จิตรกรรมบัวหลวงครั้งที่ 36

หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขอเชิญชมนิทรรศการจิตรกรรม บัวหลวงครั้งที่ 36 ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิธนาคารกรุงเทพ จัดแสดงผลงานที่ชนะการประกวดจิตรกรรมบัวหลวงและผลงานที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการตัดสินผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนทั้งสิ้น 62 ภาพ จากผลงานที่ส่งเข้าประกวด 188 ภาพ

การประกวดจิตรกรรมบัวหลวงของมูลนิธิธนาคารกรุงเทพ ยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2557 นี้ จัดประกวดเป็นครั้งที่ 36 แล้ว เป็นเวทีที่แบ่งประเภทในการประกวดชัดเจนมาโดยตลอด คือ จิตรกรรมประเพณีไทย แนวประเพณีไทย และ จิตรกรรมร่วมสมัย นับเป็นหนึ่งในรางวัลการประกวดงานศิลปะที่มีชื่อเสียงมานานถึงมาตรฐานของทั้งคณะกรรมการผู้ตัดสิน และศิลปินผู้ได้รับรางวัลในแต่ละปี ทำให้มีผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวดเป็นจำนวนมากทุกปี สำหรับปีนี้คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกและตัดสินให้รางวัลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันเสาร์ที่ 31 พฤษภาคม 2557 มีผู้สนใจส่งผลงานจิตรกรรมทั้ง 3 ประเภทเข้าประกวดในปีนี้ 129 ราย รวมจำนวน 188 ภาพ โดยมีรายละเอียดผู้ได้รับรางวัล ดังนี้

จิตรกรรมไทยแบบประเพณี
รางวัลที่ 1 เหรียญทองบัวหลวง เงินรางวัล 200,000 บาท และทุนทัศนศึกษางานศิลปะ ณ ประเทศสเปน
ผลงานชื่อ “บ้านนาพึง” ของ นายอิทธิพล พัฒรชนม์

รางวัลที่2 เหรียญเงินบัวหลวง และเงินรางวัล 100,000 บาท
ผลงานชื่อ “ร่องรอย ความงาม และความเคลื่อนไหวในวิถีชาวประมง” ของ นางสาวสุจิตรา พาหุการณ์

รางวัลที่ 3 เหรียญทองแดงบัวหลวง และเงินรางวัล 75,000 บาท
ผลงานชื่อ “มงคล สัญญะ” ของ นางสาวอัจฉราภรณ์ กล่ำเกลื่อน

จิตรกรรมไทยแนวประเพณี
รางวัลที่ 1 เหรียญทองบัวหลวง เงินรางวัล 200,000 บาท และทุนทัศนศึกษางานศิลปะ ณ ประเทศสเปน
ผลงานชื่อ “นิราศปลาเสือ” ของ นายชัยรัตน์ มงคลณัฏ

รางวัลที่2 เหรียญเงินบัวหลวง และเงินรางวัล 100,000 บาท
ผลงานชื่อ “Time” ของ นางสาวปานพรรณ ยอดมณี

รางวัลที่ 3 เหรียญทองแดงบัวหลวง และเงินรางวัล 75,000 บาท
ผลงานชื่อ “มารผจญ 1” ของ นายเนติ พิเคราะห์

จิตรกรรมไทยร่วมสมัย
รางวัลที่ 1 เหรียญทองบัวหลวง เงินรางวัล 200,000 บาท และทุนทัศนศึกษางานศิลปะ ณ ประเทศสเปน ผลงานชื่อ “บรรพบุรุษรำลึก” ของ นางสาวธิติพรหม อ่อนเปี่ยม

รางวัลที่2 เหรียญเงินบัวหลวง และเงินรางวัล 100,000 บาท
ผลงานชื่อ “จิตรกรรมชั้นวางกระบวนจีน 1” ของ นางสาวสุพิมพ์ วรทัต

รางวัลที่ 3 เหรียญทองแดงบัวหลวง และเงินรางวัล 75,000 บาท
ผลงานชื่อ “กุกฬนรก” ของ นายกิตติศักดิ์ เทพเกาะ

สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลทั้ง 9 ภาพ และผลงานที่ผ่านการคัดเลือกร่วมแสดงจำนวน 53 ภาพ รวมทั้งสิ้น 62 ภาพ จะนำมาจัดแสดงในนิทรรศการ “จิตรกรรมบัวหลวงครั้งที่ 36” ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถนนราชดำเนินกลาง เปิดให้เข้าชมทุกวัน (ยกเว้นวันพุธ) ตั้งแต่เวลา 10.00-19.00 น. ระหว่างวันที่ 7 สิงหาคม – 23กันยายน 2557 และจะนำผลงานไปจัดแสดงนิทรรศการสัญจร ณ หอศิลป์ริมน่าน จังหวัดน่าน ในเดือนตุลาคม 2557

สอบถามเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
เบอร์โทร : 02-281-5360-1

ข้อคิดเห็นงานจิตรกรรมบัวหลวง ครั้งที่ 36
โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณชลูด นิ่มเสมอ
ประธานกรรมการตัดสินจิตรกรรมบัวหลวง

คุณภาพของงานที่ส่งเข้าประกวดในงานจิตรกรรมบัวหลวงครั้งนี้ อยู่ในเกณฑ์ดีมาก จิตรกรที่เคยได้รางวัลในการประกวด ครั้งที่ 35 และศิลปินอื่นๆ ยังทำงานกันอย่างแข็งขันและต่อเนื่อง เพิ่มแง่มุมของความคิดให้คมคายมากขึ้น พัฒนาการแสดงออกให้ตรงชัดและเข้มข้นยิ่งขึ้น จนบางคนได้รับรางวัลที่สูงขึ้น หวังว่านิทรรศการผลงานที่จัดประกวดนี้จะให้ความรู้สึกสะเทือนใจแก่ผู้ชมคลี่คลายไปสู่จินตนาการตามแนวทางที่เป็นธรรมชาติส่วนตนของแต่ละท่าน

ประเภทจิตรกรรมไทยแบบประเพณี

 

รางวัลที่ ๑
ชื่อผลงาน บ้านนาพึง
ศิลปิน อิทธิพล พัฒรชนม์
ผลงานที่มีลักษณะเฉพาะตนของจิตรกรผู้นี้ เคยได้รับรางวัลที่ ๓ ในการประกวดจิตรกรรมบัวหลวง ในปีที่ผ่านมา ด้วยความมุ่งมั่น จริงจังในการสร้างสรรค์อย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้ผลงานพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึงระดับสูงสุดในประเภทที่ส่งเข้าประกวด ลักษณะความเป็นไทยประเพณีของงานชุดนี้ ออกแนวไปทางศิลปะพื้นถิ่นของดินแดนอีสานที่จิตรกรมีพื้นเพอยู่ การให้มิติในทางลึก ที่ลดหลั่นจากด้านหน้าที่คมชัดไปยังเบื้องหลังที่ค่อยๆ เลือนจาง เป็นจุดเด่นของงาน นอกเหนือไปจากฝีมือที่เชี่ยวชาญ และแบบแสดงที่มีลักษณะส่วนตน

รางวัลที่ ๒
ชื่อผลงาน ร่องรอย ความงาม และความเคลื่อนไหวในวิถีประมง
ศิลปิน สุจิตรา พาหุการณ์
นับเป็นปรากฎการณ์ใหม่ของจิตรกรลายทองของไทย ที่แต่เดิมเป็นลายรดน้ำที่มีพื้นดำ ตัวลายเป็นทอง หรือลายกำมะลอที่เพิ่มสีเข้าไปซึ่งก็ยังให้ผลเป็นจิตรกรรมสองมิติอยู่ แต่งานของสุจิตราชิ้นนี้ มีการใช้ทองหลายชนิด และแต่ละชนิดมีความสุกใสและความอ่อนแก่แตกต่างกัน การเลือกใช้ทองแต่ละชนิดในตำแหน่งที่เหมาะสมกับรูปแบบ ทำให้ได้ผลงานที่มีความลึกความตื้นหลากหลายมิติ สร้างบรรยากาศให้กับชีวิตชาวเล ต้นความคิดของจิตรกรอย่างน่าพอใจคุณภาพของงานอยู่ในระดับดีมาก ถ้าจิตรกรรมบัวหลวงมีรางวัลที่ ๑ เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งรางวัล ผลงานชิ้นนี้ก็สมควรได้รับ อย่างแน่นอน

รางวัลที่ ๓
ชื่อผลงาน มงคล สัญญะ
ศิลปิน อัจฉราภรณ์ กล่ำเกลื่อน
จิตรกรได้ใช้เทคนิคลายทอง ลายกำมะลอของไทย มาเป็นพื้นฐานทางเทคนิคให้กับการประสานกันขององค์ประกอบอันมีสัญลักษณ์มงคลทางพุทธศาสนา เป็นข้อเรื่อง ขนาด น้ำหนัก สี ที่ว่างของรูปทรงที่มีความหมายเหล่านี้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ที่กระทบใจผู้ชมเป็นอันดับแรกแล้วจึงคลี่คลายไปสู่ความหมายของรายละเอียดต่างๆ ในอันดับต่อๆ ไป
ประเภทจิตรกรรมไทยแนวประเพณี

รางวัลที่ ๑
ชื่อผลงาน นิราศปลาเสือ
ศิลปิน ชัยรัตน์ มงคลนัฎ
ผลที่ได้รับจากงานชิ้นนี้ คือความเป็นอิสระอย่างแท้จริงของจิตใจ ที่ถูกปลดปล่อยด้วยการแสดงออกที่ดูเหมือนไร้เดียงสาของจิตรกรที่ไม่คำนึงถึงเหตุผล ข้อเท็จจริงหรือกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ การประกอบกันของรูปทรงที่ไม่น่าจะอยู่ด้วยกันได้ การไม่ยอมรับความเป็นจริงทางกายวิภาค การตัดกันระหว่างมวลที่ใหญ่โตกับที่เล็กมาก ด้วยเรื่องราวที่ไม่มีความสอดคล้องกัน เหล่านี้จิตรกรได้สร้างสรรค์ขึ้นจากใจล้วนๆ ปราศจากการควบคุมของสมองหรือของความคิดแต่อย่างใด

รางวัลที่ ๒
ชื่อผลงาน Time
ศิลปิน ปานพรรณ ยอดมณี
เป็นงานที่มีแนวคิดที่คมคายมาก ด้วยการนำวัสดุธรรมชาติที่ไร้ค่า คือก้อนหินที่แตกออกมาเป็นแง่เป็นมุมอย่างตามบุญตามกรรม มาประดับแต่งด้วยวัตถุที่มีค่าด้วยความละเอียดประณีตอย่างยิ่ง แต่น่าเสียดายที่แนวคิดที่มีความหมายลึกนี้ ไม่ได้แสดงตัวเด่นชัดในงานเพราะจิตรกร ได้วางหน่วยเหล่านี้ลงบนพื้นที่ขนาดใหญ่ ที่มีพื้นที่ว่างเป็นประธาน เมื่อมองผลงานในระยะแรก สิ่งที่ปรากฎแก่สายตากลายเป็นองค์ประกอบที่งดงามของรูปทรงและที่ว่าง แทนที่จะเป็นรูปทรงที่ให้ความหมายสำคัญของแนวคิดดังกล่าว

รางวัลที่ ๓
ชื่อผลงาน มารผจญ ๑
ศิลปิน เนติ พิเคราะห์
มารผจญชิ้นนี้ ต่างจากภาพมารผจญที่เคยพบเห็นในพระอุโบสถทั่วไป ที่มีพระพุทธองค์ประทับบนบัลลังก์ ในปางสะดุ้งมาร อยู่กึ่งกลางภาพ มีหมู่มารเข้าผจญทางด้านซ้าย แม่พระขึ้นเมื่ออยู่ไกลออกไปทางด้านซ้ายมือของภาพ งานชิ้นนี้ไม่มีภาพของพุทธองค์ แต่เน้นแม่พระธรณี ให้งดงามเป็นพิเศษ นุ่งซิ่นคุกเข่าบนกลีบบัว ให้กลิ่นอายของช่างพื้นถิ่นล้านนา

ประเภทจิตรกรรมร่วมสมัย

รางวัลที่ ๑
ชื่อผลงาน บรรพบุรุษรำลึก
ศิลปิน ธิติพรหม อ่อนเปี่ยม
งานชิ้นนี้ให้ความสะเทือนใจอย่างรุนแรงด้วยบรรยากาศที่เข้มข้นของความรู้สึกลึกลับ ศักดิ์สิทธิ์และความรู้สึกอื่นตามแต่จินตนาการของผู้ชมที่ต่างประสบการณ์ โดยที่ยังไม่ทันรับรู้เรื่องราว และรูปทรงของการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ที่จิตรกรนำเสนอด้วยรูปทรงและเรื่องราวที่ชัดเจน ความเป็นศิลปะของงานได้เข้ากระทบและครองใจของผู้ชม ก่อนที่จะรับรู้เรื่องราวรายละเอียดในภายหลัง

รางวัลที่ ๒
ชื่อผลงาน จิตรกรรมชั้นวาง กระบวนจีน ๑
ศิลปิน สุพิมพ์ วรทัต
สุพิมพ์เคยได้รับรางวัลที่ ๑ ในการประกวดจิตรกรรมบัวหลวง ครั้งที่ ๓๕ ในปีนี้ งานของเธอยังคงเข้มข้นในคุณค่าไม่น้อยกว่าชิ้นที่แล้ว แนวคิดที่ผสมผสานวัตถุนิยมในปัจจุบันเข้ากับเรื่องราวทางพุทธศาสนาอันเป็นข้อเรื่องดั้งเดิมของการเขียนลายทองกระบวนจีนมาแต่โบราณ ให้ความน่าสนใจเมื่อพินิจในรายละเอียด ของโครงสร้างชั้นวาง

รางวัลที่ ๓
ชื่อผลงาน กุกุฬนรก
ศิลปิน กิตติศักดิ์ เทพเกาะ
รูปทรง องค์ประกอบ ของงานที่ปรากฎแก่สายตา ให้ความรู้สึกของความทนทุกข์ทรมาน การวางตำแหน่งรูปทรงการให้น้ำหนัก การเขียนรายละเอียดที่เหมือนจริง เป็นเหมือนคำสอนให้มนุษย์กลัวกรรมชั่ว หันมาประกอบกรรมดี เพื่อให้สังคมที่วุ่นวายอยู่ในปัจจุบันดีขึ้น

 

You may also like...