บินหลา สันกาลาคีรี

นักเขียนรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี พ.ศ. 2548  บินหลา สันกาลาคีรี

18 ม.ค. 2550 ผมมีโอกาสไปร่วมงานเสวนาและเปิดตัวหนังสือ “ใบไม้ใบสุดท้าย” ผลงานของบุนเสิน แสงมะนี ที่ได้รับรางวัลซีไรต์ประจำปี 2005 ของประเทศลาว ซึ่งจัดขึ้น ณ ศูนย์การเรียนรู้ วังจันทรเกษม กระทรวงศึกษาธิการ ภายในงาน ผมได้พบกับพี่บินหลา สันกาลาคีรี ที่ให้เกียรติมาเป็นวิทยากรในงาน

สบโอกาสผมจึงขออนุญาตสัมภาษณ์พี่บินหลาเพื่อนำมาลงตีพิมพ์ในคอลัมน์ Thai Writer นี้ แต่ด้วยความขัดข้องหลายประการ ทำให้ในที่สุดการสัมภาษณ์ก็มีอันต้องเลิกล้มไป

เดือนนี้ มิถุนายน 2551 ผมถือโอกาสหลังจากปิดต้นฉบับ เคลียร์ข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์ประจำสำนักงาน แล้วก็ได้พบไฟล์เสียงที่ผมบันทึกไว้ในงานดังกล่าว ทั้งในช่วงของการเสวนาและช่วงที่มีโอกาสนั่งสังเกตการณ์การสนทนาของพี่บินหลากับคณะนักเรียนจากโรงเรียนเทพลีลาที่นำโดยท่านอาจารย์นัยนา จิตรรังสรรค์ ซึ่งมีถ้อยคำของพี่บินหลามากมายเหลือเกินที่จะน่าเสียดายมากหากปล่อยให้คงค้างอยู่แต่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของผม

โอกาสอันดี ผมจึงถอดเทป ร้อยเรียงบทสนทนาที่มีพี่บินหลาเป็นแกนนำ นำมาเรียบเรียงไว้คอลัมน์ Thai Writer ฉบับนี้ ตามที่เคยได้ขออนุญาตพี่บินหลาไว้ในวันเวลานั้นแล้วว่าอาจจะขอถอดเทปมาเผยแพร่ เผื่อจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจ

“ก็เอาตามสบาย…” คือคำตอบของพี่บินหลา
ผมก็เลยจัดให้…

บินหลา สันกาลาคีรี เป็นนามปากกาของ วุฒิชาติ ชุ่มสนิท นักเขียนชาวชุมพรที่ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่เชียงใหม่ บินหลาเคยเป็นทั้งนักข่าวหนังสือพิมพ์ หัวหน้ากองบรรณาธิการ จนกระทั่งท้ายสุดตัดสินใจลาออกมาเป็นนักเขียนเต็มตัว มีผลงานการเขียนหลากหลาย ทั้งเรื่องสั้น นิยาย วรรณกรรมเยาวชน และสารคดีท่องเที่ยว แต่ผลงานที่สร้างชื่อให้เขาที่สุดก็คือรวมเรื่องสั้น “เจ้าหงิญ” ที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี พ.ศ. 2548

ก่อนจะมาเป็นนักเขียนซีไรต์
ผมเคยเป็นนักข่าวมาก่อนครับ ตอนเด็กๆ ก่อนจะเรียนมหาวิทยาลัย มีอาชีพในฝันอยู่ 3 อาชีพ 1.คือผมอยากเป็นนักข่าว 2.คือผมอยากเป็นนักโบราณคดี นักโบราณคดีที่เป็นครูด้วยนะครับ และ 3.คือผมอยากไปทำงานที่ซาอุฯ (ยิ้ม) ขุดทอง คือช่วงนั้นเป็นช่วงที่แรงงานไทยไปซาอุฯ เยอะมาก (เน้นเสียง) แล้วก็จะมีปัญหาเรื่องโดนกดขี่ข่มเหง ผมก็รู้สึก โห…ถ้าผมไปนะ ผมต้องช่วยคนอื่นได้เยอะเลย ผมต้องเป็นตัวเชื่อมระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างได้ดี อะไรประมาณนี้ ฟุ้งซ่านไปเรื่อย กระทั่งผมไปเป็นนักข่าว ถึงได้รู้ว่านักข่าวกับนักเขียนไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ตอนแรกผมคิดว่าก็ใช้ปากกาเหมือนกัน แต่มันไม่เหมือนกันเสียทีเดียว จนถึงจุดที่ทำข่าวไปได้ระยะหนึ่ง ผมรู้สึกว่าพอแล้ว ผมอยากเป็นนักเขียน ก็เลยเปลี่ยน

