เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์

ผู้มาจากความโดดเดี่ยว  เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ กวีและนักเขียนหนุ่มชาวสุพรรณบุรี ผู้ผ่านประสบการณ์ชีวิตมาอย่างเข้มข้นโชกโชน ทั้งการเป็นทหารเกณฑ์ คนงานในโรงงานผลิตรองเท้า ฯ เรวัตร์เริ่มต้นการเป็นนักเขียนเรื่องสั้นเมื่อปี พ.ศ. 2528 พร้อมๆ กับผันตัวเองไปเป็นชาวไร่ ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2532 จะหันมาทำงานด้านกวีอย่างจริงจัง

มีผลงานปรากฏแก่สาธารณชนดังเช่น บ้านแม่น้ำ (กวีนิพนธ์ พ.ศ. 2538), ชีวิตสำมะหาอันใด (รวมเรื่องสั้น พ.ศ. 2545 เข้ารอบ 7 เล่มสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ปี พ.ศ. 2545), นักปั้นน้ำ (กวีนิพนธ์ พ.ศ. 2546), พันฝนเพลงน้ำ (กวีนิพนธ์ พ.ศ. 2546) และ แม่น้ำรำลึก (กวีนิพนธ์) ซึ่งได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ ซีไรต์ ประจำปี พ.ศ. 2547

เรวัตร์เคยรับหน้าที่เป็นผู้ดูแลคอลัมน์ ‘คนเขียนคำ คำเขียนคน’ คอลัมน์ที่เปิดพื้นที่สำหรับบทกวีในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก แต่แล้วโดยไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คอลัมน์ดังกล่าวได้ปิดตัวลง สร้างความเสียดายและใจหายให้แก่คนวรรณกรรมทั่วไปที่ได้รับทราบข่าว และแน่นอน รวมถึงตัวเรวัตร์เองด้วย

อะไรที่ทำให้คุณเริ่มเป็นกวี และอะไรที่ทำให้คุณยังเป็นกวี
เมื่อผมมองกลับไปยังหนหลัง ผมมองเห็นเด็กชายผู้เงียบนิ่งและเด็กหนุ่มผู้โดดเดี่ยวคนหนึ่ง ในท่ามกลางถิ่นเกิดกายของบ้านไร่ปลายนา ในห้วงความรู้สึกนึกคิดที่ลึกซึ้งกว่าถ้อยคำดาดๆ ที่ใช้สื่อสารสนทนาในชีวิตประจำวัน เช่น เมื่อยามที่ผมได้นั่งมองดูฝนตก ผมจะมองเห็นแสงแดดได้มาชักชวนแม่น้ำให้ขึ้นไปท่องเที่ยวบนท้องฟ้าด้วยกัน โดยให้แม่น้ำแปลงร่างเป็นเมฆ และให้สายลมช่วยนำพาไป ครั้นเมื่อความคิดถึงเข้าเกาะกุมดวงใจ เหล่าก้อนเมฆจึงกลับคืนแม่น้ำ ผ่านสายฝนเหล่านั้น…ห้วงความรู้สึกนึกฝันเหล่านี้บันดาลใจให้ผมเสาะค้นคำต่างๆ และท่วงทำนองต่างๆ เพื่อจะส่งผ่านภาวะขณะนั้นๆ ให้ตัวผมและใครสักคนได้ใคร่ครวญอย่างละเลียดและละเมียดละไม

สิ่งที่ทำให้ผมยังคงเขียนบทกวี เพราะว่าผมยังไม่รู้เกี่ยวกับชีวิตอีกมากมาย ยังหลับละเมออยู่ในบาปอุบายนานา และยังคงทุกข์เศร้าอยู่ในสิ่งที่เห็นและเป็นไป

สำหรับคุณ “บทกวี” คืออะไร
“บทกวี” คือ ดอกไม้แห่งความสัมผัสรู้ที่ค่อยๆ เติบโตอยู่ข้างในชีวิตจิตวิญญาณ ครั้นเมื่อตื่นขึ้นในเช้าชีวิต – ทุกเช้าชีวิต ดอกไม้นั้นได้เบิกบานอยู่ในดวงตาพิเศษของเรา ดวงตาพิเศษที่จะสาบสูญหากเนื้อดินในเราหยาบด้านกระด้าง

คุณลักษณะของนักกวีที่ดี และต้นแบบในการเขียนหนังสือของคุณ
กวีเป็นผู้ปลุกเราด้วยถ้อยคำวิเศษ ทำให้เราตื่นขึ้นและได้ตั้งคำถามกับตัวเองอยู่เสมอว่า “เรามีชีวิตเพื่ออะไร?” กวีได้นำพาเราให้ท่องไปสู่ด้านในของชีวิตทั้งด้านมืดและสว่าง และทำให้เราตอบคำถามของตนเองในที่สุดว่า “เรามีชีวิตเพื่อสร้างสรรค์ไม่รู้สิ้น”
กวีต้นแบบของผมคือ คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

