554 และวิภว์ บูรพาเดชะ บรรณาธิการนิตยสาร แฮพเพนนิง มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านวรรณกรรม รวมทั้งถ่ายทอดทัศนคติเชิงบวกต่อประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนให้กับผู้อ่าน เพื่อพัฒนาสัมพันธภาพที่ดีระหว่างประเทศ ผ่าน “นวนิยาย”หรือวรรณกรรมอาเซียน

คุณหญิงลักษณาจันทร เลาหพันธุ์ นายกสมาคมอาเซียน ประเทศไทย กล่าวว่าสมาคมอาเซียน มีเป้าหมายที่จะต้องช่วยทำให้ประชาชนได้เข้าใจและตระหนักถึงประโยชน์ของอาเซียนที่มีต่อการดำเนินชีวิตทั้งยังมุ่งหวังที่จะเป็นช่องทางให้ประชาชนได้เข้ามามีบทบาท โดยเชื่อว่าวรรณกรรมจะเป็นสื่อหนึ่งที่จะช่วยสร้างให้หลายๆประเทศมีความเข้าใจอันดีต่อกัน ซึ่งขณะนี้ได้สนับสนุน คุณ ประภัสสร เสวิกุล ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2554 ให้ได้สร้างสรรค์นวนิยาย ชุดวรรณกรรมเพื่ออาเซียนให้ได้เดินทางไปเก็บข้อมูลพร้อมสร้างสรรค์ผลงานเพื่อสร้างมิตรภาพระหว่างประเทศ พร้อมเตรียมเผยแพร่ผ่านหลากหลายช่องทาง

“ งานวรรณกรรมเป็นรากเหง้าของวัฒนธรรมที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม ฉะนั้นวิกฤติหรืออคติที่มีอยู่ในกันและกันหากพินิจดูจะเห็นว่า ประเทศเพื่อนบ้านกับประเทศไทยนั้นมีทั้งความต่างและความเหมือน ฉะนั้นหากพิจารณาถึงรากเหง้าของเราที่มีร่วมกัน ก็ยิ่งทำให้เราต้องกลับมาอ่านวรรณกรรมของภูมิภาคเพื่อศึกษา และหากชาวไทยผู้อ่านได้สัมผัสงานของคุณประภัสสร ที่ทางสมาคมฯได้สนับสนุนก็เชื่อว่าจะเกิดทัศนคติที่ดีขึ้น เพราะนับว่าเป็นการถ่ายทอดแนวคิดในเชิงบวกผ่านตัวอักษรให้ผู้อ่านได้สัมผัสมุมมองในแง่คิดที่หลากหลายและน่าประทับใจ”

วรรณกรรมอาเซียนนวนิยายเหล่านี้ นอกจากจะถูกตีพิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือเล่มและนิตยสารรายปักษ์และรายเดือน ยังได้รับการติดต่อให้นำไปแปลเป็นภาษาเพื่อนบ้าน และจัดทำเป็นละครโทรทัศน์ต่อเนื่องขณะเดียวกันยังมีความมุ่งหวังขยายต่อไปถึงภาคส่วนโรงเรียน ให้นักเรียนได้รับการปลูกฝังการรักการอ่าน พร้อมเรียนรู้จักการวิเคราะห์วรรณกรรมสะท้อนมุมมองต่อวรรณกรรมอาจจะช่วยเกิดแนวทางที่หลากหลายทางด้านการพัฒนาสัมพันธภาพอาเซียนได้”

