ผลงานออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจากเด็กลาดกระบัง อิเกีย ยังต้องยกนิ้วให้

6กรกฏาคม 2555 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จัดงานนิทรรศการ ID CLOSE UP แสดงผลงานวิทยานิพนธ์และผลงานนักศึกษาด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (Industrial Design) โดยนักศึกษาสาขาวิชาศิลปะอุตสาหกรรมภายใต้แนวคิด “NEXT STATION : สถานีต่อไป”

ที่สร้างสรรค์ผลงานได้อย่างมืออาชีพ ผ่านการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอาทิ เฟอร์นิเจอร์หวายถอดประกอบได้เพื่อการขนส่ง เรือท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์(เรือมอแกน) ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวจังหวัดพังงาและผลิตภัณฑ์ยืดอายุการใช้งานของขวดน้ำพลาสติก เพื่อลดปัญหาภาวะโลกร้อน  ฯลฯ โดยกิจกรรมดังกล่าวจะจัดขึ้นระหว่างวันที่30 มิถุนายน – 8 กรกฎาคม 2555 ตั้งแต่เวลา 10.00 น.-20.00 น. ณ ศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค ชั้น 3 พร้อมกิจกรรมต่างๆภายในงานอย่าง “FeelLike Factory”  กิจกรรมเวิร์คช็อปเกี่ยวกับการออกแบบให้กับนักเรียนนักศึกษาและบุคคลทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมการสัมมนาเรื่อง “สูตรใหม่ ID 4 ปีพอ?”จากอาจารย์สุรเชษฐ์ ไชยอุปละ อาจารย์ประจำสาขาการออกแบบอุตสาหกรรมคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล.เพื่อแนะนำแนวทางการศึกษาต่อที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ให้กับเด็กนักเรียนที่สนใจอยากเรียนด้านสถาปัตยกรรมสำหรับกิจกรรมทั้งหมด นักศึกษาชั้นปีที่ 6 จะเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดกิจกรรม จึงทำให้นักศึกษาได้มีโอกาสสัมผัสถึงหลักการทำงานที่แท้จริงได้มากยิ่งขึ้นสอดคล้องกับแนวทางของสถาบันที่ต้องการให้นักศึกษาเป็นคนใฝ่รู้ สู้งาน หรือ @work

นายนวัต ศักดิ์ศิริศิลป์ นักศึกษาชั้นปีที่ 5  สาขาศิลปะอุตสาหกรรม คณะ สถาปัตยกรรมศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตัวแทนนักศึกษาผู้จัดงาน งานนิทรรศการ ID CLOSE UP กล่าวว่า งานนิทรรศการ ID CLOSE UP เป็นกิจกรรมแสดงผลงานวิทยานิพนธ์และผลงานนักศึกษาที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด“NEXTSTATION : สถานีต่อไป” โดยคำว่า NEXTSTATION : สถานีต่อไป สะท้อนถึงผลงานการออกแบบของเราที่เป็นดั่งคนรุ่นใหม่ที่จะสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองต่อความต้องการของ “คนยุคใหม่”โดยการออกแบบนั้นไม่เพียงสร้างความสวยงามแก่ชิ้นงาน หรือสร้างมูลค่าเพิ่มของชิ้นงานเท่านั้นแต่ยังสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยในมิติสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ฯลฯโดยผลงานที่จะจัดแสดงในงานดังกล่าว มีจำนวนกว่า 70 ชิ้น

“หวายน็อคดาวน์ ที่อิเกียต้องยกนิ้วให้”

นายรัฐพล อนุชิตานุกูล นักศึกษาชั้นปีที่ 5 เจ้าของผลงาน“Y-Vien” กล่าวว่า หวายเป็นวัสดุที่มีข้อจำกัดทางด้านการคลายตัวเมื่อเจอกับความชื้นทำให้เฟอร์นิเจอร์หวายที่ผลิตโดยทั่วไป มักเป็นเฟอร์นิเจอร์ประเภทประกอบสำเร็จทำให้มีข้อด้อยในเรื่อง

การขนส่งที่ไม่สามารถประหยัดพื้นที่ได้ Y-Vien จึงเป็นชุดเฟอร์นิเจอร์ที่สามารถแก้จุดอ่อนในเรื่องของการขนส่งได้ ด้วยการใช้ระบบการประกอบยึด(น็อคดาวน์) ระหว่างลำหวายกับสแตนเลสเส้นที่ดัดให้ได้ขนาดและองศาที่รับกันพอดีกับหวาย ซึ่งหวายเป็นวัสดุที่มี

