เดือนวาด พิมวนา

นักเขียนรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี พ.ศ. 2546 จากนวนิยาย “ช่างสำราญ” เดือนวาด พิมวนา

อะไรที่ทำให้คุณเริ่มเป็นนักเขียน และอะไรที่ทำให้คุณยังเป็นนักเขียน
เริ่มต้นจริงๆ น่าจะเป็นเพราะได้เจอพี่ประกาย (ประกาย ปรัชญา) ตอนไปทำหนังสือพิมพ์อยู่ช่วงหนึ่ง พี่ประกายคงเห็นอะไรในตัวเราสักอย่างและเกิดเชื่อว่าเราน่าจะทำงานเขียนได้ ก็ขอร้องให้เขียน ขณะที่เราเองยังอิดออดเพราะไม่เชื่อว่าตัวเองจะทำได้ เราแค่ชอบอ่านหนังสือ แต่ถึงกับเขียนให้คนอื่นอ่านดูไม่น่าเป็นไปได้ ช่วงนั้นมีเล่นตัวประมาณว่า จะไม่เขียนจนกว่าจะมีนามปากกาสวยๆ ทำเป็นเล่นตัวแต่ใจจริงก็อยาก เป็นเพราะความไม่เชื่อมั่นมากกว่า

พอกลับบ้านอยู่คนเดียวก็เขียนเป็นบ้าเป็นหลัง ส่งไปให้สตรีสารพิจารณาสัปดาห์ละหนึ่งเรื่อง พอได้ลงตีพิมพ์ก็ทำให้มั่นใจขึ้นมาบ้าง พี่ประกายก็ขวนขวายหาหนังสือดีๆ มาให้อ่าน เราได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กันสองทาง คืออ่านวรรณกรรมเพื่อเรียนรู้การเขียน และอ่านงานที่ฝึกให้เราใช้กระบวนการทางความคิดเพื่อทำความเข้าใจทั้งกับตัวเราเองและคนอื่น การได้จัดการกับความคิดของตัวเองในช่วงนั้นสำคัญมาก เพราะทำให้เกิดเหตุผลที่หนักแน่นยิ่งขึ้นว่า เราคงมีชีวิตแบบอื่นไม่ได้เสียแล้ว นอกจากมีชีวิตแบบนักเขียน ซึ่งโชคดีมากที่นิตยสารหลายเล่มต้อนรับงานของเราดีพอสมควร ก็ทำให้ต่อเนื่องมาได้เรื่อยๆ แต่เบื้องลึกก็คือจนถึงเดี๋ยวนี้เราก็ยังชั่งน้ำหนักไม่ได้เสียทีเดียวว่า ที่เรามาทำงานเขียนอยู่ทุกวันนี้เพราะความอยากเป็นนักเขียนจริงๆ หรือเพราะเราไม่อยากไปมีชีวิตในรูปแบบอื่นๆ มากกว่า ในความอยากเป็นนักเขียนนั้นเรามักสะกิดตัวเองอยู่เรื่อยๆ ว่าถ้าเขียนแล้วไม่มีคนพิมพ์ ไม่มีคนอ่าน ก็จะไม่ดื้อดึงเขียนต่อไป แต่ความไม่อยากไปมีชีวิตในรูปแบบอื่นนี้อาจทำให้เราดื้อดึงที่จะเขียนหนังสือไปจนตายก็เป็นได้
คุณลักษณะของ “นักเขียน” และ “ต้นแบบ” ในการเขียนหนังสือ

เรามักคาดหวังตั้งเกณฑ์กันไว้อย่างสวยงาม แต่ไม่ค่อยเป็นอย่างที่คิดหรอก ส่วนใหญ่เราไม่ค่อยสนใจตัวนักเขียน จะดูเฉพาะงานเขียนเท่านั้น คือตราบใดที่คนคนหนึ่งยังไม่ลงมือเขียน มีคุณลักษณะดีพร้อมไปก็เท่านั้น ไม่แน่ว่าจะเขียนได้ดี เราเชื่อว่าจนถึงที่สุดแล้วถ้าจะมองหาคุณสมบัติของนักเขียนคงต้องดูกันที่งานเขียนเท่านั้น เนื้องานนั้นถือเป็นการแสดงตัวและเป็นคำสารภาพของผู้เขียนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ว่าเขามีต้นทุนทางความคิดหรือไม่ มีความใส่ใจและละเอียดอ่อนหรือไม่ มีความอุตสาหะอย่างต่อเนื่องยาวนานพอหรือไม่ หรือเขามีลักษณะเฉพาะสูง หรือเขาชอบลอกเลียน เขาใส่ใจถี่ถ้วนหรือค่อนข้างหยาบ สรุปว่าถ้าเนื้องานดี ไม่ว่าจะดีในด้านใด มันก็คือคุณลักษณะที่ดีของผู้เขียนนั่นเอง ซึ่งอาจแตกต่างกันไปหลายมุมหลายด้าน แต่เนื่องเราเป็นคนชอบแยกแยะระหว่างนักเขียนกับงานเขียน ต้นแบบการทำงานอย่างจริงจังจึงไม่มี แม้มีงานเขียนที่รู้สึกชื่นชมนับถืออยู่มาก แต่การเขียนถือเป็นความสัมพันธ์อันโดดเดี่ยวระหว่างเรากับเนื้องาน น่าจะดีกว่าถ้าเราจะขอเดินในแบบของเราเอง

