ความงามที่มากกว่าตาเห็น

การได้สนุกกับการขีดเขียนและวาดรูปเล่นบนผนังบ้านในวัยเด็ก ทำให้นภกมล ชะนะ รู้ใจตัวเองมาตั้งแต่ยังอยู่ในวัยซนว่า มีใจรักในทางนี้ ระหว่างเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นก็ได้เรียนรู้ว่า งานที่ตัวเองชอบนั้นมีสาขาวิชารองรับสามารถเรียนต่อจนประกอบอาชีพได้ จึงไม่ลังเลที่จะมุ่งเอาดีทางด้านนี้  นภกมล เลือกเรียนด้านศิลปะที่โรงเรียนไทยวิจิตรศิลป์ จากนั้นก็ศึกษาต่อสาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จนจบในปี 2536 ตามด้วยปริญญาโทอีก 1 ใบด้านการออกแบบเครื่องประดับและโลหะภัณฑ์จากมหาวิทยาลัยนอร์ทเท็กซัส เมืองเดนตัน มลรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ในปี 2545

ระหว่างเรียนปริญญาโท ก็ได้ทำงานออกแบบควบคู่กับการเป็นผู้ช่วยสอน เมื่อกลับมาก็ทำงานด้านออกแบบให้กับบริษัท Barse & Co.,Ltd. อยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะมาเป็นอาจารย์ด้านการออกแบบเครื่องประดับและโลหะภัณฑ์ กลุ่มวิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) ซึ่งทำให้มีโอกาสร่วมงานกับโครงการส่งเสริมการออกแบบที่หน่วยงานราชการจัดขึ้นอยู่เสมอ  นภกมลเป็นหนึ่งในนักออกแบบที่ได้รับเลือกให้เข้าร่วมโครงการ Global SACICT 2011 ของ ศ.ศ.ป. โดยได้รับมอบหมายให้ออกแบบผลิตภัณฑ์เซรามิก เธอมองหาแรงบันดาลใจในการออกแบบจากแมลงชนิดต่างๆ ด้วยเหตุผลว่า “แมลงเป็นสัตว์ที่น่าสนใจ มีความสลับซับซ้อน น่าค้นหาทั้งในส่วนของรูปร่าง รูปทรง สีสัน และการดำรงชีวิต”

เธอค้นคว้าหาข้อมูลโดยเลือกแมลงหายาก ที่ค้นพบได้ในประเทศไทย เพราะอยากให้แมลงที่เลือกมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบมีความเกี่ยวเนื่องกับประเทศไทยโดยตรง ก่อนมาลงตัวที่ตัวด้วงดินขอบทองแดง เจ้าตัวเล่าว่า “ตัวด้วงที่เลือกนี้ พบกระจายอยู่ทั่วไปในประเทศไทย มีความน่าสนใจทั้งในส่วนของฟอร์มและสีสัน นอกจากจะมีลำตัวสีดำเงา ตัดด้วยขอสีทองแดงอย่างน่ามหัศจรรย์แล้ว ยังมีเท็กซ์เจอร์ที่น่าสนใจคือ พื้นปีกเป็นร่องตื้นๆ เรียงเป็นแถวยาว ส่วนเขาและหนวดก็มีลีลาสวยงาม”

 

หลังจากศึกษาลักษณะต่างๆ และสีสันของตัวด้วงจากข้อมูลที่พบแล้ว เธอก็ลองร่างแบบร่างแรก ก็ได้คำแนะนำจาก มร.มาสสิโม่ ซุกกี้ ดีไซเนอร์ชื่อดังของอิตาลี ผู้รับหน้าที่ผู้นำเวิร์คช็อปของโครงการ Global SACICT 2011 ว่า น่าจะตัดทอนรายละเอียดออกไปบ้าง เธอจึงนำเอาส่วนเด่นๆ ของฟอร์มตัวด้วงมาใช้และบางดีไซน์ก็นำสองสามส่วนของตัวด้วงมาผสมผสานกัน ด้วยการทดลองปั้นและสร้างเท็กซ์เจอร์ด้วยดินน้ำมัน สุดท้ายก็ได้งานออกแบบมา 4 เซ็ท เป็นโคมไฟ 1 เซ็ท และแจกัน 3 เซ็ท ดีไซน์บางชิ้นจะมีการผสมผสานวัสดุอื่นๆ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ และสร้างสิ่ง “เซอร์ไพร์ส” ซึ่งเป็นสิ่งที่นภกมลชอบซ่อนไว้ในงานออกแบบของเธอเสมอ

เมื่อครั้งร่วมงานออกแบบเครื่องประดับในโครงการวิจัยแนวทางในการสร้างนวัตกรรมใหม่ทางการออกแบบเครื่องประดับ หรือที่เรียกว่า Project Glitz ที่สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งประเทศทไทยจัดขึ้นในปี 2552 นภกมลออกแบบแหวนที่มิใช้สำหรับสวมใส่กับนิ้วแบบทั่วไป แต่แหวนของเธอใช้หนีบระหว่างนิ้วเป็นการเตือนให้เราต้องมีสติรู้ตัวในทุกขณะจิต ดั่งคำสอนในพุทธศาสนาและยังออกแบบกำไลที่ได้แรงบันดาลใจจากรูปทรงและลวดลายของงานจักสานกระบุง ซึ่งมีฐานโครงสร้างเป็นรูปหกเหลี่ยมแต่ปากกระบุงถูกรวบให้เป็นวงกลม โดยตัวเรือนกำไลด้านนอก ทำด้วยเงินเป็นลวดลายจักสาน ที่ละเอียดประณีตแต่สร้างพื้นผิวให้แลดูดินและเก่า โดยผ่านการลงดำ ส่วนด้านในของกำไลเป็นทองเงาวาว และมีการบุด้วยผ้าไหมสีแดงที่เย็บเป็นรูปทรงดอกบัว เพื่อเพิ่มความอ่อนนุ่มยามสวมใส่

 

“เวลาออกแบบ ชอบให้งานมีเซอร์ไพร์สซ่อนอยู่ทั้งในแง่ของรูปแบบและแนวความคิด อย่างกำไลที่ออกแบบให้ Project Glitz ต้องการสะท้อนให้เห็นความแตกต่างระหว่างความหยาบกระด้างที่เห็นจากภายนอก กับความประณีตพิถีพิถันและอ่อนนุ่มที่ซ่อนอยู่ภายใน เป็นงานที่ต้องพิจารณาลงไปในรายละเอียด เพื่อสัมผัสถึงความงดงาม” อาจารย์บอกเล่าความคิดในการออกแบบ

 

ที่มา :  Living Thai  ฉบับที่ 4 / 2553

 

ที่มา : http://www.designinnovathai.com/th/designer/page/2

ขอบคุณข้อมูลจากศูนย์นวัตกรรมการออกแบบ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์

ที่อยู่ : มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ถนนราชมรรคาใน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม 73000

โทรศัพท์ : ๐๓๔ ๒๗๕ ๐๓๐ , ๐๘๑ ๘๐๙ ๖๘๖๗

โทรสาร : ๐๓๔ ๒๗๕ ๐๓๐

อีเมล์ : contact@designinnovathai.com

เว็บไซต์ : www.designinnovathai.com

You may also like...