การออกแบบ – OSISU แบรนด์สินค้ากรีนโปรดักส์ ผลงานออกแบบของดีไซเนอร์หัวใจอนุรักษ์ ดร.สิงห์ อินทรชูโต

“ยิ่งไร้ค่า ก็ยิ่งน่าคิด” เป็นคำสั้นๆ ของสถาปนิก นักออกแบบ ผู้เป็นเจ้าของไอเดีย “เสกขยะให้เป็นเงิน” นำวัสดุเหลือใช้ เศษไม้ กระดาษ กันชนรถยนต์ กล่องน้ำผลไม้ และชาเขียว มาแปรสภาพนำกลับมาเป็นเฟอร์นิเจอร์ และของที่ใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง ในชื่อบริษัท OSISU

แบรนด์สินค้า กรีนโปรดักส์ ที่สร้างชื่อเสียงให้กับ ดร.สิงห์ อินทรชูโต ด้วยผลงาน ที่มีตั้งแต่การออกแบบอาคารสำนักงาน หมู่บ้านจัดสรร เฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เก้าอี้ ไปจนถึงกระเป๋าใส่เศษสตางค์ และจานรองแก้วน้ำ

 

ทุกวันนี้ดร.สิงห์ให้คำจำกัดความตัวเองว่าเป็น “นักออกแบบ” และไม่ใช่นักออกแบบธรรมดา แต่เป็นประเภท Green Product ทุกผลงานของเขาต้องมีเรื่องของสิ่งแวดล้อม เป็นคำตอบเสมอ

 

แรงบันดาลใจของ ดร.สิงห์ มาจากการเป็นอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สอนเรื่องของการประหยัดพลังงาน โดยต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมเป็นหลัก บวกกับการเป็นนักวิจัย ทำให้พบว่าขยะในเมืองทั้งโลก 30-40 % เป็นเศษขยะมาจากการก่อสร้าง

 

“ไหนๆ ก็สอนนักศึกษาแล้ว เรื่องโลกร้อน การใช้วัสดุให้คุ้มค่า ทุกที่ๆ มีการก่อสร้างจะเห็นรถบรรทุก 10 ล้อ ขนทิ้งตลอดเวลา ผมเลยคิดว่าจะเอาเศษวัสดุสร้างบ้านขนาดเล็ก แต่ด้วยความที่เป็นเศษ ทำให้ขนาดไม่ได้มาตรฐาน สีสันก็บังคับไม่ได้ เลยคิดว่า ถ้าน้อยหรือไม่พอ ทำไปทำมา ก็เลยกลายเป็นเฟอร์นิเจอร์”

 

แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ เขาก็ต้องฟันฝ่าอุปสรรค เพราะกระแสโลกร้อนในเวลานั้นยังเป็นเรื่องใหม่ หาคนเข้าใจน้อยมาก และยังต้องลองผิดลองถูกศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง

 

“คนมองว่าผมทำอะไรเสียเวลา โรงงานไม่ให้เข้า ตอนที่ผมให้เขาเอาเศษปาร์เกต์เก่าที่คนเขาทิ้ง มาให้เขานั่งขูดกาว เขาก็บ่น อาจารย์ทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก…ก็ต้องลองผิดลองถูก ต้องหาทุกวิธีในการนำเศษเหล่านั้นมาทำเป็นสินค้าให้ได้ ถ้าเป็นไม้มา แรกๆ ก็เอามาตอกตะปูติดกาว ตอนหลังๆ ก็มาคิดว่าเอามาป่น และอัดใหม่ หรือถ้าเป็นเศษเหล็กมาต้องมาคิดว่าจะหลอม หรือเชื่อมตอนหลังๆ ชักเก่ง เห็นเศษวัตถุดิบปั๊บรู้ว่ามีขั้นตอนในการทำอะไรบ้าง”

 

งานออกแบบที่เกิดจากรักษาสภาพแวดล้อมของเขา ที่ไม่คิดทำเป็นธุรกิจในตอนแรก จนได้มาเจอกับคุณจ๋า-วีรนุช ตันชูเกียรติ ซึ่งทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ระบบบำบัดน้ำเสีย ที่เห็นเสน่ห์ของเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากเศษวัสดุของดร.สิงห์ จนก่อให้เกิดบริษัท OSISU (โอ้…ซิสุ) ซึ่งเป็นชื่อ ที่เขาได้รังแรงบันดาลใจมาจาก “Jurgen Ulzon” นักออกแบบชาวฟินแลนด์ ที่มีผลงานออกแบบSydney Opera House ออสเตรเลีย ที่ใช้คำว่า ซิสุ แปลว่าอย่าท้อถอย มาใช้เตือนตัวเอง

