มกุฏ อรฤดี

ซอยเล็กๆ ติดห้างสรรพสินค้าสุดหรูใจกลางเมือง มีรถราแล่นวุ่นวายตั้งแต่เช้าจรดเย็น เดินเข้ามาไม่ถึงอึดใจ สำนักพิมพ์ผีเสื้อตั้งอยู่เงียบๆ ภายใต้รั้วสีเขียวแข่งกับไม้ใหญ่สีเขียวดูสบายตา จากประตูกระจกหน้าอาคารมองเข้าไปด้านใน สิ่งที่เห็นสิ่งแรกคือหนังสือมากมาย

จัดวางไว้เป็นระเบียบเรียบร้อย ดูประณีตพิถีพิถัน ไม่ต่างจากหนังสือของสำนักพิมพ์แห่งนี้ที่ยังเติบโตและคงอยู่พร้อมๆ กับคุณภาพ ท่ามกลางเทคโนโลยีและความทันสมัยที่เบียดขับให้วัฒนธรรมการอ่านหนังสือเปลี่ยนไปจากเดิม แต่สำนักพิมพ์แห่งนี้กับผู้ชายคนหนึ่งก็ยังยืนหยัดไม่หลงทางตามกระแส ตามพลวัตทางวัฒนธรรมที่แข่งกันสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา หนำซ้ำเขายังพยายามผลักดันให้การอ่านหนังสือเป็น วาระแห่งชาติ มาตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี

เรารู้จักผู้ชายคนนี้กันแค่ไหน คุณมกุฏ อรฤดี บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ครูใหญ่แห่งโรงเรียนวิชาหนังสือ และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (นวนิยายและเรื่องสั้น) ประจำปี 2555

ผมเกิดที่อำเภอเทพา อำเภอเล็กๆ ของจังหวัดสงขลา พ่อแม่รับซื้อยางพารา ครอบครัวมีอันจะกินตามสมควร ชั้นประถมเริ่มเรียนโรงเรียนในอำเภอ โรงเรียนบ้านเทพา เป็นโรงเรียนประชาบาลเล็กๆ เมื่อจบชั้นประถม 4 ก็ถูกส่งไปอยู่โรงเรียนประจำในเมือง อำเภอหาดใหญ่ ชื่อแสงทองวิทยา เป็นโรงเรียนประจำของมิชชันนารี คณะซาเลเซียน นิกายคาทอลิก อยู่ที่นั่น 3 ปี ก็ได้เริ่มฝึกปรืออ่านหนังสือ แต่ตอนอายุสัก 6 ขวบ เห็นเพื่อนอ่านหนังสือแล้วดูเขามีความสุขดี ก็เริ่มอยากทำหนังสือตั้งแต่อายุ 6 ขวบแล้ว เมื่อเรียนจบชั้นประถมปีที่ 7 ก็กลับมาเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนมัธยม ซึ่งเพิ่งเปิดได้ 1 ปี ในอำเภอนั่นเอง ผมจึงเป็นนักเรียนรุ่นที่ 2 ของโรงเรียน ดังนั้นโรงเรียนจึงไม่มีอะไรเลยนอกจากอาคารไม้เล็กๆ 1 หลัง นักเรียนต้องจัดการอะไรเองทั้งหมด เช่น ทำส้วม ขุดหลุม สร้างห้องน้ำเอง ทำสนามกีฬาเอง แต่ก่อนตรงนั้นเคยเป็นป่าทั้งหมด ในโรงเรียนของเราจึงมีวิชาเพิ่มขึ้นอีกวิชาหนึ่งคือ วิชาการเกษตร การเกษตรนี่ไม่ได้หมายความว่าให้ไปปลูกผักปลูกหญ้า แต่เป็นวิชาขุดต้นไม้ ป่ามันรก วิชาเกษตรก็คือให้ทุกคนมีจอบ มีพร้า มีขวาน แล้วเข้าป่า ไปโค่นต้นไม้ ขุดรากไม้เอามาจากดิน วิธีนับคะแนนคือ ใครที่มีรากไม้มากก็ได้คะแนนไป นั่นคือวิธีคิดคะแนนของครูที่นั่นในสมัยนั้น ด้วยวิธีอย่างนี้เอง เราก็รู้จักคิดริเริ่มอะไรต่างๆ ผมก็เริ่มคิดทำห้องสมุดเล็กๆ ที่นั่น ด้วยการเรี่ยไรเงินจากเพื่อนคนละบาท ได้มาสิบกว่าบาท ซื้อนิตยสาร 3-4 ฉบับ ก็เริ่มเปิดห้องสมุด เหตุเพราะว่าโรงเรียนเล็กๆ ในต่างจังหวัดทุกแห่งสมัยนั้นไม่มีห้องสมุด ไม่รู้จักว่าห้องสมุดเป็นยังไง ไม่ว่างบประมาณเป็นยังไง ไม่รู้อะไรทั้งนั้น แต่ผมเคยอยู่ในเมือง ผมรู้ว่าหนังสือซื้อได้ที่ไหน ผมก็เรี่ยไรเงินเพื่อนแล้วก็ไปซื้อนิตยสารมาอ่าน จากนั้นเป็นต้นมาเราก็เริ่มมีห้องสมุดของเราเอง ทุกคนก็ได้อ่านหนังสือ เป็นเรื่องดี นั่นคือจุดเริ่มต้นตั้งแต่เกิด มักจะมีคนถามว่ามีความผูกพันกับหนังสือยังไง ก็มีความผูกพันตั้งแต่เริ่มเห็นคนเขาอ่านหนังสือแล้วมีความสุข

