วีระ โรจน์พจนรัตน์

ชาติ มิได้ก่อกำเนิดขึ้นด้วยจำนวนประชากร พื้นที่และระบอบการเมืองการปกครองแต่เพียงเท่านั้น เพราะปัจจัยสำคัญที่สุดของการรวบรวมเลือดเนื้อเข้าเป็นเชื้อชาติได้ ต้องอาศัยพลังของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และสิ่งซึ่งสามารถหลอมรวมผู้คนร้อยพ่อพันแม่ให้ผนึกเป็นปึกแผ่นได้ คือเบ้าแห่งศิลปวัฒนธรรม ซึ่งทรงพลานุภาพอันมั่นคงเหนือกาลเวลา

 

 

จากสยามสู่ประเทศไทย ใช่เพียงยุคสมัยและชื่อเรียกเท่านั้นที่แปรเปลี่ยน แม้เปลือกบางแห่งศิลปวัฒนธรรมก็ผันตามกระแสธารแห่งวัฒนธรรมต่างถิ่นที่หลั่งไหลเข้ามาเป็นระลอกริ้ว นานวันเข้าแก่นแท้แห่งศิลปวัฒนธรรมก็ลางเลือน ลูกหลานหลงลบลืมจนแทบสิ้นสลาย

 

ความหวังสุดท้ายจึงกลายเป็นพันธกิจสำคัญของกระทรวงวัฒนธรรม ที่จะสร้าง เสริม และซ่อมแซม รากเหง้าแห่งความเป็นชาติเหล่านี้ให้ฟื้นคืนกลับมาหยั่งรากลงสู่จิตสำนึกของประชาชนอีกครั้ง

 

ฉะนั้น ภารกิจแสนท้าทายของ ท่านวีระ โรจน์พจนรัตน์ รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม สถาปนิกอัจฉริยะผู้ผันตัวเองมาสู่เส้นทางสายบริหาร หนึ่งในผู้กุมชะตากรรมแห่งวงการศิลปวัฒนธรรมไทย จึงอยู่ที่การสรรค์สร้างตัวตนและแนวทางของศิลปวัฒนธรรมออกมาให้จับต้องได้ และคืนกลับมาเป็นหลักของสังคมอีกครั้ง

 

ณ ภูมิสถานอันสง่างามและทรงคุณค่า ท่ามกลางศิลปสถานอันมลังเมลืองของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ท่านรองปลัดวีระได้กรุณาเปิดใจเล่าถึงเส้นทางสายสำคัญของชีวิตและหน้าที่อันใหญ่ยิ่งนี้

 

“ พื้นเพผมเป็นคนพิจิตรครับ แต่ย้ายมาเรียนโรงเรียนอำนวยศิลป์แถวศรีอยุธยา แล้วจึงมาเรียนในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งอันที่จริงแล้ว แต่แรกผมสนใจคณะวิศวกรรมศาสตร์มากกว่าเพราะว่าพื้นฐานเดิมคือ พ่อกับพี่ผมนั้นเขาเป็นผู้รับเหมา ที่บ้านก็เป็นร้านขายวัสดุก่อสร้าง ผมก็เลยอยู่ในแวดวงการก่อสร้างมาโดยตลอด

 

แต่ ที่เปลี่ยนใจมาเรียนสถาปัตย์ก็เพราะว่า มีอยู่ปีหนึ่งก่อนสอบเอ็นทรานซ์ ผมเข้าไปดูงานจุฬาวิชาการ ได้เข้าไปที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ก็คิดว่าเราน่าจะเรียนอันนี้นะ เพราะมันเป็นเรื่องของการออกแบบ มันคงสนุกมากกว่า(หัวเราะ ) ถ้าเรียนวิศวะชีวิตคงจะเครียดมาก(ยิ้ม) จริงๆ แล้วไปเห็นวิทยานิพนธ์ที่เขาแสดงอยู่ในนั้นแล้วนึกชอบใจด้วย

 

หลังจากนั้น ก็มุ่งมั่นตั้งใจเรียนเฉพาะวิชาที่จะใช้เข้าเรียนต่อที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เท่านั้น เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ แล้วก็ฟิสิกส์ เวลาไปกวดวิชาก็จะกวดวิชา เฉพาะที่ต้องใช้สอบเข้าคณะ สถาปัตย์เท่านั้น

