เฟื้อ หริพิทักษ์

นายเฟื้อ หริพิทักษ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๘ เป็นศิลปินและจิตรกร ผู้ได้รับการยกย่องเป็น “ครูใหญ่ในวงการศิลปะ” ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖


นายเฟื้อ หริพิทักษ์ เกิดเมื่อ ๒๒ เม.ย.๒๔๕๓ ที่จังหวัดธนบุรี ต่อมา พ.ศ. ๒๔๖๘ ได้เข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษาที่วัดสุทัศน์ และระดับมัธยมที่โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร และวัดเบญจมบพิตร เข้าทำงานที่วิทยาลัยช่างศิลป์ กรมศิลปากร จากนั้น พ.ศ. ๒๔๘๓ ได้เดินทางไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยวิศวะ – ภารติ ที่ประเทศอินเดีย รับราชการเป็นอาจารย์สอนศิลปะรุ่นแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร และได้รับทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศอิตาลี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้สร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมจนได้รับการยกย่องเป็นศิลปินชั้นเยี่ยมสาขาจิตรกรรม

นายเฟื้อ หริพิทักษ์ เป็นผู้สนใจศึกษาศิลปะอย่างมุ่งมั่นลึกซึ้ง ด้วยการค้นหาแนวทางสร้างสรรค์ให้เหมาะกับการแสดงออกทางด้านจิตรกรรม ที่มีลักษณะเฉพาะตนโดยการถ่ายทอดสภาพแวดล้อม บรรยากาศ แสงเงา ประกอบกับความคิดคำนึงเรื่องสีสันที่เป็นลักษณะตามสายสกุลศิลปะยุโรป (อิตาลี) ใช้ฝีแปรงที่ฉับพลัน ดังปรากฏในผลงานจิตรกรรมมากมาย อาทิ จิตรกรรมทิวทัศน์เมืองเวนิชที่อิตาลี ทิวทัศน์เมืองเชียงใหม่ ภาพเหมือนคุณยายของฉัน ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ฯลฯ

นอกจากนี้ นายเฟื้อ หริพิทักษ์ ยังทำการสำรวจโดยคัดลอกจิตรกรรมฝาผนังตามวัดสำคัญที่เป็นโบราณสถานเก็บไว้เป็นหลักฐานมรดกทางประวัติศาสตร์ศิลปะของชาติ มีผลงานซ่อมแซมภาพจิตรกรรมสำคัญในวัดทั่วประเทศไทยทั้งสิ้น ๒๓,๐๐๐ วัด ผลงานที่สำคัญชิ้นหนึ่ง คือการบูรณะปฏิสังขรณ์หอไตรปิฎก วัดระฆังโฆสิตาราม

นายเฟื้อ หริพิทักษ์ เคยกล่าวไว้ว่า ข้าพเจ้าทำศิลปะด้วยใจรัก เลื่อมใสและจริงใจ มิได้ทำไปเพราะอามิส ข้าพเจ้าทำศิลปะเพื่อศึกษาค้นคว้าหาความจริงในความงามอันเร้นลับอยู่ภายใต้สภาวะธรรมฯ ผลงานอันเกิดจากกำลังกาย กำลังความคิด และกำลังใจของข้าพเจ้า ขอน้อมอุทิศให้ท่านอาจารย์ทั้งหลายของข้าพเจ้า

ชีวิตสมรส : สมรสกับหม่อมราชวงศ์ ถนอมศักดิ์ กฤดากร มีบุตร ๑ คน คือ นายทำนุ หริพิทักษ์

เกียรติยศ

ศิลปินชั้นเยี่ยม สาขาจิตรกรรม ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ และ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. ๒๕๒๘

การศึกษา

– เข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษาที่วัดสุทัศน์ – ระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตรและโรงเรียนวัดราชบพิธ ๒๔๗๔ – ศึกษาศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่าง ๒๔๗๙ – ศึกษาศิลปะที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม กรมศิลปากร ๒๔๘๓ – ศึกษาศิลปะที่มหาวิทยาลัยวิศวะภารติ ณ สันตินิเกตัน ประเทศอินเดีย โดยทุนของ ม.ร.ว. ถนอมศักดิ์ กฤดากร ๒๔๙๗–๙๙ – ได้รับทุนจากรัฐบาลอิตาลีไปศึกษาและดูงานที่ประเทศอิตาลี ๒๕๐๓ – ไปร่วมประชุม ไอ.พี.เอ. ที่เวียนนาและไปดูงานต่อที่ลอนดอน ปารีส อินเดีย
การแสดงงาน

