UNESCO Bangkok

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา ยูเนสโกแถลงข่าวเปิดโครงการ “การจัดทำแผนป้องกันและรองรับอุทกภัยสำหรับแหล่งมรดกโลกพระนครศรีอยุธยา” ณ. สานักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ


ผู้ร่วมงานแถลงข่าวประกอบด้วยนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญระดับชาติที่มีบทบาทด้านการบรรเทาอุทกภัย และตัวแทนจากสถานทูตประเทศเยอรมนี ญี่ปุ่น โปรตุเกส และสหรัฐอเมริกา ซึ่งให้ความร่วมมืออย่างต่อเนื่องในการฟื้นฟูแหล่งมรดกโลกพระนครศรีอยุธยาหลังมหาอุทกภัยระหว่างปี พ.ศ. 2554-2555 โครงการนี้ถูกพัฒนาขึ้นหลังจากเหตุอุทกภัยในปี พ.ศ. 2554 ภายใต้การสนับสนุนจากโครงการงบประมาณเพื่อทรัพยากรน้ำของธนาคารพัฒนาเอเซีย (ADB)

นายควาง-โจ คิม ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ กล่าวว่า “การป้องกันและรองรับภัยธรรมชาติเป็นเรื่องสำคัญที่สุดประการหนึ่งในการอนุรักษ์มรดกโลกตามที่คณะกรรมการมรดกโลกได้ระบุไว้” ซึ่งตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2554 รัฐบาลไทยได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์แหล่งมรดกโลกพระนครศรีอยุธยาครั้งใหญ่หลังจากเหตุมหาอุทกภัย และดำเนินงานด้านระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แต่อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการจัดทำโครงการระยะยาวเพื่อปกป้องแหล่งมรดกในพระนครศรีอยุธยาจากเหตุอุทกภัยในอนาคต

โครงการ“การจัดทำแผนป้องกันและรองรับอุทกภัยสำหรับแหล่งมรดกโลกพระนครศรีอยุธยา” นี้มีระยะเวลา 2 ปี โดยมุ่งเน้นการจัดการประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดอุทกภัยโดยเฉพาะในพื้นที่แหล่งมรดกโลกพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งการพัฒนาแผนป้องกันและรองรับอุทกภัย โดยผู้เชี่ยวชาญจะสร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์แสดงระดับและรูปแบบการเคลื่อนที่ของกระแสน้ำเพื่อประเมินความเสี่ยงต่ออุทกภัยในในพื้นที่แหล่งมรดกโลก จากนั้นจะนำผลการประเมินมาพัฒนาแผนป้องกันและรองรับอุทกภัยร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ยูเนสโกจะคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติด้านการรองรับความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติเพื่อการอนุรักษ์แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมมาร่วมให้แนวทางการพัฒนาแผนป้องกันและรองรับอุทกภัยที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในการอนุรักษ์โบราณสถาน

นายควาง-โจ คิม ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ กล่าวเสริมว่า “เมื่อโครงการนี้สำเร็จลุล่วงแล้ว พระนครศรีอยุธยาจะเป็นแหล่งมรดกโลกในภูมิภาคเอเซียอาคเนย์แหล่งแรกที่มีแผนบริหารจัดการที่รวมการป้องกันและรองรับอุทกภัยไว้ด้วยกัน ซึ่งจะเป็นแบบอย่างให้กับแหล่งมรดกโลกอื่นๆในภูมิภาค”

โครงการนี้จะดำเนินการโดยสถาบันการศึกษาอุทกศาสตร์ของยูเนสโก (ยูเนสโก-ไอเอชอี) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยจะมีสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ ให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ส่วนหน่วยงานที่ร่วมโครงการได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสทก) และกรมศิลปากร ทั้งนี้ จะมีการวางแผนการประชุมหารือระหว่างผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติเพื่อเริ่มต้นโครงการพัฒนาแผนป้องกันและรองรับอุทกภัยในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2556

 

You may also like...