เพื่อนผมที่อยู่บ้านติดกัน พี่ชายเขาเรียนอยู่กรุงเทพฯ ทุกครั้งที่พี่ชายกลับบ้านก็หอบเอาหนังสือการ์ตูนเป็นลังๆ เลยกลับไป เราไม่เคยเห็นหนังสือเหล่านั้น แต่ทุกครั้งที่เราเห็นพี่ชายเขากลับมา ดูเขามีความสุขมาก เปิดหนังสือการ์ตูนแล้วหัวเราะ ยิ้ม มีปฏิกิริยาแปลกๆ ท้ายที่สุดเราก็ไปขอดูว่าคืออะไร จนได้เห็นหนังสือเล่มแรกที่จำติดตามากระทั่งวันนี้เป็นเวลา 50 เกือบ 60 ปี คือการ์ตูนเรื่องขวานฟ้าหน้าดำ ก็ขอยืมเขาอ่านแล้วก็รู้สึกว่าสนุกดี ผมจำจนกระทั่งขณะนี้ ในเวลานั้นผมคิดว่าถ้าโตขึ้นผมอยากทำหนังสือให้คนอ่าน หนังสือมีอิทธิพลจริงๆ

สิ่งที่ทำให้เริ่มต้นเป็นนักเขียน

พออ่านหนังสือมากเข้าๆ รู้สึกว่าบางทีในบางช่วงบางขณะ มีอะไรที่เราอยากบอกคนอื่น มีเรื่องที่เราอยากบอกคนอื่น เรื่องที่เราเห็น เรื่องที่เรารู้ เรื่องที่เราได้ผ่านพบมา เวลาเราอ่านหนังสือบางเรื่อง บางเล่ม เรารู้สึกว่าน่าจะเขียนได้นะแบบนี้ ก็อยากเล่าสิ่งที่เรามี เราประสบ เรารู้เราเห็น และคนอื่นไม่รู้ไม่เห็น เริ่มเขียนเป็นบทกวีสั้นๆ ก่อน เมื่ออายุประมาณ 12-13 ปี เขียนเป็นบทความกับบทกวีสั้นๆ เล่าเรื่องโน้นเรื่องนี้บ้าง ไม่ค่อยเป็นเรื่องเป็นราวหรอกสมัยนั้น ฝึกฝนเขียน เขียนเรื่อยมา ผมเริ่มทำหนังสือพิมพ์ของโรงเรียนประมาณอายุ 12-13 ปี พร้อมๆ กับทำห้องสมุด หนังสือพิมพ์คือซื้อบอร์ดชานอ้อยมาติดฝาผนัง แล้วก็เขียนลายมือใส่กระดาษ A4 เอาหมุดกดเข้า แล้วเพื่อนก็เข้ามาอ่าน เป็นบทความ เป็นข่าวสาร บทกวี เขียนล้อเลียนคนโน้นคนนี้ เขียนข่าวโน่นนี่ ฝนตกน้ำท่วมอะไรก็ว่าไป อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมเล็กๆ นั่นคือสิ่งที่เริ่มทำมาตั้งแต่ตอนนั้น ผมไม่ใช่คนที่จะไปพูดคุยกับใคร ไม่ค่อยชอบพูดคุยกับคนอื่น แต่อยากจะบอก วิธีบอกโดยไม่พูดคุย ก็มีวิธีเดียวคือเขียนเล่าให้เขาฟัง

ทัศนะของคุณต่อวงการนักเขียนไทยในปัจจุบัน

เราบกพร่องอย่างหนึ่งตรงที่ว่า สังคมเราไม่ได้รับเอาวิชาความรู้เรื่องวรรณกรรม เรื่องวรรณคดี เรื่องหนังสือจากชาติอื่นๆ เข้ามาเผยแพร่ให้แก่คนของเรา เพราะฉะนั้นคนที่จะเติบโตมาเป็นนักเขียนก็มีพื้นความรู้จากหนังสือไทยเท่าที่เรามีอยู่ ในประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งวงการนักเขียนของเขาเติบโตรุ่งเรืองมาก หรือประเทศจีน สองประเทศนี้มีภาษาของตัวเอง ญี่ปุ่นก็มีภาษาญี่ปุ่น เขาไม่ชอบอ่านภาษาอังกฤษด้วยซ้ำ แต่รัฐบาลของเขาแปลหนังสือทุกชนิดจากทั่วโลกให้คนญี่ปุ่นอ่าน ดังนั้นคนญี่ปุ่นก็เติบโตมาพร้อมกับความรู้ของโลกในชาติอื่นๆ ที่แปลเป็นภาษาญี่ปุ่น เขาก็อ่านจากภาษาญี่ปุ่น แต่ของไทยเรามีสิ่งเหล่านี้น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศเหล่านั้น ดังนั้นเราจึงเติบโตมาในวงแคบๆ การเขียนหรือการถ่ายทอดวิชาต่างๆ หรือแม้กระทั่งความคิดอ่านต่างๆ ก็ค่อนข้างอยู่ในวงแคบ