ปณิธานสูงสุดในฐานะกวีของคุณ และวันนี้ทำได้สมปณิธานนั้นหรือยัง
ปณิธานกวีของผม คือ งานเขียนกับตัวตนได้หลอมรวมเป็นน้ำเนื้อเดียวกัน ดั่งต้นไม้ที่ค่อยๆ เติบตนขึ้นโดยเรียนรู้ฤดูกาลทั้งสาม มีความรักอย่างลึกซึ้งต่อชีวิตและสามารถดำรงรักษาจิตวิญญาณไว้ได้ในท่ามกลางยุคสมัยอันเชี่ยวกรากของกระแสทุนนิยม ศาสนานิยม หรือสงครามนิยม

และตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่และยังคงเขียนอ่าน ก็เหมือนกับว่าผมได้ตั้งปณิธานทุกๆ วัน และได้ขัดเกลาความหยาบเขลาทุกๆ วัน โดยไม่รู้ว่าจะไปถึงจุดสูงสุดนั้นได้หรือไม่ แต่รู้ว่ามันไม่สิ้นสุด

วิธีการทำงานเขียนชิ้นหนึ่งของคุณเริ่มที่ไหน และจบลงที่ไหน
เมื่อมีบางสิ่งบางอย่างเข้ามากระทบใจ-สะเทือนใจ ทั้งความงดงาม ความรวดร้าว ความสว่างไสว ความหม่นหมอง หรือความรักลึกล้ำ ความเกลียดชังสุดหยั่ง ความเมตตาการุณย์ ความโหดร้ายอัปลักษณ์ฯ เมื่อสิ่งต่างๆ เหล่านี้เพรียกขานอยู่ข้างใน ผมก็จะก้าวตามมันไปจนถึงปลายทางนั้นๆ โดยซื่อตรงต่อห้วงอารมณ์และภาวะขณะนั้นๆ

สิ่งสำคัญที่สุดที่บทกวีชิ้นหนึ่งพึงมี
สิ่งสำคัญที่สุดที่บทกวีพึงมีคือความรู้สึกสัมผัสใจ  และสามารถดลบันดาลให้ใครสักคนได้ตั้งคำถามต่างๆ กับชีวิตของตนอย่างไม่รู้จบ และถ้าขาดความสัมผัสใจ บทกวีก็เป็นเพียงถ้อยคำสวยๆ ที่ร้อยเรียงกันเท่านั้นเอง

วิถีชีวิตของคุณทุกวันนี้เป็นเช่นไร ใช้เวลาช่วงไหนเขียนหนังสือเป็นหลัก
วิถีชีวิตของผมในปัจจุบันนี้ก็ไม่ต่างจากเดือนปีที่ผันผ่านมา พยายามแสวงหาความลงตัวให้มากที่สุดในการที่จะดำรงชีวิตอยู่ และทำงานเขียนตามความใฝ่ฝัน ยังคงพึ่งพิง ‘ผู้อื่น’ และ ‘ผู้อื่น’ ก็ไม่ได้กดดันคาดหวังอื่นใดกับชีวิตของผมเท่าใดนัก ลดการดื่มกินลงและว่างเว้นจากงานเลี้ยงบ้าง ออกกำลังกายเล็กๆ น้อยๆ ฝึกเขียนบันทึกทุกวัน บันทึกความรู้สึกนึกคิดเป็นบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ วางแผนเขียนนวนิยาย และกำลังจะมีรวมเล่มเรื่องสั้น “เหมือนว่าเมื่อวานนี้เอง” ออกมาในเดือนสิงหาคมนี้ นอกจากนั้นก็อาจมีโอกาสได้ออกไปสนทนากับนักเรียนนักศึกษาตามจังหวัดต่างๆ ได้ไปเยี่ยมแม่ที่บ้านเกิด และลูกสาวที่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน และยังอ่านและอ่าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับแนวคิดที่ว่า “ศิลปินต้องรับใช้สังคม” และปัจจุบันนี้ แนวคิดดังว่าดูจะเลือนรางลงไปจากแวดวงนักเขียน/กวีหรือไม่
ต้นไม้ใบหญ้าไม่เคยพูดว่ารับใช้โลก แต่คนส่วนใหญ่ก็ตระหนักได้ถึงคุณค่าที่ต้นไม้ใบหญ้ามี และผมมองว่าสังคมต่างหากที่จะรับเอาคุณค่าในงานเขียนต่างๆ ไปใช้หรือไม่ และเมื่อผมตื่นขึ้นมาในตอนเช้า ผมจะไม่พูดกับตัวเองเป็นอันขาดว่า “เอาละ, กูจะรับใช้สังคม” แต่ผมอาจจะพูดว่า “เอาละ, กูจะรับใช้ตัวกู” และผมก็ควรจะถามกลับไปด้วยไหมว่า ระหว่างการสร้างสรรค์กับการผลาญทำลาย สิ่งใดกันรับใช้สังคม

