รำลึกถึง ลู รอว์ลส์

รำลึกถึง ลู รอว์ลส์
หลังจากป่วยเป็นเวลาแรมปี ในที่สุด ลู รอว์ลส์ ได้จากโลกไปเมื่อวันที่ 6 มกราคม ที่ผ่านมา ด้วยโรคมะเร็งในปอด ซึ่งลุกลามขึ้นสู่สมอง


บันทึกของ ไมเคิล คัสคิวนา บุรุษซึ่งเป็นทั้งโปรดิวเซอร์และเพื่อนร่วมงาน ในอัลบั้มใหม่ที่ผลิตออกมาเพื่อรำลึกถึงนักร้องคนนี้ ระบุว่า การทำงานร่วมกับ ลู นั้น นับเป็นความน่าปีติยินดี เพราะเขามีความรักทั้งในบทเพลงและนักดนตรีที่ยิ่งใหญ่ บรรยากาศการทำงานอบอวลด้วยเสียงหัวเราะและเรื่องเล่าอันมีความหมาย

เหนืออื่นใด ลู รอว์ลส์ ซึ่งโดยพื้นฐานเติบโตมาจากครอบครัวชนชั้นล่างผิวสีในสังคมอเมริกัน เป็นคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาอุทิศตัวทำงานให้สาธารณะ โครงการประจำปี Parade of Stars ของเขา ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อหารายได้เข้ากองทุนการศึกษา United Negro College Fund ดำเนินงานมานาน 25 ปี หาเงินได้ราวๆ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ

แน่นอน อาจจะไม่ใช่เงินจำนวนมากนักในสายตามหาเศรษฐีทั้งหลาย แต่ความพยายามอย่างต่อเนื่องมั่นคงของคนๆ หนึ่ง ก็บ่งบอกได้ถึงขนาดของหัวใจ มากกว่าขนาดของเงินในกระเป๋าใครบางคน

ผมรู้จัก ลู รอว์ลส์ นักร้องผิวสีเสียงเข้ม เปี่ยมด้วยบุคลิกภาพเฉพาะตัวชัดเจนเป็นครั้งแรก ผ่านเสียงร้องนุ่มๆ ของเขาในเพลง At Last จากอัลบั้มชื่อเดียวกันเมื่อปี ค.ศ.1989 ที่ออกกับสังกัด “ บลูโน้ต ”

ตอนนั้นผมยังเรียนหนังสืออยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ความประทับใจของเด็กหนุ่มที่เติบโตมากับการฟังเพลงร็อค อย่าง แบล็ค ซับบาธ และ พิงค์ ฟลอยด์ ทำให้ค้นพบแง่มุมใหม่ๆ ว่าโลกนี้ยังมีดนตรีแนวอื่นๆ ที่มีเสน่ห์ในตัวเองให้ค้นหาไม่น้อย โดยเฉพาะโซล และบลูส์

ผมคุ้นเคยกับอัลบั้ม At Last บ่อยครั้ง ถึงขนาดโทรศัพท์ไปขอเพลงต่างๆ ในอัลบั้มนี้ จากดีเจวิทยุในยุคนั้น เช่น แพท พัฒน์พงศ์ แสงธรรม เพียงเพื่อหวังแบ่งปันความสุขด้วยเสียงเพลงไปยังผู้ฟังวงกว้าง และหวังให้พวกเขารู้จัก ลู รอว์ลส์ มากยิ่งขึ้น กระทั่งวันหนึ่งมีโอกาสไปเป็นดีเจเสียเอง ผมยังจำได้ถึงความรู้สึกครั้งแรกที่เปิดเพลง If I Were A Magician พร้อมกับเสียงตอบรับที่ดังผ่านทางโทรศัพท์ในทันทีว่า “ ใครคือเจ้าของเสียงร้องในเพลงที่กำลังออกอากาศ !”

