อีดิปุสจอมราชันย์ ความเป็นอื่นของปุราณคติตะวันตก

การจัดแสดงละครกรีกโบราณเรื่อง อีดิปุสจอมราชันย์ ของ ซอเฟอคลีส* จัดได้ว่าเป็นก้าวสำคัญของวงการละครพูดตะวันตกในประเทศไทย ผู้จัดแสดง คือ ภาควิชาศิลปะการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พิสูจน์ให้เห็นประจักษ์แล้วว่า ศิลปะที่ยิ่งใหญ่ย่อมไม่ผูกติดอยู่กับกาลเวลาและสถานที่

อันที่จริง เราก็ไม่ทราบแน่ชัดว่า การแสดงละครของกรีกโบราณนั้นเป็นอย่างไร ไม่ว่านักแสดงก็ดีหรือนักวิชาการก็ดี ที่กล่าวว่าละครกรีกเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หรือแสดงอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ได้ข้อสรุปมาจากหลักฐานเอกสารบ้าง หลักฐานทางโบราณคดีบ้าง ซึ่งก็เป็นหลักฐานที่ไม่สมบูรณ์นัก เป็นที่ทราบกันว่าการแสดงละครแบบกรีกโบราณมิได้มีการสืบทอดต่อเนื่องกันมาจนถึงยุโรปปัจจุบัน หากแต่ได้ขาดช่วงไปนับได้เป็นพันๆปี เรื่องการขาดความต่อเนื่องในประเพณีการแสดงของตะวันตกนั้นเป็นสิ่งที่ชาวตะวันตกเองก็ยอมรับ เพราะแม้แต่การแสดงละครเชกสเปียร์ก็เพิ่งจะมาปรับปรุงให้เข้ารูปของการแสดงอย่างที่เชกสเปียร์ต้องการเมื่อตอนต้นศตวรรษที่ 20 นี่เอง ในส่วนที่เกี่ยวกับละครกรีกนั้น ข้ออ้างของกวีและนักวรรณคดีฝรั่งเศสในยุคของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ว่า พวกเขาเป็นทายาทสายตรงของละครกรีกนั้น ก็ดูจะเป็นกระบวนการแสวงหาบรรพบุรุษที่คนรุ่นใหม่คิดว่าเป็นการสร้างใหม่มากกว่าเป็นการสืบทอด และการที่มีผู้ชอบอ้าง กวีศาสตร์ ของอริสโตเติลว่าเป็นทฤษฎีศิลปะที่จับวิญญาณของวัฒนธรรมกรีกโบราณได้อย่างยอดเยี่ยมนั้น ก็หาได้เป็นที่ยอมรับกันในทุกวงการไม่