มองวงการกวีไทย
ผมยังให้ค่าต่อบทกวีและกวีอยู่เสมอ แม้ไม่ได้ยกให้บทกวีหรือกวีอยู่เหนือการงานอื่นใด แต่ก็รู้สึกปีติยินดีในดวงจิตวิญญาณทุกครั้งที่ได้อ่านได้ฟัง แม้ว่าบางห้วงยามของแวดวงกวีจะเงียบงันไปบ้างตามแต่ละสถานการณ์ต่างๆ ของสังคม ของประเทศ และของโลก  แต่ผมเชื่อว่าสถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้จะบ่มเพาะและเอื้อให้เกิดปรากฏการณ์กวีในที่สุด เพื่อจะมีบทกวีและกวีจำนวนหนึ่งในแต่ละยุคสมัย และโดยเฉพาะในยุคสมัยของทุนนิยมและการเมืองสามานย์เช่นปัจจุบันนี้ ทำไมเล่า – ทำไมจึงจะไม่มีบทกวีหรือกวี

ทัศนะต่อการจากไปของคอลัมน์ ‘คนเขียนคำ คำเขียนคน’ ในหนังสือพิมพ์คมชัดลึกที่คุณรับผิดชอบ สิ่งที่เกิดขึ้นมันสะท้อนถึงอะไร
ตั้งแต่เริ่มต้นคอลัมน์ ‘คนเขียนคำ คำเขียนคน’ ผมก็รู้สึกไม่มั่นคงอยู่แล้ว ว่าจะรักษาพื้นที่เล็กๆ แห่งนี้ไว้ได้นานเท่าใด พื้นที่เล็กๆ สำหรับบทกวีสองชิ้นต่อสัปดาห์และค่าตอบแทนเล็กน้อย (เป็นค่าบุหรี่และกาแฟ) แต่ก็รู้สึกดีงามอยู่เสมอกับปัจจุบันขณะ ที่ได้อ่านต้นฉบับงานเขียนของทุกผู้ทุกนามที่แวะผ่านเข้ามาทักทายกัน ได้มองเห็นพัฒนาการของ ‘หน้าใหม่’ หลายๆ คน  ได้ผูกพันกันด้วยถ้อยคำต่างๆ นานาจนก่อเกิดเป็นมิตรภาพ และเมื่อพื้นที่เล็กๆ นั้นหายไป ผมก็นึกถึงคำพูดของพี่ชาติ กอบจิตติ ในทำนองที่ว่าเมื่อเขาไม่มองว่ามันเป็นความศิวิไลซ์ของสังคม ของประเทศ ก็ช่างเขาเถิด…เพราะถึงอย่างไรเสีย สำหรับผู้ที่รักในบทกวีแล้ว เมื่อบทกวีเพรียกหาเขา – เขาจะก้าวเข้าไป ก็ดังเช่นบทกวีอำลาญาติมิตรของผม-
“พื้นที่ข้างนอกสิ้นไร้ พื้นที่ข้างในไพศาล
เขียนเถิดเขียนจิตวิญญาณ  เขียนเพื่อเบิกบานด้านใน –ฯ” นั้นแล…

“รางวัล” จำเป็นไหมต่อวงการวรรณกรรม และสภาพการณ์ที่มีการประกวดรางวัลผุดขึ้นมากมายในปัจจุบันมันสื่อถึงอะไร
เมื่อเรายอมรับว่าการให้กำลังใจเป็นสิ่งที่ดีงาม ดังนั้นเราก็ควรจะมองว่ารางวัลเป็นสิ่งดีงามด้วยเช่นกัน (หากว่ารางวัลนั้นๆ ไม่แฝงซ่อนความเป็นการเมืองอย่างเข้มข้น หรือเป็นเครื่องมือของใครหรือองค์กรใดอย่างน่ารังเกียจ) เพราะเท่าที่มองดูจากต่างประเทศ -หลายประเทศ เขาก็มีรางวัลต่างๆ อยู่มิน้อย แต่ปัญหาของประเทศเราน่าจะอยู่ตรงที่ว่า ไม่ว่าจะกี่รางวัล-กี่รางวัล ล้วนแล้วแต่มีคณะกรรมการตัดสินเป็นบุคคลชุดเดิมๆ ไม่กระจายออกไปในวงกว้างและไม่หลากหลาย มันจึงกลายเป็นการวิวาทะ วิพากษ์วิจารณ์ และชื่นชมยินดีกันอยู่ในวงแคบๆ สำหรับสถานการณ์ที่มีการประกวดประชันผุดขึ้นมากในปัจจุบัน อาจเป็นเพราะว่าเหล่านักเขียนเก่าใหม่ขาดไร้แรงขับจากข้างใน จึงต้องอาศัยสิ่งกระตุ้นเร้าจากข้างนอกเป็นแรงขับเคลื่อนการงาน แต่พึงรำลึกอยู่เสมอว่า สิ่งอันยืนยันมั่นคงนั้นอยู่ข้างในเรา