เราตำหนินักเขียนไม่ได้ เราตำหนิวงการหนังสือไม่ได้ เราต้องตำหนิรัฐบาลอย่างเดียวที่ไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง คือรัฐบาลต้องทำหน้าที่ นำสรรพวิชาต่างๆ จากทั่วโลกให้คนของตนอ่าน แล้วฝึกปรือในวิชาชีพต่างๆ เช่น ถ้าคนเขาเรียนวิชาชีพเกษตร เขาเป็นเกษตรกร ถ้าเขามีความรู้เกษตรด้านต่างๆ ปลูกผัก ปลูกพืชโดยใช้สารเคมี หรือไม่ใช้สารเคมี วิธีการต่างๆ เขาย่อมทำเกษตรได้ดีกว่าไม่อ่านอะไรเลย ในขณะเดียวกันนักเขียนซึ่งอ่านแต่ตำราภาษาไทย เท่าที่ขอบเขตมีอยู่ก้อนหนึ่งเล็กนิดเดียว กับถ้าเขามีหนังสือต่างๆ เข้ามาเต็มไปหมด เขาก็ได้อ่านเยอะๆ วิธีคิดของเขาก็จะขยายออกไป ความรู้ของเขาก็มากออกไป มุมมองต่อโลกชีวิต ทัศนคติต่างๆ ก็จะกว้างออกไป ตอนนี้เรายังด้อยกว่าชาติอื่นๆ เพราะว่าเรามีพื้นฐานที่เล็ก แคบ และไม่หยั่งลึกลงไป เราไม่รู้จักโลกมากพอ ถึงแม้อาจจะมีนักเขียนบางคน บางกลุ่ม ที่พยายามเขียนวิธีคิดแนวคิดทันสมัย แต่ในเมื่อคนรับไม่มีพื้นฐานที่จะรับสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ก็ไม่รู้จะเขียนให้ใครอ่าน ดังนั้นระหว่างนักเขียนกับคนอ่านเราจะต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กัน เราจะพัฒนาคนอ่านให้เขามีการศึกษาอย่างเดียวไม่ได้ พัฒนานักเขียนอย่างเดียวไม่ได้ ต้องพัฒนาคนอ่านด้วย เพราะถ้านักเขียนผลิตผลงานเสร็จ คนอ่านก็จะได้อ่านได้ แต่ถ้าเผื่อนักเขียนผลิตงานเสร็จ คนอ่านบอกว่าอ่านไม่รู้เรื่องเลย ก็จบ ก็ไม่ไปไหน เพราะฉะนั้นความเห็นในทัศนะของผมก็คือว่า เราตำหนิรัฐบาลอย่างเดียว เรื่องที่ในวงการเขียนของเราไม่งอกงาม ไม่เติบโต เมื่อเทียบกับชาติอื่นๆ เวียดนามเขาไปไกลแล้ว มาเลเซียก็ไปไกลแล้ว อีกหน่อยพม่าก็ไปไกล ญี่ปุ่น จีน อินเดีย นี่ไปไกลเรามองไม่เห็นเลย เหลือที่มองเห็นกันอยู่ก็เขมรกับเราละมั้ง

ทัศนะของคุณต่อการอ่านของคนไทยในปัจจุบัน

เท่าที่ผมศึกษาตอนนี้เรามีคนอ่านที่มีสติปัญญา มีกำลังที่จะซื้อหนังสืออ่านหรือมีโอกาสที่จะอ่านหนังสือสักประมาณ 10% ของคนทั้งประเทศ ดังนั้นอีก 90% เป็นคนที่ไม่มีโอกาสอ่านหนังสือ หรือมีหนังสือใกล้ตัวอยู่ในห้องสมุดต่างๆ แต่ไม่ชอบ ไม่อยากอ่าน เพราะไม่ต้องกับความต้องการของตัวเอง ในวงการอ่านหนังสือของประเทศไทยยังบกพร่อง ล้าหลังชาติอื่นๆ ในโลกอยู่มากทีเดียว และอีกสัก 10-15 ปี ข้างหน้า เราจะล้าหลังชาติอื่นๆ ในอาเซียนทั้งหมด เพราะเราไม่มีระบบหนังสือสาธารณะ ซึ่งประเทศอื่นเขาจัดโดยรัฐบาล