เมื่อมีการกล่าวว่า โศกนาฏกรรมย่อมกระตุ้นให้ผู้ดูผู้ชมเกิดอารมณ์ประหวั่นพรั่นพรึง และเกิดความสงสาร หรือเมื่อได้ดูโศกนาฏกรรมแล้วจะเกิดความโล่งอารมณ์ ( catharsis) นั้นก็คงเป็นการยากที่จะสรุปว่า ความรู้สึกของผู้ดูในปัจจุบันตรงกับมโนทัศน์ที่กล่าวไว้ใน กวีศาสตร์ ของอริสโตเติล การพาตัวกลับไปสู่วัฒนธรรมกรีกที่แท้จริงคงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก ในส่วนที่เกี่ยวกับทฤษฎีของปรมาจารย์อริสโตเติลนั้นก็ได้เคยมีผู้ตั้งข้อสงสัยไว้ว่าจะเชื่อถือได้สักเพียงใด นักวิจารณ์ชาวเยอรมันชื่อ เอากุสต์ วิลเฮล์ม ชเลเกล ( August Wilhelm Schlegel) ได้เคยกล่าวไว้ในปาฐกถาชุดที่ว่าด้วย ศิลปะและวรรณกรรมการละคร ว่า ” อริสโตเติลไม่เข้าใจอัจฉริยภาพที่แท้จริงของละครกรีก” และนักคิดนักวิจารณ์ของยุโรปในศตวรรษที่ 19 เป็นจำนวนไม่น้อยก็เห็นพ้องกับชเลเกล การขาดประเพณีที่ตายตัว การขาดความต่อเนื่อง การขาดแนวทางการตีความอันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป อาจจะมิใช่สิ่งที่เสียหายเสมอไป ผู้กำกับการแสดงและนักแสดงยุคใหม่สามารถที่จะตีความจากตัวบท โดยนำเอาความรู้ที่พอหาได้เกี่ยวกับประเพณีการละครของกรีกมาใช้เป็นประโยชน์เท่าที่จะทำได้ กล่าวโดยสรุปก็คือ ผู้แสดงไทยในประเทศไทย ในพ.ศ. 2529 อาจจะมิได้อยู่ห่างจากประเพณีการแสดงต้นกำเนิดของละครกรีกมากกว่าผู้แสดงชาวตะวันตกในโลกตะวันตกในปี ค.ศ. 1986 เท่าใดนัก Oedipus Rex ( วงการแสดงตะวันตกชอบใช้ชื่อภาษาละตินชื่อนี้) อาจจะมีลักษณะ “เป็นอื่น” ต่อผู้ดู ผู้ชมในสังคมตะวันตกปัจจุบันก็ได้ ผู้กำกับการแสดงอาจจะมีเสรีภาพในการตีความ อีดิปุสจอมราชันย์ มากกว่า กาลิเลโอ ซึ่งเป็นของที่ใกล้ตัว ประเด็นที่สำคัญยิ่งก็คือว่าจะใช้เสรีภาพนี้อย่างไรจึงจะสามารถนำเอาอัจฉริยภาพของศิลปะกรีกและของปุราณคติตะวันตกมาสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ดูผู้ชมยุคปัจจุบันในดินแดนอันไกลโพ้นได้

ผู้เขียนเองได้เคยเห็นตัวอย่างของการใช้เสรีภาพที่ว่านี้ในแบบแปลกๆมาแล้วในวงการละครตะวันตก จะขอยกตัวอย่างจากการตีความละครกรีกของคณะละครเชาบูเนอ ( Schaub?hne) อันเลื่องชื่อของกรุงเบอร์ลินตะวันตกมาให้พิจารณา ผู้เขียนได้มีโอกาสชมละครเรื่อง อะกะเมมนอน ( Agamemnon) ของอิสคิลุส ( Aeschylus) เมื่อประมาณ 4 ปีมาแล้ว เท่าที่ทราบกันนั้นละครกรีกเล่นกลางแจ้งในเวลากลางวัน แต่คณะละครเยอรมันคณะนี้จงใจแสดงละครเรื่องนี้ในโรงละครที่มืดสนิท จะใช้ไฟก็แต่เฉพาะเวที ส่วนอื่นของโรงละครมืดหมด แม้แต่ทางเดินเข้าไปสู่ตัวโรงละครก็ปิดไฟมืด ผู้ดูต้องค่อยๆคลำทางเข้าไป เมื่อเข้าไปถึงแล้วก็ต้องนั่งกับพื้น ทั้งหมดนี้เป็นการเตรียมใจผู้ดูว่าจะมารับประสบการณ์ที่ผิดจากธรรมดา อิสคิลุสเป็นกวีรุ่นก่อนซอเฟอคลีส ละครของเขาอาจจะรุนแรงกว่าละครซอเฟอคลีส แต่การแสดงที่เบอร์ลินใช้ความรุนแรงทางกายภาพที่ผู้จัดแสดงหวังว่าจะกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ที่รุนแรงตามไปด้วย เป็นการตีความมโนทัศน์เรื่องความประหวั่นพรั่นพรึงไปในแง่หนึ่ง ซึ่งสำหรับผู้เขียนแล้วต้องขอยอมรับว่าเกิดอารมณ์ขยะแขยงมากกว่าประหวั่นพรั่นพรึง เพราะฉากสังหารอะกะเมมนอนและคัสซันดรา ( Cassandra) ทำได้อย่างสยดสยอง มีการปั๊มเลือดให้ไหลนองบนเวที แล้วไหลจากเวทีลงมาสู่พื้นที่ผู้ชมนั่งอยู่ ความโล่งอารมณ์จะเกิดกับผู้ดูคนอื่นหรือไม่ผู้เขียนไม่อาจทราบได้ สำหรับตัวผู้เขียนนั้นอยากจะกล่าวว่าเกิดความเครียดทางอารมณ์มากกว่าความโล่ง

