อภิชาติ เพชรลีลา

อ่านตัวตน ผ่านบทสนทนาแบบสบายๆ อภิชาติ เพชรลีลา เมื่อวันที่ 28 พ.ย. ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรในงานเสวนากิจกรรมนักเขียนพบผู้อ่าน ในหัวข้อ “สูตรลับของนักเขียน (มีอยู่จริง?)” ในงาน CMU Book Fair ครั้งที่ 15 ที่จัดขึ้น ณ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


ในวงเสวนา นอกจากผมแล้วก็ยังมีนักเขียนให้เกียรติร่วมเสวนาอีกหลายท่าน ได้แก่ พี่อภิชาติ เพชรลีลา, พี่กริ่มกมล มหัทธนวิศัลย์ และอนุสรณ์ ศรีคำขวัญ โดยมีพี่ศรัทธา ลาภวัฒนเจริญ ทำหน้าที่พิธีกรและร่วมเสวนาไปในตัว

ในฐานะที่มีโอกาสอยู่ร่วมจนการเสวนาจบ ผมเห็นว่าเนื้อหาของการเสวนามีความน่าสนใจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเยาวชนหรือคนที่อยากเป็นนักเขียน แต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นที่จุดไหน อย่างไร ว่าแล้วผมจึงขออนุญาตถอดเทปเนื้อหาของการเสวนา โดยเฉพาะเจาะจงในส่วนของพี่อภิชาติ เพชรลีลา มานำเสนอแก่ผู้อ่าน ณ ตรงนี้ ด้วยเห็นว่าพี่อภิชาติเป็นนักเขียนคนหนึ่งที่มีผลงานการเขียนเผยแพร่สู่สาธารณชนและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ขณะที่การเสวนาของนักเขียนท่านอื่นๆ (ซึ่งก็น่าสนใจไม่ต่างกัน) คงมีโอกาสได้นำมาถ่ายทอดผ่านคอลัมน์นี้อีกครั้งในวาระโอกาสที่เหมาะควรในอนาคต

ทั้งนี้ คำถามที่ปรากฏต่อไปนี้ ผมไม่ได้เป็นผู้ถาม แต่เป็นพิธีกร คือพี่ศรัทธา ลาภวัฒนเจริญ รวมถึงน้องๆ เพื่อนๆ ที่มาร่วมฟังการเสวนาเป็นผู้ถาม ผมทำหน้าที่เพียงถอดรายละเอียดออกมานำเสนออีกทอดหนึ่ง ซึ่งบางคำถาม ผมขออนุญาตตัดทอนและเรียบเรียงให้กระชับ เหมาะสมกับคำตอบของพี่อภิชาติ รวมถึงมีคำถามหนึ่งที่ผมต้องขออนุญาตอ้างอิงคำตอบของตัวเองลงไป เพราะพี่อภิชาติตอบคำถามเดียวกันนั้นโดยอ้างอิงถึงคำตอบของผม

อภิชาติ เพชรลีลา – เป็นหนึ่งในนามปากกาของสุรฉัตร เพชรลีลา นักเขียนหนุ่มชาวกรุงเทพฯ ที่ขึ้นไปเรียนมหาวิทยาลัยแบบหนาวๆ อยู่ที่เชียงใหม่ และมีโอกาสได้ทำงานขีดๆ เขียนๆ อยู่ที่นั่นหลังจากจบปริญญาตรี ในฐานะนักเขียนสารคดีของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ก่อนจะกลับลงมาทำงานที่กรุงเทพฯ 4 ปี จนกระทั่งทนเบื่อหน่ายชีวิตมนุษย์เงินเดือนไม่ไหว จึงตัดสินใจลาออกมาทำงานเขียนที่ตนเองรัก ก่อนจะย้ายรกรากขึ้นสู่เชียงใหม่อีกครั้ง