นิยามคำว่า “เรื่องสั้น”
ผมคิดว่าเรื่องสั้นก็คือเพลง เนื่องจากเรื่องสั้นมันชื่อว่าเรื่องสั้น แต่อาณาจักรหรือวงศ์คำจำกัดความของมันผมว่ากว้างมากพอๆ กับเพลง เพลงก็มีหลายชนิด เพลงแจ๊ซกับเพลงรำวงแทบจะตรงกันข้ามเลย แต่มันก็ยังเป็นเพลง ผมรู้สึกว่าเรื่องสั้นก็คือเพลง เพลงบรรเลงก็อาจจะเหมือนกับเรื่องสั้น Abstract เรื่องสั้นนามธรรมที่คนอ่านก็ตีความหมายต่างกันไป เป็นต้น

กว่าจะเป็นงานเขียนชิ้นหนึ่ง
อย่างแรกคือผมอยากจะพูดอะไร เหมือนกับทุกคนน่ะครับที่เห็นอะไรบางอย่างแล้วรู้สึกว่าเราคิดอะไรกับมัน แล้วเราอยากจะบอกคนอื่นว่าเราคิดอะไร นี่คือแรงบันดาลใจ
อย่างที่ 2 ก็คือ หลังจากที่ผมคิดว่าผมจะพูดอะไรแล้ว ผมก็คิดต่ออีก 2 ข้อ

ข้อ 1.คือผมจะพูดด้วยวิธีไหน หมายถึงว่าสมมติมีเรื่องกับพ่อแม่ เราก็ต้องคิดว่าเราจะพูดกับพ่อแม่ยังไง เช่นเดียวกัน ถ้าไปพูดกับเพื่อน เราก็จะพูดด้วยอีกวิธีหนึ่ง เราพูดกับน้องเราก็ใช้อีกวิธีหนึ่ง เพราะฉะนั้นวิธีที่จะพูดนี่ต้องพูดให้ดี พูดกับพ่อแม่ก็ต้องหามุม วิธีที่จะพูด

ส่วนข้อที่ 2.ก็คือว่า ผมเชื่อมาตลอดว่าทุกวันนี้หนังสือขยะมันเยอะ แล้วไม่มีร้านหนังสือไหนเลยที่จะบรรจุหนังสือได้หมด ถ้าคุณยังตั้งหน้าตั้งตาส่งขยะออกมา มันก็คือการเพิ่มปริมาณขยะนั่นเอง ฉะนั้นก่อนที่ผมจะเขียน ผมต้องเชื่อก่อนว่าที่ผมกำลังจะเขียนนี้จะไม่ใช่ขยะ หมายถึงว่า 1.คือมันต้องไม่ใช่สิ่งที่ทำให้สังคมเลวร้ายลง 2.คือไม่ใช่สิ่งที่ดาษๆ ดื่นๆ ทั่วไป หลังจากผมเชื่อแล้ว ผมก็จะเริ่มเขียน