อย่างในประเทศอินเดีย มีคนนับพันล้านคน แต่เขาพยายามจัดให้คนของเขามีการศึกษาทั้งหมดของประเทศ ไม่ว่ายากจน อยู่เผ่าพันธุ์ไหน แคว้นไหน รัฐไหน อยู่ไกลออกไปเท่าไหร่ อยู่ในวรรณะใดก็ตาม เขาพยายามพัฒนาให้คนของเขามีประสิทธิภาพ มีความรู้ มีสติปัญญาเพิ่มมากขึ้น พอคนมีสติปัญญามีความรู้มากขึ้น การจะพัฒนาคนเหล่านั้นก็มีง่ายขึ้น เพราะมีความรู้มีสติปัญญา ทีนี้คนของเรา เราไม่พยายามจะพัฒนาให้มีความรู้มากๆ โดยการอ่านหนังสือ เวลาที่เราพูดเรื่องพัฒนาคน เราจะพูดอะไรไม่ได้หรอก ไม่ว่าการเมือง เศรษฐกิจ สังคม อะไรก็ตาม เราพัฒนาอะไรไม่ได้เลยถ้าเขาไม่มีความรู้ แต่ถ้าเขามีความรู้ เราบอกว่าเศรษฐกิจเราจะพัฒนากันอย่างนี้นะ เวลาเราจะซื้อของขายของ จะคำนวณอะไรต่างๆ เราก็พูดกับเขาได้เพราะเขามีความรู้พื้นฐาน หรือเรื่องการเมือง เราจะพูดเรื่องประชาธิปไตยแต่เขาไม่รู้กฏหมายเลยสักฉบับเดียว ไม่รู้รัฐธรรมนูญมีกี่มาตรา ไม่รู้ว่าเลือกตั้งเลือกไปทำไม หรือเลือกเพียงแต่ไปหย่อนบัตรแล้วก็จบ แล้วได้เงินตอบแทนมา 200-500 บาท ถ้ารู้กันอยู่แค่นั้นเราจะไปพัฒนาการเมืองกันได้อย่างไร เราก็พัฒนาไม่ได้ สิ่งทั้งปวงจะพัฒนาได้ก็ต่อเมื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศมีความรู้เท่าเทียมกันหรือใกล้เคียงกัน นี่คือในฟากคนอ่าน เมื่อครู่เราบอกว่านักเขียนก็ไม่ค่อยรู้มากนัก เราคิดไม่ค่อยกว้าง แต่พอมาถึงฟากคนอ่าน เขาไม่มีโอกาสที่จะอ่านอะไรเลย เพราะเราไม่มีระบบหนังสือสาธารณะให้เขา แล้วทำยังไง เพราะฉะนั้นก็มองไม่เห็น ถามว่าคิดยังไง ก็พยายามคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะให้เขาได้อ่าน พยายามมาหลายสิบปีแล้ว ที่ทำอย่างจริงจังก็ประมาณสัก 10 กว่าปีเศษ

กรณีระบบหนังสือหมุนเวียนในมัสยิด นั่นคือตัวอย่างหนึ่งที่เราพยายามทำให้เห็นว่าเราใช้เงินเพียงหนึ่งในสี่ เงิน 25% ของงบประมาณ เช่นสมมุติว่าแต่ก่อนเราเคยซื้อหนังสือไปให้ห้องสมุดแห่งหนึ่ง ประมาณ 10 บาท แต่ต่อไปนี้ด้วยวิธีคิดอย่างนี้ เราจ่ายเพียง 2.50 บาท แต่เขาจะได้อ่านหนังสือเท่ากับ 10 บาท ด้วยวิธีไหน ก็คือซื้อหนังสือที่ไม่เหมือนกันเลยใน 4 กอง แล้วพอถึงเวลาสามเดือนก็หมุนกันไป แลกกันไปเรื่อยๆ ทุกๆ 3 เดือน ครบ 12 เดือน เขาก็จะได้อ่านหนังสือของคนอื่นๆ ด้วย แล้วรัฐบาลก็จ่ายเงินเพียง 25% ของงบประมาณทั้งหมด เพราะฉะนั้นด้วยวิธีนี้ทำให้ประหยัด ประชาชนกระตือรือร้น เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนอย่างไม่ต้องไปลงทุนอะไรเลย

รางวัลจำเป็นไหมสำหรับวงการวรรณกรรม

รางวัลต่างๆ ในประเทศไทยน้อยไปด้วยซ้ำ รางวัลต่างๆ ในประเทศบางประเทศมีนับพันรางวัลเลยในแต่ละปี มีรางวัลใหญ่รางวัลย่อย แม้กระทั่งรางวัลที่นักอ่านเลือกกันเอง คือร้านขายหนังสือแต่ละร้านเขาก็มีสมาชิกของเขา เสร็จแล้วพอถึงเวลาในรอบ 6 ปีหรือรอบ 1 เดือน สมาชิกของร้านต่างๆ ก็มาลงคะแนนว่าเดือนนี้เขาเลือกหนังสืออะไร ก็โหวตกันแล้วในที่สุดก็ได้รับเลือกเป็นหนังสือเหล่านั้น รางวัลเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักเขียน แต่ถ้าเผื่อว่ามีรางวัลเพียงรางวัลเดียวหรือสองรางวัล ก็ทำให้การให้รางวัลนั้นน่ะบีบให้ทุกอย่างแคบลง เช่นในประเทศไทย เราก็พิมพ์หนังสือตามโอกาส วาระ ตามรางวัลซีไรต์ ถ้าปีนี้รางวัลซีไรต์เป็นรางวัลนวนิยาย เราก็จะเห็นหนังสือนวนิยายออกมาเต็มเลย ถ้าเป็นเรื่องสั้นก็มีแต่เรื่องสั้น ทำให้ตลาดผิดปกติ ทำให้ระบบการอ่านหนังสืออย่างปกติเสียไป ทำให้การเขียนหนังสืออย่างปกติเสียไป คือ นักเขียนก็เขียนตามปีที่มีรางวัลเพราะว่าสำนักพิมพ์เขาบอกว่าอย่างนั้นดีกว่า การมีรางวัลถ้าเผื่อมีมากๆ มีมากขึ้น และมีอย่างเป็นระบบที่ดีก็จะทำให้กระตุ้นการเขียน กระตุ้นการอ่าน กระตุ้นวงจรหนังสือให้งอกงามแพร่หลายขึ้น แต่ทุกวันนี้เราก็นึกถึงซีไรต์อย่างเดียว เวลาครูสอนหนังสือก็จะบอกว่าไปเลือกซีไรต์มาอ่าน แล้วหนังสือที่ไม่ได้ซีไรต์ล่ะ เลวมากนักหรือ หรือในประเทศนี้มีหนังสือซีไรต์เท่านั้นที่ดีอยู่เล่มเดียว อาจจะมีหนังสือเล่มอื่นๆ อีกก็ได้ อย่าลืมว่าการคัดเลือกรางวัลนั้น เป็นมติของกรรมการจำนวนหนึ่งเท่านั้น มติของกรรมการไม่อาจผิดไปจากข้อเท็จจริงบางอย่างก็ได้ หรืออาจจะผิดไปจากความชอบ รสนิยมบางอย่างก็ได้ เพราะฉะนั้นจะไปวัดไม่ได้ว่านี่คือวิเศษที่สุดในประเทศ แน่ละ วิเศษที่สุดในรางวัลนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่ามีรางวัลนี้อันเดียวก็อยู่ได้แล้ว ไม่พอนะ รางวัลต้องมีมากกว่านี้