 

ผมจะไม่เลือกคณะอื่นเลย เป็นสถาปัตย์จุฬา สถาปัตย์ศิลปากร สถาปัตย์เทคโนฯ สถาปัตย์หมดเลย เวลาไปกวดวิชา เพื่อนๆเขายังแซวเลย เพราะว่าเวลาอาจารย์วิชาเคมีเดินเข้ามา เราก็จะออกไปนั่งอ่านของเรา เพื่อนๆก็จะบอก อ้าว…พวกสถาปัด-กวาด ออกไปแล้ว (หัวเราะ) แต่พอตอนเข้ามาเรียนนั้นผมเรียนไม่ค่อยเก่งหรอกครับ มีสอบตกด้วยนะ(ยิ้ม) มีบางคนบอกว่าดูเหมือนคนเรียนเก่งเลย แต่จริงๆแล้วเรียนไม่เก่ง

 

เรื่องกิจกรรมสำหรับผมไม่ค่อยได้ทำ เพราะว่าพอเข้าไปปีแรกมันก็สอบตกเลย(ยิ้ม) สมัยก่อนการสอบตกนี่มันไม่ใช่เรื่องธรรมดาเลยนะครับ คุณเคยได้ยินเพลงจามจุรีศรีจุฬาไหม เขาบอกว่า น้ำยาง(จามจุรี)ที่ไหล เหมือนยางอายของคนสอบตก(หัวเราะ) พอเพลงนี้มา ผมอยากเดินไปไกลๆเลย ไม่อยากจะฟัง (ยิ้ม)

 

คือแต่ก่อน ถ้าสอบตกจะเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะต้องลงเรียนใหม่ ไม่มีการดร็อปอย่างสมัยนี้หรอกนะครับ พอตกวิชาหนึ่งก็ตกหมด ต้องเรียนใหม่หมด ก็เท่ากับซ้ำชั้น ซึ่งมันทารุณนะครับ เพราะฉะนั้นสมัยก่อนการสอบเป็นเรื่องที่มีความหมายมาก อันที่จริงระบบแบบปัจจุบันตอนนั้นเขาก็มีกันแล้ว แต่คณะสถาปัตย์เขาเปลี่ยนทีหลังสุด ซึ่งผมไม่ทัน

 

พอสอบตกเราก็ต้องเจียมตัวนะครับ คือจะให้ตกอีกไม่ได้ ถ้าตกสองปีเขารีไทร์ออกเลย ก็ต้องตั้งใจเรียน มากๆ จากนั้นคะแนนมันก็ดีขึ้น เอทุกวิชาเลย ”

 

หลังจากหยุดไล่เลียงอดีตอันหอมหวนในรั้วจามจุรีสักครู่ ท่านวีระก็กรุณาเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่เข้ามารับผิดชอบงานทางด้านศิลปวัฒนธรรมว่า

 

“ อันที่จริงตอนแรกผมไม่เคยคิดเลยว่าจะมารับราชการ เพราะตอนเรียนปีสาม มีวิชาชื่อ..ให้ทำระหว่างปิดภาคเรียน ผมก็ได้รับมอบหมายให้ทำเรื่องสุโขทัย ต้องทำหุ่นจำลองเมืองสุโขทัย ก็มาขอข้อมูลผังเมืองที่กองโบราณคดี กรมศิลปากร ซึ่งในตอนนั้นเห็นเลยว่างานราชการมันไม่น่าทำ แต่ที่ตลกที่สุดก็คือ สุดท้ายผมก็ต้องมาบรรจุที่นี่ บรรจุในหน่วยงานที่เราไม่คิดว่าน่าทำ(ยิ้ม)

 

จริงๆผมคิดจะเรียนต่อ เลยอยากจะหางานที่ไม่ต้องถาวรทำ จะได้ไม่ผูกมัดเราทีหลัง พอดีตำแหน่งผู้ประสานงานโครงการทำแผนแม่บทสุโขทัยของกรมศิลปากรว่างอยู่ ผมก็มาสมัคร เป็นงานการพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ซึ่งมันสนุกเพราะเราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ

 

เป็นลูกจ้างอยู่ประมาณสี่ปี พอมีตำแหน่งว่างผมก็ไปสอบ แล้วได้บรรจุเป็นสถาปนิกที่สุโขทัยอีกห้าปี พรรคพวกก็บอกว่าโง่ (หัวเราะ) ทำไมจบสถาปัตย์จากบางกอกแล้วไปอยู่บ้านนอก ไปลำบากทำไม

