James Wines

 

เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศร้อนๆ ที่ร้อนทั้งกระแส (โลกร้อนฟีเวอร์) และร้อนแบบจริงๆ (ก็โลกร้อนนั่นแหละ) Designer @ Home ฉบับนี้จึงขอหยิบยกชื่อสถาปนิกนักออกแบบในสาขาห่วงใยสิ่งแวดล้อมผู้รังสรรค์สถาปัตยกรรมในรูปแบบ Green Architecture หรือสถาปัตยกรรมสีเขียว ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมาเป็นอันดับแรก แทนที่จะเป็นปัจจัยทางภูมิสถาปัตย์ด้านอื่นๆ มานำเสนอแก่ผู้อ่านทุกท่าน เขาคนนั้นชื่อ James Wines

James Wines (1932) เป็นสถาปนิกชาวอเมริกันที่เชี่ยวชาญในสาขา Environmental Design หรือการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์และนักการศึกษาในตัวคนเดียว ด้วยความรู้และประสบการณ์เกี่ยวแก่แขนงการออกแบบในสายงานของตน ทำให้ James สามารถรังสรรค์ผลงานสถาปัตยกรรมในแนวทางเพื่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างโดดเด่นและน่าสนใจรวมแล้วกว่า 150 ที่ จนได้รับคำชื่นชมจากแวดวงสถาปนิกโลกและคนทั่วไปไม่น้อย ผลงานที่สร้างชื่อให้กับเขา อาทิ Ghost Parking Lot (Connecticut, 1978), Forest Building (Virginia, 1980), Four Continents Bridge (Hiroshima Japan, 1989) เป็นต้น

Green Architecture หรือ สถาปัตยกรรมสีเขียว เป็นแนวทางที่ James ศรัทธาและยึดมั่นมาโดยตลอด โดยปรัชญาของสถาปัตยกรรมสีเขียว ก็คือ งานสถาปัตยกรรมที่คำนึงถึงระบบนิเวศน์ของสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของธรรมชาติ สถาปัตยกรรมในแนวทางนี้มีเป้าหมายการออกแบบโดยมุ่งหวังให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ มีผลดีต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย สถาปัตยกรรมสีเขียวส่วนใหญ่จึงมักเป็นไปในรูปแบบเหมือนต้นไม้งอกในป่าใหญ่ คือไม่ได้ถางสิ่งแวดล้อมรอบข้างเพื่อปลูกสร้างสถาปัตยกรรม หากแต่นำสถาปัตยกรรมเข้าไปผสานรวมไว้ในสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับปัจจัย 5 ประการ คือ
 

ระบบนิเวศน์ของอาคาร (Building Ecology) โดยเลือกใช้วัสดุที่ไม่มีผลข้างเคียงต่อการอยู่อาศัย รวมไปถึงมีระบบระบายอากาศทั้งแบบธรรมชาติและเครื่องจักรกล ออกแบบให้มีการหมุนเวียนเอาอากาศบริสุทธิ์เข้ามาในอาคารมากที่สุด และลดภาวะที่จะทำให้เกิดเชื้อราหรือความเหม็นอับให้น้อยที่สุด

ประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน (Energy Efficiency) โดยออกแบบให้อาคารสามารถใช้ประโยชน์จากพลังงานธรรมชาติ เพื่อลดภาระการผลิตพลังงานบนโลก

วัสดุ (Materials) โดยเลือกใช้วัสดุในการก่อสร้างที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ ไม่ใช้ไม้เพื่อที่จะได้ไม่ต้องตัดไม้ หรือหลีกเลี่ยงวัสดุบางอย่างที่อาจได้มาโดยกระบวนการที่สร้างมลภาวะให้กับโลก เป็นต้น
 

รูปทรงอาคาร (Building Form) โดยออกแบบรูปทรงอาคารให้เอื้อต่อการลดการใช้ทรัพยากรและพลังงานในอาคาร รวมถึงให้สอดคล้องกับสภาพท้องถิ่นหรือธรรมชาติโดยรอบ

การออกแบบอาคารโดยรวมที่ดี (Good Design) โดยคำนึงถึงผลที่จะเกิดหลังจากสิ่งก่อสร้างนั้นๆ เสร็จแล้ว อาทิ อาคารที่คงทนถาวร ง่ายต่อการใช้ คำนึงถึงการนำวัสดุเก่ากลับมาใช้ใหม่ และสวยงาม มักมีผลลัพธ์ที่ดี เช่น ต้องการพลังงานน้อยลง ซ่อมบำรุงน้อย และคุณค่าเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา กลายเป็นสถาปัตยกรรมที่ยั่งยืนในที่สุด

ทั้งหมดทั้งมวล คือ แนวทางที่ James รวมไปถึง Green Architect คนอื่นๆ ให้ความสำคัญ ไม่ใช่อื่นใด หากเพื่อหลอมรวมมนุษย์เข้ากับธรรมชาติ ไม่ทำลายล้างธรรมชาติเพื่อแสดงศักยภาพแห่งการสร้างสรรค์ของตนอย่างไม่ลืมหูลืมตา และเหนืออื่นใด ก็เพื่อโลกใบนี้จะได้บอบช้ำน้อยลง กระทั่งเย็นลงเป็นโลกใบสดใสให้เราได้อยู่อาศัยอย่างมีความสุขชั่วลูกชั่วหลานนั่นเอง

——————————————————————————–

httP://www.artbangkok.com
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของ ArtBangkok.com ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

You may also like...