หลักในการทำงาน
ไม่ค่อยชัดเจนตายตัวนัก แต่เราเป็นคนติดละเอียด ขี้ระวังขี้ระแวง คิดมากกับทุกเรื่องทุกประเด็น สิ่งที่ง่ายสำหรับเราก็คือการแตกแขนงต่อยอดจากประเด็นนี้ไปสู่ประเด็นนั้น เลี้ยวไปประเด็นโน้น พออยู่กับงานแล้วความคิดมันจะเลื้อยไปเรื่อย ปัญหาจึงอยู่ที่ต้องคุมให้ได้ เพราะถ้าเผลอมันจะมากไปอยู่เรื่อย ก็ตั้งใจและมีสมาธิให้มาก เมื่อต้องนั่งเขียนเราต้องอยู่กับมัน เมื่อต้องลุกไปไหนความคิดก็อุ้มเอางานไปด้วย มันเหมือนเราเบลอๆ เหมือนค้างคาคิดไม่ออก แต่จริงๆ ความคิดกำลังทำงานอยู่ มันคงเลื้อยอยู่ตลอดเวลาในหัวของเรา พอถึงเวลาเหมาะๆ มันก็ออกดอก แล้วเราก็คิดออก ตอนที่ทำงานเป็นแบบนี้แหละ

ในความเป็นนักเขียน อะไรสำคัญกว่ากัน ระหว่าง “พรสวรรค์” กับ “พรแสวง”
สำหรับการสร้างเนื้องานนั้นพรสวรรค์ดีกว่า มันคล้ายกับเป็นการจัดวางโดยธรรมชาติ ซึ่งมีความเหมาะเจาะและลงตัวมากกว่าที่มนุษย์จะจัดการได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องฝึกฝนและเรียนรู้มากนัก จู่ๆ เราก็ทำงานเขียนได้ดีและทำได้อย่างง่ายๆ เหมือนกับธรรมชาติของแม่ให้กำเนิดลูก หรือการบานของดอกไม้ แต่พรสวรรค์ไม่ดีสำหรับชีวิต เพราะคนที่มีพรสวรรค์ก็มักยึดติดกับพรสวรรค์ของตัวเอง คล้ายได้ของฟรีโดยไม่ต้องลงแรง และของฟรีมักถูกใช้อย่างไม่รู้คุณค่า คนมีพรสวรรค์จึงละทิ้งการเรียนรู้ฝึกฝน ละทิ้งความอุตสาหะพยายามซึ่งเป็นคุณสมบัติด้านบวกของชีวิต เราจึงมักเห็นศิลปินมีชื่อเสียงโด่งดังแต่ชีวิตกลับดำมืดและไร้สุข เพราะต้องอยู่กับโทษสมบัติของตัวเองตลอดชีวิต ส่วนพรแสวงนั้นไม่ว่าจะประสบผลสำเร็จในเนื้องานหรือไม่ก็ตาม ความอุตสาหะเรียนรู้ถือเป็นคุณสมบัติด้านบวกของชีวิต และหากฝึกฝนจนสำเร็จได้ก็ยิ่งดีใหญ่ อะไรที่ได้มายาก คุณค่าก็มากเป็นธรรมดา

สิ่งสำคัญที่สุดที่วรรณกรรมชิ้นหนึ่งพึงมี
ตอบยากมากว่าจะมีอะไรสำคัญกว่าอะไร นัยยะที่คมคายลึกซึ้ง ประเด็นแปลกใหม่สร้างสรรค์ ศิลปะการนำเสนอที่ชวนติดตาม มุมมองใหม่หรือภาษาที่สวยงาม ทุกอย่างเป็นองค์ประกอบและเอื้ออำนวยในกันและกัน วรรณกรรมชิ้นหนึ่งพึงมีทุกสิ่งที่ควรมี ความสำคัญจึงน่าจะอยู่ที่ความสามารถในการทำให้องค์ประกอบทุกอย่างสอดรับกันได้อย่างลงตัวพอดี

มองวงการวรรณกรรมไทย
เป็นธรรมดาของโลกที่ทุกอย่างถูกตัด ถูกแบ่ง ถูกซอยให้เล็กลง เมื่อการเขียนหนังสือกินความกว้างไกลออกไปทุกที วงการวรรณกรรมก็เล็กลงเรื่อยๆ ในร้านหนังสือมีพื้นที่วางขายวรรณกรรมไทยน้อยลง ในหน้านิตยสารมีพื้นที่ให้วรรณกรรมน้อยลง นักอ่านมีความรู้และเสพงานได้กว้างขวางกว่าแต่ก่อน แต่เขาก็ต้องตัด แบ่ง และซอยตัวเองเพื่อแบ่งพื้นที่ให้แก่การอุปโภคบริโภคอื่นๆ มากขึ้น นักเขียน สำนักพิมพ์ และสื่อสิ่งพิมพ์ ต้องตัด แบ่ง และซอยพื้นที่ในสมอง เจียดเอาความคิดไปสู้ศึกทางการตลาดมากขึ้นทุกที

——————————————————————————–

ผู้เขียน : กิติคุณ คัมภิรานนท์
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

You may also like...