นับแต่อดีต วงการนักเขียนปรารถนาได้รับการสนับสนุนให้เติบโตกว่าที่เป็นอยู่ แต่ภาคส่วนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอย่างภาครัฐก็ไม่ได้ให้ความใส่ใจ ถึงตรงนี้ วงการนักเขียนควรคาดหวังอะไรจากภาครัฐอีกหรือไม่ หรือถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องยืนหยัดด้วยตัวเอง

ภาครัฐคือภาพเหมือนของประชาชน ประชาชนคือภาพเหมือนของภาครัฐ เราต่างร่วมกันสร้างภาครัฐด้วยความเขลา ก้าวกระโดด ฉาบฉวย และไร้ราก และภาครัฐก็ร่วมกันสร้างเราด้วยวิธีการเดียวกันนั้น ถึงตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับ ‘ภูมิคุ้มกัน’ ของแต่ละคนแล้วละครับ ว่าจะแข็งขืนหรือบกพร่องพ่ายพับ แต่ถึงกระนั้น ผองผู้เขียนหนังสือก็ยังได้เปรียบคนอื่นๆ อยู่ไม่ใช่น้อยไม่ใช่หรือ ในแง่ที่ว่า ผองผู้เขียนเหล่านั้นต่างมีงานเขียนเป็นสิ่งเยียวยาจิตวิญญาณ

ณ วันนี้สำหรับคุณ การเขียนหนังสือเปรียบได้กับอะไร แล้วเคยคิดที่จะเลิกเขียนไหม
การเขียนหนังสือสำหรับผมเปรียบได้กับ การได้ปลูกไม้ต้นหนึ่ง ไม้ต้นหนึ่งที่ค่อยๆ หยั่งรากลงไปในโลก เพื่อเสาะค้นสัจจะบางประการของชีวิต เพื่อจะได้ไม่รู้สึกเสียดายวันเวลาที่ล่วงผ่าน และเพื่อจะได้ดื่มด่ำกับดอกผลอันหอมหวานเหล่านั้น
และหากเลิกเขียนหนังสือ ก็คงเป็นเหมือนกับต้นไม้ที่ยืนต้น-ตายซาก

คำแนะนำถึงนักอยากเขียนกวี ว่าต้องเริ่มต้นที่จุดไหน และพัฒนาตัวเองอย่างไร
เมื่อคุณตระหนักได้ว่าสุนทรียภาพและศิลปะทั้งปวงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตจิตใจของคุณ ดังนั้นคุณจึงเริ่มต้นลงมือเขียน และสะสมต้นทุนด้วยการอ่านงานเขียนต่างๆ นานาให้มากที่สุด เพื่อค้นหาจังหวะและท่วงทำนองและทางของคุณ เขียนอย่างที่รู้สึกนึกคิด ซึ่งตรงต่ออารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงของคุณ และเป็นตัวของตัวเองให้ได้มากที่สุด

รายชื่อนักเขียนคนโปรด และรายชื่อหนังสือเล่มโปรด
คาลิล ยิบราน, พาโบล เนรูด้า, ไรเนอร์ มารีอา ริลเค, เฮอร์มานน์ เฮสเส, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, สุนทรภู่, อรุณธตี รอย, การ์เบรียล การ์เซีย มาร์เกซ, อิตาโล คาลวิโน, ฟิโอดอร์ ดอสโตเยฟกี้, สุวรรณี สุคนธา, ฟรันซ์ คาฟคา ฯลฯ

หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว, เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ, ญามิลา, ปรัชญาชีวิต, ขุนช้างขุนแผน, พี่น้องคารามาซอฟ, สิทธารถะ, วารีดุริยางค์, ต้นส้มแสนรัก, เสียงแห่งขุนเขา, จอห์นนี่ไปรบ, ไหม, ถนนจระเข้, คนโซ, ฉันกับฬา – ปลาเตโร, ความสุขแห่งชีวิต, “ย่า, อิลิโก้, อิลลาริอัน และผม” ฯลฯ
มีอีกมากมายหลายนาม – หลายเล่ม ที่ตกหล่นไปจากความจำในขณะนี้ ต้องขออภัยเป็นอย่างยิ่งครับ

——————————————————————————–

ผู้เขียน : กิติคุณ คัมภิรานนท์
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS – 272
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

You may also like...