วิทยา ตุมรสุนทร

วงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ Bangkok Symphony Orchestra (BSO) เป็นวงซิมโฟนี ออร์เคสตรา ก่อตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525 โดยวิทยา ตุมรสุนทร ประกอบด้วยนักดนตรีอาชีพ 60 คน มีฐานะเป็นชมรมในชื่อว่า “ชมรมวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ”

และได้รับพระกรุณาให้อยู่ในพระราชูปถัมป์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร โดยมีอุเทน เตชะไพบูลย์ เป็นประธานชมรม อัจฉรา เตชะไพบูลย์ เป็นกรรมการ และเลขานุการ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528 ได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิ ใช้ชื่อว่า “มูลนิธิวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ” ในพระราชูปถัมป์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (Bangkok Symphony Orchestra Foundation under the Royal Patronage of His Royal Highness Crown Prince Maha Vajiralongkorn) ปัจจุบันมีนักดนตรีอาชีพจากหน่วยงาน สถาบัน องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

ตำนาน BSO กับ วิทยา ตุมรสุนทร

ต้องบอกก่อนเลยว่า ผมไม่ใช่ศิลปิน แต่เป็นคนที่อยู่เบื้องหลังศิลปิน

จริงๆวงการดนตรีคลาสสิคมันถูกลืมมาตั้งนานแล้ว เมืองไทยมีวงดนตรีเกิดขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 6 แต่จริงๆแล้วเมืองไทยรู้จักเรียนดนตรีฝรั่งตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ แล้วพัฒนามาเรื่อยๆแต่มาจบลงสมัยรัชกาลที่ 7 เพราะเศรษฐกิจไม่ดี มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ดนตรีถูกนำมาใช้ในเรื่องของการเมือง ในด้านต่างๆซึ่งมันไม่ได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์

กระทั่งมาในราว พ.ศ. 2500 มีผู้หลักผู้ใหญ่ที่ไปเรียนสาขาด้านอื่น แต่เป็นนักดนตรีสมัครเล่นกลับมาจากเมืองนอก เอาเครื่องดนตรีมาเล่น ตอนนั้นผมยังเป็นนักดนตรีอยู่จุฬา คณะบัญชี เห็นแล้วก็สนใจจึงมาเล่นกับเค้า ผมเป็นพวกบ้าดนตรีคลาสสิค เล่นโดยที่ไม่เอาสตางค์  เล่นไปเล่นมาอยู่ 7 ปี ก็เลิกไป ไม่ใช่เพราะว่าไม่มีคนดู เพราะว่านักดนตรีเริ่มมีภารกิจ ต้องหาเลี้ยงตัวเอง ทุกคนทำงานข้าราชการกันหมด บางคนก็ทำงานบริษัท อย่างผมก็มีภารกิจ ก็เลิกเล่นกันไปประมาณ 6-7 ปี หอศิลป์พีระศรีก็เปิดทันที คุณฉัตรวิชัย เพื่อนผมกลับมาจากต่างประเทศ คิดว่าหอศิลป์พีระศรีควรจะทำอะไรดี ไปนั่งคุยกัน เลยก่อหวอดว่าที่หอศิลป์มีอาจารย์ อวบ สาณะเสน ซึ่งเป็นที่รักนับถือกับผมมาก เป็นนักดนตรีสมัครเล่น บ้านอยู่ใกล้ๆกับหอศิลป์พีระศรี มีคุณฉัตรวิชัยกับผมเป็นผู้ก่อการ นั่งกินกาแฟกันสามสี่คน กินกันอยู่หลายเดือน ที่นั่นก็เป็นที่เกิดของวง BSO

เมืองไทยมันต้องมีวงดนตรีซิมโฟนีออเคสตร้า เป็นเรื่องอารยธรรมที่เราปฎิเสธไม่ได้ มันเป็นสากล เราจะบอกว่าเป็นของยุโรปหรือฝรั่งไม่ได้ จีนเค้ามีวงครั้งแรกตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เซี่ยงไฮ้เค้ามีวง เราก็ต้องมี เพราะมันแสดงความเป็นหน้าเป็นตา เราเป็นเมืองหลวงที่ใหญ่ติดระดับในประเทศแถบเอเชีย มันต้องมี แต่มีที่ผ่านมามันล้มลุกคลุกคลานมาก เพราะมันติดอยู่ในระบบราชการ มันไม่ตรงวัตถุประสงค์ที่จะตั้งวงดนตรี พอมีวง ตั้งวงขึ้นมา เล่นด้วยใจรัก ทำไมใจรักมันจึงอยู่ไม่ได้ 6 ปีทุกคนก็ต้องแยกย้ายไปทำงาน