ระหว่างการเขียน
ผมมีปัญหาสุขภาพนิดหน่อย คือหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน หมอห้ามผมขี่จักรยาน ผมก็ลองเดินขึ้นภูเขาดู ทีนี้การเดินขึ้นภูเขานี่คนผอมๆ ก็เหนื่อยแล้ว แต่ผมน่ะยิ่งแย่ใหญ่เลย คือเดินขึ้นไม่ค่อยรอด แต่ก็พยายามเดิน แต่ว่าพอถึงยอดภูเขา หรือถึงกลางทางนี่ผมจะมีความสุขชนิดที่ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองจะมีความสุขขนาดนี้ การเขียนหนังสือก็เหมือนกันครับ พอมันเขียนถึงจุดหนึ่ง คือเขียนได้อย่างที่ตัวเองอยากเขียนแล้ว มันมีความสุขมาก (เน้นเสียง) เหมือนการขึ้นภูเขา แต่กว่าจะถึงตรงนั้นมันเหนื่อยเหมือนกัน ผมเป็นคนที่เขียนหนังสือทุกวัน วันหนึ่งประมาณ 4-5 หน้า แต่ผมมีหนังสือน้อยมาก บางปีมีเล่มเดียว บางปีไม่มีเลย เพราะว่า 4-5 หน้าที่ผมเขียนนั้นไม่ได้ถูกนำไปใช้ บางทีผมเขียนเสร็จแล้วอีกเดือนผมก็ขยำทิ้ง เพราะมันไม่ดี แล้วผมก็เขียนใหม่ เพราะฉะนั้นมันก็จะเขียนเยอะมากกว่าที่จะได้ ก็เหมือนกับการเดินขึ้นภูเขา มันก็ยาก มันก็เหนื่อย แต่เวลาพอถึงบนนั้นแล้วมันสนุก มันอยากจะตะโกนบอกคนว่ามันสนุกแค่ไหน

อุปสรรคที่ชื่อสิ่งแวดล้อม
สภาพแวดล้อมมีส่วนเยอะมากครับ เยอะมาก (เน้นเสียง) แล้วจะลดลงเรื่อยๆ คือในตอนแรกที่คุณยังไม่นิ่ง สภาพแวดล้อมมันจะมีผลเยอะมาก แต่เมื่อไหร่ที่คุณนิ่งแล้ว ทุกอย่างจะลดลงๆ จนเหลือที่ตัวคุณนั่นแหละ ถ้าผมพูดแบบหนังจีนหน่อยๆ ก็คือว่าถ้าคุณเพิ่งหัดใช้ดาบ คุณได้กระบี่เทพยิ่งดี ถ้าคุณใช้กระบี่สังกะสีคุณก็สู้แพ้ ถ้าคุณได้กระบี่เทพคุณก็อาจสู้ชนะได้ ก็คือสิ่งแวดล้อมนั่นแหละ แต่พอคุณแก่กล้าแล้ว กระบี่เทพก็ไม่สำคัญแล้ว กิ่งไม้ก็ได้ หรือไม่มีอะไรยังได้เลย เพราะฉะนั้นสิ่งแวดล้อมผมคิดว่าสำคัญมากๆ เลย แต่ว่าพอพ้นจังหวะหนึ่งไปแล้วมันก็จะลดความสำคัญลง ตัวคุณจะเหนือกว่าสิ่งแวดล้อม เหมือนนักเขียนใหญ่ๆ หลายท่านที่ทำงานท่ามกลางโรงพิมพ์ เสียงตอกเสียงอะไรดังไปหมด ท่านก็ยังทำงานได้ นั่นคือท่านนิ่งแล้ว

อุปสรรคที่ชื่อ “คิดไม่ออก”
คิดไม่ออกไม่มีนะครับ แต่ปัญหาคือมันไม่ได้ดังใจ คือคิดออกครับแต่ทำไม่ได้ ซึ่งเป็นปัญหามาก ผมคิดว่านี่เป็นปัญหาใหญ่ของนักเขียน คือเวลาคิดอยู่ในหัวนะ มันจะต้องเป็นเรื่องที่ดีที่สุดในโลกแน่ๆ เลยว่ะ สุดยอด แต่พอเขียนออกมา ทำไมมันถึงห่วยอย่างนี้วะ (หัวเราะ) อย่างนี้เกิดขึ้นบ่อยครับ

