ปิยะพร ศักดิ์เกษม

นักเขียนเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ประจำปี พ.ศ. 2543 จากนวนิยาย “รากนครา” ปิยะพร ศักดิ์เกษม นักเขียนเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ประจำปี พ.ศ. 2543  จากนวนิยาย “รากนครา” ปิยะพร ศักดิ์เกษม เป็นนามปากกาของนักเขียนหญิงที่หลงกลิ่นน้ำหมึกมาแต่วัยเด็ก โดยมีพื้นฐานจากความรักในการอ่านหนังสือ สร้างชื่อครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2533 ด้วยนวนิยาย “ตะวันทอแสง” ที่ลงพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสารสกุลไทย

จากนั้นเป็นต้นมาก็ไม่เคยว่างเว้นจากการเขียนหนังสือ ด้วยความอุตสาหะและความรัก ทำให้ปิยะพรได้รับรางวัลเกียรติยศทางวรรณกรรมมากมาย แต่ที่สร้างชื่อให้เธอที่สุด เห็นจะเป็นนวนิยายเรื่อง “รากนครา” นวนิยาย 1 ใน 6 เล่มสุดท้ายที่เข้าชิงรางวัลซีไรต์ประจำปี พ.ศ.2543

อะไรที่ทำให้คุณเริ่มเป็นนักเขียน และอะไรที่ทำให้คุณยังเป็นนักเขียน

การเป็นนักเขียนของดิฉันเริ่มต้นจากการเป็นนักอ่านมาตั้งแต่วัยเด็ก อ่านได้ทุกประเภท นิทาน นิยาย วรรณคดี สารคดี อ่านแบบไม่เลือกประเภททั้งนิยายรักไปจนกระทั่งถึงเรื่องหนักๆ อย่างโคทาน, คนขี่เสือ และเมื่ออ่านแล้วก็เป็นคนมีจินตนาการมากจนทำให้คิดต่อ เกิดทั้งความคิดและเรื่องราวใหม่ๆ ขึ้นในใจ ทำให้อยากเล่าอยากถ่ายทอดเรื่องที่เกิดขึ้นในใจนี้ด้วยการเขียน ส่วนสิ่งที่ทำให้ยังเป็นนักเขียนอยู่ทุกวันนี้ก็คือการที่ยังมีความสุขกับการอ่านการเขียนอยู่เสมอ รู้สึกว่าเรายังมีเรื่องจะเล่าจะถ่ายทอดอยู่ในหัวอีกมากมาย ความคิดของเรายังไม่หยุดนิ่ง ตราบใดที่ยังไม่หมด ก็ยังต้องถ่ายทอดออกมาด้วยการเขียน และที่สำคัญก็คือยังมีคนต้องการอ่านงานของเราอยู่

คุณลักษณะของนักเขียน และต้นแบบในการเขียนหนังสือ

นักเขียนในทัศนะของดิฉันก็คือผู้ที่รักและมีความสุขกับการเขียนการอ่านทุกเวลานาที ส่วนต้นแบบในเรื่องงานไม่อาจกล่าวได้ว่ามีใครโดยเฉพาะ นักเขียนทุกท่านที่ดิฉันได้อ่านงานล้วนเป็นรากฐานให้กับการเขียนของดิฉันทั้งสิ้น เอาเป็นว่าทุกตัวอักษรที่อ่านของนักเขียนทุกท่านก็คือเม็ดฝนที่หยดมารวมกันเป็นลำธารสายเล็กๆ ที่ชื่อ “ปิยะพร ศักดิ์เกษม” ก็แล้วกัน

 

ปณิธานสูงสุดในฐานะนักเขียน

ดิฉันเขียนหนังสือด้วยความรักไม่ใช่ความทะเยอทะยาน ปณิธานในฐานะนักเขียนของดิฉันก็คือการเขียนออกมาแล้วมีคนอ่าน เพราะฉะนั้นจึงได้สมปรารถนาไปแล้วเมื่อเรื่องที่เราเขียนปรากฏสู่สายตาของผู้คน ส่วนการที่ได้มีรวมเรื่องสั้น 1 เล่ม นวนิยาย 16 เล่ม ในจำนวนนั้นได้รับรางวัลจากคณะกรรมการหนังสือแห่งชาติ ๖ เล่ม เข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ 1 เล่ม ได้รางวัลเซเว่นบุกส์อวอร์ดอีก 1 เล่ม และเป็นละครโทรทัศน์ไปแล้ว 7 เรื่องนั้น ดิฉันถือว่าคือผลพลอยได้ล้วนๆ

