Notre Musique

คนขาวไม่มีวันเข้าใจถ้อยคำโบราณ ซึ่งอยู่ในวิญญาณที่ล่องลอยอย่างเสรีระหว่างผืนฟ้าและต้นไม้ ปล่อยโคลัมบัสให้ท่องไปในท้องทะเล เพื่อค้นหาอินเดีย มันเป็นสิทธิ์ของเขาที่จะเรียกภูติของเราด้วยชื่อของเครื่องเทศ เขาสามารถเรียกพวกเราว่า อินเดียนแดง

เขาสามารถที่จะพลิกเปลี่ยนความผิดพลาดทั้งหลายในกระแสลมเหนือ แต่นอกโลกแคบๆบนแผนที่ของเขา เขาไม่สามารเชื่อได้ว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาด้วยความเท่าเทียมกัน เหมือนเช่นอากาศและน้ำ สิ่งที่ทำให้ภาพยนตร์แตกต่างจากวรรณกรรมและละครก็คือ ลักษณะความเป็นคู่ทวิลักษณ์ (dualism) ในตัวของมันเอง ความเป็นคู่ทวิลักษณ์คืออะไร

ความเป็นคู่ทวิลักษณ์ก็คือลักษณะพื้นฐานของภาพยนตร์ ที่ด้านหนึ่งสามารถบันทึกสภาพเป็นจริงที่เหมือนอย่างที่ตาเห็น (เป็นหลักฐานของความจริง) และอีกด้านที่สามารถนำเสนอภาพและเรื่องราวซึ่งปั้นแต่งขึ้น พูดง่ายๆสองซีกด้านที่ว่าก็คือ ความเป็นสารคดี และความเป็นเรื่องแต่งนั่นเอง
Notre Musique (2004) เป็นผลงานของ ฌ็อง-ลุก โกดาร์ (Jean-Luc Godard) ผู้กำกับชาวฝรั่งเศส ที่นำเอาลักษณะทวิลักษณ์สองแง่ง่ามของภาพยนตร์มาพินิจ ความตาย/ชีวิต/ความมืด/ความสว่าง ความดี/ความเลว ความจริง/จินตนาการ อาชญากร/เหยื่อ ภาพตรง/ภาพมุมกลับ ซึ่งโกดาร์มองว่าเป็นขั้วปฏิปักษ์ที่ต้องดำเนินอยู่เรื่อยไปไม่สิ้นสุด

หากจะทราบว่า ฌ็อง-ลุก โกดาร์ เป็นใคร คงไม่ยากอะไรนักสำหรับการสืบค้น เพราะโกดาร์ผลิตงานอย่างท่วมท้นและต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นยุค ’60 (หรือก่อนหน้านั้นเล็กน้อย) แต่ชื่อของเขากลับมากระฉ่อนอีกครั้งหนึ่งก็ตอนที่เขาวิจารณ์งาน Fahrenheit 9/11 ของไมเคิล มัวร์ (ก่อนหน้าการเลือกตั้งประธานาธิบดี) ว่า ที่จริง หนังเรื่องนี้ออกจะโปรโมทบุชเกินไปด้วยซ้ำ และก็กลายเป็นว่าบุช ประสบชัยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีจริงๆ ซึ่งความสำเร็จของ  Fahrenheit 9/11 ทั้งในด้านของรายได้และรางวัลในอีกด้านหนึ่งจึงเป็นผลสะท้อนความนิยมในตัวจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช นั่นเอง

ผลงานของโกดาร์ชิ้นนี้ (เคยเข้าชิงชัยในเวทีประกวดเมืองคานส์ในสายเดียวกับ Fahrenheit 9/11) ยังคงน้ำเสียงและพลังการวิจารณ์ที่แยบคาย โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว สงครามในบอสเนียและตบหน้าอเมริกันได้อย่างถึงใจ เหมือน Elogue de l’amour (ปี 2001)
Notre Musique แบ่งออกเป็น 3 องก์ ตามแบบไตรภูมิของดังเต้ องก์แรกมีชื่อว่า Hell เป็นการรวมภาพสงครามในหนัง (Apocalypse Now, Zulu และ Kiss Me Deadly) และภาพสงครามจากสารคดี (สงครามในบอสเนียค่ายกักกันของนาซี) ตัดต่อเข้าด้วยกัน