นักเขียนคนโปรด หนังสือเล่มโปรด
มีมากเลยครับ ผมหลายใจ (ยิ้ม) คือนักเขียนในดวงใจของผมจะเปลี่ยนไปตามยุคตามเวลา หนังสือบางเล่มพอเราอ่านตอนอายุเท่านี้ประทับใจ พอโตขึ้นเราอ่านใหม่อาจจะไม่ประทับใจ ก็เปลี่ยน แต่บางเล่มอ่านตอนอายุยังน้อยแล้วประทับใจ ยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งประทับใจ ผมเคยจัดนักเขียนในดวงใจผมไว้เล่นๆ ปรากฏว่า 30 กว่าคนแล้วยังไม่หมดเลย ทำไมเยอะจัง (พูดกลั้วหัวเราะ) แต่ผมจะยกตัวอย่าง 2 เล่มที่ผมอ่านบ่อยที่สุดในชีวิต เล่มหนึ่งคือ “สงครามและสันติภาพ” ของ ลีโอ ตอลสตอย อีกเล่มคือขุนช้างขุนแผน

ผมเป็นลูกครูภาษาไทย และเป็นครูภาษาไทยที่ยากจนด้วย เพราะฉะนั้นผมไม่มีของเล่น แต่บ้านผมหนังสือเยอะมาก ผมโตมากับหนังสือ บ้านผมไม่มีแม้กระทั่งทีวี ผมก็อ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก ตอนเด็กๆ ก็ไม่ได้อ่านเพราะว่าชอบเล่มไหนหรอก อ่านจบเล่มหนึ่งก็ไปอ่านต่ออีกเล่มหนึ่ง แต่พอโตขึ้น เรารู้จักแยกว่าอันไหนของเขียนยาก อันไหนของเขียนง่าย ตอนเด็กๆ ผมสบประมาทขุนช้างขุนแผนมาก ผมรู้สึกว่าผมอยากเขียนลิลิตพระลอ เพราะคำว่าลิลิตนี่มันประกอบด้วยการเขียนแบบโคลง แบบร่าย ผมอยากเขียนคำฉันท์ เพราะคำฉันท์นี่โคตรจะยาก (เน้นเสียง) ผมไม่อยากเขียนกลอนเลย เพราะกลอนมันโคตรจะง่าย เพราะฉะนั้นขุนช้างขุนแผนนี่ ผมอ่านแล้วง่าย ผมไม่เขียน ผมไม่ชอบ แต่ว่า เอ๊ะ…ทำไมเราอ่านบ่อยจังเลยวะ ง่ายๆ แต่ว่าอ่านบ่อยจังเลย พอเราโตขึ้น เราหลุดพ้นจากเรื่องของการโอ้อวดแล้วว่าเก่งไม่เก่ง อ่านถึงเนื้อหา อ่านถึงข้างในแล้ว เราถึงรู้ว่าขุนช้างขุนแผนมันสุดยอดมาก มันดูเหมือนง่าย แต่ยาก เพราะมันเป็นหนังสือที่พูดถึงข้างในของมนุษย์อย่างถึงแก่น ในตัวขุนช้าง ขุนแผน วันทอง ไม่มีตัวไหนดีเหมือนเทวดาเลย มีความเลวอยู่ในตัวทุกคน และไม่มีตัวไหนเลวแบบไม่ใช่คน มีความดีอยู่ทุกตัวเลย มีความกลมกลืนของชีวิต มีทั้งความดี มีทั้งความเลว มีความเป็นปุถุชน เพราะฉะนั้นนี่คืองานระดับที่ตีแผ่มนุษย์ของคนไทย

หนังสือซีไรต์
ผมอยากยืนยันนะครับ ว่าซีไรต์เป็นหนังสือเล่มเดียว ถ้าคุณจะอ่านเพื่อสอบก็เรื่องของคุณ แต่ถ้าจะอ่านเพื่อให้ชีวิตมันเต็ม อ่านเยอะๆ อย่าไปอ่านแต่ซีไรต์

