ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นฯ เขตธนบุรี
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานคร โดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เริ่มดำเนินโครงการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 โดยจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครขึ้นครั้งแรก ในพื้นที่ 4 เขตนำร่อง
ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางกอกน้อย และเขตบางขุนเทียน ต่อมาปี พ.ศ. 2547 ดำเนินการจัดตั้งเพิ่มอีก 23 แห่ง และในปี พ.ศ. 2551 ได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตมีนบุรี รวมทั้งสิ้น 28 แห่ง จัดตั้งเพื่อทำหน้าที่ในการศึกษารวบรวมข้อมูล วัตถุสิ่งของ และองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยทำการเชื่อมโยงให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมทางกายภาพ วิถีชีวิตของกลุ่มคนในชุมชน สังคม ประเพณีวัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นนั้น แสดงให้เห็นถึงการติดต่อสื่อสารเชื่อมโยงระหว่างท้องถิ่น หรือสังคมรอบข้าง ตามปัจจัย และบริบททางสังคมของแต่ละท้องถิ่น ปัจจุบันกรุงเทพมหานครเปิดให้บริการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร 25 แห่ง ใน 25 พื้นที่
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตธนบุรี
เขตธนบุรีเป็นส่วนหนึ่งของเมืองธนบุรีมาแต่อดีต เคยเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอบางกอกใหญ่ และอำเภอบางยี่เรือ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอธนบุรี เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีผู้มีพระมหากรุณาธิคุณต่อสยามประเทศ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตธนบุรี ตั้งอยู่ชั้น 3 ของโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ที่มีชื่อเสียงอย่างมากในเขตธนบุรี
การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์
เขตธนบุรีนั้นมีมาตั้งแต่โบราณกาล เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของหลายเชื้อชาติที่ย้ายถิ่นฐานมาอาศัยเขตธนบุรีจึงเป็นแหล่งรวมความผสมผสานความหลากหลายทั้งเชื้อชาติ วัฒนธรรม อย่างกลมกลืนอีกแห่งหนึ่ง ที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตธนบุรีจึงได้รวบรวมความสำคัญดังกล่าวเอาไว้แต่ต้นนี้อย่างครบถ้วน
มุมเด่นในพิพิธภัณฑ์
มุมของพิพิธภัณฑ์จัดแสดงความโดดเด่นที่สุดของท้องถิ่นก็คือแหล่งรวมและผสมผสานกลุ่มเชื้อชาติ ทั้งไทย จีน โปรตุเกส แขก มอย ลาว ดังนั้นจะเห็นวัฒนธรรมที่หลากหลาย และเห็นได้ชัดก็คือศาสนสถาน ตัวอย่างมีทั้งวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหารของชาวพุทธ ศาลเจ้าเกียนอันเกงของจีน มัสยิดบางหลวงของชาวมุสลิม โบสถ์ซางตาครูสของคริสต์ศาสนา นิกายโรมันคาทอลิก วัดประดิษฐ์ฐารามของชุมชนชาวมอญ วัดบางใส้ไก่ของชุมชนชาวไทยเชื้อสายลาว ซึ่งได้จำลองตัวอย่างศิลปะการก่อสร้างที่โดดเด่นของแต่ละแบบมาไว้ภายในพิพิธภัณฑ์
มุมบอกเล่าเรื่องราวของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ผู้กอบกู้ชาติไทยและสถาปนากรุงธนบุรี เรื่องราวของสะพานปฐมบรมกษัตริย์ พระบรมราชานุสาวรีย์
ของดีเขตธนบุรี หัวโขนและหมูกระดาษป้าจา
นิทรรศการศิลปวัฒนธรรมและของดีเขตธนบุรี ศิลปะ ด้านดนตรีและการแสดงที่โดดเด่นในด้านดนตรี เรื่องราวของตระกูลดนตรีเก่า เช่น ตระกูลพาทยโกศล ตระกูลสุนทรวาทิน และตระกูลคงลายทอง นอกจากนี้ ยังมีสมบัติหายากที่ตกทอดกันมาให้ลูกหลานได้สัมผัสและทำความรู้จักตู้พระธรรมลายรดน้ำขาสิงห์ที่เขียนลวดลายบานประตูเรื่องของมโหสถชาดก ศิลปกรรมหัวโขนจากบ้านศิลปไทย หมูกระดาษสีแดงงานหัตถศิลป์พื้นบ้าน
นอกจากนี้ยังมีมุมอร่อยบอกเรื่องราวของอร่อยตลาดพลู ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นตลาดใหญ่สำหรับค้าพลูแต่เป็นแหล่งค้าขายของอร่อยทั้งขนมไทยโบราณ อาหารจีนรสเลิศ ปลาทูนึ่งลือชื่อ ขนมของกลุ่มชนเชื้อชาติต่างๆ เช่นขนมฝรั่งกุฎีจีน ขนมบดิน อันเป็นเอกลักษณ์ของเขตธนบุรีจนทุกวันนี้
ขนมฝรั่งกุฎีจีน
ของกินขึ้นชื่อตลาดพลู
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตธนบุรี
ตั้งอยู่ : ชั้น 3 โรงเรียนสอนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ถนนประชาธิปก แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 10600
โทรศัพท์ : 02-465-5552
เปิดให้เข้าชม : วันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 10.00 น.-16.00 น.
การเดินทาง
รถประจำทางที่ผ่านถนนประชาธิปก สาย 3, 6, 7, 9, 82
สำนักงานเขตธนบุรี
160 ถนนเทอดไท แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 10200
โทรศัพท์ : 02-225-7612-4
ข้อมูลโดย
สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ : กองวัฒนธรรม
โทร : 02-245-2547, 02-247-2333