พอคิดจะตั้งวงอีก คุณฉัตรวิชัยบอกว่า ขออย่างนึงเลยอย่าคิดเหมือนศิลปิน คิดว่าทำยังไงให้วงของเราอยู่ได้ ทำให้อยู่ยั่งยืนนี่มันคือเรื่องใหญ่ เราไม่มีกำลังวังชา ไม่มีบารมี เพราะรู้ว่างานศิลปะมันต้องใช้เงินใช้ทองเยอะ ไปขายบัตรแพงคนเค้าก็ไม่มาดู เพราะฉะนั้นเราก็ต้องไปหาคนที่มีศิลปะ มีดนตรี แล้วก็มีฐานะ ที่จะช่วยเหลือด้านการเงินให้ ปรึกษากันตั้งหลายคน ในที่สุดก็ไปพบคุณ อุเทน เตชะไพบูลย์ สมัยก่อนเป็นเจ้าของแบงค์ธนาคารศรีนคร ไปเล่าให้ท่านฟังว่าเรามีความฝันอย่างนี้ เรารวมเพื่อนๆก็มีคุณฉัตรวิชัย มีผม มีเพื่อนศิลปินหลายคน อยากทำ ท่านก็บอกว่า เห็นด้วยนะแต่ทำต้องใช้เงินเยอะ จะช่วย ตาถ้าจะให้อยู่จีรังยั่งยืนก็ต้องทำเป็นมูลนิธิ เตรียมงานอยู่ปีนึง มูลนิธิจดเสร็จแล้วออกเราแสดงครั้งแรกวันที่ 26 พฤศจิกายน 2525 เรามีผู้หลักผู้ใหญ่ ลำพังผม คุณฉัตรวิชัย หรืออาจารย์ทั้งหลายแหล่เอาไม่อยู่ คงได้แต่ฝันอย่างเดียว เพราะฉะนั้นเป็นอุทาหรณ์ ถ้าศิลปินรุ่นใหม่ใครจะทำอะไรต้องคิดสองทางในด้านธุรกิจ ด้านการทำงาน ทำยังไงให้องค์กรอยู่ได้ สมัยนั้นนักดนตรีคลาสสิคไม่ค่อยมีงาน ไปรับงานอะไรเค้าก็ไม่เอา เค้าใช้อิเลคโทนกันหมด เราถึงบอกว่านี่คือเหตุผลที่ต้องสร้างอาชีพ เพราะฉะนั้นนักดนตรีมาคนนึงมาซ้อมสามชั่วโมง สมัยนั้น 200 บาท ถือว่าเยอะทีเดียว สมัยนั้นไปซ้อมไปเล่นกันที่หมู่บ้าน ที่สโมสรต่างๆ ท่านประธานอุเทนก็ให้ ผมเป็นอาสาสมัครอยู่ ทำงานไปด้วย เย็นๆก็มาช่วยทำทุกอย่างตั้งแต่ส่งเอกสาร พิมพ์ดีด ทำอยู่สามสี่ปีผมก็ไปดูงานที่สิงค์โปร์ ที่นั่นวงของเค้ามีพนักงานอยู่ 10 คน ทำคอนเสริต์ 200 คอนเสริต์ต่อปี นี่เค้าทำจริงๆไม่ได้ทำเล่นๆ