อภิชาติมีผลงานปรากฏในบรรณาพิภพหลายเล่ม แต่ที่ได้รับการยอมรับและเสียงชื่นชมมากที่สุด เห็นจะเป็น “กล่องไปรษณีย์สีแดง” ที่ภายหลังได้รับการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง “เพื่อนสนิท”
ปัจจุบัน อภิชาติใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงใหม่ ยังคงเขียนหนังสืออย่างสม่ำเสมอ และทำหน้าที่บรรณาธิการสำนักพิมพ์นกดวงจันทร์ สำนักพิมพ์ของตัวเขาเองอย่างมีความสุข
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

สูตรลับของการเขียนหนังสือมีไหม
น่าจะเรียกว่าความถนัดมากกว่านะครับ เพราะว่าสูตรการเขียนหนังสือมันแล้วแต่ว่าแรงบันดาลใจเป็นอย่างไร แล้วก็เขียนเล่าออกมายังไง สูตรที่เห็นๆ กัน ว่าให้ทำแบบนั้นทำแบบนี้ ที่จริงน่าจะเป็นความถนัดของนักเขียนแต่ละคนมากกว่า อย่างผมก็ถนัดที่จะเขียนเรื่องเล่าที่เป็นเรื่องแต่ง เป็น Fiction จะเห็นว่าผมไม่ค่อยเขียนเรื่องที่มันเป็นสารคดีหรือเรื่องจริงเท่าไหร่ เรียกว่าไม่ถนัดหรือเปล่าไม่รู้นะ แต่ไม่ชอบ มันเขียนยาก เขียนแล้วมันพื้นๆ แต่ถ้าเราเขียนเรื่อง Fiction มันสามารถใส่จินตนาการ ให้ความรู้สึกเป็นเรื่องเป็นราว เราถนัดแบบนั้นมากกว่า
แล้วถ้าสูตรการเขียนหนังสือมีจริง ผมคิดว่าผมก็คงเขียนบทกวีได้เยอะนะ แต่ผมไม่เคยเขียนบทกวี เพราะผมไม่ถนัด

ถ้าตอนนี้ให้ลองเขียนสารคดีสักเรื่อง อยากเขียนถึงอะไร
มันก็ยังอยู่ที่เรื่องของความถนัดเหมือนกัน ถ้าจะเขียนมันก็ต้องเขียนแบบที่เราถนัด สารคดีที่ผมเขียนกับที่คนอื่นเขียนอาจจะไม่เหมือนกัน ที่สำคัญมันมีเรื่องของคำจำกัดความ ว่าสารคดีมันมีขอบเขตแค่ไหน แบบไหน เขียนแบบนี้จะเป็นสารคดีหรือเปล่า เข้ามาประกอบด้วย เพราะในการประกวดเขาจะแบ่งเป็นประเภท ประเภทสารคดีถ้าจำกัดความแบบเก่าเลยก็คือเรื่องจริง ถ้าเป็น Fiction เรื่องแต่งคือนวนิยาย เรื่องสั้นอะไรพวกนั้น
ถ้าผมจะเขียนสารคดีสักเรื่องหนึ่ง มันก็น่าจะเขียนในรูปแบบที่มองความจริงเป็น Fact แล้วรูปแบบการนำเสนอก็เป็นเรื่องอื่น อาจจะเป็นนิยาย เรื่องสั้น หรือรวมทั้งเรื่องจริงเรื่องแต่ง แล้วเขียนเพื่อ Fact ตัวนี้ เพราะมันเป็น Fact ที่จริงแท้ นักวิชาการทางวรรณกรรมบางท่านพูดทำนองว่า ถ้าเป็นเรื่องแต่งก็ไม่ใช่สารคดี สารคดีต้องเป็นเรื่องจริง แต่ว่าผมก็ไม่เห็นด้วย ถ้าผมเขียนสารคดีผมก็จะเขียนแบบเรื่องแต่ง สมมตินะ ถ้าผมจะเขียนเรื่องการท่องเที่ยวที่ประเทศประเทศหนึ่ง สมมติเป็นลาว ปัจจุบันเทคโนโลยีมันไปไกลมาก มันไม่เหมือนกับเมื่อก่อน คุณค้นกูเกิล คุณค้นได้หมดเลย คุณดูได้หมดเลยว่าลาวอยู่ที่ไหน เมืองหลวงชื่ออะไร เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาคุณก็ดูกูเกิลเอิร์ตว่าลักษณะภูมิประเทศมันเป็นยังไง แล้วคุณก็ไปอ่านหนังสืออ้างอิงมาเยอะๆ คุณก็จะรู้เกี่ยวกับประเทศนี้โดยที่ไม่เคยไปลาวเลย แล้วคุณก็เขียนเพื่อที่จะบอกว่านี่เป็นสารคดีเรื่องลาว ซึ่งมันก็โอเค คนอ่านได้หมดเลย ได้สถานที่ ได้วิธีไป ได้รู้เกี่ยวกับเรื่องประเทศลาว แต่คนเขียนไม่เคยไปเลยนะ นั่งเขียนอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ กับอีกคนหนึ่ง อย่างผมไปอยู่ลาว 6 เดือนเพื่อจะค้นว่าจิตวิญญาณของลาวคืออะไร เพื่อจะซึมซับสภาพบรรยากาศ อากาศ ภูมิประเทศ หรือว่าซึมซับความเป็นลาว ซึมซับความเป็นคนของคนลาว แต่ผมเขียนในเชิงเรื่องเล่า เป็นนิยาย เป็นสารคดี แต่ Fact ในเรื่องที่เขียนมันเป็นเรื่องของจิตวิญญาณของคนลาว เอาไปวางในเวทีประกวด คุณบอกว่าเรื่องไหนเป็นสารคดี เรื่องที่คุณคิดเอาเอง ไม่เคยไปลาว แต่ว่ามันเป็น Non-Fiction ไม่ใช่เรื่องแต่ง ซึ่งตามทฤษฎีก็บอกว่านี่เป็นสารคดี อีกเรื่องหนึ่งคุณไปอยู่มาตั้ง 6 เดือน เป็นปีเลยก็ได้ แล้วก็เขียนเรื่องเล่าเกี่ยวกับลาวโดยใช้ Fiction เข้ามาช่วย คุณกลับปฏิเสธเรื่องนี้ว่าไม่ใช่สารคดี นี่มันเป็นปัญหาเรื่องการจำแนก

