หากค้นหาชื่อ อนุรักษ์ สุชาติ แห่ง AESTHETIC STUDIO ในเสิร์ชเอนจิ้น แทบจะไม่ปรากฏแหล่งค้นหา แต่ในด้านการสร้างสรรค์เขาคือดีไซน์เนอร์ผู้เนตรมิตจิตนาการออกมาเป็นผลงานแบรนด์ aesthetic-studio ที่ถูกใจผู้บริโภค ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเกิดความความใส่ใจ คิดค้น จนกระทั่งประสบความสำเร็จทั้งในเชิงจิตใจรวมถึงสามารถเลี้ยงชีพได้จริง
“แรงบันดาลใจเกิดจากการดูเยอะๆ ทั้งหนังสือ เว็บไซต์ ฯลฯ บางทีเราไปดูหนังเรื่องหนึ่งแต่เราได้อะไรอีกอย่างหนึ่ง เป็นแรงบันดาลใจที่แฝงอยู่ในสื่อที่เราเสพเข้าไป เรายังไม่ได้ใช้ทันทีก็สะสมไว้ถึงเวลาอาจจะปิ๊งขึ้นมาแล้วเราก็ค่อยๆ จับแรงบันดาลใจ พัฒนาให้กลายเป็นโปรดักที่เราต้องการ แต่ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ เราจะคิดแล้วจะกลายเป็นจริงได้ ระหว่างนั้นต้องผ่านขั้นตอนหลายอย่าง การคิดการดีไซน์มันแค่ 10-15% ของกระบวนการทั้งหมด เพราะคิดได้แต่ผลิตจริงไม่ได้ หรือผลิตจริงเหมือนจะได้ ทำไป 90% แล้ว แต่ไปติด 10% สุดท้าย ซึ่งถ้าเราไม่มีความรู้หรือไม่มีประสบการณ์อาจจะไปตายตอนจบ ซึ่งแต่ละอันต้องใช้ประสบการณ์และความรู้ในแง่อย่างอื่นด้วยไม่ใช่เราดีไซน์อย่างเดียวต้องมีเรื่องการผลิต การตลาดมาประกอบกัน”
“โจทย์คือเราต้องการทำออกมาแล้วดูดีอย่างน้อยมันต้องสวยแต่ต้องตอบสนองการใช้งานด้วย และจะให้ดีคือต้องขายได้ด้วย หากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งอาจจะไม่สมบูรณ์ เมื่อดูดีแต่พอไปใช้จริงมันไม่สบาย หรือทำออกมาดูดีทุกอย่างใช้สบายแต่ขายไม่ได้มันก็จะลำบาก ฉะนั้นปัจจัยทุกอย่างเป็นปัจจัยสำคัญซึ่งเราต้องดูว่าเราจะเลือกตรงไหนมา จึงต้องเลือกว่าจะเอาขายจึงต้องลดบางอย่างให้มันถูกลง หรือจะเอาโชว์ก็อีกแบบหนึ่ง”
“ต่างชาติเขาให้การยอมรับนักสร้างสรรค์จากไทยในระดับหนึ่ง ถือว่าแง่การออกแบบโอเคแต่เราอาจจะไปสู้บางอย่างไม่ได้อย่างเช่นราคาเพราะว่าต้นทุนการผลิตเราอาจจะสูงกว่าประเทศอื่น ถ้าเทียบเก้าอี้ต่อเก้าอี้ก็ต้องถามว่าทำไมถึงเลือกเรา ต้องมีลักษณะจุดเด่นบางอย่าง ซึ่งอย่างลูกค้าบอกว่าผมออกแบบให้ดูคล้ายอิตาลีมันไม่ใช่อิตาลีแต่ดูเป็นไทยอยู่หน่อย