 

เหมือนกับงานที่เขาทำ ที่ต้องอาศัยความมุ่งมั่นสูง ไม่ท้อถอยต่ออุปสรรคต่างๆ ทั้งการตระเวนหาเศษวัสดุชนิดต่างๆ ที่ไม่ใช้แล้ว และต้องคิดหาไอเดียใหม่ๆ ในการออกแบบตลอดเวลา

 

กระแสภาวะโลกร้อน หรือ Global warming เป็นแรงหนุนที่ให้งานเขาไม่คิดจะทำเงิน จนเป็นที่รู้จัก และได้รับยอมรับ จนสามารถทำเป็นธุรกิจ ผลิตขายทั้งในไทย และต่างประเทศ ประเทศ โดยมีรางวัล Designer of the year เป็นการการันตีผลงานการออกแบบ

 

“ลูกค้าที่ซื้อของผมไปต้องเข้าใจ และมีความรู้เรื่องการห่วงใยสภาพแวดล้อม เพราะถ้าไม่มีตรงนี้ การที่เขาจะซื้อของที่มีรูปร่างหน้าแบบนี้เป็นเรื่องยาก เพราะต้นทุนค่อนข้างสูง อย่างกาวที่ใช้ ก็ต้องเป็นแบบไม่มีสารเคมี ถ้าเป็นกาวทั่วไปกระป๋องละ 200 บาท แต่ผมใช้แบบไม่มีสารเคมีกระป๋องละ 2,000 บาท เพราะผมไม่ได้ต้องการทำกำไร แต่ต้องการเอาเศษมาแก้ปัญหา”

 

ดร.สิงห์ เชื่อว่า แนวโน้มของ Green Product ยังอยู่อีกนาน จากกระแสตอบรับของทุกประเทศทั่วโลก

 

“ผมเคยไปประชุมที่ฝรั่งเศส ปี 2006 ไม่มีใครสนใจเรื่องกรีนดีไซน์ แต่มานี้ปีนี้ 2007 เอ็กซิบิชั่นฮอลส์ใหญ่แต่กรีนดีไซน์ ผมเพิ่งกลับจากประชุมที่โตเกียว เป็นกรีนโปรดักส์ทั้ง HALL งานวิจัยบอกแล้วว่า คนจะยอมซื้อของที่เป็นกรีนโปรดักส์ 17% แต่ก่อนมีแค่ 2-3% ”

 

แนวคิดของกรีน โปรดักส์ ประยุกต์เข้ากับงานสถาปัตยกรรมได้เกือบทุกขั้นตอน ตั้งแต่การออกแบบอาคารใช้แสงธรรมชาติ ประหยัดแอร์ หรือนำวัสดุที่ไม่ใช้ มาใช้ประโยชน์ใหม่ เช่น รื้อพื้นปาร์เกต์มาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ หรือ เศษกำแพงมาปูพื้นทำที่จอดรถ

 

หรือตัวอย่างงานปรับปรุงทาวน์เฮาส์ แฮปปี้แลนด์ แกรนด์วิว ที่เขาใช้ผักตบชวา มาถักคลุมอาคาร เพื่อลดความร้อนจากแสงแดด เขาเชื่อว่า ไทยมีโอกาสที่จะเป็นศูนย์กลางด้านกรีนโปรดักส์ เพราะมีความพร้อมในเรื่องวัตถุดิบ จุดเริ่มที่เขาจะทำคือ การขาย Know how ให้กับโรงงานต่างๆ นำไปผลิตได้เอง

 

“ผมตั้งใจจะสอนให้โรงงานให้เขาผลิตได้เอง ให้เวลาแห่งละ 1 ปี จากนั้นเขาจะไปจ้างดีไซเนอร์มาออกแบบก็เป็นเรื่องของเขา ผมจะหวงไปทำไม เพราะขยะมีเป็นหมื่น เป็นแสนชนิด วันรุ่งขึ้นวัตถุดิบก็จะเปลี่ยนไปแล้ว”

 

