บริษัท ดวงฤทธิ์ บุนนาค จำกัด “สถาปนิกระดับโลกท่านหนึ่งเปรียบเทียบว่า อาชีพสถาปนิกเหมือนกับเดินบนคมมีด”
คนบางคนใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อสร้างสมชื่อเสียง ความมั่งมี มากกว่าจะสร้างสรรค์สิ่งที่ดี มีประโยชน์ฝากไว้ให้กับคนรุ่นหลังได้จดจำ ขณะที่คนจำนวนไม่น้อยอีกสร้างขยะฝากไว้รกหูรกตา และหนึ่งในอาชีพที่อาจเป็นผู้สร้างสรรค์สภาพแวดล้อมให้มีคุณภาพ ด้วยสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่า หรืออาจเป็นผู้สร้างขยะชิ้นโตประจานไว้กับบ้านเมือง ก็คือสถาปนิก ดวงฤทธิ์ บุนนาค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดวงฤทธิ์ บุนนาค จำกัด สถาปนิกผู้กล้ายอมรับในความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นในชีวิตการปฏิบัติวิชาชีพ และแก้ไขปัจจุบัน เพื่อสร้างสรรค์อนาคต
ไฮคลาส : คำว่าสถาปนิกในมุมมองของคุณ อาชีพสถาปนิกเป็นอาชีพที่ใครหลายคนมองว่ามีภาพพจน์ที่ดี มีส่วนผสมของทั้งศิลปะและวิทยาศาสตร์ ดูเหมือนคนที่จะมาทำอาชีพนี้ต้องมีสุนทรียภาพ ทั้งในด้านของความงามและมีความรู้ในด้านของวิทยาศาสตร์ ด้านเศรษฐกิจ การตลาดอะไรต่างๆ ผสมกันหลายอย่าง แต่จริงๆ แล้วเนื้อหาในอาชีพแฝงไว้ด้วยการทำงานที่ค่อนข้างหนัก มีความกดดันตลอดเวลา ต้องมีความอดทนสูง สถาปนิกเป็นอาชีพที่ต้องให้บริการทางวิชาชีพ เพราะฉะนั้นมันมีก็มีส่วนผสมที่แปลก คือ เราก็ต้องมีความภูมิใจในอาชีพที่เราทำ คือต้องมี ego มีความภูมิใจในสิ่งที่เราทำพอสมควรจึงจะมีความมั่นใจที่จะสร้างงาน แต่ในขณะเดียวกันเมื่อคุยกับลูกค้า เราก็ต้องลดระดับความภูมิใจของเราลง ฟังลูกค้ามากขึ้น แล้วก็ให้บริการเพื่อลูกค้าออกมาให้ได้ดี มีสถาปนิกระดับโลกท่านหนึ่งเปรียบเทียบว่า อาชีพสถาปนิกเหมือนกับการเดินบนคมมีด ปกติเดินไต่ลวดก็ละบากอยู่แล้ว มันต้องรักษาสมดุล แต่นี้เป็นการเดินบนคมมีด ต้องรักษาสมดุล ไม่ให้ตกไปทางซ้ายหรือทางขวา ระหว่างทางมีดยังบาดเท้าไปตลอด ก็เลือดออกไปตลอดทาง มันก็ต้องเป็นอาชีพที่มีการอุทิศตัวพอสมควร มีทั้งความมั่นใจ และมีความถ่อมตัว
ไฮคลาส : ทำไมถึงเลือกเดินในหนทางนี้ บางสิ่งบางอย่างเราไม่ได้เลือก มันเหมือนกับชีวิตเราถูกกำหนดมาให้เป็นแบบนี้ ผมมีความสนใจทางด้านศิลปะตั้งแต่เด็ก วาดรูปส่งประกวดอะไรก็จะได้รางวัล มีความสนใจในวิทยาศาสตร์เยอะมาก เข้าใจตรรกศาสตร์ของวิทยาศาสตร์เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีความสนใจในอัตชีวประวัติและผลงานของนักวิทยาศาสตร์