ผมกลับมานั่งคิดอยู่ 2 เดือนลาออกเลย ลาออกจากงานบริษัท ลาออกมาโดยที่ไม่ได้สนใจว่าจะมีเงินเท่าไหร่ ถือว่าได้ทำในสิ่งที่ชอบ เลยเริ่มผลักดัน จาก 4 คอนเสริต์ต่อปี เริ่มเป็น 4-5 คอนเสริต์ ก็มีผู้หลักผู้ใหญ่ บอกว่า BSO ต้องไม่อยู่บนหอคอย เราเล่นเพลงคลาสสิคก็จริงแต่ว่าเราต้องลงมาติดดิน จากนั้นเราก็เริ่มมาเล่นในสวน อยู่กรุงเทพแต่ต้องกลับไปหาภูมิปัญญาเก่า เรากินส้มตำอยู่สนามหลวง เล่นว่าวอยู่ ทำไมเราจะทำไม่ได้ เดี๋ยวจะทำให้ดู ตอนนั้นมีนักดนตรีสไตรค์ 10 กว่าคน เค้าไม่ยอม ได้พี่พี่พงษศักดิ์มาช่วย ในที่สุด ดนตรีในสวนจากวันนั้นมาจนวันนี้ 19 ปี ทุกคนมีความสุข คนดูก็ชอบ จาก 300 คน เป็น 3,000 คน ไม่เก็บสตางค์ นี่คือการเข้าหาสังคม นี่คือจุดเริ่มของ BSO ผ่านมาก็ไม่ได้ง่าย ทั้งโศกเศร้า เจ็บปวด เพราะเราไม่มีภาครัฐมาสนับสนุนเหมือนอย่างสิงค์โปร์ ของเราก็ได้จากกระทรวงวัฒนธรรม ถึงไม่ได้เยอะแต่เราก็ยินดี เราทำโปรเจคต่างๆ ก็ดีใจที่เราได้สร้างงานให้กับนักดนตรี ศิลปิน

หลังๆนี้มีคนมาหาผมเยอะ ถามว่าจะทำนู่นนี่ได้ไหม ผมบอกว่า ให้อยู่กับความจริง อย่าบอกว่าจะไปจัดนู่นจัดนี่ เวลาจัดคุณจะให้มีค่าตั๋วคุ้มได้ยังไง คิดก็คิดไม่ออกหรอก นี่คือธรรมชาติของศิลปิน ศิลปินไม่เข้าใจ ถามว่า ทำไมเรานั่งคิดแต่เรื่องเงิน ไม่ได้หรอก คุณเล่นจบต้องมีคนจ่ายเงินพวกคุณ ผมจะไม่เคยบอกนักดนตรีว่าคุณจะเล่นฟรี ไม่ได้ มันต้องมีค่าตอบแทน มากน้อยอีกเรื่องนึง ต้องให้เค้าคิดทบทวนว่าถ้าเค้าจัดเองเค้าต้องยอมรับสภาพ

BSO ถึงเรียนรู้มา 30 ปี ก็เหมือนคนมีอายุ 30 ก็ยังต้องจัดการอีกเยอะ ทำยังไงจะให้เราอยู่ได้ วันนี้เรามีสปอนเซอร์ พออยู่ได้ เราก็ต้องหาอีก เพราะปีหน้าเราไม่รู้ว่าสปอนเซอร์จะให้หรือเปล่า ตอนต้มยำกุ้งผมจำได้ บริษัทเครื่องดื่มที่เป็นสปอนเซอร์เราเค้าไม่ให้เงิน ให้มาเป็นของ ให้เบียร์มาประมาณล้านนึง  เบียร์กับน้ำมะขาม ผมวิ่งเป็นยี่ปั้วเลยนะ ขายไม่ได้ ต้องทำใจว่าต้องแจกเป็นของขวัญให้คนนั้นคนนี้ไปตามเรื่อง นี่คือความเป็นจริง เพราะฉะนั้นการจัดการนี่สำคัญ 50% ในวงๆวงนึงจะจัดงานที ต้องมานั่งดูศิลปินว่ามีความสุขไหม มีค่าตอบแทนพอสมควรไหม ส่วนการจัดการก็ต้องให้เกียรติศิลปิน แต่การจัดการที่ไม่ดีก็มีเยอะ ผมเองไปดูการจัดการในญี่ปุ่น หลายประเทศในเอเชีย ศิลปินเดินคนเดียวไม่ได้ 100% ศิลปินคิดแบบศิลปิน บางทีเล่นแบบนี้แล้วคนไม่ฟัง แล้วจะเล่นทำไม เราต้องเข้ามาหาเค้า ต้องเห็นใจคนดู

