แก้วเกล้า พงษ์ไพบูล

หากถามว่าอะไรคือลักษณะเฉพาะตัวที่ทำให้ภาพของ แก้วเกล้า พงษ์ไพบูลย์ มีความแตกต่างจากจากผลงานของช่างภาพยุคใหม่ๆ โดยทั่วไป ?

คำตอบก็คงอยู่ที่การให้สมดุลระหว่างความมืดและความสว่าง ในภาพแต่ละภาพของเขา แก้วเกล้าจะให้ความสำคัญแสงสลัวและรายละเอียดที่ปรากฏอยู่ภายใต้สภาพแสงนั้นๆ นี่เป็นความงามแบบเดียวกับที่จุนิชิโร่ ทานิซากิเคยได้พรรณนาไว้ในความเรียงเล่มหนึ่งของเขาซึ่งมีชื่อว่า In Praise of Shadow ทานิซากิชี้ให้เราเห็นความสำคัญของความสลัวราง ซึ่งคนอีกยุคหนึ่งแทบจะไม่รู้จักอีกแล้ว เพราะพวกเขาเกิดขึ้นมาพร้อมกับแสงสว่างสังเคราะห์

 

 

แก้วเกล้าเริ่มถ่ายภาพตั้งแต่เขายังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยมากระทั่งเขาไปศึกษาต่อที่อเมริกา ในสถาบันที่มีชื่อเสียงทางด้านการถ่ายภาพแห่งหนึ่งที่ซานฟรานซิสโก “ เป็นสาขา Photograpy เลยครับ ตอนเรียนก็จะเรียนในลักษณะทุกรูปแบบ ขั้นแรกก็จะเริ่มจากขาวดำ เรียน zone system ปีหนึ่ง ปีสองก็จะเป็น advance ขาวดำขึ้นมา ขณะเดียวกันก็เรียนเขียนรูป องค์ประกอบศิลป์อะไรไป แต่หลักแล้วคือถ่ายรูป พอปีสามคุณก็เลือกได้ว่าอย่างจะเรียนเจาะเฉพาะทางตรงไหน แฟชั่น หรือว่าสถาปัตยกรรม หรือไฟน์อาร์ตขาวดำ ผมเลือกงานถ่ายภาพสตูดิโอและการโฆษณา เพราะผมชอบแสงสตูดิโอ หรือการจัดแสงในสภาพแวดล้อมต่างๆ ซึ่งไม่จำเป็นว่าสตูดิโอคุณจะต้องเป็นงานคอมเมอร์เชียลตลอด คุณก็สามารถสร้างอะไรที่เป็นศิลปะของคุณได้ ”

 

หลังจากที่จบการศึกษาเส้นทางการทำงานของแก้วเกล้าก็มีการสลับสับเปลี่ยนไปมาระหว่างงานที่เป็นทั้งคอมเมอร์เชียล และการแสดงผลงานภาพถ่าย ความเห็นหนึ่งที่แก้วเกล้าตอบได้น่าสนใจสำหรับช่วงที่เป็นจุดพลิกเปลี่ยนระหว่างการถ่ายภาพแบบเก่าและแบบดิจิตอลที่มีบทบาทมากมาย ณ เวลานี้ก็คือ

 

“ ทุกวันนี้ไม่ค่อยสำคัญหรอกครับ คือไม่ค่อยมีคนถามว่าจะใช้ดิจิตอล หรือจะใช้ฟิล์ม เพราะดิจิตอลก็ไม่ได้ทำให้เร็วขึ้น ก็ไปจบที่การรีทัชชิ่งอีกเป็นวันๆ เหมือนกัน งานไหนทำให้จบได้ตรงช่างภาพ มันก็จบได้เหมือนกัน ผมว่ามันอยู่ที่การตีคอนเซ็ปท์ให้แตกมากกว่า เหมือนอย่างการถ่ายภาพประกอบให้หนังสือของพ่อ (เนาวรัตน์ พงศ์ไพบูลย์) ก็จะพยายามถ่ายให้ได้อารมณ์ ให้ในมีลักษณะความเป็นกวีตรงนั้น ”

 

แต่ถ้าถามถึงตัวผลงานที่มักจะเป็นภาพที่อยู่ภายใต้แสงสลัว แก้วเกล้าอธิบายว่า “ ในความรู้สึกผม ผมคิดว่ามันต้องมืดสิมันถึงจะเห็นแสงสว่าง อาจจะเป็นอย่างนั้น ” และภายใต้แนวคิดนี้ภาพแต่ละภาพจึงไม่มืดไม่สว่างจนเกินไป ซึ่งดึงดูดให้ผู้ที่มองเห็นรู้สึกสนใจ “ และถ้าปรินท์ดีๆ เราก็จะเห็นรายละเอียดต่างๆ ในความมืดนั้น และพื้นผิดตรงนั้นก็จะสร้างความลึกให้กับรูปเข้าไปอีก แต่อันตรายก็คือมันอยู่ระหว่างเส้นบางๆ คือสลัวและมืดไปเลย มันจึงท้าทายมาก แต่ถ้าอะไรที่สว่างอยู่แล้วทำหมันมืด มันก็จะดูหลอกนะครับ ”

 

ตอนนี้แก้วเกล้าก็กำลังอยู่ในระหว่างเก็บเกี่ยวคือหยุดทำงานที่เป็นงานส่วนตัว และหันไปรับผิดชอบจริงจังกับงานที่เป็นคอมเมอเชี่ยลมากขึ้น แก้วเกล้าเล่าให้ฟังอย่างติดตลกว่า “ ก็ยังสับสนอยู่เหมือนกัน แต่ก็เป็นสิ่งที่ผมต้องทำ บางครั้งก็แปลงตัวเป็นเซล บางครั้งก็แปลงตัวเป็นเมสเซ็นเจอร์ เสียยังงั้น แต่ก็โอเค ไม่ใช่ว่า ผมทำอะไรไม่ได้เลย ผมก็กำลังเรียนรู้อยู่ ”

 

 

__________________________________

ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS

ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

You may also like...