จดหมายจากหมู่เกาะชเลจร

ฌาคส์ เพร๎แวรต์ ต่อต้านลัทธิล่าอาณานิคมมาแต่ไหนแต่ไร ดังปรากฏในบทกวีของเขามากมายหลากหลายบท ตั้งแต่ ค.ศ.๑๙๓๐ เป็นต้นมา งานประพันธ์ที่แสดงความคิดดังกล่าวชัดเจนยิ่งก็คือ เรื่อง  ‘จดหมายจากหมู่เกาะชเลจร’  ตีพิมพ์ภาษาฝรั่งเศสค.ศ. ๑๙๕๒ นี้

เพร๎แวรต์เรียกประเทศนักล่าอาณานิคมทุกประเทศรวมกันว่า ‘มหาทวีป’ ที่ซึ่งผู้ฅนบูชาเงินตราและเป็นแหล่งรวมแห่งข่าวโคมลอย ค่ายโจร ฯลฯ
ดังเห็นได้จากชื่อหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ  ของมหาทวีป ชาวเกาะชเลจรนั้นตรงข้าม พวกเขาอยู่อย่างสันติสุข ทำประมง ทำไร่ทำสวน หุงหาอาหารเอง และแต่งเพลงเอง ยามฅนแปลกถิ่นมาเยือนก็มอบผลผลิตจากธรรมชาติต่างเงินตรา อาทิ ผลสาลี่ ยาสูบ แยมดอกกุหลาบ ความสุขของชาวเกาะชเลจรมิได้ขึ้นอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า หากอยู่ในเสรีภาพและความสุขส่วนบุคคลซึ่งเป็นหนึ่งเดียวกันกับเสรีภาพ และความสุขส่วนรวมของชาวเกาะทั้งปวง

เช่นนี้ชาวเกาะจึงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อีกทั้งได้รับความร่วมมือจาก ‘ฅนงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง’ ซึ่งถูกเกณฑ์มาสร้างสะพานใหญ่เชื่อมมหาทวีปกับเกาะ และพร้อมจะร่วมใจกับชาวเกาะตั้งแต่แรกรู้จัก ฅนงานเหล่านี้ถอดสลักเกลียวจากเสาสะพาน หนีกลับไปบ้านในถิ่นไกลของตน การต่อสู้ของชาวเกาะผู้เปี่ยมความคิดฝัน ด้วยมิเคยลืมวัยเด็กของตน จะมีผลเป็นอย่างไร    ผู้อ่านคงคาดเดาได้  และพึงใจ    เมื่ออ่านนิยายเรื่องนี้ถึงตอนจบ

วัลยา วิวัฒน์ศร
ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙

Jacques Prevert (ค.ศ.๑๙๐๐-๑๙๗๗) กวีชาวฝรั่งเศส
ผู้ใช้ภาษาเรียบง่ายเขียนบทกวีจนเป็นที่ชื่นชม ของเพื่อนร่วมชาติและร่วมโลกผู้นี้ เรียนหนังสือเพียงน้อยนิด ทว่า เรียนรู้เรื่องความทุกข์ยากตั้งแต่เล็ก เพราะติดตามบิดา ซึ่งทำงานสงเคราะห์ฅนยากจนตามแหล่งต่างๆ ในช่วงเกณฑ์ทหาร เพร๎แวรต์ได้รู้จักอีฟส์ ตองกีย์ ต่อมาเป็นจิตรกรเซอเรียลลิสต์ฅนสำคัญฅนหนึ่ง และมาร์เซล ดูอาเมล ซึ่งต่อมาเป็นบรรณาธิการนวนิยายสืบสวนสอบสวน

หลังเกณฑ์ทหาร เพร๎แวรต์ได้เข้าสู่แวดวงวรรณกรรม เขียนบทกวี บทเพลง บทภาพยนตร์ นิทาน และนิยาย รวมบทกวีชื่อ ‘ถ้อยคำ’ (Paroles) ตีพิมพ์ ค.ศ.๑๙๔๖ ทำให้เพร๎แวรต์มีชื่อเสียงอย่างที่กวีน้อยฅนจะได้รับ

ทั้งนี้เนื่องจากบทกวีของเขามีเนื้อหาว่าด้วยอนาธิปไตย และการปกป้องเสรีภาพ สอดคล้องกับบรรยากาศในขณะนั้น ซึ่งประเทศฝรั่งเศสหลุดพ้นจากการยึดครองของนาซี  นอกจากนี้การใช้ภาษาพูด ใช้คำง่ายๆ ติดปาก ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บทกวีของเขา ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง

‘นิทานเด็กซน’ (ค.ศ.๑๙๔๗)
‘จดหมายจากหมู่เกาะชเลจร’ (ค.ศ.๑๙๕๒)
และ ‘โรงอุปรากรแห่งดวงจันทร์’ (ค.ศ.๑๙๕๓)
ล้วนว่าด้วยการปกป้องเสรีภาพจากการคุกคามรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าการใช้ความรุนแรง สงคราม หรือการล่าอาณานิคม เมื่อ ค.ศ.๒๐๐๗ ที่ผ่านมา รัฐบาลฝรั่งเศสฉลองครบ ๓๐ ปี แห่งมรณกรรมของกวีผู้นี้ ในประเทศฝรั่งเศส และประเทศต่างๆ กาลครั้งหนึ่ง และนั่นก็นมนานแล้วกลางสี่มุมโลก

มีหมู่เกาะซึ่งราชินีแห่งท้องทะเลปกปักรักษา นี้เป็นหมู่เกาะแสนหวงแหน นางตั้งชื่อให้ว่า หมู่เกาะต้องใจ บางครั้งบางครา (ทว่า แทบจะไม่เคยเกิดขึ้น) นักเดินเรือใจกล้า เจ้าของกล้องส่องทางไกลคุณภาพดีเลิศ เผอิญจับภาพเกาะหนึ่งของหมู่เกาะนี้ได้ วูบไหวอยู่ใต้แสงอาทิตย์ แต่เสียงอุทาน “แผ่นดิน!” ยังไม่ทันแผ่วจาง เกาะนั้นพลันเลือนหายใต้กลุ่มหมอกที่ก่อตัวฉับพลัน แล้วทันใดก็บังเกิดพายุไซโคลน พายุทอร์นาโด พายุใต้ฝุ่น อีกทั้งคลื่นใต้น้ำหลายระรอก กะลาสีย่อมอยากทำสิ่งอื่นในท้องทะเล มากกว่าการอับปางทุกวัน พวกเขาจึงไม่ใส่ใจสำรวจต่อ พวกเขาเรียกเกาะเหล่านี้ว่า หมู่เกาะชเลจร ทั้งนี้เป็นเพราะเกาะเหล่านี้ไม่เคยอยู่กับที่

ผู้เขียน :  ฌาคส์ เพร๎แวรต์
ผู้แปล :  วัลยา วิวัฒน์ศร
ISBN : 9789741404117
สำนักพิมพ์ : ผีเสื้อ
ปก : ปกอ่อน
ราคา : 347   บาท
ติดต่อ : สำนักพิมพ์ผีเสื้อ 4/4 ถนนสุขุมวิท ซอย 24 กรุงเทพฯ 10110
โทรศัพท์ : 02-4366-602
อีเมล์ : < bflybook@bflybook.com>
เว็บไซต์ : http://www.bflybook.com/

 

 

You may also like...