คู่กรรม ฉบับมุมมองใหม่

แรกทีเดียวผมตั้งใจจะเขียนถึง พี่มากพระโขนง แต่ด้วยความที่หนังกระแสดีมากขนาดไม่มีอะไรต้องกล่าวถึงแล้ว เหลียวมามอง คู่กรรม ของ เรียว กิตติกร ต้องบอกว่าการเข้าฉายช่วงนี้ถือเป็นวิบากกรรมอย่างแท้จริง

ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้หลายเดือน โปสเตอร์ หนังคู่กรรมที่ถูกส่งมาโปรโมตกระแสดีสุดๆ ผิดกับ พี่มาก ที่ขนาดหนังตัวอย่างออกมาก็ไม่ได้เรียกเสียฮือฮาอะไร ดูจะเป็นหนังตลกดาดๆธรรมดา บวกกับ ณเดชน์ ที่มีแฟนคลับมหาศาลทำให้หลายคนคาดหมายว่า คู่กรรม เวอร์ชั่นนี่จะสร้างรายได้ลอยลำเข้าถึง100ล้านบาทสบายๆ

กระนั้นทุกอย่างกลับตาลปัตร เมื่อกระแสจากคำพูดเชิญชวนของนักเล่าข่าวชื่อดัง บวกกับภาพแถวซื้อตั๋วยาวเหยียดถูกโพสต์ว่อนโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค รวมกับคำพูดปากต่อปาก ทำให้คู่กรรมที่ฉายทีหลัง1สัปดาห์ ซึ่งเปิดตัวด้วยเสียงวิจารณ์ในแง่ลบต่างๆนาๆ ถูกลดทอนโรงที่ฉายลง จนบางแห่งถึงกลับถอดจากโปรแกรมเพื่อฉายพี่มากเพิ่มแทน

คู่กรรม 2013 ไม่อาจชมว่าดีได้เต็มปาก แต่ก็ไม่อาจด่าว่าแย่ได้เต็มที่ มันกํ่ากึ่งในหลายแง่ เรียว กิตติกร เป็นผู้กำกับที่มีแนวทางชัดแจน ในแง่ของการหยิบเอาวรรณกรรมมาเล่าใหม่ เขากล้าหาญในการนำเสนอจากมุมมองใหม่ที่ตัวเขาคิด จากนิยายรักโรแมนติก จึงกลับกลายเป็นภาพยนตร์ดราม่า

แน่นอนว่าจุดขายของ คู่กรรม คือความรักข้ามเชื้อชาติของ โกโบริ กับ อังศุมาลิน ทว่าในคู่กรรมฉบับนี้ทั้ง โกโบริและอังศุมาลิน เล่นบทพ่อแง่แม่งอนตลอดทั้งเรื่อง นั่นทำให้ฉากไฮไลต์ตอนสุดท้ายดร็อปลงไปอย่างเห็ดได้ชัด ฉากที่หลายคนประทับใจจึงเป็นฉากที่สะพานพุทธมากกว่า ขี้เถ้าที่ลอยฟุ้งเหมือนหิมะถ่ายทำออกมาได้ดูสวยงามเหมือนหนังรักเกาหลีมากๆ

ขณะที่ โกโบริ ที่รับบทโดย ณเดชน์ เป็นผู้ที่พยุงโครงเรื่องทั้งหมดไว้ การแสดงของเข้าแทบหาที่ติไม่ได้ ส่วนน้องริชชี่ไม่ได้แย่ขนาดที่ผู้คนตามอินเทอร์เน็ตด่าสาดเสียเทเสีย เพียงแต่ว่าการเริ่มต้นงานแสดงครั้งแรกย่อมถูกจับผิดแน่นอน แถมครั้งแรกของเธอดันต้องมาประกบกับดาราหนุ่มสุดฮ็อตในพศ.นี้อีก จุดนี้จึงน่าเห็นใมากกว่าจะซํ้าเติม อันที่จริงการแสดงอารมณ์ทางสีหน้ากับท่าทางถือว่าทำได้ดีมาก (ฉากอังศุมาลินแอบซบโกโบริในหลุมหลบภัยนี่ถึงกับร้องอ้าวเลยนะ ประมาณว่าไหนบอกว่าเกลียดไง) เสียแต่ว่าเวลาเธอพูดออกมากลับดูเป็นถ้อยคำธรรมดา ไร้พลังหรือเสน่ห์ใดๆ

หากจะบอกว่าเธอเป็นจุดอ่อนของหนัง จุดแข็งของหนังก็คือเธอ ด้วยความที่ น้องริชชี่ สามารถสลัดภาพ อังศุมาลิน เวอร์ชั่นกวางกมลชนกออกจากคนไทยได้หมดสิ้น เธอคือ อังสุมาลิน ที่ต่างออกไปจากบทประพันธ์ ไม่ได้เป็นหญิงเก่ง มั่นใจในตัวเอง แต่กลับเป็นเด็กสาวที่มีความสับสนในตนเอง ท่าทางยียวนชวนหาเรื่อง ดูม้าดีดกระโหลกมาก การพูดสั้นๆห้วนๆใช้คำว่าเรากับนายทำให้บุคลิกที่ดูบ้านๆของน้องกลับบ้านเข้าไปอีก และอาการดื้อดึงหัวแข็งของเธอทำให้ดูไร้เหตุผลจนคนดูอดสงสาร โกโบริ ไม่ได้

