Artist Talk Pradit Tungprasartwong

ประดิษฐ์ ตั้งประสาทวงศ์ ศิลปินผู้นำเสนอการควบรวมระหว่างผลงานสามมิติ (Sculpture) และสองมิติ (Painting) ที่เรียกว่า “Combine Painting” (ปรากฏขึ้นครั้งแรกในศิลปะตะวันตกราวกลางศตวรรษที่ 20)

ได้ใช้วัตถุและวัสดุต่างๆ ในชีวิตประจำวันหรือที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะเจาะจง มาผสมผสานกับผลงานจิตรกรรมเพื่อสื่อสารความคิดของตนเอง

ประดิษฐ์ศึกษาทางด้านประติมากรรมในระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาโทย้ายมาศึกษาสาขาจิตรกรรมที่มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยปัจุบันเป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยช่างศิลป ลาดกระบัง ประสบการณ์การศึกษาในลักษณะดังกล่าวทำให้ศิลปินมองเห็นแนวทางการผสมผสานความเป็นไปได้ของสองลักษณะในการนำเสนอผลงานทัศนศิลป์

“Combine Painting” ของประดิษฐ์เริ่มพัฒนาอย่างชัดเจนในปี พ.ศ. 2545 ผ่านผลงานชุด “คิดถึงยาย”และ “การงานคือการปฏิบัติธรรม” ในปีถัดมาผลงาน “ในห้วงคำนึง” ประดิษฐ์เลือกใช้วัตถุที่มีความสัมพันธ์กับภาพผลงานจิตรกรรมเหมือนจริง เปรียบเทียบกับการขยายมิติการรับรู้ของผู้ชมผ่านการเชื่อมโยงภาพจิตรกรรมที่นำหน้าที่การเป็นตัวแทนของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (Representative) และวัสดุที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของตัวมันเอง (Non-representative) อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประดิษฐ์นำเสนอหาใช่สิ่งแปลกใหม่ต่อวงการศิลปะ แต่กลับตอกย้ำให้เห็นถึงการเชื่อมโยงวัตถุปกติ (Ordinary Object) ที่สามารถเรียกร้องให้ผู้ชมเข้าสู่ปรากฏการณ์การซับซ้อนทางสุนทรียศาสตร์ ความคิด และการตีความ ความสัมพันธ์ต่อแบบ ซึ่งทั้งหมดแฝงกลิ่นอายเอกลักษณ์ศิลปะสื่อผสมแบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นิทรรศการ “เผชิญหน้า: สามภวังค์” นำเสนอประสบการณ์ มุมมอง และปรัชญาของชีวิตที่มนุษย์ต้องเผชิญผ่านอุปมาอุปมัยสามสภาวะที่ศิลปินขมวดปมได้แก่ ๑.กิเลส (Kilesa: Anxiety, Fear, Anger, Jealousy, Desire, Depression, etc.) ๒.สัจธรรม (Truth) และ ๓.ความลังเล (Irresolution/Vacillation) ซึ่งอยู่บนพื้นฐานปรัชญาพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประสบการณ์ตรงที่ศิลปินนำหลักการทางพุทธศาสนามาบำบัดอาการป่วยที่เกิดจากความผิดปกติเคมีในสมอง “เผชิญหน้า: สามภวังค์” จึงเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองที่ศิลปินมองเห็นและประจักษ์ต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน ผู้ชมจะสัมผัสสภาวะจำลองทั้งสาม ที่ศิลปินสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ชมตระหนักถึงการมีชีวิตและตั้งคำถามต่อการมีชีวิตในปัจจุบันที่ไม่ว่าเชื้อชาติใด ชนชั้นใด ต้องล้วนเผชิญกับสภาวะดังกล่าว

เหนือสิ่งอื่นใด นิทรรศการครั้งนี้ยังเป็นการขยายประตูของศิลปะร่วมสมัยไทยกระแสหลัก ในการตีความหมายของศิลปะร่วมสมัย ทั้งทางด้านการแสดงออกและแง่มุมทางแนวคิด ที่อาศัยการกฎเกณฑ์พื้นถิ่นและขนบดั้งเดิมในการสร้างสรรค์งานทัศนศิลป์

การบรรยายโดยศิลปินประกอบนิทรรศการ “เผชิญหน้า: สามภวังค์”
โดย : ประดิษฐ์ ตั้งปราสาทวงศ์
วันที่ : 4 กุมภาพันธ์ 2557
เวลา : 14.00-16.00 น.
สถานที่ : หอศิลปวิทยนิทรรศน์ สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชั้น 7 สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โทรศัพท์ : 02-218-2965 โทรสาร: 02-218-2907
อีเมล์ : info.artcenterchula@gmail.com
เว็บไซต์ : www.car.chula.ac.th/art
Facebook : The Art Center – Chula

You may also like...