เหลียวมองโนเบล

โนเบล รางวัลระดับโลกที่ถูกกล่าวขานมานานนับศตวรรษ นับว่าเป็นรางวัลรางวัลของอัจฉริยะบุคคล ผู้ทำคุณประโยชน์ มหาศาลแก่มวลมนุษยชาติ

แม้ว่าการมอบรางวัลโนเบล จะนำมาซึ่งการถกเถียงและเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ที่ไม่เห็นด้วย แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีรางวัลระดับโลกรางวัลไหน ที่สามารถล้มความยิ่งใหย่ของรางวัลโนเบลไปได้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะรางวัลโนเบลกลายเป็นรางวัลประวัติศาสตร์ของการมอบรางวัลที่มีมาอย่างยาวนาน นับแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และอีกเหตุผลคือผลงานชิ้นโบว์แดงของบรรดาผู้ได้รับรางวัลโนเบลที่สามารถเรียกความสนใจจากคนทั่วโลกให้เหลียวมอง การค้นพบและการสร้างสรรค์ครั้งยิ่งใหญ่ที่จะเชื่อมโยงโลกปัจจุบันสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต

หากเราจะกล่าวถึงรางวัลโนเบลโดยไม่เอ่ยถึง อัลเฟรด โนเบล (Alfred Noble) ชายผู้อยู่เบื้องหลังรางวัลอันทรงเกียรติ ก็คงไม่ทราบถึงเจตนารมย์ของผู้เริ่มต้นก่อตั้งรางวัลนี้

อัลเฟรด โนเบล เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ผลักดันให้เขากลายเป็นนักประดิษฐ์ จากการบ่มเพาะความรู้ด้านวิศวกรรมและอุตสาหกรรมโดย อิมมานูเอล โนเบล (Immanuel Nobel) บิดาที่วางรากฐานการศึกษาในช่วงปฐมวัยของลูกๆทั้ง 8 คนได้เป็นอย่างดี อัลเฟรด โนเบล เป็นบุตรคนที่ 4 เขาเกิดในกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน จากนั้นย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย
วัยหนุ่มเขาออกเดินทางไปศึกษาหาความรู้กับผู้เชี่ยวชาญด้านเคมีที่ประเทศฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา ชีวิตส่วนตัวของโนเบล เขาใช้ชีวิตอย่างคนที่รู้จักความรัก แต่ไม่เคยลงเอยด้วยการแต่งงาน
เขาประกอบธุรกิจหลายอย่างและสามารถสร้างรายได้จำนวนมหาศาล

ตลอดระยะเวลา 63 ปี อัลเฟรดเป็นนักประดิษฐ์ผู้คิดค้นนวัตกรรมมากมาย รวมถึงเป็นเจ้าของสิทธิบัตรจำนวนกว่า 350 รายการ หนึ่งในนั้นคือการคิดค้นระเบิดไดนาไมต์ขึ้นในปี  1867 ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นอาวุธทำลายล้างที่อหังการที่สุดในศตวรรษที่ 19 เนื่องจากไดนาไมต์สามารถคร่าชีวิตผู้คนได้ในพริบตาเดียว แม้ว่าโนเบลจะกลายเป็นผู้มั่งคั่งจากสิ่งประดิษฐ์ที่เขาคิดค้นแต่ทว่าในวาระสุดท้ายของชีวิตเขา ไม่ได้ปรารถนาที่จะให้คนทั้งโลกจดจำเขาในฐานะผู้ทำลายล้าง

ความรู้สึกผิดหวังสร้างบาดแผลให้กับชีวิตที่เหลืออยู่ของอัลเฟรดเกิดขึ้นในเช้าวันหนึ่งของปี 1888 หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสตีพิมพ์ข่าวของ อัลเฟรด โนเบล ผู้คิดค้นระเบิดไดนาไมต์ว่า “พ่อค้าความตาย ผู้ร่ำรวยเงินทองจากการคิดค้นวิธีฆ่าคนจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนได้เสียชีวิตลงแล้วเมื่อวานนี้” แต่ความจริงผู้ตายคือ ลุดวิก โนเบล พี่ชายของโนเบล เนื้อข่าวที่ผิดพลาดอย่างรุนแรงถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก กระตุ้นเตือนให้โนเบลมีความคิดในการนำทรัพย์สินทั้งหมดมาก่อตั้งมูลนิธิ เพื่อมอบรางวัลให้แก่ผู้ทำคุณประโยชน์มหาศาลแก่มวลมนุษยชาติ โดยไม่จำกัดสัญชาติของผู้รับรางวัล และแบ่งรางวัลออกเป็น 5 สาขา ได้แก่ สาขาการแพทย์ ฟิสิกส์ เคมี สันติภาพ และวรรณกรรม ส่วนรางวัลที่มอบให้แก่สาขาเศรษฐศาสตร์นั้นถูกจัดตั้งขึ้นภายหลัง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายทศวรรษที่ผ่านมา อาจมีคนที่มีความสามารถและเพชรเม็ดงามที่ยังไม่ได้ถูกค้นพบ แต่อย่าลืมว่าอีกมุมมองหนึ่ง สถานะของ “รางวัล” เป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ที่สร้างขึ้นเพื่อปลอบประโลมและเป็นกำลังใจให้แก่ผู้ที่มุ่งมั่นในแนวทางของตน ได้มีพลังในการสร้างสรรค์คุณประโยชน์ต่อไป แต่รางวัลใดๆอาจไม่สำคัญเท่าจิตใจเข้มแข็งที่ทำให้เราสามารถดำรงชีวิตเพื่อค้นหา และสร้างผลงานที่จะเป็นเป็นโยชน์ต่อโลกนี้สืบไป

“เมื่อโลกจดจำชื่อของคุณ สิ่งที่จะถูกจดจำตามมาคือ คุณูปการอันล้ำค่า”

อ้างอิง : คอลัมน์ เหลียงมองวรรณกรรมผ่านรางวัลโนเบล Text : ปิยะดา ปริกัมศีล

You may also like...