ความอ่อนตัวสามารถดัดโค้งได้จึงได้นำเอาคุณสมบัติเด่นของวัสดุมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบด้วยการนำหวายเส้นมาเรียงตัวในรูปทรงที่พริ้วไหวผนวกกับรูปทรงหลักที่เรียบง่ายและทันสมัยเพื่อให้ดูเข้ากับบ้านในยุคปัจจุบันได้ง่ายขึ้นอีกทั้งยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ที่ทำจากหวายซึ่งเป็นวัสดุจากธรรมชาติที่มีชื่อเสียงของไทย ให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศไม่แพ้กับผลิตภัณฑ์น็อคดาวน์จากแบรนด์ต่างชาติ ที่ใช้วัสดุธรรมดาแต่สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยแนวคิดและตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบันได้อย่างลงตัว

“ล่องเรือมอแกน กิมมิคการท่องเที่ยวสุดเก๋ไก่”

นายพิภพ ทองเสน นักศึกษาชั้นปีที่ 5 เจ้าของผลงาน“เรือท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์”กล่าวว่า ผลงานชิ้นนี้ เกิดจากการได้ไปเห็นวิถีชีวิตของชาวมอแกนที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งในอดีตชาวมอแกนมีการใช้ชีวิตอยู่บนเรือแต่ปัจจุบันได้ละทิ้งการใช้ชีวิตในทะเลมาอาศัยบนบก ซึ่งเรือที่ชาวมอแกนเคยใช้เป็นเรือที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเรือที่มีการประกอบและออกแบบได้ดีที่สุดลำหนึ่งของโลก จึงเกิดแรงบันดาลใจขึ้น เลยนำเอาวิธีการประกอบเรือและวัฒนธรรมของชาวมอแกนมาทำเป็นเรือลำใหม่ที่เพิ่มความสะดวกสบายในลำเรือมากขึ้น พร้อมทั้งนำชาวมอแกนมาเป็นผู้นำเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงวัฒนธรรมของชาวมอแกนและอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ได้มากขึ้นโดยเรือลำนี้สามารถบรรทุกนักท่องเที่ยวได้ 10 คนต่อลำโดยประเมินต้นทุนการก่อสร้างเรือลำนี้อยู่ที่ประมาณ 400,000 บาทซึ่งคาดว่า ถ้าเรือลำนี้ได้รับความสนใจจากหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชนนำไปสร้างเป็นจุดขายของการท่องเที่ยวในหมู่เกาะสุรินทร์นั้นก็จะทำให้ชาวบ้านและเศรษฐกิจในจังหวัดพังงามีความคึกคักและอาจเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์คของการท่องเที่ยวในประเทศไทยไม่แพ้การท่องเที่ยวล่องเรือเกาะนามิประเทศเกาหลีใต้

“REPET แอคเซสซอรี่ติดตามตัวเทรนด์ใหม่วัยรุ่นหัวใจรีไซเคิล”

นายนวัต ศักดิ์ศิริศิลป์ นักศึกษาชั้นปีที่ 5 เจ้าของผลงาน“REPET” กล่าวว่าในปัจจุบันปัญหาโลกร้อนนับเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบอย่างมากมายจากปริมาณขวดพลาสติกที่ใช้แล้วทั้งหมด พบว่ามีเพียง 14% เท่านั้นที่ถูกนำกลับมารีไซเคิลส่วนอีก 86% ที่เหลือถูกทิ้งไว้อย่างไร้ประโยชน์และถูกกำจัดอย่างผิดวิธี  จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจที่จะคิดแก้ปัญหาดังกล่าวทำให้เกิดโครงการ REPET ขึ้น ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้กับขวดพลาสติกPET ได้ เช่น ที่ล็อคขวดน้ำติดกับกระเป๋าสะพายด้านหน้า ด้านข้างด้านหลัง ทำให้ผู้ดื่มน้ำสามารถเก็บขวดไว้เติมน้ำได้ครั้งต่อไป ไม่ต้องทิ้งถือเป็นการยืดอายุการใช้งานของขวดน้ำพลาสติกชนิด PET ให้ถูกใช้อย่างยาวนานและคุ้มค่าที่สุดก่อนที่จะถูกนำไปRecycle โดยเน้นการใช้หลักการการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม 10R ได้แก่ reduce, reuse, reclaim, repair, return, refill, recover,refuse และ rethink เข้ามาเป็นแนวคิดหลักในการออกแบบโดยมีการลงพื้นที่ตัวอย่างที่ตลาดนัดจตุจักร เพื่อรณรงค์ให้ผู้บริโภครู้จักการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้นอย่างไรก็ตามถ้าแอคเซสซอรี่ REPET นี้ได้รับความนิยมในวงกว้างนั้นแน่นอนว่าขวดพลาสติกบรรจุน้ำที่ถูกทิ้งนับล้านขวดต่อวันในกรุงเทพมหานครจะมีปริมาณลดลงไม่ต่ำกว่า50%

