สัมพันธ์ พันธุ์มณี

สัมพันธ์ พันธุ์มณี(เกิด 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 — 6 มิถุนายน พ.ศ. 2552)ศิลปินผู้มีความรู้ความสามารถในด้านนาฏศิลป์ไทยเป็นอย่างสูง และเป็นผู้พยายาม อนุรักษ์ สืบสาน สร้างสรรค์งานนาฏศิลป์ไทยมาตลอดชีวิต เป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องเชิดชุเกียรติจากสถาบันการศึกษา และหน่วยงานด้านวัฒนธรรมต่างๆหลากหลายรางวัล

โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือการได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติ ให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์ )ประจำปีพุทธศักราช 2542 นางสัมพันธ์ พันธ์มณี ได้ถึงแก่กรรม เนื่องจากมีเลือดออกในสมอง เมื่อวันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน 2552

ประวัติ
นางสัมพันธ์ พันธ์มณี เป็นบุตรีของ นาย สวัสดิ์ พันธ์มณี ( ผู้ได้รับฉายาว่า สวัสดิ์พระขรรค์ ) และนางเพี้ยน เนตรพันธ์ ซึ่งมีบุตรธิดารวมกันทั้งหมด 6 คน คือ
1. นางสาว สุภาพ พันธ์มณี
2. นาง สัมพันธ์ พันธ์มณี
3. นาย โสภณ พันธุ์มณี
4. พลอากาศตรี สกล พันธ์มณี
5. นาง สมพิศ บุญศิริ
6. นาง กัณฐิกา พันธุ์มณี

นางสัมพันธ์ พันธ์มณี และพี่สาว น.ส.สุภาพ พันธ์มณี ในวัยเด็กได้ไปอยู่กับคุณลุงและคุณป้า คือ นายเชื้อและนางอำไพ เนตรพันธุ์ และได้เข้าเรียนในโรงเรียนนาฏดุริยางค์ โดยใช้นามสกุลว่า สุวรรณมณี ด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อนของคุณป้า และด้วยความน่ารักน่าเอ็นดูของสองศรีพี่น้อง หลวงวิจิตรวาทการ อธิบดีกรมศิลปากร และคุณหญิงประภาพรรณ วิจิตรวาทการ อาจารย์ใหญ่ โรงเรียนนาฏดุริยางค์ในสมัยนั้น จึงได้รับเป็นบุตรบุญธรรม นาง สัมพันธ์ พันธ์มณี ได้สมรส กับนาย เลียนฮัว แซ่เอ็บ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2492 และครองชีวิตสมรสด้วยกันโดยไม่มีบุตรธิดา ตราบจน นาย เลียนฮัวถึงแก่กรรมไปก่อน

การศึกษา
คุณครู สัมพันธ์ พันธ์มณี ได้เริ่มการศึกษา ที่โรงเรียนนาฏดุริยางค์ กรมศิลปากร พร้อมกับพี่สาว คือ คุณครู สุภาพ พันธ์มณี จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้ศึกษาเล่าเรียนกับครูอาจารย์หลายท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณครูลมุล ยมะคุปต์ ซึ่งเป็นปรมาจารย์นาฏศิลป์ ละครพระ ผลงานการแสดงที่ภาคภูมิใจที่สุดในวัยนั้น คือ การได้รับคัดเลือกให้แสดงเป็น “พระลอ” ในชุดพระลอลงสวน

ครูสัมพันธ์และครูสุภาพ พันธ์มณี เลิกการศึกษาในวัยนั้นไปด้วยต้องอพยพหลบภัยจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปอยู่ต่างจังหวัด เมื่อสงครามสงบก็ไม่ได้กลับเข้าไปเรียนต่อในสถาบันเดิม แต่ได้ประกอบอาชีพทางด้านการแสดงต่อเนื่องเรื่องมา และศึกษาเพิ่มเติมเป็นการส่วนตัวกับปรมาจารย์ทางด้านนาฏศิลป์อีก เนื่องจากเปลี่ยนสถานะทางงานอาชีพจากการแสดงเพียงอย่างเดียว มาเป็นการเรียนการสอนและการบริหารสถาบันการศึกษา ภายหลังคุณครูสัมพันธ์ พันธ์มณี ได้รับปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี

การทำงาน
ศิลปินคณะวิจิตรศิลป์
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง คุณครูสัมพันธ์ พันธ์มณี และคุณครู สุภาพ พันธ์มณ๊ ได้อพยพกลับเข้ามาอยู่ในกรุงเทพ และได้มาเริ่มชีวิตการทำงาน โดยมาเป็นศิลปินในคณะวิจิตรศิลป์ ของ พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ และคุณหญิง ประภาพรรณ มีผู้มาชมและติดตามการแสดงจำนวนมาก เพราะความสามารถในศิลปการแสดงและรูปโฉมอันงดงามของคุณครู

ศิลปินคณะผกาวลี
คณะละครผกาวลี เป็นคณะละครแห่งที่ 2 ที่ครูไปร่วมแสดงด้วยเป็นเวลาถึง 5 ปี

อาจารย์โรงเรียนสตรีเนติศึกษา
หลังจากนั้นคุณครูสัมพันธ์ พันธ์มณีได้ไปทำงานเป็นครูสอนนาฏศิลป์อยู่ที่โรงเรียนสตรีเนติศึกษาเป็นเวลา 2 ปี

บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด
จุดเริ่มต้นอันยิ่งใหญ่ของคุณครูสัมพันธ์ พันธ์มณี เกิดขึ้นเมื่อ นาย จำนง รังสิกุล รองผู้อำนวยการและหัวหน้าฝ่ายจัดรายการ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม ได้ให้ คุณ พจนีย์ โปร่งมณี ชักชวนคุณครูสัมพันธ์ไปร่วมงานด้วย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 โดยรายการแรก คุณครูสัมพันธ์ กับคุณครู สุภาพ พันธ์มณี ร่ายรำคู่กันทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรก ในชุด ย่าหรันตามนกยูง ในรายการชุมนุมนาฏศิลป์ไทย ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2498 เวลา 19.15 น.
หลังจากนั้นได้มีรายการเกี่ยวกับนาฏศิลป์ไทยออกเผยแพร่ทางโทรทัศน์มากมาย และคุณครู สัมพันธ์มีหน้าที่ที่ต้องฝึกหัด พนักงาน ของบริษัท และลูกหลานพนักงานให้รำไทยอีกด้วย ตลอดจนมีการสอนรำไทยทางโทรทัศน์ ทำให้มีผู้มาสมัครเรียนมากมาย จนคุณครูสัมพันธ์ พันธ์มณี ต้องไปเชิญชวนเพื่อนๆรุ่นพี่รุ่นน้องมาช่วยกันสอน โดยมี คุณครุลมุล ยมะคุปต์ เป็นผู้มาตั้งวางรากฐานการเรียนการสอนให้
ลูกศิษย์ของคุณครูสัมพันธ์นี้ มากมายหลายคน ได้กลายเป็นดาราโทรทัศน์ผู้มีชื่อเสียง มีผลงานการแสดงเป็นที่ประทับใจของผู้ชม และมีชื่อเสียงโด่งดังไปพร้อมๆกัน ทั้งบริษัท ทั้งครู และทั้งลูกศิษย์ บริษัท ไทยโทรทัศน์ ในยุคนั้น นับว่าเป็นบ่อเกิดแห่งความเจริญรุ่งเรืองของศิลปการแสดงของไทยเป็นอย่างยิ่ง

โรงเรียนนาฏศิลป์สัมพันธ์
ในปีพุทธศักราช 2507 โรงเรียนนาฎศิลป์สัมพันธ์ก็ได้ก่อตั้งขึ้น เพื่อรองรับจำนวนของผู้สนใจมาสมัครเรียน และงอกเงยออกมาเป็นโรงเรียนอนุบาลนาฏศิลป์สัมพันธ์ และมูลนิธินาฏศิลป์สัมพันธ์ตามลำดับ