ไฮคลาส : สถานการณ์ของวงการวิชาชีพสมัยคุณเริ่มเป็นสถาปนิกใหม่ๆ อาชีพก็ยังมีการเจริญเติบโตที่ดี ผมเข้าเรียนปี 27 จบก็ช่วงปี 31–32 ช่วงนั้นเศรษฐกิจกำลังไต่ระดับขึ้นสู่จุดสูงสุด เรียกว่าเป็นยุคทอง พอจบออกมาได้ทำคอนโด 30 ชั้น เข้าทำงานในออฟฟิศใหญ่แห่งหนึ่ง ได้ทำงานออกแบบคอนโด 30 ชั้น เดือนเดียวทำไป 7 ตึก (ขำ) มันเป็นยุคที่บ้าระห่ำมาก development มันโตมาก งานล้นมือต้องนอนค้างออฟฟิศเป็นเดือนๆ จนกระทั่งไปเรียนต่อที่อังกฤษ จบกลับมาก็ยังดีอยู่พักหนึ่ง แล้วพอถึงปี 97 – 98 ก็วูบไป พอมันวูบเราก็เลยออกมาเปิดออฟฟิศของตัวเอง
ไฮคลาส : ผลงานของคุณเริ่มต้นตั้งแต่ยุคก่อนฟองสบู่แตก ตอนนั้นผมยังเด็กมาก เพิ่งจะมาเข้าใจว่าอาชีพนี้จริงๆ แล้วทำกันอย่างไรยังไม่มีมุมมองในเรื่องของเมือง เรื่องของความเป็นจริงมากนัก ได้แต่หมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่เราทำ แต่ตอนนั้นผมก็เริ่มเห็นปัญหาต่างๆที่จะเกิดขึ้น เช่น เราทำตึกใหญ่อยู่ในซอยเล็ก ท่อน้ำใช้ก็เล็ก ท่อน้ำทิ้งก็เล็ก แต่ตึกใหญ่เหลือเกิน ก็สงสัยเหมือนกัน ถามรุ่นพี่ว่า แล้วมันลงมายังไงครับ แต่เพราะตอนนั้นเป็นช่วงที่ทุกคนทำมาหากิน ก็เลยตื่นเต้นกับความเจริญงอกงามตรงนี้มาก หลงใหลได้ปลื้มไปกับมัน เพลิดเพลินกับเงินทองที่ไหลมาเทมา เพลิดเพลินกับโอกาสต่างๆ ที่ไม่เคยได้ทำ ทุกคนก็เลยลืมไป ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ พอมาถึงยุคที่ development ต่างๆ เริ่มซบเซาลง ทุกคนถึงได้กลับมามองว่า ทุกวันนี้เราทำตึกเลวๆ ไว้เยอะเลย ทำให้เมืองของเราหายนะ เพราะว่านักพัฒนาทั้งหลายต่างก็เร่งรัดจะเอาแบบสร้างเร็วๆ ชั่วๆก็ไม่เป็นไรอยากจะได้เงินเร็ว ขายเร็ว มันก็เลยกลายมาเป็นบทเรียนของผม ทุกวันนี้ผมจะคุยกับนักพัฒนาทุกคนว่า ความรับผิดชอบของนักพัฒนามันสูงนะ ถ้าคิดแค่คุณสร้างเร็ว ขายเร็ว เงินเร็วมันไม่อยู่ไปตลอดหรอก ในขณะเดียวกันก็ต้องถามกลับว่าจริงๆแล้วนักพัฒนาเหล่านี้ต้องการอะไรในชีวิต เขาอยากจะทำโปรเจ็กต์ซึ่งได้เงินรวยเร็ว หรือเขาอยากจะทำโครงการดีๆ สร้างผลงานที่มีคุณค่ากับชีวิตเขา
ไฮคลาส : คุณเป็นคนกรุงเทพฯโดยกำเนิด ผมเกิดกรุงเทพฯ ไปโตที่เมืองนนท์ แต่ก็นั่งรถเมล์เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯตลอด ต่อมาก็ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯเป็นส่วนใหญ่ เรียนก็แถวจุฬาฯ เป็นเด็กเมืองเลย สัมผัสสยามสแควร์ สัมผัสราชดำริ มาตั้งแต่เล็กจนโต ผมไม่ติดกับความเป็นเมือง แต่เข้าใจความเป็นเมือง โดยก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันดีหรือไม่ดี แต่เมื่อมีโอกาสได้มาทำงานอาชีพนี้ เราถึงได้ตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้วเมืองควรเป็นแบบไหน เราควรจะทำอย่างไรต่อไป