มองตัวเองหลังได้ซีไรต์
ผมรู้สึกว่าผมยังอยู่ในขั้นพื้นฐานนะครับ คือพอเราออกไปสู่โลกที่มันกว้างขึ้นๆ เรายิ่งเห็นความสุดยอดของหนังสือในโลกนี้ เห็นความลึกซึ้งของหนังสือมากเลย ผมเป็นคนที่ไม่ถ่อมตัวนะครับ แต่ถ้าเทียบหนังสือของผมกับหนังสือที่ผมอ่าน ผมรู้สึกว่าผมยังไม่ขึ้นบันไดก้าวแรกด้วยซ้ำ ถ้าหนังสือในโลกนี้มีคะแนนสัก 10 คะแนน หนังสือผมยังไม่ถึง 1 คะแนนเลยตอนนี้ เพราะฉะนั้นผมไม่มีความรู้สึกว่าผมถึงขั้นไหนแล้ว แต่ผมจะมีความกระหาย กระหายที่จะทำให้ได้คะแนนมากกว่านี้

จินตนาการกับความรู้
ที่ถูกพูดถึงมากคือคำพูดของไอสไตน์ ที่บอกว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” แต่ผมมีความเห็นอย่างนี้ครับ ว่าอย่าลืมว่าคนพูดคือไอสไตน์ อย่าลืมว่าคนที่พูดน่ะโคตรจะมีความรู้เลย สำหรับผมผมมองว่าจินตนาการกับความรู้มันเหมือนขนมชั้น เป็นสีขาวกับสีเขียว ฐานของมันคือจินตนาการ สมมติว่าคือเขียว ขาวคือความรู้ ถ้าคุณไม่มีจินตนาการ คุณสร้างความรู้ขั้นต้นไม่ได้ แต่ (เน้นเสียง) พอคุณสร้างความรู้ได้แล้ว คุณจะต่อความรู้นั้นไม่ได้ถ้าคุณไม่มีจินตนาการ ดังนั้นผมมองว่าจินตนาการกับความรู้แยกกันไม่ออก จินตนาการเป็นตัวทำให้เกิดการค้นหาความรู้ และความรู้จะเป็นตัวต่อ เป็นตัวฐานทำให้เกิดจินตนาการขั้นต่อไป 2 ส่วนนี้คุณต้องพัฒนาร่วมกันเสมอ
ผมเคยเขียนเรื่องนกกับปลาบินชนกันกลางอากาศ โคตรจินตนาการเลย นกกับปลาบินชนกันได้ยังไงวะ แต่ผมเคยเห็น จะมองว่าผมมีจินตนาการก็ได้ จะมองว่าผมมีความรู้ก็ได้ แต่ที่สำคัญคือว่ามันให้อะไรผม ไม่ใช่แค่เห็นแล้วก็ตื่นเต้น แต่มันต้องทำให้ผมเกิดปัญญา นั่นคือหัวใจของมัน คือหัวใจของความรู้ หัวใจของจินตนาการ ปัญญาคืออะไร ปัญญาคือสิ่งที่ทำให้เราไม่ทุกข์ ทุกข์คืออวิชชา อวิชชาแปลง่ายๆ ก็คือไม่รู้ ถ้ารู้ก็ไม่ทุกข์ แต่จะรู้ก็คือปัญญา ปัญญาก็มาจากจินตนาการบวกความรู้ ประสบการณ์ก็คือความรู้ เพราะฉะนั้นคนที่มีประสบการณ์เยอะๆ ก็จะมีฐานความรู้เยอะ แต่คุณจะพัฒนามันไปข้างหน้าได้ยังไง อย่างเช่นคุณเดินถนนสายหนึ่งทุกวัน ตรงนั้นมีท่ออยู่ คุณเคยตกท่อ คุณก็รู้แล้ว นี่คือประสบการณ์คุณ เพราะฉะนั้นคุณก็จะไม่เดินให้ตกท่ออีก คุณจะอ้อมท่อ แต่ถ้าเกิดคุณมีจินตนาการต่อ ถ้าคนที่เดินตามมาข้างหลังไม่รู้ก็เดินตกท่อได้ ความรู้คุณผสมจินตนาการ คุณก็อาจจะสร้างฝาท่อปิด แทนที่คุณจะเดินอ้อมท่อ เพราะว่านอกจากป้องกันไม่ให้ตัวคุณเองตกท่อแล้ว ยังป้องกันไม่ให้คนอื่นที่เดินตามมาตกด้วย นี่แหละคือปัญญา หลังจากคุณมีความรู้ ถ้าเกิดคุณไม่มีจินตนาการเพื่อคนอื่น คุณก็เห็นแต่ตัวเอง คุณก็เดินอ้อมท่อทุกวัน คุณไม่ตกท่อแน่ๆ แต่เกิดอะไรกับคนอื่นคุณไม่รู้ อันนี้ก็ไม่ดี

