When Marnie Was There เพื่อนเล่นที่เป็นมากกว่านั้น

คงจะน่าเศร้าไม่น้อยทีเดียวถ้า When Marnie Was There คือภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของสตูดิโอจิบลิ ค่ายหนังอนิเมชั่นคุณภาพอันดับหนึ่งของเอเชีย รายได้ของ When Marnie Was There ซึ่งทำเงินเปิดตัวในประเทศญี่ปุ่นที่ไม่ถึงครึ่งของ The Secret World of Arrietty ผลงานเดียวกันของผู้กำกับ โยเนบายาชิ ฮิโรมาสะ เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ผู้บริหารจิบลิจับเข่าคุยกันและตัดสินใจประกาศพักการสร้างหนังไม่มีกำหนดในเวลาต่อมา สร้างความเศร้าใจให้กับแฟนหนังทั่วโลก

When Marnie Was There ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมเยาวชนปี 1967 ของ โจแอน จี. โรบินสัน เป็นหนึ่งในหนังสือ50เล่มที่ ฮายาโอะ มิยาซากิ ผู้ก่อตั้งจิบลิชื่นชอบ แต่เขาได้วางมือไปก่อนจึงส่งไม้ต่อให้ โยเนบายาชิ ทำแทน หนังเล่าถึงมิตรภาพของเด็กสาวสองคน คือ อันนา เด็กสาวกำพร้าที่มีนิสัยชอบเก็บตัว ถูกส่งมาอยู่ในชนบทเพื่อรักษาสภาพร่างกายและจิตใจ กับ มาร์นี่ เด็กสาวผมทองลึกลับที่อาศัยอยู่ในคฤหาสน์ร้างทรงยุโรปริมนํ้า ซึ่งมีบุคลิกร่าเริงแจ่มใส ทั้งสองใช้เวลาเที่ยวเล่นด้วยกันจนสนิทสนมในเวลาอันรวดเร็ว

บทหนังมีพาร์คความเป็นดราม่ากึ่งแฟนตาซี ขณะเดียวกันก็มีความเป็น Coming of age เล็กๆ สิ่งที่น่าสนใจคือผู้กำกับเก็บความลับได้ดี โดยเฉพาะความคลุมเครือของ มาร์นี่ ว่าเธอเป็นอะไรกันแน่ ผี จินตนาการ หรือ ความฝัน ทำให้คนดูสงสัยและอยากติดตาม แม้ว่าคำเฉลยจะไม่ได้ซับซ้อนเกินคาดเดา แต่ก็สร้างความเซอร์ไพรส์พอสมควร รวมถึงมีการใช้สัญลักษณ์บางอย่างแฝงอยู่เป็นระยะ ติดตรงที่เนื้อหาของหนังจะออกผู้หญิงมากไปนิด

นอกจากนี้หนังยังมีความเป็นจิบลิมากในแง่ของการใช้ตัวละครเพศหญิงเป็นตัวนำและเล่าถึงเรื่องของคนนอกที่มีความสามารถแต่กลัวการเข้าสังคม สองประเด็นนี้เป็นสิ่งที่พบเจอบ่อยๆในหนังหลายเรื่องของค่ายนี้ แน่นอนว่าการถ่ายทอดภาพที่เน้นการวาดด้วยมือยังคงความสวยงามตามมาตรฐานจิบลิ ข้อนี้เป็นลายเซ็นต์เฉพาะตัวที่ครองใจแฟนๆเสมอมา

สำหรับความสัมพันธ์ที่ดูคล้ายจะมากกว่าเพื่อนของ อันนา กับ มาร์นี่ ก็สุดแท้แต่ผู้ชมจะจินตนาการและตีความ ส่วนตัวคิดว่าหนังมีความวาย หรือที่วัยรุ่นใช้คำว่า ยูริ ในระดับหนึ่ง กระนั้น ถึงจะมีฉากตัวละครโอบกอด บอกรัก หึงหวงกัน ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกจิ้นเท่าไหร่ หนังดัดแปลงมาจากวรรณกรรมตะวันตก น่าแปลกที่ภาพคฤหาสน์ทรงยุโรปในชนบทญี่ปุ่นกลับไม่ทำให้ผมดูมันเป็นสิ่งที่แปลกแยกเลย เช่นเดียวกับไซโลยักษ์บนเขา จุดนี้น่าจะมาจากการที่หนังสร้างบรรยากาศและเหตุผลมารองรับได้น่าเชื่อถือเพียงพอ

สิ่งที่ชอบอีกอย่างคือ เพลง Fine On The Outside โดย Priscilla Ahn เมื่อแปลความหมายของเนื้อเพลงออกมาแล้วมันช่างเข้ากันกับหนังซะจริงๆ เสียดายช่วงท้ายพลังของหนังกลับแผ่วลงอย่างดื้อๆ คลี่คลายปมง่าย ดูรวบรัดตัดตอนไปหน่อย และไม่ได้ขยี้ที่มาความขัดแย้งของ อันนา กับ แม่บุญธรรม

When Marnie Was There ไม่ใช่ผลงานที่ดีที่สุดของสตูดิโอจิบลิ แต่ก็เป็นผลงานที่น่าจดจำ เนื่องจากสามารถมองได้ว่ามันเป็นผลงานสั่งลาของเพื่อนคนหนึ่ง ที่มอบให้แด่เพื่อนทุกคนด้วยมิตรภาพและความรัก เราจะไม่มีวันลืม จิบลิ เช่นเดียวกับที่ อันนา ไม่มีวันลืม มาร์นี่

BUGABOO NEWS / บทวิจารณ์โดย นกไซเบอร์

 สิทธิโชติ สุภาวรรณ์ (นกไซเบอร์)

จบด้านขีดๆเขียนๆ ตอนนี้ทำงานเกี่ยวกับโลกไซเบอร์ เป็นคนชอบดูหนังมาก ดูได้ทุกแนว เมื่อดูจบแล้วมีอะไรค้างคาในใจก็จะมาระบายออกลงในบล็อกส่วนตัวเงียบๆ ใช้นามปากกาว่า นกไซเบอร์

 

 

 

You may also like...