ไฮคลาส : เมืองที่ดีในมุมมองของคุณ อันนี้มันเป็นปัญหาสากล หลายประเทศหลายเมืองในโลกมีปัญหาคล้ายๆกัน กรุงเทพฯเป็นเมืองที่เจริญเติบโตโดยไม่มีผังตั้งแต่แรก เป็นการเติบโตแบบทำตามอำเภอใจ ถามว่ามันดีไหม มันก็ดีในส่วนหนึ่ง มันทำให้เมืองมีส่วนผสมที่แปลกไม่เหมือนเมืองอื่น คือมีย่านต่างๆ เกิดขึ้นหลายย่าน มีการซ้อนเหลื่อมกันระหว่างย่าน เกิดเสน่ห์สีสันของความสับสนอลหม่าน เป็นคุณค่าของเมืองที่หาไม่ได้ที่ไหนในโลก เมืองใหญ่หลายเมืองก็มีความสับสนอลหม่านแบบนี้ แต่เขา organize มากกว่า ผมยกตัวอย่างที่มีเสน่ห์คล้ายๆ กัน อย่าง ลอนดอน โตเกียว แต่เนื่องจากเขามีระบบ infra structure ของรถใต้ดิน ทำให้การพัฒนาของย่านต่างๆ มีกรอบชัดเจน แต่ของเราไม่มีระบบ infra structure ของการขนส่งคน ทุกอย่างเติบโตไปอย่างไม่มีกระดูก ถ้าเมืองของเรามีระบบ underground อย่างในลอนดอน มันจะควบคุมไปเลยว่า โครงกระดูกของเมืองอยู่ตรงไหน คนจะขึ้นตรงไหน การควบคุมระบบการสัญจรทำให้สามารถควบคุมการขยายตัวของเมืองได้ ทำให้เมืองพัฒนาไปเสมอกัน แต่บ้านเรายังมีความสับสน คือมีย่านอะไรต่างๆ ที่มันปะปนเข้าด้วยกันโดยไม่มี infra structure ที่ดี เปรียบได้กับการเติบโตขึ้นอย่างคนไม่มีกระดูกสันหลัง มันก็เหลวๆ เละๆ ปะปนกันไป ถ้าย่านใดโตมากก็จะโตติดๆ กันไป ห่างกันนิดนึงถ้าไม่มีถนนไปถึงก็วูบลงไป เป็นลักษณะเฉพาะของเมือง ถ้าถามว่ามันเป็นข้อเสียไหม ผมมองว่าไม่เป็นข้อเสีย แต่มันก็ก่อปัญหาเยอะเหมือนกัน ถ้าเราสามารถจัดการมันได้ดีกว่านี้ เมืองของเราก็จะดีกว่านี้
ไฮคลาส : “คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก” กรุงเทพฯเป็นเมืองคับที่หรือคับใจ จริงๆ กรุงเทพฯ ไม่ได้คับที่นะ กรุงเทพฯ มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลมาก ถ้าเรามองจากยอดตึกจะเห็นว่ามีที่ว่างอยู่เยอะ แต่สิ่งที่กรุงเทพฯมีปัญหาคือระบบ infra structure การขนส่งมวลชนกำลังมีปัญหาอย่างแรง ไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสมกับประชากรที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทำให้การกระจายตัวของประชากรลงไปบนพื้นที่อยู่ในอัตราไม่สม่ำเสมอ จึงรู้สึกเหมือนคับที่ ซึ่งพื้นที่ของเมืองนี้เยอะกว่าหลายๆ เมืองในโลก โครงสร้างที่เหมาะสมกับกรุงเทพฯคือการกระจายแบบหว่านออกไป โครงสร้างแบบนี้จะเหมือนกับ โตเกียว ลอนดอน เราควรจะใช้โครงสร้างแบบนั้น ลองนึกภาพถ้าเรามีเขตอยู่ 7 เขต แต่ละเขตมีใจกลางหมด โดยใจกลางเชื่อมถึงกันด้วยระบบขนส่งมวลชนหลัก อาจทำให้เขตบางคอแหลมมี population ที่โตขึ้น แต่สามารถพักอาศัยทำงานอยู่ได้ในเขตบางคอแหลม ไม่ต้องเดินทางเข้ามาใจกลางมาก ก็ไม่ต้องสร้างถนน ไม่ต้องสร้างถนนวงแหวน ไม่ต้องสร้างอะไร ก็เหมือนกับโครงตาข่ายแล้วก็เชื่อมโยงกัน จะทำให้แต่ละเขตมันมีการเจริญเติบโตที่เหมาะสมในเขตของตัวเอง จะเจริญได้เท่าๆ กัน