หนังสือเล่มโปรด

ผมมาทำสำนักพิมพ์ ผมต้องตรวจต้นฉบับ เพราะฉะนั้นหนังสือในแต่ละขณะที่ชอบก็คือหนังสือเล่มที่กำลังตรวจอยู่ อย่างหนังสือบางเล่ม ผมต้องอ่านทั้ง 16 รอบ อ่านจนจบ 16 ครั้ง บางบทของหนังสือเล่มนั้นต้องอ่านถึง 100 ครั้ง เพื่อที่จะหาข้อบกพร่อง ข้อผิดพลาดหรือข้อสงสัย พยายามดึงออกมาให้ได้ หรือเวลาเราอ่านไปเพื่อตรวจต้นฉบับ เราต้องหาสำนวนของนักเขียนถ้าเป็นเรื่องแปล เพราะว่าเราพยายามที่จะไม่ให้สำนวนของนักแปลเข้ามารบกวนต้นฉบับ ซึ่งเป็นของนักเขียนฝรั่งต่างชาติหรือของประเทศใดก็ตาม ภาษาใดก็ตาม ดังนั้นเราจึงต้องอ่านทวนซ้ำแล้วซ้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก เพื่อที่จะหาให้ได้ว่าสำนวนของนักเขียนจริงๆ เป็นอย่างไร เช่น เรื่อง ดอนกิโฆเต้ หนังสือหนา 600 หน้า ผมต้องอ่านถึง 16 ครั้ง ต้องอ่านอย่างพิจารณาด้วย อ่านอย่างชนิดต้องหาคำมาแทน อ่านอย่างแก้ต้นฉบับ เพื่อที่จะให้หนังสือใกล้เคียงกับของสเปนมากที่สุด เพราะฉะนั้นบอกไม่ได้ว่าชอบหนังสือเล่มไหนมากที่สุด คือในขณะที่ทำงานเล่มไหน ก็ชอบเล่มนั้นแหละ ชอบเป็นชีวิตเลย ชอบถึงขนาดเอาเข้าไปนอนด้วย ตื่นขึ้นมาเมื่อไหร่ก็เห็น ชอบถึงขนาดนั้น แต่ก็ไม่อาจจะบอกได้ว่าตลอดชีวิตที่ผ่านมาได้อ่านหนังสือไปแล้วกี่เล่ม และเล่มไหนที่วิเศษที่สุด ก็วิเศษที่สุดทุกเล่มที่ตรวจ

มาถึงวันนี้ อะไรคือเป้าหมายสูงสุดในชีวิต ยังมีสิ่งใดที่คุณต้องการและยังคงพยายามแสวงหา

มีสิ่งหนึ่งที่อยากจะทำให้ลุล่วงและพยายามหวัง แต่ไม่คิดว่าจะสำเร็จได้ก็คือ การที่ให้คนไทยทั่วประเทศได้มีโอกาสอ่านหนังสือเท่าๆ กันระหว่างคนชนบทกับคนในเมือง นี่คือสิ่งที่หวังมากที่สุดในชีวิต แล้วก็คิดว่าถ้าวันใดวันหนึ่งเกิดมีใครสักคนหนึ่งบันดาลให้คนต่างจังหวัดอ่านหนังสือ หรือได้ความรู้เท่าที่ตนเองต้องการ ได้ความรู้ทุกสิ่งทุกอย่างหมด เท่าเทียมกับคนในเมือง แล้วเขาก็มาบอกว่า คุณตายได้แล้ว ผมก็ยินดีจะตาย