เหมือนกัน ถ้าเราไปดูงานด้านภาพยนตร์ ถ้าเป็นภาพยนตร์ที่เขาประกวดที่เมืองคานส์หรือที่ไหนก็ตามที่จำแนกประเภทสารคดี เป็นหนังอาร์ตที่เกี่ยวกับสารคดี เขาบอกว่าเรื่องนี้เป็นหนังสารคดีนะ ความจริงมันคืออะไรล่ะ มีอยู่เรื่องหนึ่งเป็นภาพยนตร์ฝรั่ง เป็นสารคดีเกี่ยวกับประสบการณ์ของคนคนหนึ่งตอนที่เขาอยู่ตะวันออกกลาง ตอนสงครามอิรัก เรื่องนั้นเขาใช้อนิเมชั่นทั้งเรื่องเลย เป็นสารคดี นี่มันยิ่งกว่าไม่จริงอีกนะ คนไม่มี มันมีแค่ความจริงน่ะ มีแค่ Fact ใครจะพิสูจน์ล่ะว่าการ์ตูนเรื่องนี้ ฉากนี้ ตอนนี้จริงหรือไม่จริง แต่ว่าเป็น Fact ไง ความจริงกับเรื่องจริงมันจึงต้องแยกออกจากกัน ถ้าเราเขียนหรือว่าสื่อความจริงสูงสุดได้ มันคือสัจธรรม ผมว่ามันมีค่ามากกว่าเรื่องจริงอีกนะ แล้วมันทำให้สารคดีมีที่เดินไปได้มาก หรืออีกเรื่องหนึ่ง เป็นภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับชีวิตคนงานช่วงเปลี่ยนผ่านวัฒนธรรมของจีน ผู้กำกับจีนคนหนึ่งเขาทำหนังสารคดีเรื่องนี้ ผ่านชีวิตของสาวโรงงาน 6 คน 3 คนแรกเป็นดารา สร้างทุกอย่างขึ้นมาเลยนะ ตัวละคร อาชีพ ฉาก นิสัยใจคอ กับอีก 3 คนที่เหลือเป็นสาวโรงงานจริงๆ ทำงานจริง สัมภาษณ์จริง เหตุการณ์เกิดขึ้นจริง แต่เมื่อรวมกันแล้วมันเป็นสารคดีที่นำเสนอภาพของแรงงานในช่วงนั้น
เพราะฉะนั้น คำว่าสารคดีมันเติบโตไปมากกว่าที่เราจะมาอ่านสารคดีธรรมดาๆ แล้วจำกัดความความจริงแบบเดิม ยิ่งถ้าเราไม่จำกัดความหรือยิ่งปล่อยให้อิสระโดยเข้าไปในแก่นของมันจริงๆ แก่นของความจริง ผมว่างานมันจะพัฒนา มันจะหลุดจากกรอบเดิมๆ แล้วการสร้างสรรค์มันจะอิสระมากกว่า

