มหิดลสิทธาคาร

มหิดลสิทธาคาร เป็นหอประชุมแห่งใหม่ของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๒ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์ และต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่ออาคารดังกล่าวว่า “มหิดลสิทธาคาร” ซึ่งหมายถึง “อาคารที่มีความสำเร็จแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล” และเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สภามหาวิทยาลัยมหิดลจึงมีมติให้ใช้ชื่อในภาษาอังกฤษว่า “Prince Mahidol Hall” เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล และใช้ในการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การแสดงละคร ดนตรี ศิลปวัฒนธรรมต่างๆ การประชุมสัมมนา ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

การออกแบบหอประชุม “มหิดลสิทธาคาร” มีแนวคิดมาจากโครงสร้างเชิงกายภาพของมนุษย์ ซึ่งสะท้อนความเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีรากฐานมาจากการแพทย์ ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมไทยและรูปทรง “ดอกกันภัยมหิดล” ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล โครงสร้างอาคารปราศจากเสากลาง หลังคามี ๒ ชั้น ชั้นในใช้วัสดุพิเศษเพื่อป้องกันเสียงจากภายนอก ส่วนหลังคาชั้นนอกใช้วัสดุทองแดง ซึ่งในอีก ๓๐ ปีข้างหน้าจะเปลี่ยนสีงดงามเหมือนหลังคาพระที่นั่งอนันตสมาคม มีพื้นที่ใช้สอย ๒๖,๔๗๐ ตารางเมตร ภายในมี ๒,๐๑๖ ที่นั่ง ระบบพิเศษของอาคารใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบโรงละครจากประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศสและเยอรมันเป็นที่ปรึกษา จึงมีระบบเสียง แสง วิศวกรรมเวที และระบบอะคูสติก (Acoustic) ที่ทันสมัย เพื่อให้สามารถรองรับกิจกรรมที่หลากหลาย สามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับการใช้งานประเภทต่างๆ โดยผู้ชมจะได้อรรถรสทางเสียงเหมือนกันทุกที่นั่ง นอกจากนี้ระบบปรับอากาศภายในห้องประชุม ใช้การพ่นความเย็นจากพื้นใต้เก้าอี้ผู้ชม จึงไม่มีเสียงรบกวนและประหยัดพลังงาน เวทีมีความกว้างขวาง สามารถจัดตกแต่งเป็นที่ประทับในงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรได้อย่างงดงามและสมพระเกียรติ ซึ่งปี พ.ศ. ๒๕๕๗ นี้ จะเป็นปีแรกที่พิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล จัดขึ้นที่หอประชุมของมหาวิทยาลัยมหิดลเอง ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ มาพระราชทานปริญญาบัตร ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗

๙ ประเด็นของ “มหิดลสิทธาคาร” ที่ท่านยังไม่รู้
๑. มหิดลสิทธาคาร (Prince Mahidol) = ความสำเร็จของมหาวิทยาลัยมหิดล
๒. มหิดลสิทธาคารมีด้านหน้า ๓ ด้าน
-ด้าน ถ.บรมราชชนนีรูปทรงเด่น มีเอกลักษณ์
-ด้าน ถ.รูปตัวยู drop off มีหลังคา เดินเข้า Hall ได้เลย
-ด้านสระน้ำ ดูสง่างาม กว้างขวาง ใช้ทำกิจกรรมได้
๓. หลังคาเป็น Copper ทองแดง อีก ๓๐ ปีจะเปลี่ยนสีเหมือนอาคารในยุโรป หรือพระที่นั่งอนันตสมาคม สโมสรกองทัพบก
๔. ภายในมี ๒,๐๐๖ ที่นั่ง ๓ ระดับ เวทีกว้าง มี ๒ pitch สำหรับการแสดงและวงดนตรี
๕. Hall ถูกสร้างตามหลัก Acoustic คือ สามารถฟังเสียงดนตรีธรรมชาติจากเครื่องดนตรีโดยตรงในทุกจุด ทุกที่นั่งอย่างชัดเจน ไม่มีเสียงสะท้อนหากใช้เครื่องเสียงช่วยเช่น การประกาศ หรือ ปาฐกถาก็ใสปิ๊ง ชัดจนทุกจุดเช่นกัน
๖. ที่นั่งกว้าง ๕๐ – ๕๕ ซ.ม. นั่งสบายเบาะใช้สีน้ำเงิน คือ สีประจำมหาวิทยาลัย ระบบปรับอากาศเงียบสนิท แยกส่วนอยู่ใต้ที่นั่ง
๗. ภายใน Hall ใช้การตกแต่งด้วยไม้จาก Tropical zone สวยงาม ทนทาน เมื่อแสดง ดนตรีจะมี Orchestra shell ถูกยกบนเวทีทำให้เสมือนอยู่ใน Hall ลายไม้ทั้งหมด
๘. มีระบบฉากที่เปลี่ยนได้ถึง ๘๐ ฉากยกขึ้นเก็บไว้บนเพดาน
๙. เวทีกว้างขวาง สามารถจัดตกแต่งเป็นที่ประทับในงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรได้อย่างสมศักดิ์ศรีมหาวิทยาลัยและสมพระเกียรติ

รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม
รองอธิการบดีฝ่ายนโยบายและแผน

You may also like...