ละครโรงอักษรศาสตร์ จุฬาฯได้เลือกเอางานละครชิ้นเอกของซอเฟอคลีสมาแสดง ความรุนแรงด้านกายภาพในเรื่องนี้มีไม่มากนัก ส่วนที่รุนแรงเช่นตอนที่อีดิปุสลงทัณฑ์ตัวเองด้วยการทิ่มตาจนบอดก็มิได้เป็นการแสดงบนเวที แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหลังฉาก ซึ่ง “มหาดเล็กผู้แจ้งข่าว” นำมาเล่าด้วยคำพูดที่ซาบซึ้งกินใจอันน่าจะทำให้เกิดความรู้สึกประหวั่นพรั่นพรึงและความรู้สึกสงสารไปพร้อมๆกัน ( ประเพณีการเล่าเหตุการณ์ที่รุนแรงแทนการแสดงบนเวทีนี้ละครฝรั่งเศสยุคคลาสสิกนำมาใช้อยู่เสมอ ในความหมายที่รู้จักกันในภาษาฝรั่งเศสว่า ” r?cit” ซึ่งเป็นตอนที่กวีจะแสดงความสามารถในการประพันธ์อย่างสุดฝีมือ เพราะเป็นการใช้สื่อทางวรรณศิลป์มากกว่าศิลปะการแสดงอย่างเต็มรูป) การเลือกสถานที่และเวลาแสดงก็ดูจะเป็นไปในทางที่ไม่เน้นความรุนแรงทางกายภาพ เวทีกลางแจ้งระหว่างตึกอักษรศาสตร์ 1 กับตึกอักษรศาสตร์ 2 ด้านทิศตะวันตกให้บรรยากาศที่นุ่มนวล ซึ่งคงจะเทียบกับสถานที่แสดงกลางแจ้งของกรีกโบราณไม่ได้ สถาปัตยกรรมรอบเวทีละครอักษรศาสตร์ทั้ง 3 ด้านเป็นเทวาลัยเลียนแบบขอม เมื่อเริ่มแสดงก็เป็นเวลาโพล้เพล้ พอเล่นไปได้สักหน่อยบรรยากาศรอบด้านก็มืดลงพอดี ( ในวันที่ผู้เขียนไปชมการแสดงละครเรื่องนี้ คือ วันศุกร์ที่ 24 มกราคม 2529 พระจันทร์ขึ้นพอดี ให้ความรู้สึกชวนฝันที่คงจะห่างไกลจากประเพณีต้นกำเนิดที่แสดงละครกันในตอนกลางวัน) อันที่จริงแล้วความมืดเป็นกรอบที่ช่วยสร้างสมาธิในการชม และการใช้ไฟเวทีสมัยใหม่ก็ช่วยเน้นความหมายของตัวบทได้อีกโสดหนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับเนื้อหาของละครนั้น ชาวตะวันตกอาจจะได้เปรียบเราในแง่ที่ว่าเรื่องของอีดิปุสฝังอยู่ในมโนสำนึกของเขาอยู่แล้ว ( ซึ่งความรู้ด้านจิตวิทยาสมัยใหม่ที่มาจากฟรอยด์อาจจะทั้งช่วยตอกย้ำ หรือไม่ก็ช่วยทำให้เขวไปจากความรู้สึกดั้งเดิม) การมาชมละครสำหรับชาวตะวันตกจึงมิใช่มารับรู้เรื่องที่แปลกใหม่ แต่เป็นการมารับประสบการณ์ที่เป็นสุนทรียอารมณ์บนรากฐานของเรื่องปรัมปรา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว ในแง่นี้ผู้ชมไทยก็ใช่ว่าจะต้องเริ่มต้น ณ จุดศูนย์องศา เพราะ ตำนานพระปฐมเจดีย์ ที่เกี่ยวกับ “พญากง-พญาพาน” ก็เป็นที่รู้จักกันทั่วไป ( ส่วนประเด็นที่ว่าอิทธิพลของปกรณัมเรื่องอีดิปุสเดินทางเข้ามาสู่สุวรรณภูมิได้อย่างไร ยังเป็นปมปัญหาที่นักวิชาการจะต้องค้นคว้าหาคำตอบกันต่อไป ซึ่งก็คงเดินทางผ่านมาทางตักสิลา) เรามีวิธีสร้าง ” catharsis” ในแบบที่วัฒนธรรมกรีกต้นกำเนิดไม่รู้จัก ความสำนึกผิดของพญาพานที่นำไปสู่การสร้างเจดีย์สูงเท่านกเขาเหินเป็นการสร้างความผ่อนคลายด้วยแรงบุญที่ผูกอยู่กับพระศาสนา อีดิปุส “ฉบับนครปฐม” ยอมให้แต่เพียงลูกฆ่าพ่อ แต่ไม่ยอมให้ลูกสมสู่กับแม่ เรารับความรุนแรงของต้นแบบอย่างเต็มรูปไม่ได้ อีดิปุสฉบับกรีกไปไกลกว่านั้นมาก เพราะนอกจากปิตุฆาตแล้วยังมีบาปอันมหันต์ที่มาจากการสมสู่กับมารดาเข้ามาทบอีกในตอนท้ายเรื่อง อีดิปุสได้กล่าวรำพันถึงความโหดร้ายแห่งชะตากรรมที่ทำให้เขากับลูกของเขาเองเกิดมาจากแม่เดียวกัน ละครของซอเฟอคลีสจึงเต็มไปด้วยความโหดเหี้ยม ซึ่งเกินเลยไปจากตำนานของไทย แต่เราก็จำเป็นจะต้องรับกติกาของประเพณีโศกนาฏกรรมกรีก ว่าความรุนแรงที่กล่าวถึงนี้เป็นไปในลักษณะของความโหดเหี้ยมทางปรัชญาด้วย