สรุปก็คือถ้าเราจะเขียนเพื่อนำเสนออะไรก็แล้วแต่ ถ้าเขียนออกมาในรูปแบบที่เราถนัดจะดีที่สุด
ใช่ แต่ว่าถ้าเราไม่ถนัดแล้วไม่เขียนก็ไม่ถูกนะ สุดท้ายมันคือรูปแบบที่ใช่น่ะ คือคุณคิดอยู่แล้วว่ารูปแบบนี้มันใช่กับเรื่องที่คุณจะเล่า กับเนื้อหาคุณ เวลาเขียนหนังสือมันแยกองค์ประกอบใหญ่ๆ ได้เป็น 2 ข้อ ก็คือรูปแบบกับเนื้อหา ซึ่งมันต้องสอดคล้องกัน เนื้อหาเราไปยุ่งกับมันไม่ได้อยู่แล้ว มันอยู่ที่ว่าเราจะรู้จริงหรือไม่รู้จริง แต่ว่าเราก็สามารถจะไปค้นหา สืบค้นได้ แต่ว่ารูปแบบนี่ ถ้าเราปฏิเสธรูปแบบหรือว่าใช้ความถนัดอย่างเดียวมันก็น่าเบื่อ แล้วบางทีมันไม่เหมาะกับเนื้อหานั้น แต่ถ้าทำให้เนื้อหากับรูปแบบสอดคล้องกันได้มันก็ดี

คุณเขียนงานขึ้นมาเรื่องหนึ่ง ระยะเวลาในการสร้างกับระยะเวลาในการขัดเกลานานพอกันไหม
มันไม่ใช่นานพอกันนะ ขัดเกลามันนานกว่าเยอะเลย ถ้าพูดเป็นภาษาวัยรุ่น การที่หนังสือมันจะเสร็จเป็นเล่มก็เหมือนการที่เราไปจีบคนคนหนึ่ง ตอนที่เรามีความรักแล้วไปจีบนั่นแหละคือการเขียน แต่การที่เราจะรักษาความรักให้มันดีก็คือการขัดเกลา สมมติถ้าความรักมีจุดจบ ก็ขัดเกลาให้ความรักมันเป็นความรู้สึกที่เปล่งประกาย ที่มันดี ซึ่งมันใช้เวลามากกว่าการจีบกันเยอะมากเลย บางคนจีบกันวันสองวัน บางคนจีบเป็นเดือน ถ้าจีบเป็นปีก็ขัดเกลาเป็น 10 ปี ก็ไม่รู้ว่าจุดจบมันอยู่ตรงไหนนะ เหมือนกับตอนที่ผมเขียนหนังสือ พอมันตั้งขึ้นมาได้แล้ว มันก็ต้องย้อนกลับมาอ่านอีก แล้วค่อยเขียนบทต่อไป จะเขียนบทที่ 3 ก็ต้องย้อนอ่านบทที่ 2 ขัดเกลาอยู่อย่างนั้น
จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องขัดเกลาด้วยซ้ำ มันเป็นเรื่องการเขียนอยู่ตลอดเวลา เขียนอยู่ตลอดเวลาให้มันดีที่สุด ให้มันเหมาะ ให้มันไปในแนวทางที่ตัวละครพาเราไป แล้วเราพาตัวละครไปด้วยกัน