ไฮคลาส : สภาพเมืองของเราขณะนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการลอกแบบของฝรั่งใช่หรือไม่ เราเริ่มจากการจ้างฝรั่งเข้ามาทำ ดูเหมือนจะฉลาด แต่ความจริงฝรั่งก็ไม่เข้าใจ ยิ่งฝรั่งอเมริกาเรื่องผังเมืองดูเหมือนจะเก่งแต่ก็ไม่เก่ง เมื่อฝรั่งออกแบบ ฝรั่งก็จะจับเราใส่ตะกร้าที่มีหมายเลขต่างๆ คือถ้าคุณไม่เป็นอย่างนี้ ก็ต้องอย่างนี้ มันเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่หยาบมาก ในขณะที่ความจริงเราอาจจะอยู่ระหว่างตะกร้า 1 กับ 2 ก็ได้ การที่ผมเป็นสถาปนิกไทย อยู่ในเมืองนี้มานาน เรามองเห็นเลยว่าเราควรจะแก้แบบอย่างไร แต่ว่าที่ผ่านมาเราเองไม่ค่อยถาม ไม่มีใครมาถามเรา ก็ไปจ้างฝรั่งมาทำ ตลกดี ฝรั่งก็เอา solution ที่มันใช้ในบ้านมันมาดัดแปลงนิดหน่อย บอกว่ายูต้องทำอย่างนี้
ไฮคลาส : มุมมองต่อระบบผังเมืองในปัจจุบัน ผังเมืองอะไรก็ไม่รู้! มันเป็นแค่กระดาษแผ่นหนึ่งระบายสี ผังเมืองจริงๆ จะต้องสะท้อนยุทธศาสตร์ทั้งเมืองว่าคุณต้องการให้เมืองนี้ไปทางไหน ไม่ใช่มุ่งแต่จะแก้ปัญหาอย่างเดียว คุณดูผังเมืองวันนี้ ผมถามว่าอีก 10 ปีเมืองจะเป็นยังไง คุณไม่เห็น คุณก็รู้แค่ว่ามีสีแดง เหลือง เขียว มันก็เป็นอย่างนี้ตั้งแต่ครั้งแรกที่มีผังเมือง ถามว่าใครรู้บ้าง ว่าจากวันนี้ไปอีก 20 ปีเมืองจะเป็นยังไง เราอยากให้เมืองตัวนี้เป็นอย่างไร มันไม่เห็นคำตอบในผังเมืองตัวนี้ ผมจึงไม่คิดว่าผังเมืองตัวนี้จะเป็นผังเมืองที่แท้จริง เพราะแก้ปัญหาเดิมก็ไม่ได้แก้ ปัญหาของการกระจายตัวก็ไม่ได้แก้ แล้วก็ยังมองไม่เห็นเลยว่าต่อไปในเมืองนี้จะเป็นยังไง เป็นความล้มเหลว ผมไม่คิดว่ามันช่วยอะไรได้ มีหรือไม่มีก็ไม่ได้ต่างกัน ทำให้การพัฒนาเมืองเป็นไปในทิศทางที่แย่ลง อาจจะแย่ลงกว่าที่มันเป็นอยู่วันนี้ด้วยซ้ำ
ไฮคลาส : ผังเมืองที่ดีต้องไม่สร้างปัญหา ปัญหามันต้องมีอยู่แล้วในเมือง อย่าไปคิดว่ามันจะไม่มีปัญหา เมืองที่ใหญ่ขนาดนี้ยังไงมันต้องมีปัญหาอยู่แล้ว แต่ว่าปัญหาเหล่านี้มันมีทางแก้ ยกตัวอย่าง ถามว่าลอนดอนรถติดไหม รถติดนะ แต่เขามีทางเลือก เขาไป underground ได้ คือมันต้องมีลักษณะที่รองรับซึ่งกันและกัน กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีความหลากหลาย และมีความผสมผสานที่กลมกลืน เราต้องเข้าใจธรรมชาติของเมือง ต้องยอมรับความหลากหลายนั้น คือ ถ้าเกิดกรุงเทพฯ มันมีค่าในความหลากหลายแล้วเราพยายามจัดระเบียบให้มันไม่หลากหลาย ก็เป็นความคิดที่ผิด เราต้องทำให้มันหลากหลายต่อไป