ชะตากรรมมีอำนาจเหนืออีดิปุสผู้ซึ่งกระทำผิดไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แม้ว่าเรื่องจบลงด้วยความพินาศของตัวเอก แต่ความสง่างามและขัตติยลักษณ์ของอีดิปุสก็ฉายส่องมาสู่ผู้ชมข้ามยุคสมัยและถิ่นที่ได้ การตีความของละครจุฬาฯเป็นไปในเชิงปรัชญาที่ว่ามานี้ เป็นการแสดงที่ค่อนข้างจะราบเรียบ ถ้าจะพูดแบบไทยก็คงจะต้องกล่าวว่าเดินตามนิยายโศกกึ่งรูปของ “พญากง-พญาพาน” หรือถ้าจะพูดแบบตะวันตกก็อาจกล่าวได้ว่า เป็นการตีความโศกนาฏกรรมตะวันตกที่ใกล้มหากวีฝรั่งเศสราซีน ( Racine) มากกว่ามหากวีอังกฤษเชกสเปียร์ ( Shakespeare) ซึ่งอาจจะ “นุ่ม” เกินไปสำหรับผู้ชมบางท่าน แต่ผู้เขียนคิดว่าเหมาะแล้ว เหมาะกับทั้งท้องเรื่อง และเหมาะกับบรรยากาศการแสดง ตัวที่บ่งบอกถึงแนวทางการตีความที่ชัดเจนที่สุดคือบทภาษาไทย ( ซึ่งผู้เขียนเข้าใจว่าคงแปลจากบทภาษาอังกฤษ แต่ก็ยังไม่มีโอกาสได้ตรวจสอบว่า ดัดแปลงไปจากของเดิมมากน้อยเพียงใด) บทภาษาไทยที่ราบเรียบและราบรื่น สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ชมที่เป็นไทยได้เป็นอย่างดี เป็นการใช้ภาษาไทยบนเวทีละครที่เปี่ยมด้วยสุนทรียลักษณ์ เป็นภาษาที่สื่อความได้ดี นุ่มนวลไพเราะ มีจังหวะที่งามราวกับเป็นกลอนเปล่าของไทยยุคใหม่ ในบางครั้งชวนให้คิดถึงภาษาไทยในกามนิต-วาสิฏฐี ของเสฐียรโกเศศ และนาคะประทีป หรือมหากาพย์มหาภารตะ ของกรุณา -เรืองอุไร กุศลาสัย ผู้แปลคงไม่ทราบว่าเธอได้ให้อะไรต่อวงการละครของไทย ผู้เขียนอยากจะกล่าวว่าเธอได้ให้ความมั่นใจต่อผู้ทำละครเวที ว่าภาษาไทย ณ จุดหัวเลี้ยวหัวต่อในร.ศ. 205 นี้ มีพลังและศักยภาพที่จะแสดงออกซึ่งความรู้สึกนึกคิดเกินเลยกรอบของเวลาและสถานที่ ในขณะที่ดูอีดิปุสจอมราชันย์ ผู้เขียนเกือบจะลืมไปว่ากำลังดูละครแปลที่แปลมาแล้วสองทอด คือ จากกรีกโบราณมาเป็นอังกฤษ และจากอังกฤษเป็นไทย อยากจะขอแนะนำเพิ่มเติมว่าน่าจะนำบทแปลนี้ออกตีพิมพ์เผยแพร่ต่อไป