ปรัชญาที่นำชีวิตคุณไปสู่ความสำเร็จ

ผมคิดว่าผมยังไม่ประสบความสำเร็จเลย ความสำเร็จของผมจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคนไทยได้อ่านหนังสือเท่าๆ กัน นั่นคือความสำเร็จของผม ผมมีความสำเร็จอย่างเดียวในชีวิต ขณะนี้เป็นเพียงการเดินทางไปยังเป้าหมายเท่านั้นเอง บังเอิญระหว่างทางมีคนเขาบอกนั่นดี นี่ดี สิ่งที่ผมทำดี ซึ่งได้แต่ขอบคุณ แต่ถ้าจะบอกว่าอะไรคือความสำเร็จก็คือนั่นแหละ ก็ไม่มีปรัชญาอะไรในการทำงานหรอก ก็พยายามทำสิ่งซึ่งกำลังทำอยู่ ในเมื่อเป้าหมายเป็นอย่างนั้นเราก็ไม่วอกแวก ไม่แวะเสียกลางทาง ในเมื่อเป้าหมายเราบอกว่าจะเดินไปยังจุดซึ่งคนไทยได้อ่านหนังสือเท่าๆ กัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะต้องเดินไปก็คือตามเส้นทางนั้นแหละ ถึงแม้จะมีเส้นทางอื่น เช่น เขาบอกว่า ทำหนังสืออย่างนี้สิคุณจะรวย ทำธุรกิจแบบนี้สิคุณจะรวย ผมก็ไม่แวะกลางทาง การที่เราจะแวะกลางทางเช่น สมมุติว่าตอนนี้มีคนเขาทำหนังสือประเภทนี้แล้วเขารวยมากเลย แล้วมีคนอื่นประเภทหนึ่งเข้ามาชวน บอกว่ามาทำหนังสืออย่างนี้สิแล้วจะรวย ผมก็จะไม่ไปทำ เพราะว่าเป้าหมายของผมอยู่ไกลกว่านั้นมาก ถ้าเผื่อเราแวะกลางทางก็ทำให้เป้าหมายจริงๆ ของเราเสียไป นั่นคือปรัชญาในการดำเนินชีวิต คือไม่แวะเสียกลางทาง ในเมื่อมีเป้าหมายในชีวิตว่าจะทำอะไร ก็ไม่แวะเสียกลางทาง ถึงแม้การแวะกลางทางจะทำให้เรามีความสุข สบาย จะทำให้เรามีเกียรติยศชื่อเสียง จะทำให้เรามีอะไรก็ตามอย่าไปแวะ

วิธีการแก้ไขหรือก้าวข้ามอุปสรรคในชีวิต เวลาเหนื่อยและท้อ คุณทำอย่างไร

ถ้าเรามีเข็มอะไรสักอย่างหนึ่ง เรามุ่งจะไปให้ถึง เวลาเหนื่อยเวลาล้าเมื่อนึกถึงก็มีพละกำลัง แต่ถามว่าเหนื่อยไหม เหนื่อย เพราะอายุเท่านี้ เรามีคนช่วยไม่มากนัก เพราะเราไม่มีสตางค์มากจะจ้างคนจำนวนมาก เพราะฉะนั้นคนที่เรามีอยู่ เราก็ใช้กันเต็มที่ ตัวผมเองก็ต้องทำงานเต็มที่ เวลาเราเหนื่อยล้า เราก็นึกถึงสิว่าถ้าเราพยายามทำต่อไปอีกอย่างหนัก และถ้าเกิดได้ผลขึ้นมา ผลที่ได้ไม่ใช่สำหรับเรานะ ไม่ใช่สำหรับคนทำงานอย่างพวกเรา แต่สำหรับประชาชนอีกไม่รู้เท่าไหร่ กี่สิบล้านคนในประเทศไทย ซึ่งจะได้มีโอกาสอ่านหนังสือ จะได้มีโอกาสมีความรู้ จะได้มีโอกาสกอบโกยเอาสาระประโยชน์จากหนังสืออีกมากเท่าไหร่ เป็นพลังอีกเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นเมื่อนึกอย่างนั้นเราก็ไม่หยุดหรอก อย่างเช่นตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมาเราก็ต้องเสียสตางค์เยอะ เราต้องเหนื่อยเยอะ เราต้องต่อสู้ฟาดฟันกับสิ่งต่างๆ มากมาย มีคนเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง คนที่เข้าใจก็ชื่นชมยินดี คนที่ไม่เข้าใจก็หาว่าอย่างโน้นอย่างนี้อย่างนั้น เราก็ต้องผ่านไป เราจะหยุดไม่ได้ อย่างที่บอกว่าเราจะหยุดกลางทางไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อหยุดกลางทางไม่ได้เราก็ต้องหาน้ำมันเติมเข้าไป น้ำมันไม่ใช่เงิน ไม่ใช่สตางค์อย่างเดียว เป็นพลังจิตใจด้วย เป็นภาพซึ่งเห็นได้ชัดด้วย ภาพที่เห็นได้ชัดไม่เหมือนกับที่เราทำสำนักพิมพ์ เราทำสำนักพิมพ์ภาพที่เห็นได้ชัดคือหนังสือขายได้เท่านั้นใช่ไหม แต่นี่ไม่ใช่หนังสือขายได้ ถ้ามีระบบนี้เมื่อไหร่ ประชาชนในเมืองไทยได้อ่านหนังสือหมด ได้มีความสุขหมด ได้งอกงามหมด ได้มีสติปัญญาหมด ถามว่ายิ่งใหญ่กว่าที่เราสักคนหนึ่งหรือสองคนหรือห้าคนรวยไหม มีประโยชน์มากกว่าไหม เพราะเมื่อคนเหล่านั้นได้มีความรู้ ได้มีสติปัญญา ได้มีการพัฒนาที่ดีขึ้น เขาทำอะไรให้กับตัวเอง ให้กับประเทศชาติ ให้แก่โลกได้อีกตั้งเยอะแยะ จะดีกว่าที่เราจะมานั่งรวยอยู่คนเดียวมากขนาดไหน ถ้าเผื่อเราคิดอย่างนั้นได้ก็ไปได้ เป็นพลัง จะเรียกว่าพลังแฝง พลังซ่อนเร้นหรือพลังอะไรก็ได้แล้วแต่จะเรียก แต่ทุกครั้งที่เรารู้สึกเหนื่อยเราก็บอกตัวเองว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เราทำหนังสือให้คนทั้งประเทศนะ เรากำลังพยายามวางระบบให้คนทั้งประเทศ เรากำลังพยายามทำให้ระบบหนังสือและการอ่านเป็นเรื่องของประชาชน ไม่ใช่เรื่องของคนในเมือง