แต่หลากหลายอย่างมีระบบ นี่คือผังเมืองที่อยากจะเห็น มันควรจะเป็นผังเมืองที่ ทำให้การกระจายตัวของความหนาแน่นเท่าๆ กัน ทั้งพื้นที่กรุงเทพฯ และสนับสนุนให้เกิดความหลากหลาย ได้เห็นเสน่ห์ของความหลากหลาย แต่จัดการกับความหลากหลายให้อยู่บนโครงสร้างที่เป็นระบบ ถ้าทำได้ ปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่ ณ วันนี้ก็จะน้อยลง
ไฮคลาส : กรุงเทพฯเป็นเมืองน่าอยู่ สำหรับผมกรุงเทพฯเป็นเมืองที่น่าอยู่ครับ ผมรักเมืองกรุงเทพฯ มาก ถึงมันจะเลวขนาดไหนก็ตาม มันจะมีปัญหาเยอะแค่ไหน มันก็ยังคงมีเสน่ห์ ผมชอบลอนดอนก็จริง มันเป็นเมืองที่ดีมาก น่าอยู่มากเหมือนกัน แต่ถ้าผมเลือกผมก็อยากอยู่ที่นี่ เพียงแต่การบริหารจัดการมันอาจจะยังไม่ค่อยดี หรือคนที่มาเป็นผู้นำก็ยังไม่มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่าจริงๆ แล้วควรจะทำไงกับมัน พอถึงเวลาต้องมีผังเมือง ก็เอาผังเมืองออกมา มันยังไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ดี ถือว่าน่าเสียดาย
ไฮคลาส : แนวคิดของการย้ายเมืองหลวง มันเป็นไปได้ ต้องดูประชาชน ผมว่าถ้าวันนี้ผมไปย้าย KL(กัวลาร์ลัมเปอร์) ง่ายมาก มีคนอยู่ประมาณ 2 ล้านคน อยากย้ายไปไหนก็ย้ายได้ แต่กรุงเทพฯ มันมีประวัติศาสตร์ และมีคนเยอะมาก การย้ายเมืองหลวงไม่สมควรย้ายเมืองในสเกลขนาดนี้ เกาหลีก็พูดเรื่องนี้มานาน อยากจะย้ายเมืองหลวงโซล เป็นไปไม่ได้ และ ณ วันนี้เป็นไปไม่ได้ แต่เมื่อประมาณ 60 ปีที่แล้วทำได้ เพราะประชากรยังไม่เยอะ แต่วันนี้คงย้ายไม่ไปแล้ว เพราะเมืองหยั่งรากลึกเหมือนกับต้นไม้ใหญ่ซึ่งคุณพยายามตัดมันเป็น 2 ต้น มันทำไม่ได้ อาจจะตายทั้ง 2 ต้น ไม่ใช่สิ่งที่ควรคิดจะทำ วิธีที่คิดไม่ควรจะย้ายจุดศูนย์กลาง โครงกระดูกสำคัญ การสื่อสารสำคัญ ต้องสร้างเส้นทางที่เป็นระบบขนส่งมวลชนให้ได้ก่อน ยังไม่ต้องคิดเรื่องอื่น วางแผนให้มันสอดคล้องกับศักยภาพของเมือง ลักษณะทางกายภาพของเมือง ทุกปัญหาจะแก้ได้หมด การย้ายเมืองหลวงเป็นเรื่องที่ตลก แค่ทำให้แต่ละส่วนของเมืองได้ใช้ศักยภาพให้เต็มที่ มีความหนาแน่นที่สม่ำเสมอกัน ไม่มีความจำเป็นต้องย้ายเมืองหลวง ต้องเข้าใจตรงนี้มากๆ
ไฮคลาส : ผลงานออกแบบของสถาปนิกที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเมืองที่เห็นได้ชัดนับตั้งแต่ยุคก่อนฟองสบู่แตก ตอนนั้นเราคิดแต่ยังไม่รู้สึก ตอนนี้มันเริ่มรู้สึกบ้าง แต่เผอิญก็มีการออกกฎหมายหลายตัว เพื่อเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า สามารถป้องกันปัญหาไปได้บางส่วน ตอนนี้ซอยเล็กๆ ก็สร้างตึกสูงไม่ได้แล้ว แต่ส่วนใหญ่เป็นการทำงานย้อนหลังตลอด คือเห็นปัญหาหรือปัญหามาจ่อคอหอยถึงได้ออกกฎหมาย ควรจะกำหนดไปข้างหน้า ตอนนี้เรามีกฎหมายแปลกๆ ที่ลอกฝรั่งมาหลายข้อ ซึ่งไม่เข้าท่า