๒๔๘๙ – การประกวดของคณะศิลปินแห่งค่ายกักกัน อินเดีย ๒๔๙๑ – แสดงภาพคัดลอกภาพเขียนโบราณ ณ สถานทูตไทย ลอนดอน ๒๔๙๒ – การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๑ หอศิลป กรมศิลปากร ๒๔๙๓ – การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๒ หอศิลป กรมศิลปากร ๒๔๙๕ – การแสดงภาพคัดลอกภาพเขียนสีโบราณ มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒๔๙๖ – การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๔ หอศิลป กรมศิลปากร ๒๕๐๐ – การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๘ หอศิลป กรมศิลปากร ๒๕๐๒ – แสดงงานร่วมกับการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๐ หอศิลป กรมศิลปากร ๒๕๑๐ – แสดงงานเดี่ยว หอขวัญ กรุงเทพฯ รางวัลเกียรติยศ : ๒๔๘๙ – รางวัลที่ ๑ และรางวัลที่ ๒ การประกวดของคณะศิลปินแห่งชาติ ค่ายกักกัน อินเดีย ๒๔๙๒ – รางวัลเกียรตินิยมอันดับ ๑ เหรียญทอง ประเภทจิตรกรรม การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๑ ๒๔๙๓ – รางวัลเกียรตินิยมอันดับ ๑ เหรียญทอง ประเภทจิตรกรรม การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๒ ๒๔๙๖ – รางวัลเกียรตินิยมอันดับ ๓ เหรียญทองแดง ประเภทจิตรกรรม การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๔ ๒๕๐๐ – รางวัลเกียรตินิยมอันดับ ๑ เหรียญทอง ประเภทจิตรกรรม การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๘ – ได้รับเกียรติยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยม ประเภทจิตรกรรม ๒๕๒๓ – ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาจิตกรรม ๒๕๒๖ – ได้รับรางวัลแม็กไซไซ สาขาบริการชุมชน จากมูลนิธิแม็กไซไซ ประเทศฟิลิปปินส์

การทำงาน

๒๔๙๐–๒๕๑๒ – เป็นอาจารย์สอนวิชาจิตรกรรมที่ มหาวิทยาลัยศิลปากร – เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ หัวหน้าภาควิชาจิตรกรรม – เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปไทย ทำการซ่อมอนุรักษ์และคัดลอกภาพเขียนโบราณที่ อยุธยา เพชรบุรี สุโขทัย และจังหวัดภาคเหนือ ๒๕๒๒ – เป็นกรรมการคัดเลือกงานศิลปะ เพื่อส่งไปแสดงในนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย ของศิลปินแห่งเอเซีย ปี ๒๕๒๓ ณ ประเทศญี่ปุ่น ๒๕๒๘ – ร่วมวิจัยกับโครงการวิจัยของสถาบันไทยคดีศึกษา เรื่อง “การศึกษาวิเคราะห์คุณค่าภาพจิตรกรรมฝาผนังไทย” จนเสร็จสมบูรณ์ – เป็นนักวิจัยอาวุโสด้านศิลปกรรมไทย ของสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นายเฟื้อ หริพิทักษ์ เสียชีวิตเมื่อ เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๓๖

——————————————————————————–
ขอขอบคุณข้อมูลภาพ จาก สมบัติ เพิ่มพูนแกลอรี่

เกี่ยวกับสมบัติเพิ่มพูน แกลอรี

“สมบัติเพิ่มพูน แกลเลอรี” หรือ “สมบัติ แกลเลอรี” ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.2538 โดยสมบัติ วัฒนไทย ผู้เป็นทั้งนักจัดการศิลปะ (Art Dealer) และนักสะสมงานศิลปะ (Art Collector) ที่มีบทบาทสำคัญในวงการศิลปะไทยมาเป็นเวลากว่า 30 ปี

“สมบัติเพิ่มพูน แกลเลอรี” เป็นสถานที่ที่รวบรวมผลงานศิลปะทั้งจิตรกรรมและประติมากรรม ผลงานของทั้งศิลปินอาวุโสและศิลปินรุ่นใหม่ที่มีบทบาทสำคัญต่อประวัติศาสตร์และอนาคตของศิลปะไทยที่สะสมไว้มากกว่า 10,000 ชิ้น มาจัดแสดงไว้ในพื้นที่อาคารสมบัติเพิ่มพูนแกลเลอรี เลขที่ 12 สุขุมวิท ซอย 1 ซึ่งมีเนื้อที่กว้าง กว่า 3,000 ตารางเมตร

You may also like...