 

ผมต้องทำทุกเรื่องเลยนะครับ ตั้งแต่ ออกแบบ สำรวจ เขียนโครงการของบประมาณ นำชม ส่งแขกสนามบิน ประชาสัมพันธ์ นักข่าวมาก็ให้สัมภาษณ์ ถือเป็นเป็นรุ่นบุกเบิกเลย “

 

แม้เส้นทางชีวิตจะผกผันมาแสนไกลจากความตั้งใจเดิม แต่เส้นทางสายใหม่นี้ก็น่าค้นหา และถือเป็นรางวัลชีวิตที่ไม่ใช่ว่าใครจะได้รับมาโดยง่าย

 

“ การอยู่ที่สุโขทัยทำให้ได้เรียนรู้สิ่งที่เราไม่เคยเรียนรู้มาก่อนเลยในมหาวิทยาลัย ได้เรียนรู้อย่างจริงจังและลึกซึ้ง เพราะว่ามีนักวิชาการหลายๆด้านเข้ามาร่วมงานด้วย ให้ความรู้ผมเรื่องผังเมือง สถาปัตยกรรม วิถีชีวิต ต่างๆกับผมมากมาย

 

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือได้โอกาสครับ เพราะว่าผู้บังคับบัญชาตอนนั้น คือคุณนิคม มุสิกะคามะ ท่านผลักดันให้ผม ได้ไปศึกษาต่อ ไปอบรม จนมีประสบการณ์มากขึ้น ตอนผมอายุแค่ยี่สิบกว่าๆ ที่ฟิลิปินส์เขาจะบุรณะกำแพงเมืองมะนิลา คุณนิคมท่านก็ส่งผมไปเป็นผู้เชี่ยวชาญแล้ว(ยิ้ม) เหล่านี้ทำให้ผมได้รับโอกาสดีๆเรื่อยมา

 

หลังจากนั้นผมก็ย้ายมาเป็นหัวหน้างานผังรูปแบบ กองโบราณคดี ควบคุม ดูแล แบบบูรณะโบราณสถานทั่วประเทศ เหมือนหัวหน้างานออกแบบเลยนะครับ แล้วมาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบูรณะโบราณสถาน จากนั้นก็เป็นเลขานุการกรมศิลปากร ได้ไปเรียนหลักสูตรปริญญาโทหลักสูตรบริหารรัฐกิจที่ …ซึ่งทำให้เราได้เอามาผสมผสานกับศาสตร์ทางวิชาการ จากนั้นก็มาเป็นรองอธิบดี แล้วก็รองปลัด สรุปคืออยู่กับงานด้านนี้มาตลอด ”

 

แม้ศิลปวัฒนธรรมจะเป็นเรื่องสำคัญ หากผู้คนในบ้านเมืองกลับละเลย ด้วยเห็นเป็นเรื่องธรรมดา ซ้ำร้ายบางยุคบางสมัยศิลปวัฒนธรรมใหม่ๆก็ไหลหลั่งเข้ามาเบียดบังความเป็นตัวตนของไทยเสียหมดสิ้น ท่านรองวีระ ในฐาะผู้มีส่วนต่อลมหายใจวัฒนธรรมไทยมีมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับอนาคตของรากเหง้าแผ่นดินเหล่านี้

 

“ อันที่จริงกระทรวงวัฒนธรรมรับผิดชอบด้านการศาสนา และศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเนื้อหาหลักของเราคือการนำมรดกของชาติ มาใช้ให้เป็นประโยชน์ นำมรดกที่บรรพบุรุษสร้างสรรค์ สั่งสมต่อๆกันขึ้นมารับใช้สังคม จากนั้นก็มีหน้าที่สืบทอด แล้วก็พัฒนามรดก เพราะถ้าเราไม่พัฒนาอะไรขึ้นมาเลย เราก็ตามสังคมอื่นๆไม่ทัน คือมรดกมันต้องพัฒนาตามไปด้วยนะครับ

 