ไฮคลาส : ปัญหาอาจเป็นเพราะสถาปนิกตั้งหน้าตั้งตารับใช้นายทุน ปัญหาที่เกิดขึ้นในเมืองมันไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากสถาปนิกเพียงอย่างเดียว มันเป็นปัญหาของระดับผู้บริหารเมือง คนที่ออกกฎหมายก็ดี คนที่ควบคุมกฎหมายก็ดี คนที่ตีความกฎหมายก็ดี กรรมวิธีที่ยังไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าไร สถาปนิกเองจริงๆ เราออกแบบภายใต้กฎหมาย ถ้ากฎหมายมีข้อบกพร่อง ตึกเราก็มีข้อบกพร่อง สิ่งหนึ่งที่เราทำได้แต่ยังไม่ได้ทำในแง่ของสถาปนิก คือ ด้านของความงาม บางครั้งนายทุนก็ต้องการตึกถูกๆ เราก็อยากได้เงินนายทุน เราก็ก้มหัว…ได้ครับ ผมทำตึกถูกๆ ให้ ซึ่งเราก็บอกลูกค้าเราว่า เราไม่ได้อยากทำตึกแพง แต่ว่ามันต้องมีการลงทุนในระดับหนึ่ง สิ่งที่ผมเป็นห่วงมากคือในเรื่องของความงามทางสถาปัตยกรรม เราจะทำตึกออกมาที่อาจจะไม่สวยมากแต่น่าสนใจ ถ้าเช่นนั้นตึกที่ลงทุนต่ำๆ เรียกว่าออกมาออกแบบไม่ดีก็ขายไม่ออก ก็เลยเป็นโอกาสดีที่ผมคิดว่าแต่นี้ไป ตึกในเมืองน่าจะเป็นตึกที่ดีขึ้น นายทุนหรือนักพัฒนาที่ดินก็น่าจะฟังสถาปนิกมากขึ้นเวลาสถาปนิกแนะนำอะไรไป ผมเคยทะเลาะกับลูกค้าที่เป็นฝรั่ง ผมบอกว่าอย่าทำอย่างนี้เลย ทำอย่างนี้ดีกว่า เขาก็ด่าผมว่า คุณเป็นแค่สถาปนิก ผมเป็นเจ้าของเงิน สั่งให้คุณทำอะไรก็ทำไปสิ ผมก็บอกว่า คุณฟังผมนะ ผมทำอาชีพนี้มา 18 ปี ผมอยู่กับมันวันหนึ่ง 20 ชม. อาทิตย์ละ 7 วัน 365 วันต่อปี ผมไม่เชื่อว่าจะมีนักพัฒนาคนไหนในโลกหรือในประเทศไทยที่จะรู้เรื่องดีกว่าผม เพราะฉะนั้นคุณฟังผมเถอะว่าอันนี้ดีไม่ดี แล้วเขาก็อึ้งไป
ไฮคลาส : ประสบการณ์ที่ทำให้คุณกล้าแย้งนายทุน ส่วนหนึ่ง เพราะว่าเราทำมาเยอะมาก จนเรามีความมั่นใจ ไม่ใช่แย้งไปโดยที่เราไม่มีหลักการ ประสบการณ์เป็นตัวที่บอกว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ
ไฮคลาส : สิ่งที่สถาปนิกต้องคำนึงถึงในการทำงานออกแบบสถาปัตยกรรม เราต้องรับผิดชอบงานให้ดีให้ได้ ซึ่งจะดีอย่างไรแล้วแต่คนจะตีความ ผมยกตัวอย่างโปรเจ็กต์เล็กๆ ของเราโครงการหนึ่งที่ทองหล่อ คือโครงการ H1 ถ้าถามว่าโครงการนั้นมีข้อดีอะไรบ้าง อันดับแรกเราก็คุยกับลูกค้าว่าเราจะเก็บต้นไม้ไว้นะ ต้นไม้ 5 ต้นใหญ่ๆ เราจะไม่ยอมตัดนะ คุณอาจต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นนิดหน่อยนะ อันที่ 2 เราก็บอกว่าจะเว้นพื้นที่ว่างข้างในเป็น Courtyard และ link กับคนที่เดินไปเดินมาตรงนี้ได้ ซึ่งลูกค้าเข้าใจ แทนที่เขาพยายามอัดที่ลงไปให้เต็ม เขาก็ยอมเว้นที่ว่าง ยอมอุทิศที่ดินให้ต้นไม้ ซึ่งผลลัพธ์มันก็ออกมาดี เห็นผลได้โดยตรง