ช่วงนั้นเรียกว่าการขัดเกลาได้ไหม หรือต้องเรียกว่ายังเป็นการสร้างอยู่
เรียกได้ทั้งนั้นแหละ ขัดเกลาก็ได้ เพราะอ่านใหม่และรีไรท์ใหม่ แต่มันก็คือการทำงาน การเขียนใหม่ เพราะมันก็มีแก้ตลอดเวลา หนังสือทุกเล่มที่เขียนจบไปแล้ว มาอ่านใหม่ก็มีแก้ทุกครั้ง เพียงแต่ว่าเราไม่ได้พิมพ์ใหม่เท่านั้นเอง

การเขียนงานของคุณสักเรื่อง คุณวางพล็อตเรื่องจนจบเลยไหม
ถ้าตอบคำถามนี้เขาจะเรียกว่าสูตร แต่ว่ามันไม่มีคำตอบไง บางทีมันแล้วแต่สถานะ ถ้าเราชัดเจนกับเรื่องนี้มาก ก็เขียนไปจนจบ แต่ขนาดเราว่าเราชัดเจนแล้วนะ พอเราเขียนไปได้ครึ่งเรื่อง มันก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราคิด มันมีอะไรเข้ามาใหม่ หรือว่าการที่เราเขียนมันไปสร้างอารมณ์ สร้างหนทางให้ตัวละครมันมีชีวิตขึ้นมา แล้วมันกลับบอกว่ามันจะไปทางนี้ เราก็ต้องปรับต้องเปลี่ยน

คือไม่ฝืนการเติบโตของตัวละคร
ไม่ใช่ผมไม่ฝืนหรอก ใครๆ ก็ฝืนไม่ได้ ถ้าจะเขียนหนังสือนะ เพราะว่ามันจะไปอย่างนั้นน่ะ ถ้าฝืนมันก็เป็นเรื่องผิดธรรมชาติ

เคยลองฝืนดูไหม
ไม่เคยหรอก ถ้าฝืนก็แปลว่าเราไม่ได้ทำงานเขียน เราแค่เขียนรายงานส่งคนอื่น คุณต้องจบแบบนี้นะ เขียนรายงานส่งมาให้ผม

เริ่มเขียนงานประเภทไหนเป็นประเภทแรก
พูดรวมๆ ก็คือ Fiction

เมื่อคุณเขียนงานเสร็จ มีการส่งให้คนอื่นช่วยอ่านก่อนพิมพ์ไหม
ส่วนใหญ่ไม่เคยมีใครอ่านนะ แต่ว่าถ้ามีอ่านก็ดี ตามปกติแล้ว ตามธรรมชาติของผม ก็คือเราจะอ่านของเราคนเดียว จริงๆ ก็ไม่ใช่วิธีที่ดีเท่าไหร่นะ ถ้าคนอื่นจะอ่านก็คือคนที่ตรวจปรู๊ฟมากกว่า ซึ่งก็ไม่ได้มีอิทธิพลอะไรมาก แค่ตรวจคำผิด