นักดนตรีเยาวชนในวง BSO
เมื่อ 17 ปี ผมบอกว่าเราควรจะสร้างนักดนตรีเยาวชนขึ้นมา เพราะผมเชื่อมาแต่ไหนแต่ไรแล้วว่า ดนตรีมันกล่อมเกลาจิตใจ คนเราเกิดมามี 3 อย่าง ความดี ความจริง ความงาม ความจริงเราต้องเรียนหนังสือ เรียนวิชาการ ความจริงคือ 1+1=2 นี่เป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อจบมาเราต้องทำงานเลี้ยงตัวเอง สองเราต้องเป็นคนดี ทำงานซื่อสัตย์สุจริต สามต้องมีความงาม คือ มีสุนทรีย คุณเรียนจบ ผ่านความจริงมาแล้ว ความดีคือคุณทำงานด้วยความขยัน ถ้าคุณมีเงินเป็นหมื่นล้านแต่ไม่รู้จักความสุนทรีย ไม่รู้จักดูรูป ไม่รู้จักฟังดนตรี กลับมาถึงบ้านนั่งอยู่เฉยๆคุณก็ไม่มีความสุข

ผมเชื่อว่าความสุนทรียจำเป็นกับมนุษย์เรา เราคิดว่าเราต้องสร้างวงขึ้นมา ถ้าเกิดแก่ไปแล้วจะหานักดนตรีที่ไหนในวง ต้องสร้างนักดนตรีที่เป็นเครื่องสายขึ้นมา  ตอนนี้เราทำมา 17 ปี พยายามเลี้ยงให้อยู่ให้ได้ เด็กในวงไม่ได้เสียค่าเล่าเรียน เราสร้างอาชีพให้เค้าเป็นครู แล้วการที่เราไปเล่นในสวน ดีใจที่ว่าจากการที่มีคนมาประท้วงในปีแรก ต้องขอบคุณพี่พงษศักดิ์จริงๆ ปีนี้เป็นปืที่ 19 แล้ว ที่ 3,000 ที่นั่ง ไม่มีว่าง คนดูก็มีความสุข พาลูกหลานมา เราก็เล่นเพลงทุกประเภท ทั้งคลาสสิค ไม่คลาสสิค ลูกทุ่ง เราเล่นหมด เราถือว่าทำเพื่อสังคม ในที่สุด BSO ได้ลดหย่อนภาษีมาประมาณ 10 ปี เป็นองค์กรเดียวเกี่ยวกับดนตรีที่ไปหาสรรพากร ตอนนั้นเค้าว่าศิลปะไม่ควรต้องได้รับความช่วยเหลืออะไรขนาดนี้ เพราะคุณหาเช้ากินค่ำ คุณดนตรี คุณขายบัตรรับเงิน ถูกเค้าอบรม อีก5-6 ปี เราพยายามทำรีพอร์ท โปรไฟล์ ตามระเบียบกระทรวงเลยว่าเราให้อะไรกับใครบ้าง เพราะจัดคอนเสริต์ทุกครั้งมันจะขาดทุน คนก็ถามว่าจัดทำไม เพราะที่เมืองนอกก็มีหลายวงที่ล้มละลาย ที่อเมริกา มีหลายวงในยุโรปก็จบไป เราอย่าประมาท พยายามดูความจริง ใครได้เท่าไหร่ก็ทำเท่านั้น