เมื่อกล่าวถึงภาษาของตัวบทแล้ว ก็จำจะต้องกล่าวถึงภาษาที่ตัวแสดงเปล่งออกมา ละครโรงนี้อาจจะได้เปรียบคณะละครอื่นๆ ในแง่ที่ว่าผู้แสดงส่วนใหญ่เข้าใจความหมายของตัวบท รู้ว่ากำลังพูดอะไร ไม่ใช่พูดออกไปตามที่ถูก “กำกับ” ผู้แสดงบางคนอยู่ในขั้นที่อาจกล่าวได้ว่ามีความจัดเจนในการเปล่งเสียงที่เทียบได้กับ “verse-speaking” ของละครพูดตะวันตก ซึ่งอาจจะหาได้ยากในวงการละครไทยปัจจุบัน ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น บทพากย์ไทยของอีดิปุสจอมราชันย์ อยู่ในระดับของ ” ร้อยแก้ว” ในความหมายดั้งเดิมของคำนี้ ( อันเป็นความหมายที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ยังใช้อยู่) โดยเฉพาะผู้แสดงเป็นอีดิปุส ใช้เสียงพูด เปล่งคำ ได้เหมาะเจาะน่าประทับใจ ตัวแสดงนำฝ่ายหญิงในการแสดงวันที่ 24 มกราคม อาจจะยังไม่เข้าถึงประเพณีการแสดงละครพูดที่เปี่ยมด้วยวรรณศิลป์นัก และผู้แสดงเป็นครีออนอาจจะพูดรัวไปบ้างและจัดวรรคตอนได้ยังไม่เหมาะสม แต่ที่กล่าวมานี้เป็นข้อบกพร่องเพียงเล็กๆน้อยๆ สิ่งที่น่าเสียดายก็คือความจำเป็นในด้านสถานที่ได้บีบบังคับให้คณะละครจุฬาฯต้องใช้เครื่องขยายเสียงเข้าช่วย โดยใช้ไมโครโฟนประเภทไม่มีสายติดตัวผู้แสดง และซ่อนไมโครโฟนอื่นไว้ในที่ต่างๆ ทั้งบนเวทีและขอบเวที ที่ว่าน่าเสียดายก็เพราะภาษาละครที่ไพเราะจับใจนั้นมักจะเป็นภาษาที่เปล่งออกมาด้วยเสียงธรรมชาติ จะหาเสียงอะไรที่ไพเราะเท่าเสียงมนุษย์ที่เปล่งกวีวัจนะออกมาโดยมิได้มีการปรุงแต่งนั้นไม่มี ละครดั้งเดิมของทุกชาติทุกภาษาสำนึกในพลังและเสน่ห์ของเสียงมนุษย์ด้วยกันทั้งนั้น เป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่า กรีกโบราณเลือกแสดงละครกลางแจ้ง ในสถานที่ที่ธรรมชาติอำนวยให้ผู้ชมที่นั่งรวมกันอยู่เป็นวงอัฒจันทร์บนเนินเขาได้รับรสของตัวบทอย่างเต็มที่ ที่กล่าวมานี้ก็เป็นเพียงการพร่ำบ่นถึง “สวรรค์หาย” ในลักษณะหนึ่ง เพราะถ้าจะเรียกร้องให้ใช้เสียงธรรมชาติ ก็คงจะต้องฝึกกันเป็นแรมปี และก็อาจจะต้องกลับไปหาโรงละครปรับอากาศ ซึ่งก็จะต้องบีบบังคับให้เปลี่ยนระบบการแสดงทั้งหมด ( บางทีนักแสดงไทยอาจจะต้องออกเสาะแสวงหาที่แสดงกลางแจ้งที่ตรงตามหลักอุโฆษวิทยาได้อย่างสมบูรณ์ ได้เคยมีผู้เอ่ยถึงหลุมกอล์ฟหลุมที่ 1 ของสนามกอล์ฟเขาใหญ่เอาไว้ อาจจะเป็นที่แสดงกลางแจ้งได้ดีมาก)