ด้วยวิธีคิดแบบนี้ อาจารย์สิงห์เชื่อว่า จะสร้างพลังทางการตลาด และความยั่งยืนในการสร้างจุดขายใหม่ ด้วย “กรีนโปรดักส์” “คู่แข่งจริงๆ จังๆ ไม่มี ถ้า Position ตัวเองให้ดี เราจะไปไฮเทคก็สู้เขาไม่ได้ จะขายแรงงาน หรือสินค้าราคาถูกก็สู้เวียดนาม หรือจีนก็ไม่ได้ จะทำโรงงาน OEM ก็เจ๊งหมด นี่คือ โอกาสสุดท้ายของเรา”

 

นั่นคือเป้าหมายความหวังของสถาปนิกที่เรียกตัวเองว่านักออกแบบ ที่ผ่านการใช้ชีวิตในต่างประเทศ 21 ปีเต็ม ในสถาบันการศึกษามีชื่อเสียง MIT จนถึงปริญญาเอก ทำงานเป็นสถาปนิกที่นิวยอร์ก เยอรมัน ก่อนจะบินกลับเมืองไทยมาเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเป็นสถาปนิกออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม

 

งานสอนหนังสือ ทำให้เขาเรียนรู้และอัพเดตข้อมูลใหม่จากนักศึกษา ดังนั้นทุกปิดเทอม เขาจะบินไปสอนตามมหาวิทยาลัยต่างประเทศ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด วอชิงตัน สวิสเซอร์แลนด์ จะเป็นจุดที่ทำให้เขาอัพเดทข้อมูลได้มากที่สุด

 

ทุกวันนี้เขาสนุกกับการเป็นอาจารย์สอนหนังสือ ทั้งระดับปริญญาตรี โท เอก วันเสาร์ เป็นสถาปนิก คุมงานก่อสร้าง ส่วนกลางคืนเป็น Industrial Designer และนักวิจัย ที่ต้อง “เก็บขยะ” เพื่อมาคิดค้นหาวิธีแปรสภาพเศษวัสดุ เพื่อออกให้เป็นสินค้าชนิดต่างๆ

 

“พวกโรงงานชอบล้อผม บอกอาจารย์สิงห์เห็นขยะแล้วตาเป็นรูปหัวใจ ยิ่งมันไร้ค่า ยิ่งน่าคิด ยิ่งมัน ถ้าให้ชีวิตมันได้ ผมเลยมองเป็นเรื่องสนุก

ผมจะมีสมุดโน้ตพกด้วยตลอด เพราะไม่รู้ว่าไอเดียจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่” เขาเล่าถึงที่มาของไอเดียอันไม่มีที่สิ้นสุด

 

Profile

Name ดร.สิงห์ อินทรชูโต

Age 39 ปี

Education :

2533-ปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ (Architectural Studies) University of

Washington

-ปริญญาตรี ด้านการออกแบบภายใน (Interior Design) University of Washington

-ปริญญาตรี การจัดการโครงสร้าง (Construction Management) University of Washington

 

2534 ปริญญาโท สถาปัตยกรรมศาสตร์ University of Washington / Rheinish –

Westfalishe Technische Hochschule, Aachen

2545 ปริญญาเอก สถาปัตยกรรม เทคโนโลยีการออกแบบ Massachusetts

Institute of Technology (MIT)

Career Highlights

2549 – ปัจจุบัน หัวหน้าออกแบบและหุ้นส่วนแบรนด์ Osisu

2545- ปัจจุบัน อาจารย์สอน นวัตกรรมการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรม

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

2539 – ปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรม มีผลงานออกแบบร้านบูติก ภัตตาคาร

บ้านในกรุงเทพฯ ขอนแก่น และภูเก็ต รวมถึงในสหรัฐอเมริกา

2536-2539       ผู้ช่วยสถาปนิก ของ Arai/Jackson Architects&Planners ที่ Seattle

รัฐวอชิงตัน

ผู้ประสานงานโยธา ของ Construction Coordinator Office ที่ University of

Washington

Lifestyle

-ออกกำลังกายด้วยการวิ่งทุกเช้า

– เปิดเว็บไซต์ นิวยอร์กไทม์ทุกวัน

– ชอบเดินทางท่องเที่ยว เพราะได้เห็นสิ่งใหม่ๆ จำเป็นต้องการออกแบบ

 

__________________________

ที่มา : POSITIONING MAGAZINE

 

 

You may also like...