ไฮคลาส : ความแตกต่างระหว่างการออกแบบอาคารในกรุงเทพฯ กับในหัวเมืองใหญ่ๆ ที่จริงการออกแบบในต่างจังหวัดกับในกรุงเทพฯ มีสาระต่างกัน ช่างที่ไปทำก็คนละอารมณ์กัน เผอิญโปรเจ็กต์ที่ผมทำหลายอันเป็นรีสอร์ทริมทะเล เวลาผมไปทำงานอยู่ที่เกาะลันตา ก็เป็นสภาวะบนเกาะ อันดับแรกที่รู้สึกแตกต่างเลยคือธรรมชาติ กรุงเทพฯยังไม่รู้สึกเท่าไร แต่ถ้าทำงานอย่างบีชรีสอร์ทพวกนี้ มันจะเป็นธรรมชาติ มีเสียงดังมาก ลมพัด ฝนตก น้ำทะเล แต่เราต้องก้มหัวให้กับธรรมชาติ เราต้องแบบเงี่ยหูฟังน้ำมาทางไหน ลมมาทางไหน ต้องมีความถ่อมตัวกับธรรมชาติ ซึ่งก็ทำให้เราเรียนรู้ว่า เราต้องรู้จักก้มหัวให้กับระบบของสังคม บริบทของเมือง แต่เวลาเราไปทำงานที่ต่างจังหวัดอย่างรีสอร์ท เราก็ต้องรู้จักก้มหัวให้กับธรรมชาติ มันก็ทำให้เราได้เรียนรู้บริบทในลักษณะที่แตกต่างกัน
ไฮคลาส : ปัญหาของเมืองใหญ่กับชุมชนแออัด ผมเป็นคนที่ไม่ได้รังเกียจสลัม จริงๆแล้ว สลัมเป็นเรื่องที่ดี เป็นองค์ประกอบของเมืองที่ดี เพียงแต่ว่าอย่าคิดที่จะเปลี่ยนสลัม อย่าได้ไปคิดว่าจะปลูกบ้านเขาใหม่ มันเป็นเรื่องที่ไม่ถูก ชุมชนสลัมเป็นวิถีชีวิตที่ควรจะดูแลรักษา แต่ไม่ใช่จะรักษาให้คงอยู่ในสภาพนี้นะ วิธีที่เข้าไปแก้ปัญหาในสลัมต้องใช้เวลา ไม่ใช่ว่าวันนี้ผมมีเงินซัดเข้าไปสร้างตึกในสลัม 20 ตึก พวกคุณย้ายไปอยู่บนตึกนะ อันนั้นเป็นความคิดที่ผิด สลัมเกิดขึ้นเพราะว่าคนไม่มีรายได้ อยู่ด้วยความแออัด ค่าเช่าถูก วิธีการแก้คือ ทำให้เขามีรายได้เยอะ เขาก็ไปกันเอง เขาต้องออกไปมีชีวิตที่ดีขึ้น มันจึงอาจจะใช้เวลา 40 ปีในการทำให้สลัมหมดไปจากกรุงเทพฯ แต่ว่าทุกคนมีความสุขที่จะให้มันหมดไป ก็จะเหลือแต่คนเก่าๆ ซึ่งจะลดลงไปเรื่อยๆ ระหว่างที่สลัมลดลงเราก็ปรับปรุงในแง่ความปลอดภัย และถ้าโชคดีมาก ความเป็นสลัมก็จะหายไปเองโดยอัตโนมัติ
ไฮคลาส : ทุกวันนี้ดูเหมือนกับว่าสลัมมันก็จะโตขึ้น เพราะว่าคนที่เหมือนกับว่าจะเป็นความหวังในการพัฒนาถูกดองด้วยปัจจัยจากภาวะเศรษฐกิจครอบครัว,ยาเสพติด ฯลฯ มันไม่ใครเข้าใจปัญหาตรงนี้อย่างแท้จริง ทุกคนก็แบบ อุ๊ย..สลัมต้องหมดไปภายใน 5 ปี มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
ไฮคลาส : คนจนต้องหมดไปจากประเทศไทย มันคงไม่ต้องหมดสนิท แต่ก็คงดีขึ้นได้ ถ้าเรามีวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง คนในสลัมก็จะลดลงไปได้ เพราะมันมีวิถีที่ทำได้ แต่จะหมดไปเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ถ้าจะให้คนจนหมดประเทศไป มันต้องใช้เวลา อย่างแก้ปัญหาสลัมนี้ก็ต้องมีวิธีที่เข้าใจว่าจะแก้มันยังไง อย่างตรงคลองเตย…ก็ไปสร้างอยู่ให้เขาเป็นแถวๆ ดูแล้วเหมือนเจดีย์ มันก็ไม่ได้มีอะไรดีขึ้น มันก็เหมือนเดิม