ในประเด็นที่เกี่ยวกับเสียงพูดในการแสดงนั้น บทบาทของคอรัส ( chorus) ย่อมเป็นปัญหาที่เลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน ผู้กำกับการแสดงตะวันตกเองก็ยังขบปัญหานี้ไม่สำเร็จ เพราะประเพณีต้นแบบของกรีกได้สูญสลายไปแล้ว การเปล่งเสียงกึ่งพูดกึ่งร้องเป็นสิ่งที่ทำให้พอเหมาะพอดีได้ยาก เพราะสัมพันธ์กับลักษณะของภาษาด้วย ภาษาไทยปัจจุบันไม่เอื้อต่อการนี้ นอกเสียจากจะดึงเข้าสู่ระบบแหล่หรือสวด ซึ่งก็ไม่เหมาะกับคอรัสของละครกรีก จะพูดออกมาเป็นเสียงพูดธรรมดาก็ขาดรส ผู้กำกับการแสดงเรื่อง อีดิปุสจอมราชันย์ ตัดสินใจใช้วิธีการ 2 แบบกับคอรัส ส่วนหนึ่งใช้ร้องตามแบบของคีตนิพนธ์ทางศาสนาของตะวันตก ซึ่ง ” ชมรมนักร้องประสานเสียงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ทำได้ดีตามท่วงทำนองที่บรูส แกสตัน กำหนดมาให้ ซึ่งก็คงเดินตามประเพณีของ cantata หรือ oratorio ของตะวันตก และถ้าเดาไม่ผิด ก็คงได้รับแรงดลใจมาบ้างจาก Oedipus Rex ของคีตกวีชาวรัสเซีย สตราวินสกี้ ( Stravinsky) โดยทั่วไป ดนตรีประกอบของบรูส แกสตัน เสริมความเข้มข้นของเรื่องได้อย่างดี แม้แต่เสียงกลองทัดก็จัดวางไว้เหมาะเจาะ เท่ากับเป็นการตอกย้ำความรู้สึกเชิงประหวั่นพรั่นพรึงที่พึงมีต่อชะตากรรมของตัวละคร คอรัสอีกส่วนหนึ่งเป็น “คอรัสผู้อาวุโสชาวนครธีบส์” ซึ่งใช้เสียงพูดแบบลากคำท้ายวรรคในลักษณะที่ขัดกับคีตลักษณ์ของภาษาไทยเป็นอย่างยิ่ง ทำให้เกิดอุบัติเหตุในการแสดงอยู่หลายครั้ง เพราะผู้ชมอดหัวเราะไม่ได้ในที่ที่ไม่น่าหัวเราะ ยิ่งท่าทางกึ่งบัลเลต์ กึ่งระบำตะวันตกสมัยใหม่ ยิ่งเพิ่มความขัดเขินในรูปที่ทั้งขัดหูและขัดตาไปพร้อมๆกัน ซึ่งก็คงไม่เข้ากับต้นแบบของกรีก (ซึ่งเราไม่ทราบแน่ว่าเป็นอย่างไร) และไม่เข้ากับความรู้สึกของผู้ดูผู้ชมที่เป็นไทย (ซึ่งเรารู้แน่ว่าเราไม่ชอบอะไร)