การอ่าน
ผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือ เวลาผมอ่านหนังสือผมอ่าน 3 ครั้งนะครับถ้าเป็นหนังสือที่ผมชอบ ถ้าอ่านแล้วไม่ชอบผมอ่านจบแล้วก็ลืม ถ้าผมชอบผมจะอ่านครั้งที่ 2 คืออ่านในมุมของนักวิจารณ์ เพื่อจะดูจุดเด่นหรือจุดด้อยของหนังสือเล่มนั้น แล้วถ้าผมชอบมากๆ ผมจะอ่านครั้งที่ 3 คืออ่านแบบนักเขียน หรืออ่านเพื่อจะดูว่าอะไรเป็นจุดที่นำไปสู่จุดเด่น จุดตรงไหนที่ผู้เขียนเริ่มจะหลอกผม และเริ่มจะทำให้ผมประทับใจ เอาง่ายๆ ก็คือว่าอ่านครั้งที่ 2 กำลังจะเห็นยอดภูเขาที่มีความประทับใจ แต่ครั้งที่ 3 ผมจะอ่านเพื่อมองดูว่ากว่าจะไปถึงยอดนี่ผู้เขียนเริ่มตรงไหน หาจุดที่เริ่มสร้างกระบวนการนำผู้อ่านไปสู่ความประทับใจ เป็นการอ่านเพื่อศึกษา ผมใช้คำว่าอ่านเพื่อเวลาที่ผมจะขึ้นชกด้วยผมจะได้รู้เขารู้เรา