ทำให้ตรงนี้มันคือความโดดเด่น วิธีการใช้วัสดุของเราหรือวิธีการนำอะไรมาต่อกันมันไม่ใช่แบบที่อิตาลีเขาทำกันแต่อาจจะเกิดจากเราเห็นมาตั้งแต่เด็กหรืออะไรสักอย่าง นี่คือจุดเด่น เมื่อเทียบชิ้นต่อชิ้นทำไมเขาจึงเลือกเราบางทีอาจแพงกว่าด้วย จะเรียกว่าจุดเด่นของเราคือเอกลักษณ์ที่สั่งสมมาก็ได้ ดีไซน์เนอร์แต่ละคนจะมีสไตล์ที่เป็นตัวของตัวเอง จุดเล็กๆ แต่จะเหมือนกับว่าได้กลิ่นในแง่ของการดีไซน์”
“ด้านผลตอบรับในหมู่คนไทยบางคนเขาชอบเลยแต่แง่กำลังซื้อของคนไทยมีจำกัดระดับหนึ่ง กลุ่มที่สามารถจ่ายเพื่อสินค้าที่ออกแบบและมีราคาได้นั้นมีไม่เยอะมาก แล้วในแง่ของไม่เยอะมากอยู่แล้วก็ต้องแข่งกับดีไซน์เนอร์หรือของนำเข้าด้วย เพราะหากบางทีคนรวยเขาก็เลือกสินค้านำเข้า 100% แล้วแต่รสนิยมกับกำลังซื้อ” เขาบอกว่าความสุขในการทำงานคิดสร้างสรรค์นั้นเหมือนกับการทำของเล่น ไม่คิดว่าจะต้องเป็นงานที่ทำให้เกิดผลเป็นเงินตรา และการแข่งขัน กับรางวัลนั้นเป็นผลพลอยได้ไม่ใช่เป้าประสงค์หลักในการสร้างงาน
“สำหรับผมมีความสุขเหมือนไม่ได้ทำงาน ยิ่งคิดเยอะๆ ช่วงที่ไปทำต้นแบบมันเหมือนเราทำของเล่นซะมากกว่าช่วงนั้นไม่ใช่งานจึงไม่เหนื่อย แต่จะไปเหนื่อยตอนขาย ขายได้-ไม่ได้ หรือต้องไปเกี่ยวกับตัวเลข ซึ่งจะเหนื่อยมากกว่า ซึ่งผมไม่เคยคิดเลยว่าจะทำเพื่อส่งประกวด แต่มันจะมีของที่ทำระหว่างทางที่มีอยู่แล้ว แล้วมันมีศักยภาพที่สามารถส่งเข้าประกวดได้เราจึงส่ง ซึ่งผลตอบรับส่วนมากจะได้รางวัลมา ปีที่แล้วโคมไฟที่ผมทำตัวหนึ่งได้รางวัลเมืองไทย ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ และปีนี้เราส่ง DEmark (Design Excellent Award) ที่เมืองไทยจากที่มี 10-20 ชิ้น แต่ผมคัดไป 4 ชิ้น ก็ได้มาทั้งหมดเลย สินค้าแต่ละตัวมันมีจะต้องมีจุดเด่นของมันไม่ใช่แค่สวยอย่างเดียว จะต้องสวยเพราะอะไรหรือมีอะไรที่ซ่อนอยู่ข้างหลังอาจจะเป็นเรื่องคอนเซ็ปต์ หรือวิธีการบางอย่างซ่อนอยู่
“เราไม่ค่อยคาดหวังนักแต่ถ้าได้ก็ดีเป็นโปรไฟล์ของบริษัท เป็นจุดหนึ่งที่ผู้ซื้อตัดสินใจระหว่างเก้าอี้กับเก้าอี้ ชิ้นนี้แบบนี้ได้รางวัลมา กับเก้าอี้นำเข้า ราคาเราอาจถูกกว่า ได้รางวัลด้วย ผู้ซื้ออาจตัดสินใจได้ง่ายยิ่งขึ้น”