ตอนนี้คุณก็ทำสำนักพิมพ์เอง อยากให้พูดถึงการคัดกรองต้นฉบับที่จะพิมพ์เอง เทียบกับงานที่ส่งอัมรินทร์อย่าง “บ้านของคนรัก” ซึ่งมีบรรณาธิการดู ส่งไปอัมรินทร์ถูกปรับแก้บ้างไหม
เรื่อง “บ้านของคนรัก” บรรณาธิการเขาก็จะอ่านโดยดูภาพรวม แล้วก็แก้คำนิดๆ หน่อยๆ ตามความคิดของเขา ซึ่งบางคำเราก็เห็นด้วย บางคำเราก็ไม่เห็นด้วย แต่ว่าเราก็ไปทักท้วงอะไรเขาไม่ได้เพราะก็เป็นหน้าที่ของบรรณาธิการกับหน้าที่ของนักเขียน ทางที่ดีที่สุดก็คือการทำงานต้องทำงานร่วมกัน ต้องพูดคุยกัน เพียงแต่ว่าบางทีสไตล์ของบรรณาธิการบางท่านก็อาจอีโก้สูงเพราะมีคุณวุฒิมากพอสมควร เราก็พูดคุยกันได้ระดับหนึ่งโดยที่บางทีเขาก็ฟังเรา บางทีก็ไม่ฟังเรา ถ้าเขาฟังเราก็ดี แต่ถ้าเขาไม่ฟังเราก็ทำอะไรไม่ได้ ก็เป็นงานของเขาโดยตรง
พูดถึงงานที่ผมเขียนเองพิมพ์เอง ก็จะตัดสินใจเอง ซึ่งอย่างที่บอกว่ามันไม่ใช่เรื่องที่ดีของคนที่เริ่มต้นเขียนหนังสือนะ คนที่เริ่มต้นสมควรจะต้องมีบรรณาธิการ ระยะแรกผมก็มีบรรณาธิการทุกเล่ม แต่พอเขียนมาได้สัก 6-7 ปี ทักษะหรือว่าภาพผลงานที่เราทำมันจะชัดขึ้น การที่เราเอามาพิมพ์เองเราก็มีส่วนที่ต้องรับผิดชอบตัวเองพอสมควร ซึ่งมันก็มีข้อดีข้อด้อยต่างกัน ให้คนอื่นดูความคิดมันหลากหลายอยู่แล้วละ แต่ว่าถ้าเราทำของเราเองเราจะตัดสินใจของเราได้คนเดียว นั่นก็ต้องอยู่กับคุณแล้วละว่า คุณมีศักยภาพพอที่จะรับผิดชอบงานของตัวเองหรือเปล่า

คำจำกัดความของงานเขียนที่ดี
เอาแบบตามสากลเลยนะ คือต้องจรรโลงจิตใจมนุษย์ หมายถึงว่าวรรณกรรมทุกวันนี้ที่มันอยู่ได้ ไม่ตายไป เพราะมันเป็นสาขาหนึ่ง เป็นเครื่องมือหนึ่ง มันเป็นน้ำทิพย์หยดหนึ่งของมนุษย์ที่จะจรรโลงจิตใจคนได้ ถ้าอ่านแล้วมันจรรโลงจิตใจเรา อ่านบทกวีสักบทหนึ่งแล้วมีความรู้สึกว่า โห เรามีความสุขจังเลย เราอิ่มเอิบจังเลย เราเข้าถึงอะไรบางอย่างในนั้นได้จังเลย ก็ถือว่าเป็นงานเขียนที่ดี นิยายสักเล่มหนึ่ง เรื่องสั้นสักเรื่องหนึ่ง อ่านแล้วนอกจากจรรโลงจิตใจแล้ว บางคนยังได้แง่คิด ยังได้สิ่งที่นำไปปฏิบัติ แต่ว่าแง่คิดกับสิ่งที่นำไปปฏิบัติมันยังเทียบไม่ได้กับความจรรโลงจิตใจของมนุษย์ให้สวยงามนะ

อยากทราบแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่อง “อยากให้ลมหนาวหวนมาอีกครั้ง”
ตอนที่เขียนเรื่องนี้มีรุ่นน้องที่รู้จักกันสมัยเรียนโทร.มา เขาได้อ่านแล้วเขาชม เป็นคำชมที่ผมจำได้และผมชอบที่สุดเลยตั้งแต่ผมเขียนหนังสือมา เขาบอกผมว่า ทุกคนที่เรียนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่รู้ว่ามีความสุขยังไง แต่มีพี่นี่แหละที่เล่าออกมาให้คนอื่นฟังได้ นั่นเป็นแรงบันดาลใจของผม
คือตอนที่เรียนจบก็ทำงานที่เชียงใหม่นิวส์กับไทยนิวส์อยู่พักหนึ่ง เขียนพวกสารคดี เขียนข่าว แล้วก็กลับไปทำงานที่กรุงเทพฯ แล้วถ้าใครที่อยู่เชียงใหม่แล้วไปกรุงเทพฯ เขาจะรู้สึกได้เลยว่า มันไม่ใช่ มันอึดอัด ยิ่งต้องไปทำงานเป็นระบบด้วย ต้องตอกบัตร ต้องเข้างานประจำ ความเป็นเด็ก ความสุขของเราตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยมันหายไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่มันจะชดเชยหรือบรรเทาจิตใจที่มันไม่มีความสุขก็คือการนั่งไทม์แมชชีนกลับไปตอนที่เราเรียน ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดในการย้อนอดีตของคน นอกจากนึกเอา ก็คือเขียน