ในองก์นี้เราจะได้ยินเสียงของผู้หญิงคนหนึ่งพูดว่า “และแล้วในยุคของนิทานก็กำเนิดโลกที่มนุษย์ติดอาวุธเพื่อฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” และอีกตอนหนึ่งว่า
“พวกเขาที่นี่ล้วนน่าสะพรึงกลัว พวกเขาหลงใหลการฆ่าตัดหัว น่าประหลาดใจมาก ที่ยังมีคนเหลือรอดอยู่ในทุกวันนี้”

องก์ถัดมาเป็นศูนย์กลางของเรื่องมีชื่อว่า Purgatory (แดนชำระ) นำเสนอภาพชีวิตของกวีชาวอาหรับ มาหมุด ดาร์วิช และนักเขียนชาวสเปน ฆวน กอยติโซโล ผสมผสานกลมกลืนกับเรื่องราวของตัวละครที่เป็นหญิงสาวอีกสองคน จูดิธ และโอลก้า เนื้อหาในส่วนนี้พ้องกับช่วงเวลาที่โกดาร์ (ในฐานะตัวละคร หรือตัวเขาเองจริงๆ) เดินทางไปบรรยายพิเศษแก่นักศึกษาในหัวข้อ “ถ้อยคำและภาพ” ฉากส่วนใหญ่ขององก์ Purgatory อยู่ในซาราเจโว ที่ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวและประวัติศาสตร์แห่งการทำลายล้างซึ่งกันและกัน  แน่นอน นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ สำหรับคนที่เคยดูหนังของโกดาร์ แต่คราวนี้แทนที่ประเด็นดังกล่าวจะถูกนำเสนอในรูปของวงสนทนา การพูดคุยถกเถียงถูกย้ายไปในสถานที่ทางประวัติศาสตร์จริงๆ

ในองก์สุดท้าย Heaven เป็นดินแดนหลังความตาย (หรืออาจมองว่าเป็นนิมิตที่โอลก้าเห็นก่อนที่เธอจะเสียชีวิตก็ได้) ซึ่งเป็นสถานที่ที่คล้ายภาพความฝัน ในนั้นเราจะมองเห็นภาพของโอลก้าเพียงด้านหลัง เดินผ่านคนหนุ่มสาว และไปหยุดลงที่ชายป่า ป่าซึ่งบรรจบกับทะเล ณ ที่ตรงนั้นเธอนั่งลงข้างๆชายหนุ่ม ผู้ซึ่งแบ้่งแอปเปิ้ลให้เธอกิน และนั่นดูเหมือนจะเป็นบทสรุปของเรื่องราวทั้งหมด ถึงแม้ว่า Notre Musique จะไม่มีทางออกสำเร็จให้กับสันติภาพ (เหมือนอย่างที่สปีลเบริก์มักจะทำก็คือ ขนอาวุธไปถล่มในหนังเรื่องหนึ่ง แล้วอีกเรื่องก็เอากล้องและไมค์ไปสัมภาษณ์ผู้รอดชีวิตสลับไปสลับมา) แต่การเดินสู่ใจกลางปัญหา (สงครามและความรุนแรง) ของโกดาร์ เพื่อพินิจพิจารณาประวัติศาสตร์ก็ยังเป็นสิ่งที่ขาดแคลน และต่อประเด็นนี้สามารถวิเคราะห์ต่อไปได้ว่า แทนที่เราจะทำหนัง เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีคนใดคนหนึ่ง เราควรจะวิพากษ์ประวัติศาสตร์ที่สั่งสมให้เกิดประธานาธิบดีขึ้นมา

TEXT : ลิลิธ

You may also like...