แน่นอนว่าดิฉันดีใจภูมิใจที่งานของเราได้รับการยกย่องจากกรรมการซึ่งถือว่าเป็นนักอ่านคุณภาพ แต่นักอ่านทั่วไปก็มีความหมายกับดิฉันไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เสียงสะท้อนกลับมาจากผู้ที่อ่านงานของเราจริงๆ มีความหมายมาก ไม่ว่าจะเป็นการสะท้อนมาทางอีเมล์ ผ่านการพูดคุยเมื่อได้พบกันในงานต่างๆ หรือที่เป็นจดหมายหรือแฟกซ์ผ่านสำนักพิมพ์ผ่านนิตยสารที่เขียนประจำอยู่ ทุกชิ้นเมื่อมาถึงมือดิฉันจะเก็บไว้อย่างดี รวมได้หลายแฟ้มแล้วค่ะ ผู้อ่านบางคนก็บอกว่ามีความตั้งใจที่จะเป็นคนดี มั่นใจในการทำความดี เข้าใจมนุษย์มากขึ้นเมื่อได้อ่านงานของเรา บางคนก็เล่าว่าได้ผ่านประสบการณ์เลวร้ายหลายอย่างจนทำให้คิดฆ่าตัวตาย แต่ก็มีกำลังใจมากขึ้นและเปลี่ยนใจเมื่อได้อ่าน ลับแลลายเมฆ สิ่งเหล่านี้ดิฉันไม่เคยตั้งไว้เป็นปณิธานว่าจะต้องได้มา แต่เป็นสิ่งที่ผู้อ่านมอบให้ด้วยความเต็มใจเมื่อได้อ่านงานของเรา มันจึงมีค่า และยิ่งใหญ่มาก

 

สิ่งสำคัญที่สุดที่วรรณกรรมชิ้นหนึ่งพึงมี

ในทัศนะของดิฉันงานเขียนนวนิยายต้องมีทั้งสาระแง่คิดและความบันเทิงควบคู่กันไป ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ การแทรกปนสำนึกทางสังคมเราสามารถแทรกลงไปได้ในโครงเรื่องและเนื้อหาของนิยาย แต่หลักการทำงานตามความเชื่อและรสนิยมของดิฉันก็คือเมื่อแทรกเมื่อปนแล้วต้องปรุงแต่งให้กลมกล่อมน่ารับประทาน ง่ายต่อการย่อยด้วย เพราะถ้าไม่ปรุงแต่งให้สนุกอ่านง่าย เรื่องของเราก็จะมีผู้รับในวงแคบ ดิฉันไม่ได้หมายความว่าทัศนะของดิฉันคือสิ่งถูกต้องที่นักเขียนทุกคนต้องเดินตามและคือสิ่งสำคัญที่สุดที่วรรณกรรมชิ้นหนึ่งพึงมี เพียงแต่ว่านี่คือทางที่ดิฉันเลือกทำงาน ซึ่งนักเขียนทุกคนก็มีอิสระที่จะเลือกแนวทางการสร้างสรรค์งานของตัว ดิฉันเลือกทางนี้ เพราะมีความเชื่อว่าอาหารไม่ว่าจะทำจากวัสดุที่มีคุณค่าสักเท่าใด แต่ถ้าปรุงไม่ถูกปากคนส่วนใหญ่ คนส่วนใหญ่ก็ไม่มีทางได้รับสารอาหารอันดีเลิศนั้น ดิฉันจึงสร้างงานของดิฉันโดยสร้างโครงเรื่องให้สนุก เสพง่าย วรรณศิลป์งามครอบอยู่บนเนื้อหา

แต่ถึงแม้จะเลือกทำงานแนวทางนี้ ดิฉันก็ยอมรับและให้ความเคารพผู้ที่เลือกเสนองานในแนวทางอื่นเสมอ จึงหวังว่าผู้ที่เลือกทำงานในแนวทางที่แตกต่างจากดิฉันจะยอมรับและให้ความเคารพในการตัดสินใจของดิฉันเช่นกัน

 

ที่ทางและทิศทางของวรรณกรรมรักโรแมนติกของไทย

นิยายรักโรแมนติกหรือนิยายแนวชีวิตครอบครัวมีที่ทางของมันเสมอ ยังครองตลาดอยู่และจะครองต่อไปแบบ Never die ไม่ว่าจะเป็นภาษาไหนประเทศใด ตราบใดที่คนเรายังมีความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง และความฝันอยู่ ดิฉันคิดว่าคนที่พยายามปฏิเสธหรือดูถูกความรักโรแมนติกของหนุ่มสาวเป็นคนน่าขัน เพราะเหตุใดเขาจึงปฏิเสธความเป็นจริงในขั้นตอนหนึ่งของชีวิต? ในช่วงหนึ่งของชีวิตคน อารมณ์นี้มันยิ่งใหญ่กว่าภูเขา มันเป็นแรงขับให้ทำหลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างที่ไม่เคยคิดจะทำ หรือเคยคิดจะทำแต่ก็ไม่คิดว่าจะทำได้ มองออกไปรอบๆ ตัวก็จะเห็น ดิฉันพบว่านิยายรักนิยายชีวิตที่ดีๆ มีคุณค่าและประณีตงดงามมีอยู่มากมาย เรื่องเหล่านั้นไม่ได้เขียนออกมาจากความฝันเพ้อเจ้อ แต่เป็นภาพสะท้อนจากความเป็นจริงของชีวิต สะท้อนสังคมโดยมองออกมาจากหน่วยที่เล็กที่สุด และสะท้อนกิเลสตัณหาอารมณ์ลึกล้ำในใจของมนุษย์ต่างหาก