โดยทั่วไปแล้ว ท่วงท่าของตัวแสดงยังมีบางตอนที่ขัดเขินอยู่ ซึ่งรวมถึงตัวแสดงบนเวทีด้วย ปัญหาใหญ่ที่ผู้กำกับการแสดงแก้ไม่ตกก็คือ เมื่อตัดสินใจไม่ใช้หน้ากากแบบกรีกแล้ว จะทำอย่างไรไม่ให้การแสดงมีลักษณะที่ใกล้ชีวิตจริงมากเกินไป การแก้ด้วยภาษาที่เปี่ยมด้วยรสกวีดูจะได้ผลดี แต่การแก้ด้วยท่วงท่าของผู้แสดงนั้นยังขัดเขินอยู่ไม่น้อย

เมื่อได้วิจารณ์การแสดงและผู้แสดงมาแล้ว ก็คงจะต้องวิจารณ์คนดูด้วย ผู้ชมส่วนใหญ่ในรอบแสดงวันที่ 24 มกราคม เป็นนิสิตนักศึกษา นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีว่าละครเวทีของเรากำลังช่วยเสริมประสบการณ์ทางศิลปะและสร้างวุฒิภาวะทางปัญญาให้แก่กลุ่มคนหนุ่มสาว แต่ผู้ดูบางคนก็คงจะอดรำคาญไม่ได้ที่ผู้ดูส่วนใหญ่จงใจมาดูละครเพื่อรับความบันเทิงอย่างเต็มที่ และก็คงจะเหมาเอาด้วยว่าความบันเทิงที่แท้จริงที่เราท่านจะได้จากศิลปะการแสดงก็คือได้มีโอกาสหัวเราะกับละครชวนขัน ถ้าละครไม่ให้สิ่งนี้โดยตรงก็คงจะต้องเค้นกันออกมาให้ได้ เมื่อ ” คอรัสผู้อาวุโสชาวนครธีบส์” เปิดโอกาสให้ได้หัวเราะขบขันแล้ว ผู้ดูบางส่วนก็เลยช่วยหัวเราะกับส่วนอื่นๆของ อีดิปุสจอมราชันย์ ให้เสียด้วย