เกียรติคุณที่ได้รับ
รางวัลผู้มีผลงานดีเด่นด้านโทรทัศน์ จาก องคการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ( 2530 )
รางวัลโล่เกียรติยศนักบริหารดีเด่น ประเภทบริหารการศึกษาจรรยาบรรณดีเด่น
รางวัลผู้บุกเบิกและพัฒนาอันเป็นประโยชน์แก่วงการโทรทัศน์ จากสำนักนายกรัฐมนตรี ชมรมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ และสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย
รางวัลประกายเพชร ประเภทผู้อนุรักษ์นาฏศิลป์ไทยประจำชาติยอดเยี่ยม จาก ชมรมผู้บำเพ็ญประโยชน์สร้างสรรค์สังคม ( 2537 )
รางวัลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดง ( นาฏศิลป์ ) ( 2539 )
รางวัลผู้สูงอายุดีเด่น จากสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมถ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ( 2541 )
ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ( นาฏศิลป์และการละคร ) จากสถาบันราชภัฏธนบุรี ( 2545 )
ศิษย์เก่าดีเด่น จากวิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ( 2549 )

และเกียรติยศสูงสุด ที่สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ คุณครู สัมพันธ์ พันธ์มณี และบรรดาศิษย์นาฏศิลป์ ทุกรุ่น ทุกคน คือ การได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ( นาฏศิลป์ ) ประจำปี พุทธศักราช 2542

ในงานพิธีไหว้ครูนาฏศิลป์ของโรงเรียนนาฏศิลป์สัมพันธ์ทุกปี จะมีหุ่นไม้จันทน์หอมแกะสลักตัวนางละครรำท่าให้พรมาวางในพิธีไหว้ครูด้วย หุ่นไม้จันทน์หอมนี้เป็นงานช่างฝีมือ ของ คุณครู ชิต แก้วดวงใหญ่ โดยมีคุณครูสัมพันธ์ พันธุ์มณี เป็นต้นแบบ และได้รับการขนานนามว่า”แม่ครูจันทิมา” ซึ่งมีที่มาจากชนิดของไม้ที่ใช้แกะสลัก คุณครูสัมพันธ์ พันธ์มณี เคยปรารภกับ คุณครูสุภาพพันธ์มณี ผู้เป็นพี่สาวว่า หลังจากที่คุณครูสัมพันธ์ล่วงลับไปแล้ว คุณครูจะกลับมาสิงสถิตอยู่ที่ “แม่ครูจันทิมา”นี้

เพลงเชิญวิญญาณ
เมื่อกลางปี พ.ศ. 2551 คุณครูสัมพันธ์ พันธ์มณี ได้สอบถามหาเพลงเชิญวิญญาณซึ่งเป็นเพลงประกอบละครเรื่อง เจ้าหญิง กรรณิการ์ บทประพันธ์ของ พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งคุณครูเคยเล่นสมัยที่เป็นศิลปินอยู่ในคณะวิจิตรศิลป์ของท่าน แต่ก็ยังไม่พบ จนกระทั่งคุณครูเสียชีวิตไป และจะถึงวันงานพระราชทานเพลิงศพ คุณ วิจิตรา วิจิตรวาทการ บุตรสาวพลตรี หลวงวิจิตรวาทการ ทราบเข้าจึงนำโน้ตเพลงที่ จ.อ.กิตติกุล วรรณกิจ บันทึกไว้ และบันทึกเสียงเพลงนี้มามอบให้ คุณครู สุภาพ พันธุ์มณี ผู้แทนศิษย์นาฏศิลป์ไทยทีวีและศิษย์นาฏศิลป์สัมพันธ์ จึงได้สร้างบทรำเพื่อรำส่งคุณครูสัมพันธ์ ในวันพระราชทานเพลิงศพ ด้วยเพลงเชิญวิญญาณนี้

ที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki

You may also like...