แต่ก่อนเราก็รู้เวลางานสัปดาห์หนังสือที่คนแห่กันไปเป็นล้าน คำถามคือว่าในขณะที่คนในเมืองแห่กันไปเป็นล้านที่ศูนย์สิริกิต์ คนต่างจังหวัดเขาทำอะไรกันอยู่ เขาก็ต้องแบกจอบแบกเสียม ด้วยความที่ไม่รู้ต่างๆ นานา เขาก็ทำการเกษตรด้วยความรู้พื้นฐานที่เขามีอยู่แค่นั้นเอง แล้วถ้าเผื่อเราเอาความรู้ไปให้เขาเพิ่มมากขึ้นล่ะ เคยเห็นเวลาเราเอาหนังสือไปให้คนต่างจังหวัดเขายิ้ม เขาหัวเราะ เขามีความสุข เราต้องทำไปตลอดจนกว่าวันหนึ่งรัฐบาลประกาศนโยบายแล้วก็ทำจริงจัง แล้วก็ทำระบบให้ประชาชน เมื่อนั้นแหละผมรู้สึกว่าผมเริ่มเหนื่อยได้แล้ว แต่ตอนนี้ผมเหนื่อยไม่ได้ ผมยังต้องทำ เมื่อเช้าผมยังต้องไปสอนที่บางแสนแล้วกลับมาที่นี่ อยู่ที่นี่หนึ่งวันแล้ววันพฤหัสผมก็ต้องไป วันศุกร์ผมก็ต้องมาสอนที่นี่ วันเสาร์ผมก็ต้องสอนที่นี่ วันอาทิตย์ก็ต้องพาเด็กไปเรียนที่บางแสนอีก วันจันทร์ผมก็ต้องสอนที่บางแสนต่อ พลังมาจากคนเหล่านี้ คนที่เราจะทำให้เขา ใช้ชีวิตอย่างนี้มานานแล้ว เกือบสิบปีแล้ว ถ้าไม่สอนก็ทำหนังสือ นี่คืองานจริงๆ ทำหนังสือ ตรวจแก้ต้นฉบับก็สอนคนที่จะมาทำงานรับช่วงต่อไปจากเรา สอนหนังสือเด็กที่มหาวิทยาลัยก็สอนมาแปดปีแล้ว ผมสอนที่บางแสนมา 8 ปี ทุกสัปดาห์ผมไปสอนเหมือนกับครูทั่วไปทุกประการ เพราะอะไร เพราะเมื่อเราไปเริ่มวิชาใหม่ในระยะแรกมีเด็กเพียงไม่กี่คน มหาวิทยาลัยไม่มีเงินมากพอจะจ้างอาจารย์ครบทุกวิชา เราก็ต้องเสียสละ ต้องอดทนขอให้วิชานี้เปิดขึ้นได้เท่านั้นแหละ นั่นคือความสุข เราก็มีความสุขทุกครั้งที่มีเด็กเพิ่มขึ้น แต่ก่อนนี้ตอนที่เปิดเรียนใหม่ๆ มีเด็กเพียง 8 คน ปีที่สอง 6 คน ปีที่สาม 3 คน ปีที่สี่ 3 คน ปีที่ห้า 15 คน ปีที่หกดีมาก 22 คน ปีที่เจ็ด 60 คน เพราะฉะนั้นเราก็เริ่มเห็นทางแล้วละว่าในระบบหนังสือต่อไป ในเรื่องการทำหนังสือจะต้องพัฒนาได้เพราะมีคนเรียนมาทางนี้ เขาไม่ต้องไปทำแบบลองผิดลองถูก ไม่ต้องทำแบบเดาสุ่มว่าดีหรือไม่ดี ชั่วหรือไม่ชั่ว ไม่ต้องลองกันอีก มีอะไรที่เป็นปัญหาที่เราเรียนรู้ เราบอกเขา สิ่งนี้ี่ทำไม่ได้นะ เช่น การที่จะเอาหมึกสีดำไปทำตัดตกหมด แล้วก็คนอ่านไปโดนหมึกสีดำ หมึกสีดำมีสารก่อมะเร็งอ่านนานเข้าๆ สัมผัสมากก็จะทำให้เป็นมะเร็งผิวหนัง วิชาอย่างนี้ไม่มีใครสอนเขา เราก็ต้องทำ