ด้านคุณประภัสสร เสวิกุล ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2554 ได้เผยประสบการณ์การออกเดินทางไปเยี่ยมเยือนประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์นวนิยายที่จะส่งเสริมมิตรภาพ ความรู้ ความเข้าใจของชาวไทยต่อประชาชนในกลุ่มประชาคมอาเซียนว่า เกิดความประทับใจทุกๆประเทศเพื่อนบ้านบนวิถีชีวิต การเมืองการปกครองที่แตกต่างได้สะท้อนความเป็นตัวตนของแต่ละประเทศให้ได้สัมผัสและสร้างความเข้าใจ โดยในแต่ละท้องถิ่นจะใช้เวลาประมาณ 10 – 12 วันในการรวบรวมข้อมูลและได้เดินทางไปหมด 9 ประเทศ ซึ่งตีพิมพ์นำเสนอไปแล้วบางผลงาน อาทิ “จะฝันถึงเธอ ทุกคืนที่มีแสงดาว” ซึ่งเป็นนวนิยายรักระหว่างหนุ่มสาวไทยกับอินโดนีเซีย ผลงานเล่มแรกในชุด “วรรณกรรมเพื่ออาเซียน” ต่อด้วย “รักในม่านฝน” นวนิยายรักผลพวงที่มาจากการไปเยือนเวียดนาม

“ประเทศเพื่อนบ้านถ้าจะมองให้ต่างมันก็ต่าง ถ้าจะมองว่าไม่ต่างก็ไม่ต่าง ฉะนั้นจึงอยากให้มองถึงความแตกต่างแบบเข้าใจได้ พร้อมมองไปถึงสิ่งที่ต้องเรียนรู้อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยเพราะการที่จะอยู่ด้วยกันได้ดีต้องเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของกันและกัน ฉะนั้นการอ่านก็จะทำให้ทุกคนเกิดทัศนวิสัยที่กว้างขึ้น เพราะสิ่งที่ถ่ายทอดไปคือสิ่งที่เน้นให้ผู้อ่านได้เรียนรู้ทั้งเรื่องของประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ มุมมองความเป็นตัวตนของคนในแต่ละชาติเพื่อนบ้านเพื่อให้เกิดความเข้าใจ และหวังว่าจะเกิดประโยชน์ต่ออาเซียนขณะเดียวกันก็มุ่งหวังให้เกิดการขยายต่อด้วยการค้นคว้าเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์มากขึ้น เราจะได้เตรียมความพร้อมสู่อาเซียนได้อย่างมีคุณภาพ”

อย่างไรก็ตาม วิภว์ บูรพาเดชะ บรรณาธิการนิตยสาร แฮพเพนนิง ให้อีกความเห็นที่น่าสนใจว่า อคติระหว่างประชาคมอาเซียนนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่ยังหาข้อเท็จจริงไม่ได้ แต่สิ่งแน่นอนและควรเกิดขึ้นคือการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนมากกว่าฉะนั้น คนไทยควรตื่นตัวรับข้อมูลข่าวสาร และหันมารักการอ่านให้มากขึ้นเพื่อที่จะเตรียมตัวตนเองมีความรู้ ความเข้าใจบนทัศนคติที่เปิดกว้าง รับบ้านพี่เมืองน้อง สื่อวรรณกรรมเพื่ออาเซียนก็ควรจัดให้เกิดการประชาสัมพันธ์รอบด้าน ทั้งทางสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เข้าถึง จุดประกายให้เกิดการศึกษาและค้นคว้าต่อได้จริงก็จะเป็นลำดับพัฒนาการที่ดีที่ประเทศควรมี”บก.รุ่นใหม่กล่าว

สำหรับผู้ที่สนใจ“นิทรรศการพิพิธอาเซียน…A journey through ASEAN ภาค 3 ตอน หลากความเหมือน หลายความต่าง ASEAN…Unity in Diversity” สามารถเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้- 9 มิถุนายน 25556 ณ

ลานสานฝัน อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ สามารถดูรายละเอียดกิจกรรมแต่ละสัปดาห์ได้ที่ www.tkpark.or.th สำหรับโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาใดที่สนใจสามารถติดต่อเข้าร่วมกิจกรรมล่วงหน้าได้ที่โทร : 02-257-4300 ต่อ 300 

You may also like...