พูดถึงการอ่าน มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ผมอยากจะฝาก คือผมเป็นคนที่ไม่เคยเชื่อว่าเด็กไทยไม่อ่านหนังสือ ผมไม่เชื่อ ปัญหาของเด็กไทยที่ผมรู้สึกคือไม่ใช่ไม่อ่านหนังสือ แต่ว่าอ่านผิดเล่ม ซึ่งเป็นปัญหาของผมเหมือนกัน เวลาผมเข้าไปร้านหนังสือ ผมหาหนังสือที่ถูกเล่มไม่ค่อยเจอ ขยะมันเยอะครับ…ขยะมันเยอะ ผมว่าการอ่านผิดเล่มนี่อันตรายยิ่งกว่าการไม่ได้อ่านเสียอีก ผมเชื่อว่าคนอย่างอดีตนายกทักษิณไม่ใช่คนไม่อ่านหนังสือนะครับ แต่ท่านอ่านผิดเล่ม มันนำไปสู่อะไรอีกเยอะ คือหนังสือมันเป็นธุรกิจ ทุกคนพยายามดิ้นรนที่จะอยู่รอดทางธุรกิจ เพราะฉะนั้นบางทีการพิมพ์ผิดเล่มก็เป็นการเจตนาเพราะว่ามันขายดีกว่า ผมไม่สามารถเรียกร้องสำนักพิมพ์ได้ ผมไม่สามารถเรียกร้องคนเขียนหนังสือได้ แต่ผมคิดว่าเราเป็นคนที่อ่านหนังสือด้วยกัน เราต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน ผมคิดว่าการกำจัดขยะออกจากร้านหนังสือก็ต้องทำที่คนอ่านนั่นแหละ เมื่อไหร่ที่หนังสือเลวๆ ไม่ถูกซื้อไป หนังสือเลวๆ ก็จะถูกพิมพ์น้อยลง เมื่อไหร่ที่หนังสือเลวๆ ถูกพิมพ์น้อยลง หนังสือดีๆ ก็จะมีโอกาสวางให้เห็นชัดมากขึ้น เพราะไม่มีร้านหนังสือไหนในเมืองไทย กระทั่งในโลกที่จะบรรจุหนังสือได้หมดทุกสำนักพิมพ์ เพราะอย่างนั้นเราก็เลยจะเจอแต่นี่แหละครับ เขาก็ต้องเอาหนังสือที่ขายดีมาวางไว้ก่อน แต่เมื่อไหร่ที่หนังสือพวกนี้ถูกกำจัดไปแล้ว หนังสือดีๆ ก็จะมีที่ทางมากขึ้น ไม่อย่างนั้นเราก็ต้องสร้างร้านหนังสือที่ใหญ่ขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ ผมเชื่อว่าดีไม่ดีตอนนี้ร้านหนังสือในประเทศไทยอาจจะใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้แล้วก็ได้นะครับ ร้านหนังสือสิงคโปร์ที่ว่าใหญ่ๆ ตอนนี้ก็เล็กกว่าประเทศไทย ร้านหนังสือเกาหลีที่ว่าใหญ่ๆ ก็เล็กกว่าประเทศไทย แต่ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าหนังสือดีๆ ในร้านหนังสือประเทศไทยมีมากกว่าร้านหนังสือของประเทศอื่นๆ หรือเปล่า ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ผู้อ่านต้องทำ ในเมื่อเราแยกขยะในบ้านได้ เราก็ต้องแยกขยะในร้านหนังสือได้ แล้วมันจะนำไปสู่สังคมที่ดี อย่างที่คุณบุนเสินว่า สังคมไหนที่ครูไม่ดี คุณจะหาลูกศิษย์ดีได้อย่างไร เช่นกัน ในเมื่อหนังสือไม่ดี คุณจะหาคนที่มีคุณภาพดีได้อย่างไร คุณเสพขยะเข้าไป คุณก็เป็นขยะ

นักอ่าน
มีหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมขอยกตัวอย่าง ชื่อ “นาร์ซิสซัสกับโกลด์มุนด์” (Narziss und Goldmund หรือ Narcissus and Goldmund (1930) ผลงานของ แฮร์มัน เฮสเส นักเขียนโนเบลชาวเยอรมัน-สวิส) เป็นหนังสือที่ค่อนข้างอ่านยาก ผมอ่านตอนอยู่ปี 1 จุฬาฯ เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว อ่านแล้วต้องเดินถือหนังสือไปทั้งคณะเพื่อให้ทุกคนรู้ว่าผมอ่าน มันเท่มากที่ผมอ่านนาร์ซิสซัสกับโกลด์มุนด์ มันสุดยอดมาก อีก 10 ปีต่อมาผมหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่าน แล้วก็พบว่าตอนอยู่ปี 1 ผมไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย ผมสักแต่ว่าอ่าน เพราะว่ามันเท่ดี ผมก็รู้แล้วละ อ๋อ…นี่ผู้เขียนต้องการอย่างนี้นี่หว่า จนเมื่อไม่นานมานี้ ผมหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านอีกครั้ง แล้วก็พบว่าตอนผมอายุ 30 ผมก็รู้จักหนังสือเล่มนี้ไม่ถึงครึ่ง คือมันมีความละเอียด มีความซับซ้อน