การดูแลสุขภาพ กายและใจ ตลอดจนสิ่งที่ทำให้คุณมกุฏ อรฤดี ดูดีอยู่เสมอ

ถ้าทางกายภาพคือพักผ่อนทุกขณะที่มีโอกาสพักผ่อนได้ ผมนอนน้อย คืนหนึ่งประมาณ 4-5 ชั่วโมง แต่เก็บเอา เช่นตอนกลางวัน บ่ายๆ เย็นๆ ผมก็นั่งหลับสัก 10-20 นาที แล้วก็ลุกขึ้นมาทำงานต่อ รู้สึกเหนื่อยก็เดิน กินโน่นกินนี่ พอล้าก็หลับอีกสัก 10-20 นาที เราใช้คำว่าเก็บเล็กผสมน้อย การนอนอย่างเก็บเล็กผสมน้อย แต่ในทางการแพทย์เขาบอกว่าไม่ดี ถ้าผมจะนอน 8 ชั่วโมง ผมไม่คุ้น ผมฝึกตัวเองอย่างนี้ตั้งแต่เด็ก เมื่อไปอยู่โรงเรียนประจำ เขาก็จำกันได้ว่าผมเป็นคนนอนดึกที่สุดแล้วก็ตื่นสาย

ผมดื่มชาเขียวเป็นประจำวันละ 10 แก้ว ผมไม่รู้ว่าจะช่วยอะไรได้บ้าง แต่ก็ช่วยให้ดื่มน้ำมาก นอกจากนั้นก็กินอาหารตามปกติ ผมไม่มีโอกาสไปเที่ยวต่างประเทศพักผ่อนเหมือนคนอื่นๆ เขามีวันหยุดฤดูร้อน มีวันหยุดพักผ่อน ผมไม่มี ผมทำงานมาตั้งแต่อายุ 20 ปี จนกระทั่งบัดนี้ทำงานมา 40 กว่าปี ผมไม่เคยมีวันหยุดจริงจัง

ถ้าเป็นสมัยก่อนการเดินทางคือการทำงานอย่างหนึ่ง เมื่อเป็นบรรณาธิการนิตยสาร เราก็ต้องเดินทางไปทำสารคดี ไปถ่ายภาพ ไปทดสอบรถยนต์ หลังจากนั้นเมื่อมาทำสำนักพิมพ์การเดินทางก็คือ ไปสำรวจว่าระบบหนังสือเป็นยังไง เดินทางก็คือทำงาน แต่ประเภทเดินทางไปพักผ่อน 10-20 วัน ไปต่างประเทศ เมืองโน้นนี้ ไปเที่ยวอย่างสนุกสนานไม่มี เพราะฉะนั้นในแต่ละวันการทำงานนี่แหละคือการพักผ่อนที่ดีที่สุดสำหรับผม เพราะฉะนั้นผมก็ได้พักผ่อนตลอดเวลาทุกขณะที่ทำงาน ผมทำงานตลอดวันผมก็ได้พักผ่อนตลอดวัน ไม่ได้ไปไหน อยู่แถวนี้

ความสำคัญของหนังสือในความคิดของคุณมกุฏ อรฤดี

หนังสือมีความสำคัญต่อมนุษย์ ตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเอาแฝด 2 คนมา คนหนึ่งให้เขาอ่านหนังสือตั้งแต่เริ่มจับหนังสือได้ อีกคนหนึ่งไม่ต้องให้เขาอ่านหนังสือ ให้อยู่ตามสบาย แล้วแต่เขาจะใช้ชีวิตอย่างไร เราบอกได้ทีเดียวว่าคนที่อ่านหนังสือจะเติบโตอย่างมั่นคง อย่างรู้จักคิด รู้จักตรึกตรอง รู้จักค้นคว้าหาความรู้ รู้จักใช้ชีวิต รู้จักสังคม รู้จักมนุษย์ รู้จักผู้คนตามที่เขาได้อ่านมาจากหนังสือ แต่คนที่ไม่อ่านหนังสือจะต้องไปค้นหาเอาอีกนาน หนังสือเป็นการย่อส่วนของโลกมาให้เรารับรู้ในเวลาสั้น เร็ว อาจจะถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง นั่นเราจะต้องวิเคราะห์ พิจารณา แต่หนังสือเป็นการย่อส่วนที่ดีที่สุด ดังนั้นสำหรับผมอาจจะบอกได้ว่าหนังสือคือส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นกลไกของชีวิตที่จะทำให้ชีวิตของเราสมบูรณ์แบบขึ้น ทำให้ชีวิตของเราสมบูรณ์ขึ้นในแง่ต่างๆ ความรู้ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคิด สำคัญ ถ้าไม่มีหนังสือเป็นแนวทางปูไป การคิดของเราก็สะเปะสะปะ ก็จะหยิบฉวยเอาอะไรไม่รู้ แต่หนังสืออย่างน้อยที่สุดก็บอกเรา แม้แต่นวนิยายเรื่องหนึ่งก็ชวนให้เราคิดโน่นคิดนี่ คนเขียนเขาก็แทรกความคิดเข้าไปในถ้อยคำของตัวละคร ในการบรรยายในการเปิดฉากอะไรต่างๆ นั่นคือสิ่งที่เราจะได้จากหนังสือ โดยเฉพาะในวิชาหนังสือเราสอนกระทั่งเวลาคุณหยิบหนังสือมาเล่มหนึ่งคุณต้องพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกแง่ทุกมุม เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องสำคัญมากทีเดียว

You may also like...