ความนิยมในดนตรีคลาสสิค
มากขึ้น แต่เป็นภาพลวงตา เพราะพวกนั้นเป็นกระแสค่านิยม มันเป็นเรื่องที่มาเป็นธุรกิจแล้วก็หายเงียบไป ผมว่าตอนนี้การศึกษาสำคัญมาก โดยเฉพาะมัธยมต้นกับมหาวิทยาลัย เพราะเราต้องเปิดไปสู่ประชาคมอาเซียน ผมไปดูที่ฟิลิปปินส์ ไปดูที่สิงค์โปร์มาเรียบร้อยแล้ว ผมมองว่าฝีมือน่ากลัวมาก ถ้าวันนึงพวกเค้าจบมา เค้าเป็นประเทศที่จนกว่าเรา  ถ้าเค้าเข้ามาประเทศเราเมื่อไหร่ อันนี้น่าคิด ดนตรีคลาสสิคไม่เคยสดใสเลย ไม่ใช่ค่านิยมของเรา ไม่ใช่วัฒนธรรมเรา กว่าเราจะสร้างขึ้นมาได้ แต่ทำไมคนมาสนใจดนตรีคลาสสิค เพราะว่าค่านิยมเมื่อ 15 ปี วาเนสซ่า เมย์ ลุกขึ้นมา เกิดค่านิยมว่ามันดีนะ เท่านั้นเอง ดนตรีคลาสสิคเลี้ยงตัวอยู่ได้ไหม ถ้าคุณเก่งเลี้ยงตัวได้ พ่อแม่มาถามหลายคนว่าเรียนดีไหม ผมบอกว่าดีแต่ต้องเรียนจริงๆคุณมีฝีมือคุณก็มีงานตลอดเวลา ภาพยนตร์ไทยมีเสียงดนตรีคลาสสิคอยู่เบื้องหลังทั้งนั้น เรยามิวสิคัลก็เหมือนกัน นักดนตรียังขาดอีกเยอะ คุณต้องมีฝีมือ แต่ถ้าไม่มีฝีมือ คุณต้องไปเรื่อยๆคนมีฝีมือนั้นเค้าทัดเทียมกับอาชีพอื่นได้ และเค้าก็มีความสุข

BSO คืออะไร
BSO เป็นโรงเรียน ให้นักเรียนอาชีพได้มาลองของมา 30 ปี หลายคนจบจากจุฬา จากศิลปากรมาเล่น เค้าได้สัมผัส พอเข้าใจว่าของดีคืออะไร เค้ากลายเป็นคนค้นพบตนเองว่าเป็นคนเรียบเรียงเสียงประสาน เป็นคอนดักเตอร์ ทุกวันนักดนตรีกระจายไปหมด ก็เกิดงาน ถ้าเค้าไม่มี BSO เค้าก็ไม่รู้ เค้าค้นพบตัวเองไม่ได้ เพราะสมัยก่อน BSO ไม่มีวงเล่นเลย นักดนตรีสารภาพว่าเป็นโรงเรียน เป็นบ้านที่เราได้เรียนรู้ ส่วนการแสดงคอนเสริต์เราแบ่ง 2 แบบ เราไม่เหมือนในยุโรป เราเล่นในสิ่งที่คนดูชอบ แต่ขอให้มีคุณภาพ 60% จะเป็นคลาสสิคอีก 40% ไม่ใช่ละครเพลง หรือเพลงประกอบภาพยนตร์ หรือดนตรีในสวน คละกันไป เฉลี่ยประมาณ 20 ครั้งต่อปี เดือนนึงครั้งหรือสองครั้งแล้วแต่งานเล็กงานใหญ่ เราสร้างงานให้นักดนตรี แต่ถ้าไม่มีตรงนี้ นักดนตรีก็ไม่เดือนร้อน มีละครเพลงอยู่เยอะ มีงานซาวน์แทรคหนัง งานแต่งงานต่างๆนานา เพราะฉะนั้นเราพยายามเอางานดีๆให้เค้าสัมผัส เป็นเวทีให้ได้สร้างงานขึ้นมา อย่าถือว่าเป็นสถาบัน สถาบันขอให้เป็นมหาวิทยาลัย นี่คือเวที

ความอยู่รอดของ BSO คือความมุ่งมั่น พยายามทบทวนตัวเอง อยู่กับความจริงว่าเราอย่าไปใช้เกินตัว สมมติว่าปีนี้ผมมีสปอนเซอร์จัดอยู่ ปีหน้าผมหาไม่ได้ก็จัดเท่าที่จัดได้ ถ้าเราลืมตัวจัดไปเมื่อไหร่เจ๊ง รู้ว่าจัดแล้วมันขาดทุนเราก็หาสปอนเซอร์มาช่วย แล้วก็เน้นคุณภาพ เพราะคุณภาพเป็นจุดขายนั่นเอง

การเผชิญกับอุปสรรคและปัญหามากมาย ทั้งขาดทุนและได้กำไร ทำไมวันนี้ยังมี BSO
ที่ไม่เลิกเพราะอาจจะเป็นเวรกรรม แต่ความสุขของผม ความสุขของฝ่ายจัดการตรงนี้คือ พอเอาม่านลงคนปรบมือ คนยิ้ม นี่คือรางวัลที่ได้ นี่คือความดีงาม

 

You may also like...