ผมอยากจะบอกว่า ไม่ใช่ความผิดหรือไม่ใช่ความผิดปกติถ้าอ่านหนังสือเล่มหนึ่งเมื่อเวลาหนึ่งแล้วได้อย่างหนึ่ง แล้วพออ่านใหม่ได้อีกอย่างหนึ่ง ตกลงผู้เขียนจะเขียนอะไรกันแน่? บางทีไม่ได้เป็นปัญหาของผู้เขียนเลย เป็นสิ่งที่ผู้อ่านได้รับต่างหาก

ห้องสมุด
ตอนนี้ในรถผมจะเต็มไปด้วยหนังสือ เวลาผมขับรถจากเชียงใหม่มากรุงเทพฯ ผมจะแวะโรงเรียนแถวสิงห์บุรี แถวอ่างทองที่โรงเรียนโดนน้ำท่วม ห้องสมุดเสียหาย เพื่อบริจาคหนังสือให้ แต่เวลาที่คนเอาหนังสือมาฝากผมบริจาค ผมบอกว่าผมไม่รับหนังสือที่คุณไม่อ่านนะ คุณเอาหนังสือที่คุณไม่อ่านมาให้ผมไปช่วยบริจาคต่อนี่ผมโยนทิ้งต่อเลยนะ ผมบอกว่าการโยนหนังสือออกนอกหน้าต่างรถนี่เป็นการกระทำที่เลวร้ายนะครับ แต่มันเลวร้ายน้อยกว่าการเอาไปให้เด็กอ่านต่อ หลายคนชอบเอาหนังสือที่ตัวเองไม่อ่านไปบริจาคห้องสมุด ผมว่าคุณเอาไปเผายังมีประโยชน์กว่า มันเป็นการส่งยาพิษ ส่งสิ่งที่คุณไม่รับ เอาไปบริจาคเพื่อความรู้สึกดีๆ ข้างในคุณ แต่มันสร้างปัญหาให้คนอื่น

การสนับสนุนวงการวรรณกรรม
ประสบการณ์สั้นๆ เมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ. 2549) ก็คือว่า ผมได้ไปอยู่เกาหลี 6 เดือนด้วยทุนของรัฐบาลเกาหลี หน้าที่ของผมที่ไปอยู่ที่นั่นก็คือไปอ่านหนังสือเกาหลี 6 เล่ม แล้ววิจารณ์ให้เขาฟัง แค่นั้นเอง แต่ที่ผมสนใจก็คือว่าที่เกาหลีตอนนี้รัฐบาลเขาตั้งหน่วยงานขึ้นมา เป็นหน่วยงานชื่อว่าสถาบันการแปล เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ว่าไม่ได้เป็นข้าราชการ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หน้าที่ของหน่วยงานนี้ก็คือว่า เนื่องจากเกาหลีเชื่อว่าตัวเองมีของดีเยอะ แต่โลกรู้จักเกาหลีน้อย แล้วโลกก็จะแปลเฉพาะขยะเกาหลีเพราะมันขายได้ ฉะนั้นหน่วยงานนี้ก็จะมารองรับวรรณกรรมเกาหลีที่ประเทศตนเองเชื่อว่าดีพอ และอยากให้โลกรู้จัก หน่วยงานนี้มีหน้าที่แปลหนังสือเป็นภาษาอื่นๆ เป็นภาษาทั่วไปประมาณ 20 ภาษา

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเกาหลีเขาประกาศชัด เขาเชื่อว่าทศวรรษนี้ทรัพยากรธรรมชาติเขาขายไม่ได้แล้ว มันหมดแล้ว สิ่งที่จะขายได้ก็คือทรัพยากรทางปัญญา คือทรัพยากรทางวัฒนธรรม ทรัพยากรทางความคิด ทางความฉลาด และผมไม่คิดว่าเกาหลีทำประเทศเดียว ผมไม่รู้นะครับ แต่ผมว่าประเทศไทยก็น่าจะทำได้

——————————————————————————–

ผู้เขียน : กิติคุณ คัมภิรานนท์
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS  269
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

You may also like...