เรื่องส่วนใหญ่ที่เขียนมาจากประสบการณ์จริงหรือเปล่า
(กิติคุณ คัมภิรานนท์ – ผมว่าแล้วแต่ตัวนักเขียนครับ นักเขียนบางคนก็เขียนเรื่องจริงของตัวเอง เพียงแต่เขาก็ไม่ได้บอกว่าเป็นเรื่องจริง บางคนก็เอาสิ่งที่เห็นในชีวิตประจำวันมา 50% แล้วก็ใส่จินตนาการลงไปอีก 50% ผมว่าสุดท้ายแล้วมันขึ้นอยู่กับสิ่งที่นักเขียนคนนั้นต้องการนำเสนอสำหรับงานชิ้นนั้นมากกว่า ว่ากลวิธีใดมันจะเหมาะสมที่สุด เรื่องจริงที่ประสบมามันอาจจะสุดยอดแล้ว เต็มร้อยเลย ก็จริงไปเลย แต่ถ้ามันไม่เต็มร้อย เติมตรงนี้อีกนิดมันน่าจะดีขึ้น แล้วเราอยากให้คนอ่านรู้สึกตรงนี้ร่วมกับเรา ก็จริงผสมแต่ง หรือบางทีเราไม่ได้ไปไหนเลย อาจจะแต่ง 100% เลยก็ได้)
อภิชาติ – กิติคุณพูดไว้ครอบคลุมหมดแล้วนะครับ ผมจะมาเสริมเรื่องความจริงของฉากกับบรรยากาศซึ่งเป็นอีกประเด็นหนึ่ง คือเวลาเราเขียน ความจริงของเรื่องที่เราเขียนคนอ่านจะรู้สึกได้ เพราะฉะนั้นเขาถึงบอกว่าคนที่เริ่มเขียนหนังสือให้เริ่มเขียนจากสิ่งที่ตัวเองเคยมีประสบการณ์ อย่างตอนที่ผมเขียนเรื่องเกี่ยวกับมช. เรารู้ว่าฤดูกาลมันเปลี่ยนไปยังไง อากาศมันเปลี่ยนไปยังไง พอหน้าหนาวแล้วมันเป็นยังไง หน้าร้อนมันเป็นยังไง คนอ่านจะมากกว่าคำว่าเชื่ออยู่แล้วเพราะเรารู้จริง ใช้คำว่ารู้สึกได้ คือเขารู้สึกได้จริงๆ เขารู้สึกไปกับเราได้

รู้สึกตัวเองว่าเป็นนักเขียนเมื่อไหร่
ถ้าพูดคำว่านักเขียน ผมรู้สึกตัวเองว่าผมนี่นักเขียน เพราะถ้าผมไม่ใช่นักเขียนผมก็ไม่รู้จะไปทำอะไรแล้ว ไม่มีความสามารถจริงๆ เรื่องกีฬา เรื่องเรียนผมก็เรียนไม่ได้เก่งมาก เคยทำงานออฟฟิศอยู่ 4-5 ปีก็ทำงานด้วยความรู้สึกขมขื่น แล้วองค์กรก็คงไม่เจริญน่ะ เพลงก็ร้องไม่ได้ กีตาร์ก็เล่นไม่เป็น แล้วพอเริ่มรู้สึกว่าเราเขียนหนังสือได้ ผมก็ดีใจมาก แล้วบอกว่าผมนี่เป็นนักเขียน แต่ที่เริ่มรู้สึกแน่ๆ คือตอนที่ลาออกจากงานประจำแล้วมาเขียนหนังสือ