ด้าน รศ. บุญสนอง รัตนสุนทรากุลคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า ทางสถาบันได้เห็นถึงการเติบโตอย่างรวดเร็ว ของธุรกิจด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ที่ส่งผลต่อความต้องการแรงงานของตลาดในวงการการออกแบบและวงการด้านสถาปัตยกรรมที่เพิ่มมากขึ้นจึงได้สนับสนุนให้นักศึกษาจัดแสดงนิทรรศการ “ID CLOSE UP” ซึ่งเป็นการแสดงผลงานวิทยานิพนธ์และผลงานนักศึกษาด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(Industrial Design) ภายใต้แนวคิด “NEXT STATION : สถานีต่อไป” โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงถึงศักยภาพของสถาบันในการทำหน้าที่ผลิตบัณฑิตสู่สายวิชาชีพและเผยแพร่ความรู้วิทยาการของนักศึกษาชั้นปีสุดท้าย ออกสู่สาธารณชน ตลอดจนการสร้างความพร้อมและสร้างประสิทธิภาพให้กับนักศึกษาในการสร้างผลงานการออกแบบเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยได้อย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน

รศ. บุญสนอง กล่าวเพิ่มเติมว่าผลงานของนักศึกษาที่นำมาแสดงในงานนิทรรศการนี้ เป็นผลงานที่เกิดจากการนำความรู้ตลอดระยะเวลา5 ปี ที่นักศึกษาสาขาวิชาศิลปอุตสาหกรรม ได้เรียนทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติมาตกผลึกกลายเป็นผลงานตามความถนัดและความสนใจของนักศึกษาเอง ออกสู่สาธารณชนพร้อมเป็นการเปิดโอกาสสู่อาชีพด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในอนาคตอีกด้วยซึ่งภายในงานจะพบกับผลงานล้ำสมัยเพื่อสร้างสังคมไทย ให้เป็นสังคมนวัตกรรม  หรือ Innovative Society อาทิเฟอร์นิเจอร์หวายพับได้เพื่อการขนส่ง เครื่องเคลือบดินเผาสถาปัตยกรรมชิโน-โปรตุกีสผลิตภัณฑ์ยืดอายุ

การใช้งานของขวดน้ำพลาสติก เรือท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ฯลฯ โดยกิจกรรมดังกล่าว นักศึกษาชั้นปีที่ 5เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดงานเองทั้งหมดซึ่งทำให้นักศึกษาได้มีโอกาสสัมผัสถึงหลักการทำงานที่แท้จริงได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของสถาบันที่ต้องการให้นักศึกษาเป็นคนใฝ่รู้สู้งาน หรือ @work นั่นเอง

“สำหรับนิทรรศการ IDCLOSE UP นี้ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 8 กรกฎาคม 2555ตั้งแต่เวลา 10.00 น.-20.00 น. ณศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค ชั้น 3 ซึ่งภายในงานจะพบกับผลงานล้ำสมัยที่ออกแบบและผลิตโดยนักศึกษาชั้นปีสุดท้ายอีกทั้งยังมีกิจกรรม“Feel Like Factory”  ซึ่งเป็นการเวิร์คช็อปเกี่ยวกับการออกแบบ ให้กับนักเรียนนักศึกษาและบุคคลทั่วไปที่สนใจเข้าร่วม พร้อมการสัมมนา เรื่อง “สูตรใหม่ID 4 ปีพอ?” จากอาจารย์สุรเชษฐ์ไชยอุปละ อาจารย์ประจำสาขาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล.เพื่อแนะนำแนวทางการศึกษาต่อที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ให้กับเด็กๆที่สนใจ

อยากเรียนด้านสถาปัตยกรรม นอกจากกิจกรรมดังกล่าวทางคณะของเรา  ก็ได้มีการจัดกิจกรรมความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศอาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ เพื่อประโยชน์และสร้างมุมมองที่กว้างขึ้นให้แก่นักศึกษาของคณะต่อไป ” รศ.บุญสนอง กล่าวสรุป

 

You may also like...