อันที่จริงก็น่าเห็นใจฝ่ายผู้ชมเช่นกัน เพราะส่วนใหญ่เติบโตมากับละครโทรทัศน์ จึงย่อมจะต้องการเวลาอีกมากในการปรับตัวเข้าสู่ระบบของละครเวที ผู้ดูส่วนใหญ่ไม่สามารถมีสมาธิในการดูละครได้นานนัก ละครเวทีไม่มีโฆษณามาคั่นทุกๆ 10-15 นาที จึงทำให้วอกแวกและเบื่อหน่ายได้ง่าย ผู้ดูบางกลุ่มก็กินขนมไป ดื่มน้ำอัดลมไป คุยกันไป ทั้งๆที่ละครกำลังเข้าสู่ตอนที่ซาบซึ้งกินใจ น่าเห็นใจผู้กำกับการแสดงและผู้แสดงทุกคนที่ทุ่มเทกำลังกายกำลังใจในการสื่อนาฏกรรมของต่างวัฒนธรรมอย่างสุดฝีมือ แต่ก็ไม่ควรจะท้อ ถ้ามีละครเวทีที่ทรงคุณภาพเช่นนี้ให้ชมบ่อยๆ ผู้ดูก็จะเข้าใจวิธีการดูไปเอง ประเด็นอยู่ที่ว่าผู้จัดแสดงจะต้องมีความอดทน ไม่โอนอ่อนผ่อนตามผู้ดูผู้ชมง่ายจนเกินไปนัก เพราะแม้แต่ละครประเพณีของไทยก็ปรับตัวเองให้เข้ากับรสนิยมของผู้ชมที่ขาดสมาธิไปมากแล้ว จนในบางครั้งก็ตัดตอนหรือแทรกบทตลกเข้ามามากเกินไปจนเสียรส ละครพูด ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำเช่นนั้น เพราะเป็นละครสมัครเล่นที่ไม่ได้มุ่งหากำไร เป็นละครของผู้ให้การศึกษาและของผู้รับการศึกษา เป็นละครเพื่อการศึกษา การที่วัฒนธรรมแห่งการแสดงอาจจะไม่พ้องกับวัฒนธรรมแห่งการดูการชมนั้น เป็นสิ่งที่ปรับได้แก้ไข ถ้าเรายังไปไม่ถึงจุดที่ประชาคมการละครมีเอกภาพอันแท้จริง ก็มิได้หมายความว่าเราจะไปไม่ถึงจุดนั้น เราคงจะต้องสำนึกอยู่เสมอว่าจุดกำเนิดของละครส่วนใหญ่คือพิธีกรรมทางศาสนา ผู้ดูผู้ชมของเราในพ.ศ. 2529 คงจะหมุนนาฬิกากลับไปสู่สภาวะดั้งเดิมเช่นนั้นไม่ได้อีกแล้ว แต่เราขาดอะไรไปมากมายนักหรือ

เราคงจะต้องยอมรับว่า ถึงอย่างไรความรู้สึกของผู้ดูผู้ชมไทยที่มีต่ออีดิปุสจอมราชันย์ก็คงจะแตกต่างไปจากความรู้สึกของชาวเอเธนส์ในศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล แต่ชะตากรรมของมนุษย์ที่ต้องต่อสู้กับโลกที่เขาไม่อาจเข้าใจได้ยังเป็นสารที่เรารับได้ในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ เราได้รับสารที่มีความลุ่มลึกทางปรัชญาจากละครตะวันตกที่ทรงคุณค่าถึง 2 เรื่อง ทั้ง กาลิเลโอ และ อีดิปุสจอมราชันย์ เป็นละครที่กระตุ้นความคิดได้อย่างมหาศาล

ถึงเวลาหรือยังที่นักเขียนร่วมสมัยของไทยจะหันมาให้ความสนใจกับการเขียนบทละครอย่างจริงจัง ประเพณีมิได้แปลว่าสิ่งที่เราสืบทอดมาเท่านั้น แต่ประเพณีเป็นสิ่งที่สร้างได้ คงจะไม่มีใครกล่าวได้อย่างเต็มปากว่าวรรณกรรมร่วมสมัยของไทยขาดความลุ่มลึกทางปรัชญา ประเด็นอยู่ที่ว่าจะมีนักประพันธ์ร่วมสมัยสักกี่คนที่พร้อมที่จะแสดงออกซึ่งความเข้มข้นทางความคิดออกมาในรูปของละครเวที ประสบการณ์จาก “ความเป็นอื่น” ของปุราณคติตะวันตกน่าที่จะกระตุ้นให้เราแสวงหาทางออกที่เป็นของเราเองได้

ที่มา: เจตนา นาควัชระ. “อีดิปุส จอมราชันย์: ความเป็นอื่นของปุราณคติตะวันตก” บานไม่รู้โรย (เมษายน 2529), หน้า 58 – 63.
 

You may also like...