คำตอบเวลามีคนถามว่าคนหรือสถานที่ในงานที่เราเขียนมีอยู่จริงไหม
ถ้าคำถามลงท้ายว่ามีจริงหรือไม่มีจริงนี่ผมไม่เคยบอกใครเลยนะ ส่วนตัวผมยังไม่บอกเลย นี่คือผมให้เกียรติผู้อ่าน ผมไม่อยากไปทำลายจินตนาการของเขา

แนะนำน้องๆ ที่อยากเขียนหนังสือ
เด็กๆ เดี๋ยวนี้อยากเขียนหนังสือ อยากเล่าเยอะนะ แล้วมันก็มีสื่อมากกว่าสมัยที่เราเรียนมหาวิทยาลัย ตอนที่เราเรียนมหาวิทยาลัยช่วงนั้นขนาด Yahoo ยังไม่มีเลย เทคโนโลยีพวกนี้ช่วงหลังเติบโตมาก แล้วมันทำให้การซอยประเภทงานเขียนหรือว่าความเป็นวรรณกรรมนี่มันละเอียดกว่าสมัยที่เราเรียนเยอะเลย สมัยที่เราเรียน คนที่จะเขียนหนังสือคือนักเขียน คือเขียนงานวรรณกรรม มันต้องพิมพ์เป็นเล่ม ซึ่งการพิมพ์เป็นเล่มมันก็คือการคัดสรรขึ้นมาเป็นงานวรรณกรรม แต่เดี๋ยวนี้ธรรมชาติของคน อยากเล่า อยากเขียน อยากบอกเรื่องราวของตัวเอง เรื่องราวที่เรารู้จักกันมากขึ้น แล้วมันมีสื่อต่างๆ มากมาย เผลอๆ คนอ่านมากกว่าที่พิมพ์เป็นเล่มอีกนะ พวก Multiply, Diary,  Blog จะเริ่มเขียนก็เริ่มจากพวกนี้ได้

คือเด็กรุ่นใหม่ได้เปรียบเรื่องพื้นที่ในการเขียน
ใช่ ไอ้ตรงนั้นมีทั้งเรื่องเล่า เรื่องหัวเราะ วรรณกรรมจริงๆ ก็มีนะ เขียนจนคนติดต่อไปพิมพ์ก็มี หรือเขียนเพราะว่าความรู้สึกวันนี้อยากเขียนจัง เหมือนเขียนไดอารี่ หรืออยากบันทึกเรื่องนี้จัง เมื่อก่อนมันไม่รู้จะไปแปะที่ไหนให้คนอ่าน แต่เดี๋ยวนี้พอไปโพสต์มันก็มีคนมาอ่าน มีการตอบสนอง มีคนมาบอก มันก็ยิ่งมีพลังในการเขียน ซึ่งมันมีพื้นที่เยอะ
แต่ถ้าจะเขียนอีกประเภทหนึ่ง คือประเภทงานวรรณกรรม เป็นเรื่องเล่า มันต้องใช้ศิลปะ งานเขียนมันเป็นหนึ่งในศิลปะประเภทหนึ่งของโลก ถ้าคุณจะไปอยู่ในระดับนั้น มันต้องผ่านเส้นเส้นหนึ่งให้ได้ คือมันต้องเป็นมากกว่าเรื่องเล่า มันต้องเป็นสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวมาก หรืออาจจะเป็นเรื่องส่วนตัวมากก็ได้ แต่ว่าต้องมีพลังบางอย่าง มีความเป็นวรรณกรรม ถ้าพูดให้หยาบก็คือคุณภาพน่ะ แต่มันต้องมากกว่าคุณภาพนะ เส้นบางๆ ที่จะทำให้งานธรรมดาเป็นงานวรรณกรรมได้

โค้ด
“การที่หนังสือมันจะเสร็จเป็นเล่มก็เหมือนการที่เราไปจีบคนคนหนึ่ง ตอนที่เรามีความรักแล้วไปจีบนั่นแหละคือการเขียน แต่การที่เราจะรักษาความรักให้มันดีก็คือการขัดเกลา”

——————————————————————————–

ผู้เขียน : กิติคุณ คัมภิรานนท์
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS – 275
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

You may also like...