ด้วยข้อจำกัดของการเสพฟังผลงานย้อนกลับไปหายุคคลาสสิก ซึ่งไม่ได้มีวางขายทั่วไปในสังคมไทย แฟนเพลงอาจจะรู้จักสุ้มเสียงที่มีมวลหนานุ่มของ ลู จากงานในยุคหลังเสียเป็นส่วนใหญ่ ทั้งที่งานบันทึกเสียงกับสังกัด “ แคปิตอล ” ระหว่างปี ค.ศ.1962-1970 คือผลงานระดับมาสเตอร์พีซของเขาที่ไม่ควรผ่านเลย หากคุณเริ่มหลงใหลในเสียงร้องของชายผู้มองโลกในแง่ดีคนนี้

อัลบั้ม The Capitol Jazz & Blues Sessions ที่ผลิตออกมาเนื่องในการจากไปของนักร้องระดับตำนานคนนี้ จึงถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับการเปิดประสบการณ์การฟัง โดยเฉพาะช่วงทศวรรษ 1960 s ลู กำลังอยู่ในวัย 30 เศษๆ ผ่านงานภาคสนามมาอย่างโชกโชนและเคี่ยวกรำการร้องเพลงจนได้ที่

ก่อนหน้าเซ็นต์สัญญากับสังกัด “ แคปิตอล ” ราว 4 ปี ลู รอว์ลส์ ประสบอุบัติเหตุรถยนต์ ขณะเดินทางทัวร์แสดงดนตรีร่วมกับ แซม คุก ซึ่งกำลังโด่งดังเป็นพลุในเวลานั้น แซม ไม่เป็นอะไรมาก แต่สมองของ ลู กระทบกระเทือนอย่างหนัก เขาอยู่ในอาการโคม่านานถึง 5 วัน ก่อนร่างกายจะฟื้นตัวจนพ้นขีดอันตราย

หลังจากประสบการณ์เฉียดตายในครั้งนั้น ลู เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตใหม่ เขาเลิกเดินทางไกลเพื่อแสดงดนตรี ตัดสินใจลงหลักปักฐานที่เมืองลอสแองเจลิส ซึ่งเป็นจังหวะที่เปิดทางให้เขาได้เซ็นต์สัญญากับสังกัดแห่งนี้ในปี ค.ศ.1961 ร่ำลือกันว่าห้องอัดของ แคปิตอล ที่ลอสแองเจลิสนั้น ให้คุณภาพเสียงในระดับแนวหน้าของวงการ

ไม่เพียงคุณภาพเสียง แต่ทั้งคุณภาพของเสียงร้องและเสียงดนตรีของตัวอย่างเพลง 20 เพลงในอัลบั้มนี้ เป็นเครื่องยืนยันความพิเศษสุดของศิลปะดนตรีในแบบฉบับของ ลู รอว์ลส์ ได้ดี ในด้านดนตรี เป็นการทำงานต่างกรรมต่างวาระ ร่วมกับนักดนตรีระดับยอดฝีมือ ทั้งขนาดวงเล็กและวงใหญ่ มีกลุ่มเครื่องสายอันวิจิตรเติมแต่งให้เพลงงดงามยิ่งขึ้น

ส่วนในด้านการร้อง ลู พัฒนาตัวเองจากนักร้องแนวกอสเปล ข้ามมาสู่โซล, บลูส์ และ แจ๊ส ได้อย่างประสานกลมกลืน สังเคราะห์ขึ้นเป็นแบบฉบับของ ลู โดยเฉพาะ ในอัลบั้มจึงมีทั้งเพลงอย่าง Motherless Child เพลงสปิริตชวลเก่าแก่ที่ได้เพื่อนเก่าของวง เดอะ พิลกริม เทรเวเลอร์ส มาสนับสนุน ไปจนถึงเพลงบลูส์ How Long How Long Blues ของ รีรอย คาร์ร หรือ Georgia On My Mind เพลงคันทรี่ที่ปรับเปลี่ยนโทนจากเวอร์ชั่นของ เรย์ ชาร์ลส์ เข้ามาสู่โทนเข้มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่วน Let’s Burn Down the Cornfield เพลงของ แรนดี นิวแมน ที่นำมาตีความได้อย่างเฉพาะเจาะจง ไม่เหมือนใคร ถือเป็นอีกหลักไมล์หนึ่งของ ลู

ในอัลบั้มนี้ยังมีเพลงที่ไม่เคยเผยแพร่มาก่อนอีกจำนวนหนึ่ง โดยส่วนตัวผมคิดว่า Fine And Mellow ที่ ลู นำงานของ บิลลี ฮอลิเดย์ ร้องใหม่และบันทึกเสียงในปี ค.ศ.1963 นั้น เผยให้เห็นแง่มุมความเป็นนักร้องแจ๊สของเขาที่หลายท่านอาจไม่เคยสัมผัสมาก่อน

เป็นแง่มุมของศิลปินที่แฟนเพลงได้แต่น้อมศีรษะคำนับด้วยความชื่นชม.

You may also like...