 

ทัศนะต่อ “วรรณกรรมห่วยแตก”

ดิฉันจะไม่มีวันบอกว่างานของใครชิ้นไหน “ห่วยแตก” ดิฉันคิดว่าคำพูดนี้รุนแรงเกินไป สะใจคนพูด แต่ทำลายมากกว่าสร้างสรรค์ นี่จากมุมมองของดิฉัน ในกลุ่มคนบางหมู่บางเหล่า คำนี้อาจเป็นคำสามัญที่ใครๆ ก็พูดใส่กันได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ต้องขออภัยด้วย

โดยส่วนตัวแล้วดิฉันให้เกียรติงานทุกชิ้นและผู้สร้างงานทุกคนเสมอ จริงอยู่ว่าเราอ่านเรื่องเรื่องหนึ่งแล้วอาจชอบหรือไม่ชอบก็ได้ตามแต่พื้นฐานประสบการณ์ ความคิด และรสนิยมของเรา แต่ไม่ได้หมายความว่างานที่เราไม่ชอบนั้นจะห่วย และอย่าลืมว่างานที่เราไม่ชอบนั้นอาจมีคนรักคนชอบอีกมากมาย คนที่อ่านแล้วชอบเหล่านั้นเขาห่วยหรือ เขากำลังค้นพบแง่มุมดีๆ ที่เรามองไม่เห็นต่างหาก เราต้องให้เกียรติมุมมองและรสนิยมของผู้อ่านอื่นๆ ด้วย

คนแต่ละคนก็มีแนวทางและรสนิยมที่เป็นของตัวเองและต้องแตกต่างกัน ดิฉันคิดว่าควรยอมรับและให้เกียรติในกันและกัน กรณีนี้ถ้ายกเอาคำ “ดอกไม้นานาพรรณสามารถบานได้ในอุทยานเดียวกัน” ของประธานเหมามาใช้ก็น่าจะได้นะคะ

 

มองวงการวรรณกรรมไทยเทียบกับวงการวรรณกรรมต่างประเทศ

ไม่รู้จะไปมองเทียบกับเขาทำไม และเรามองออกไป ถึงอย่างไรเราในฐานะคนนอกก็ได้เห็นแค่ส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ที่จมอยู่ใต้น้ำอีกเท่าไหร่ที่มองไม่เห็น คือดิฉันหมายความว่าเราก็จะเห็นแต่เจ เค โรลลิ่งส์ เห็นแต่แดน บราวน์ เห็นแต่สตีเวน คิงส์ แต่มีนักเขียนอีกมากมายที่เราไม่รู้จัก มีความล้มเหลวอีกมากมายที่เราไม่ได้เห็น ความจริงมีนักเขียนที่หยุดงานประจำและพยายามเขียน ผ่านขั้นตอนการกลั่นกรองต่างๆ ของสำนักพิมพ์จนหมดแล้วแต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ทำยอดขายได้ไม่กี่ร้อยเล่มมีอีกเป็นพันๆ หมื่นๆ คน ดิฉันมองว่าไทยกับเทศมีความแตกต่างกันอยู่แล้วตั้งแต่รากฐานความคิดและขั้นตอนการทำงานซึ่งมาจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมและความเชื่อ แต่ก็มีความเหมือนกันในธรรมชาติบางส่วนจากความเป็นมนุษย์ของผู้ทำงานด้วย

ส่วนของวงการวรรณกรรมไทย ดิฉันไม่ค่อยได้ออกจากบ้านไปไหน แค่ก้มหน้าทำงานของตัวกับจัดการชีวิตประจำวันก็หมดเวลาแล้ว ทำให้ไม่ค่อยรู้จักใคร เพราะไม่ชอบออกงาน ได้แต่ตามข่าวอยู่ห่างๆ หากมีกิจกรรมและดิฉันมีเวลาว่างก็จะพยายามไปร่วม โดยส่วนตัวแล้วหากไม่ติดธุระจำเป็นจริงๆ ดิฉันจะไม่ปฏิเสธการไปให้ความรู้ และถ่ายทอดประสบการณ์การเขียนในสถานศึกษาหรือกลุ่มชมรมที่สนใจ

——————————————————————————–

ผู้เขียน : กิติคุณ คัมภิรานนท์
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

 

You may also like...