ส่วนตัวละครตัวอื่นมีเพียง หมอ เพื่อนของโกโบริ เท่านั้นที่แสดงได้มีชีวิตชีวา โดยเฉพาะช่วงท้ายๆ อารมณ์เสียใจจากการตายของเพื่อนชวนตื้นตันกว่าคำพูดของนางเอกซะอีก นอกนั้นเป็นเพียงส่วนประกอบของหนังทั้งแม่และพ่อของอังศุมาลิน ไม่มีฉากหรือคำพูดน่าประทับใจ วนัส ที่รับบทโดย โบ๊ท วง THE YERS มาช้าเสียจนไม่ทันได้แสดงอะไรมากนัก แม้แต่ น้าหงาคาราวาน ที่มาเล่นเป็น ตาบัวกะตาผล (ไม่รู้ว่าแกเป็นตาอะไร) ยังดูกลืนไปกับนักแสดงประกอบคนอื่นๆจนผมคิดว่าเอาใครมาแสดงก็ได้นะ ไม่ต้องถึงมือน้าหงาหรอก

เครื่องแต่งกายและฉากเป็นอีกสิ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก หมวกที่นางเอกและตัวละครผู้หญิงในเรื่องใส่ออกแนวคอมมิวนิตส์จีนมากๆ ตาบัวกับตาผล ยิ่งดูไม่ใช่เสรีไทย โดยเฉพาะ วนัส ผู้กำกับทำสำเร็จแล้วที่ต้องการฉายภาพ เชกูวารานักปฏิวัติมากกว่าหนุ่มผู้ดีอังกฤษ แต่ทั้งหมดนี้ขัดแย้งกับเนื่อหาในนิยายรวมถึงประวัติศาสตร์จริงซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการเข้าใจผิดของคนรุ่นหลัง

ตัวบ้านของอังศุมาลิน เรียว ตัดปัญหาต้องถอดบู๊ตของโกโบริด้วยการทำให้เป็นบ้านอิฐสองชั้นแทนที่จะเป็นเรือนไม้  เท่านั้นไม่พอ เขายังเพิ่มตัวละครที่เป็นนาซีเยอรมันเข้ามาด้วย นั้นทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในหมู่คอวรรณกรรมและนักประวัติศาสตร์ไม่น้อย ซีนระเบิดที่บางกอกน้อยด้วยความจงใจหรือไม่ก็ตาม แต่เปลวไฟมันดูไม่จริงจนน่าตลก ที่น่าชื่นชมคือเพลงประกอบที่มีทำนองไพเราะ แม้เราไม่รู้คำแปลก็รู้สึกอินได้ ดนตรีประกอบใช้ไม่บ่อย แต่ละครั้งจึงดูช่วยเสริมอารมณ์ในหนังได้อย่างดี

ฉากปลํ้ากันของ โกโบริ กับอังศุมาลิน น่าจะเป็นฉากที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุด ด้วยการเล่นกับความเงียบงานถนัดของ เรียว รวมกับการเทเวลาให้เกือบ10นาทีทำให้ดูอีโรติกสุดๆ แต่อีกแง่หนึ่งมันก็สร้างความอึดอัดให้คนดูไม่น้อย ตอนจบของเรื่องซึ้งแต่ไม่อิน ด้วยการที่เคมีของคู่พระนางไม่ลงตัว ความสัมพันธ์ของตัวละครเลยดูไม่ใกล้เคียงกับคู่ที่รักกันดูดดื่มจนกลายเป็นตำนาน

คู่กรรม กับ พี่มากพระโขนง เป็นหนังรีเมคเหมือนกัน ต่างกันตรงที่การตีความ พี่มาก เลือกที่จะใส่ความสนุกสนานลงไป แต่ยังคงองค์รวมหลักๆของต้นฉบับไว้ไม่แตะ อาทิยังมีฉากเก็บมะนาวอยู่ คู่กรรม เลือกที่จะตีความแบบจริงจัง ลึกและต่างจากต้นฉบับ ไม่มีคำว่าจะไปรอที่ทางช้างเผือกจากปากโกโบริให้ได้ยิน แต่กลับสร้างประโยคเด็ดขึ้นมาให้คนจดจำเอง คุณมีเหตุผลของคุณ ผมมีหัวใจของผม ก็พอแล้ว อยู่ที่คุณแล้วหละว่าพร้อมหรือยังที่จะลืมอังศุมาลินทุกคนในอดีต

 ติดตามต่อได้ที่ : http://cyberbird.exteen.com/20130410/entry

สิทธิโชติ สุภาวรรณ์ (นกไซเบอร์)

จบด้านขีดๆเขียนๆ ตอนนี้ทำงานเกี่ยวกับโลกไซเบอร์ เป็นคนชอบดูหนังมาก ดูได้ทุกแนว เมื่อดูจบแล้วมีอะไรค้างคาในใจก็จะมาระบายออกลงในบล็อกส่วนตัวเงียบๆ ใช้นามปากกาว่า นกไซเบอร์

You may also like...