แต่ละยุคแต่ละสมัยเงื่อนไข สถานการณ์มันก็ต่างกัน ความคิดคนมันก็แตกต่างตามไปด้วย อย่างตอนนี้เรากำลังมีปัญหาเรื่องความมั่นคงในความเป็นชาติไทย ไม่ใช่เรื่องทางทหาร หรือการเมืองนะครับ(ยิ้ม) ผมว่าส่วนหนึ่งมันเป็นผลกระทบจากวัฒนธรรมต่างชาติ

 

ซึ่งปัญหานี้ ไม่ได้มีผลแต่กับเราอย่างเดียวนะครับ ประเทศอื่นในเอเชีย หรือแม้แต่ยุโรปก็มี ซึ่งเขาก็มีความตระหนักระวังอยู่ พยายามรวมตัวกันเพื่อรักษาตัวตนเอาไว้ ตระหนักรู้ถึงความหลากหลายในทางวัฒนธรรม ซึ่งต้องมีการอนุรักษ์เอาไว้ด้วย ไม่เช่นนั้นวัฒนธรรมใหญ่จะครอบงำวัฒนธรรมเล็ก

 

บ้านเราก็มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เราก็ต้องให้การคุ้มครองความหลากหลายเหล่านั้นไว้ด้วย ต้องให้สิทธิคนทุกคนในการปฏิบัติตนตามวัฒนธรรมของเขาเอง จะเป็นชาวเขา ชาวมอแกน หรือใครๆก็ตาม นอกจากเราจะอนุรักษ์และศึกษาความเป็นไปแล้ว เราก็ต้องให้สิทธิในการสืบทอดความหลากหลายในทางวัฒนธรรมของแต่ละคน เพื่อสืบทอดความหลากหลายทางวัฒนธรรมให้คงอยู่ สิ่งเหล่านี้คือลักษณะที่สำคัญที่สุดของแต่ละประเทศนะครับ

 

จริงๆเราก็รับอิทธิพลตะวันตกมานมนานแล้วนะ จะเป็น เครื่องแต่งกายหรือเทคโนโลยีก็ตาม ผมคิดว่ามันเป็นแค่กระแสเท่านั้น มันไม่น่าห่วง แน่สิ่งที่ผมห่วงกลับเป็นเรื่องของแนวความคิด

 

ครั้งหนึ่งผมไปทำโครงการค่ายศิลปะในหมู่บ้านชนบท กันดารมากๆ เชื่อไหมครับว่า ป้ายชื่อเด็กที่มาร่วมงานเป็นชื่อฝรั่งหมดเลย(หัวเราะ)น้องเบิร์ด น้องเชอรี่ น้องบอย อย่างนี้

 

พูดตามตรงนะครับว่า เด็กนั้นเกิดขึ้นมาแทนที่ผู้ใหญ่ ซึ่งอีกไม่นานก็แก่ตายแล้ว(ยิ้ม) เขาจะไม่เหลือความภาคภูมิใจในความเป็นไทยไว้เลยหรือครับ คิดว่าของฝรั่งดีกว่าหมดเลย ผมก็ไม่รู้ว่าชื่อไทยๆมันหายไปไหนหมด อันนี้น่าเป็นห่วงมากนะครับ พยายามเลียนแบบฝรั่งนั้นอันตรายมาก เพราะเรามัวแต่เลียนชื่อ สติปัญญาไม่ค่อยเลียนกัน ความคิดความอ่านคือวัฒนธรรมที่มีค่ามากที่สุด เพราะมันแทรกซึมไปได้ลึก มันคือแก่นนะครับ แก่นไม่เคยเปลี่ยน ไม่ว่าเปลือกจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม เราต้องรู้ทัน ต้องฉลาด ต้องรู้จักหาความรู้ แล้วเอาความรู้นั้นๆมาประยุกต์ใช้ด้วย เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ เราไม่สามารถปิดประเทศได้ ฉะนั้นเราต้องสอนคนของเราให้รู้ทัน ให้รับแต่สิ่งที่ดีของเขามา แต่แก่นเราต้องอยู่และเราต้องตระหนักภาคภูมิในแก่นนั้น

 

ผมไปประชุมที่จีนมาครับ มีวาทะเด็ดมากว่า ‘ เมื่อก่อนคนรวยเท่านั้นที่จะมีโอกาสสร้างวัฒนธรรม แต่ตอนนี้มันกลับกัน คนที่มีวัฒนธรรมเท่านั้นที่จะสร้างความร่ำรวยได้ ซึ่งเป็นความจริงที่สุด ‘