ไฮคลาส : แม้กระทั่งย่านชุมชนเก่าๆ ก็กลายเป็นสลัมไปโดยปริยาย ผมว่าเราจะต้องแยกพูดกันเป็นจุดๆไป เพราะสลัมแต่ละที่ไม่เหมือนกัน มีพื้นฐานภูมิหลังไม่เหมือนกัน สลัมบางจุดจริงๆก็คือชุมชนเก่าเดิม ที่มีการพัฒนา มีความหนาแน่น หรือมีความเสื่อมโทรมเกิดขึ้นจนเรียกว่าเป็นชุมชนแออัด เพราะฉะนั้นแต่ละจุดที่มีปัญหา เราต้องแก้ด้วยวิธีการต่างๆกันไป การไล่รื้อไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องแน่ๆ เพราะเป็นการหาเรื่องเดือดร้อน ทำให้มีแต่คนเกลียด ควรให้เขาออกไปด้วยความเต็มใจ แต่เขาจะออกไปด้วยความเต็มใจนั้น ด้วยสาเหตุอะไร อันนี้ต้องสืบดูว่า ถ้าย้ายเขาไปอยู่นอกเมืองแล้วเขามีความสุขไหม เขาทำงานที่ไหน เขาจะเข้ามาเดินทางอย่างไร สะดวกไหม ถ้าไม่สะดวกเขาอาจจะย้ายไม่ได้ แต่ถ้าเกิดว่าเขามีรายได้ดี เขามีศักยภาพที่จะย้ายออกไปเอง อยากย้ายไปมีบ้านที่ดี ทุกคนเขาอยากอยู่ที่ๆ ดีๆ ทั้งนั้นแหละ แต่ว่าวันนี้อยู่ไม่ได้เพราะรายได้น้อย การศึกษาน้อย ถ้าเราแก้ไขตรงนี้ ซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ยากใช้เวลานาน ถึงจะแก้ได้ในอีก 50 ปีข้างหน้าก็ต้องทำ แต่ประเทศเราคิดอะไรยาวๆไม่ค่อยเป็น ตรงนี้มันก็เป็นวิบากกรรมเราอยู่เหมือนกัน
ไฮคลาส : คุณเลือกเปิดสำนักงานอยู่ใจกลางกรุง เป็นเพราะว่าเรามีศรัทธาในเมืองมาก คิดว่าอยู่ใจกลางเมืองนี่แหละแจ๋ว มันเป็นจุดศูนย์กลางทุกอย่าง ทำให้เรารู้สึกมันส์ บางคนก็ไม่ชอบออฟฟิศในเมือง ไปอยู่ชานเมืองหน่อยได้ไหม อยากมีบรรยากาศธรรมชาติสบายๆ แต่แบบนั้นเราไม่ชอบ ชอบให้มีอะไรบีบคั้นนิดหน่อย รู้สึกตื่นเต้น มีพลังงานของเมืองที่มันกระตุ้นเราอยู่ ทำให้เราสนุกกับสิ่งที่ทำ รู้สึกว่างานของเราได้รับอิทธิพลของความเป็นเมืองมาเต็มๆ
ไฮคลาส : ปัญหาสำคัญของวงการสถาปนิก ณ ปัจจุบัน มีความขัดแย้งระหว่างปัจเจกบุคคลอยู่มากในเรื่องของความคิด ซึ่งมันเป็นเรื่องปกติ เพราะแต่ละคนต่างคิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาลกันทั้งนั้น สถาปนิกทุกคนถูกสอนมาให้เป็นอย่างนั้น คิดว่าตัวเองทำถูก เวลามาอยู่รวมกันเยอะๆ ก็ลำบากนิดนึง มันทำให้สังคมสถาปัตย์ฯของเรามีข้อขัดแย้ง เพราะมีอะไรที่มันแตกต่างอยู่เหมือนกัน ถ้าเราทำให้ความขัดแย้งนี้น้อยลง เปิดฟังความคิดเห็นกันมากขึ้น ผมว่าสังคมอาชีพนี้ก็จะพัฒนาให้ไปได้ไกลมากขึ้น
———————————————————–
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร HI-CLASS ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย