สบร. ร่วมกับ สถาบันสิ่งทอฯ เปิดโฉมผ้าไหม 50 ชิ้นแรกของไทยสู่มหานครปารีส

สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) (OKMD) ร่วมกับ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กระทรวงอุตสาหกรรม และกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดตัวผ้าไหมไทยร่วมสมัย 50 ชิ้นงาน ภายใต้โครงการ “ศึกษาวิจัยและพัฒนาต้นแบบไหมไทยร่วมสมัย”

หรือ โมเดิร์นไทย ซิลค์ (Modern Thai Silk) เตรียมพร้อมเฉิดฉายสู่เวทีจัดแสดงสิ่งทอและผ้าผืนระดับโลก ในงาน Premiere Vision 2014 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส งานแสดงอุตสาหกรรมสิ่งทออันดับ 1 ของโลก ที่รวบรวมดีไซเนอร์จากแบรนด์แฟชั่นชั้นนำระดับโลกจำนวนมาก อาทิ กุชชี่ หลุยส์ วิตตอง ชาแนล ฯลฯ เพื่อเตรียมเลือกสรรวัตถุดิบเข้าสู่การการพัฒนาสินค้าแฟชั่นของตนเองในคอลเล็คชั่น Spring/Summer 2015 ทั้งนี้ 50 ชิ้นงานที่จะนำไปจัดแสดงถูกสร้างสรรค์ผ่านวิจัยและพัฒนาตั้งแต่กระบวนการ วิจัยเลี้ยงไหม สร้างนวัตกรรมการปั่นเส้นด้ายไหม พัฒนากระบวนการผลิตผ้าผืน กระบวนการตกแต่งสำเร็จการย้อมสีและพัฒนาลายพิมพ์ ฯลฯ เพื่อให้เข้ากับฤดูกาล สู่เป้าหมายการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์รูปแบบคุณภาพผ้าไหมไทยให้สามารถใช้สวมใส่ได้ทุกโอกาสมุ่งสู่ตลาดการค้าอย่างสากลเต็มรูปแบบ โดยมีแนวทางในการพัฒนาคือ สร้างความสวยงามด้วยความแวววาว (Luster) สร้างความไม่สม่ำเสมอของเส้นด้ายและผ้าที่มีมิติ (Uneven) พัฒนาเนื้อผ้าและสีที่ให้อารมณ์พริ้วไหวและไหลลื่น (Fluid) และพัฒนาลวดลายโดดเด่นบนผ้า (Graphical) อย่างไรก็ตามสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดงานนิทรรศการผ้าไหมไทยร่วมสมัยแล้ว พร้อมกิจกรรมเสวนาพิเศษ “เปิดตัวผ้าไหมไทย สู่ มหานครปารีส ในงาน Premiere Vision” เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องเบิกโรง สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนแห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กรุงเทพฯ โดยมีผู้ประกอบการแฟชั่นและดีไซน์เนอร์ ชั้นนำของไทยเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

นายอารยะ มาอินทร์ รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) หรือ OKMD กล่าวว่าOKMD เล็งเห็นถึงศักยภาพผ้าไหมไทย ตลอดจนโอกาสในการสร้างสรรค์องค์ความรู้รูปแบบใหม่ที่ทันสมัย และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์เพื่อการต่อยอดด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมผ้าไหมให้เติบโตและมีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ จากการร่วมมือกับ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และกรมหม่อนไหมในการดำเนินโครงการ “โมเดิร์นไทยซิลค์” กิจกรรมศึกษาวิจัยและพัฒนาต้นแบบไหมไทยร่วมสมัย สำหรับคอลเล็คชั่น Spring/Summer 2015 โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์และสร้างองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการ/ผู้ผลิต OTOPที่ผลิตไหมไทยให้ได้เรียนรู้เข้าใจถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ โดยตั้งเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์รูปแบบคุณภาพผ้าไหมไทยสู่การเป็นผ้าที่ใช้สวมใส่ได้ทุกโอกาส โครงการ “โมเดิร์น ไทย ซิลค์” ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ภายใต้การดำเนินกิจกรรมหลัก คือ การศึกษาวิจัยอัตลักษณ์ไหมไทยและโอกาสทางการตลาด การพัฒนาต้นแบบไหมไทยร่วมสมัยกับโรงงาน พร้อมประชาสัมพันธ์และจัดทำคู่มือแนวโน้มการออกแบบไหมไทยร่วมสมัย (Modern Thai Silk Design Brief) โดยมี สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นผู้ดำเนินงาน

นายประดิษฐ์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมหลักภายใต้โครงการ “โมเดิร์นไทยซิลค์” นั้น ประกอบไปด้วย

1. การศึกษาวิจัยอัตลักษณ์ไหมไทยและโอกาสทางการตลาด โดยได้สร้างอัตลักษณ์ 4 แบบ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยด้านไหมของไทยได้นำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์และสังเคราะห์เพื่อให้ได้ข้อสรุปอัตลักษณ์ไหมไทยที่มีทั้งด้านบวกและด้านลบ สู่แนวทางการพัฒนาการออกแบบผ้าไหมไทยที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก เพื่อการพัฒนาผ้าไหมไทยอย่างต่อเนื่องและตอบสนองตลาดสากลในปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้นโดยอัตลักษณ์ไหมไทยด้านบวก ได้แก่
– อัตลักษณ์ความแวววาว (Luster) ซึ่งเป็นคุณสมบัติของไหมไทยที่เส้นไหมมีความสามารถในการสะท้อนแสงได้อย่างสวยงามทำให้โดดเด่นเมื่อเปรียบเทียบกับเส้นไหมที่มาจากประเทศอื่นๆ เช่น เส้นไหมจากประเทศจีน อินเดีย เป็นต้น ดังนั้นการออกแบบพัฒนาผ้าไหมไทย จึงควรคำนึงถึงความแวววาวที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ
– อัตลักษณ์ความไม่สม่ำเสมอของของเส้นด้ายและผ้าที่มีมิติ (Uneven) ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของไหมไทยทำให้ผ้าดูมีมิติโดยแนวโน้มของเส้นด้ายยุคใหม่มักเน้นผิวสัมผัส (Textured) และพื้นผิวของเส้นด้าย ดังนั้นควรออกแบบโดยเน้นเพิ่มมิติบนผ้า
– อัตลักษณ์ความพลิ้วไหวและไหลลื่น (Fluid) เนื่องจากไหมไทยมีการทอแบบดั้งเดิมซึ่งมีเอกลักษณ์ที่มีความหรูหราจากอารมณ์พริ้วไหวและไหลลื่นของสีและเนื้อผ้าจึงดูสวยงาม และมีการย้อมสีธรรมชาติและการให้ลวดลายด้วยเทคนิคชั้นสูง เช่น ผ้าไหมมัดหมี่ผ้าลายน้ำไหลเป็นต้น ทำให้สวมใส่แล้วเสริมบารมีและดูสูงศักดิ์
– อัตลักษณ์ลวดลายโดดเด่นบนผ้า (Graphical) ผ้าไหมไทยมีลวดลายโดดเด่นซึ่งลวดลายไหมไทยมีเอกลักษณ์แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นบ่งบอกถึงวัฒนธรรมความเป็นไทยที่ดูดีมีฐานะมีราคา เช่น ผ้าไหมยกดอก เป็นต้น ซึ่งลวดลายบนผ้าใช้เทคนิคการทอชั้นสูงลายดอกคมชัดและโดดเด่นเทียบเท่าเทคนิคการทอ Jacquard ของต่างประเทศที่เน้นลายนูนของลวดลายผ้า
2. จัดทำคู่มือแนวโน้มการออกแบบไหมไทยร่วมสมัย (Modern Thai Silk Design Brief) โดยนำข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์จากผลงานวิจัยมาทำเป็นหนังสือคู่มือสำหรับภาคส่วนธุรกิจและประชาชนทั่วไป เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาผ้าไหมไทยให้ร่วมสมัยมีภาพลักษณ์ดีในสายตานักออกแบบและผู้บริโภคชาวต่างชาติในขณะเดียวกันก็สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
3 .พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ไหมไทยร่วมสมัยร่วมกับโรงงาน ทั้ง 7 โรงงาน ได้แก่ บริษัท สปันซิลค์ เวิลด์ จำกัด บริษัท ประชาอาภรณ์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท อาร์ทรี จำกัด บริษัท The Nature Silk จำกัด บริษัท จุลไหมไทย จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ยงอุดมการณ์ทอ และบริษัท ไทยนำโชคเท็กไทล์ จำกัด และโรงงานอื่น ๆ อีก 6 โรงงานในการทอผ้าเพิ่มเติม ก่อให้เกิดการพัฒนาผ้าไหมต้นแบบที่สอดแทรกนวัตกรรม ดีไซน์ และฟังก์ชั่น 50 ชิ้นงานโดยมี 15 ชิ้นงานที่เป็นผลงานที่วิจัยและพัฒนาขึ้นมาใหม่ ส่วนอีก 35 ชิ้นงาน เป็นผ้าไหมที่มีอยู่แล้วแต่นำมาพัฒนาให้สอดคล้องกับเทรนด์ Spring/Summer 2015 ถือเป็นการเปลี่ยนโฉมครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมผ้าไหมไทย โดยมีนางออร์เนลล่า บิกนามิ ดีไซน์เนอร์ชื่อดังชาวอิตาลี และนายดาร์เนียล อะลิเวอร์ติ วิศวกรการออกแบบนวัตกรรมสิ่งทอผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จแบรนด์ดังระดับโลกร่วมพัฒนาด้วย โดยโครงการนี้มุ่งเน้นตั้งแต่กระบวนการสาวไหม การตีเกลียวเส้นไหม เทคนิคการทอ การย้อมสี และการตกแต่งสำเร็จ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตผ้าไหมเพื่อให้มีความทันสมัย ตอบโจทย์ตลาดต่างประเทศ

นอกจากนี้ยังจัดให้มีกิจกรรม เปิดตัวผ้าไหมไทย สู่ มหานครปารีส ในงาน “Premiere Vision 2014“ พร้อมเสวนาพิเศษ ณ ห้องเบิกโรง สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนแห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กรุงเทพฯ โดยเชิญผู้ประกอบการ นักออกแบบ ดีไซน์เนอร์เข้าร่วม เพื่อเตรียมพร้อมนำผลงานดังกล่าวเข้าสู่งาน Premiere Vision Paris ในวันที่ 18-20 กุมภาพันธ์ 2557 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นงานแสดงสิ่งทอและผ้าผืนระดับโลก ที่รวบรวมดีไซเนอร์จากแบรนด์แฟชั่นชั้นนำระดับโลกจำนวนมาก อาทิ กุชชี่ หลุยส์ วิตตอง ชาแนล เบอร์เบอร์รี่ (Burberry) เฟนดิ (Fendi) คริสเตียน ดิออร์ (Christian Dior) ปราด้า (Prada) คริสเตียน ลูบูติน (Christian louboutin) เวอซาเช่ (Versace) และ เฮอร์เมส (Hermes) เป็นต้น ทั้งนี้ การนำผลิตภัณฑ์เข้าจัดแสดงในงานดังกล่าว ต้องผ่านกระบวนการคัดสรรจากผู้จัดงานหลายขั้นตอน ถือเป็นโอกาสของสิ่งทอไทยที่สามารถผ่านเข้าสู่การจัดแสดงงานระดับโลกในครั้งนี้ได้ นับเป็นการปฏิวัติวงการผ้าไหมไทยให้สามารถก้าวเข้าสู่เวทีตลาดโลกได้อย่างสวยงาม
ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าว สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กระทรวงอุตสาหกรรม รับบทบาทในการดำเนินงานโดยมี กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานที่ปรึกษา รวมถึงยังมีคณะที่ปรึกษาผู้มีประสบการณ์ด้านการตลาดและอุตสาหกรรมแฟชั่น อาทิ นางอรทัย ศิลปะนภาพร รองอธิบดีกรมหม่อนไหม นายสรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บ.การบินไทย จำกัด (มหาชน) นางปิยวรา ทีขะระ หัวหน้าโครงการพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นายพลพัฒน์ อัศวะประภา นายกสมาคมแฟชั่นดีไซน์เนอร์กรุงเทพฯ อาจารย์ เผ่าทอง ทองเจือ นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ นายกสมาคมไหมไทย ผศ.ดร.ขจีจรัส ภิรมย์ธรรมศิริ ที่ปรึกษา สบร. ร่วมให้คำปรึกษา

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์ไหม เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2556 มีมูลค่า 26.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.73 มาจากการนำเข้าวัตถุดิบไหม ได้แก่ รังไหม เส้นด้ายไหม และผ้าไหม ที่เพิ่มขึ้น วัตถุดิบไหมที่มีการนำเข้ามากที่สุดได้แก่ เส้นด้ายไหม มีมูลค่าการนำเข้า 8.48 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 47.4 ตลาดนำเข้าที่สำคัญคือ จีน เวียดนาม ญี่ปุ่น รองลงมาคือผ้าไหม มีมูลค่าการนำเข้า 3.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 ตลาดนำเข้าที่สำคัญคือ จีน ฮ่องกง อินเดีย ส่วนการนำเข้าเครื่องแต่งกายจากไหม มีมูลค่าการนำเข้า 6.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวลดลงร้อยละ 15.0 ตลาดนำเข้าที่สำคัญ คือ จีน อิตาลี ฝรั่งเศส
สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ไหมมีมูลค่า16.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวลดลงร้อยละ 4.8 ผลิตภัณฑ์จากไหมที่มีสัดสวนการส่งออกมากที่สุดคือ ผ้าผืนที่ทำจากไหม มีมูลค่า 8.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดส่งออกผ้าผืนจากไหมที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ขยายตัวลดลงร้อยละ 8.6 รองลงมา คือ สหราชอาณาจักร ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.43 ตามด้วยฝรั่งเศสขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.2 อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์จากไหมที่ยังขยายตัวได้ดีคือ ผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายที่ทำจากไหมมีมูลค่าการส่งออก 4.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3 โดยตลาดที่สำคัญได้แก่ สหรัฐอเมริกา ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2 รองลงมาคือญี่ปุ่น ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.1 ตามด้วยปากีสถาน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.8 นายประดิษฐ์ กล่าวสรุป

สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซอยตรีมิตร ถนนพระราม 4 กรุงเทพฯ
โทรศัพท์ : 02-713-5492 – 9 ต่อ 408, 413-414

สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ
มยุรี คำสะอาด ประชาสัมพันธ์
เบอร์โทร : 02-713-5492 –9 ต่อ 710 มือถือ :  085-044-8689

You may also like...