 

วัฒนธรรมนั้นพูดง่ายๆก็คือมรดก ภูมิปัญญา องค์ความรู้ ซึ่งยิ่งมีมากเท่าไรก็จะสามารถนำออกมารับใช้สังคมได้เท่านั้น ยกตัวอย่างเรื่องสปานะครับ แต่ก่อนไทยเราก็ไม่มีสปา แต่พวกคุณนั่นแหละที่เอาสปามาผสมผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิมที่เรามีอยู่ เป็นการปะคบ น้ำอบน้ำหอม ก็สามารถขายได้ เรื่องแพทย์แผนโบราณอีก เรื่องอาหารอีก ซึ่งอาหารที่ส่งออกได้มักเป็นอาหารพื้นถิ่นดั้งเดิมของเรา ไม่ใช่อาหารที่รับมาจากคนอื่น แบบที่คนอื่นเขาก็มี เช่น ต้มยำ อย่างนี้เป็นต้น เห็นไหมครับว่า วัฒนธรรมสร้างความร่ำรวยให้เราอยู่

 

หัวใจสำคัญที่สุดในการจรรโลงศิลปวัฒนธรรมให้คงอยู่ ที่ท่านรองปลัดวีระเลือกใช้จึงไม่ใช่แค่การฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมขึ้นมาแต่เพียงอย่างเดียว หากอยู่ที่การนำของเก่า มาปรับให้เข้ากับยุคสมัย

 

“ วัฒนธรรมจะดำรงอยู่ได้เพราะคนใช้มันนะครับ ถ้าไม่ใช้เลยมันก็เลือนอีก การประยุกต์ให้ใช้ได้จึงค่อนข้างสำคัญ อย่างตอนนี้เราก็มีเสียงเรียกเข้าโทรศัพท์หรือริงโทนและภาพหน้าจอโทรศัพท์ ซึ่งเราหาเพลงไทยสนุกๆกับภาพศิลปะสวยๆ ร่วมสมัยมาให้ใช้กัน ก็พยายามปรับให้เข้ากับยุคสมัย ให้โดนใจเยาวชนด้วย เป็นการปลูกฝังไปในตัว ”

 

ภาระอันหนักอึ้งของกระทรวงวัฒนธรรมดำเนินไปได้อย่างเป็นระบบระเบียบ ผลงานงอกเงยออกสู่สังคมอย่างต่อเนื่อง โดยมีบุคลากรมากมายเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนกงล้อวัฒนธรรมให้หมุนไปอย่างต่อเนื่อง

 

“ งานของกระทรวงวัฒนธรรมมีความหลากหลาย แล้วก็มีเนื้องานที่เป็นเชิงวิชาการ เป็นองค์ความรู้ เฉพาะทาง ทั้งยังมีหลายแขนงด้วย เราก็มีหน่วยงานที่ดูแลในแต่ละเรื่อง ทั้งอนุรักษ์ พัฒนา ควบคู่กันไป คุณสมับติของคนที่ทำงานตรงนี้ก็ต้องมีความรอบรู้ในแต่ละด้านที่ตนเองมีความรับผิดชอบ

 

มันเป็นงานวางรากฐาน จะไม่ได้เห็นผลในระยะเวลารวดเร็ว อย่างเรื่องการบรรจุหลักสูตรวัฒนธรรมลงในแผนการเรียนการสอน เราก็ยังไม่เห็นผลในเด็กเหล่านั้นวันนี้ พรุ่งนี้ นะครับ มันจะค่อยเป็นค่อยไป ”

 

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในการบริหารงานที่เป็นนามธรรมให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ยิ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สามารถส่งผลถึงความเป็นชาติด้วยแล้ว นับเป็นงานที่ต้องอาศัยความอุสาหะพยายามอย่างยิ่งยวด ในห้วงเวลาที่โลกดูเหมือนจะหมุนเร็วขึ้นอย่างนี้ การดูแลรักษามรดกล้ำค่าเป็นเรื่องท้าทาย ที่ท่านวีระ โรจน์พจนพงศ์ สามารถฟันฝ่ามาได้เป็นผลสำเร็จและนำนาวาวัฒนธรรมล้ำนี้ฝ่ามรสุมมาได้โดยสวัสดี

You may also like...