มิเชล ฟูโก ผู้กบฎต่อความจริง

มองปราดแรก ดูเหมือนมันจะขัดแย้งอย่างไรชอบกล ที่จะรวมเอา Michel Foucault มาไว้ในหนังสือรวมเล่ม ที่อุทิศให้กับเรื่อง The Return of Grand Theory (การหวนกลับไปสู่ทฤษฎีที่ยิ่งใหญ่)

สำหรับความเข้าใจอย่างลึกซึ้งทางประวัติศาสตร์ และปรัชญาใหม่ของ Foucault, ผลงานของเขาทั้งหมด เป็นไปในลักษณะทำลายความเชื่อถือที่มีมาทั้งหมดโดยตั้งใจ. ความเอาใจใส่หลักๆของเขา ไม่ได้พยายามหาทางออกใหม่ๆ เพื่อปัญหาทางปรัชญาที่หัวหงอกแล้ว, และมิได้จัดหาหรือตระเตรียมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เหมาะสมกว่า เกี่ยวกับความยุ่งยากที่แพร่กระกระจายอยู่ของเราแต่อย่างใด. ความจริงจะว่าไปแล้ว เขาทำทั้งสองอย่างข้างต้น แต่ได้กระทำมันลงไปในลักษณะผ่านๆเท่านั้น.

เป้าหมายอย่างแรกของเขา คือ ต้องการจะเสนอบทวิพากษ์เกี่ยวกับวิธีการที่สังคมสมัยใหม่ต่างๆ ที่ได้สร้างมาตรการที่จะนำมาควบคุมและสร้างวินัยให้กับประชากรของสังคมเหล่านั้น โดยการลงโทษตามข้ออ้างความรู้ และการปฏิบัติการเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์มนุษย์ : อาทิ เช่น การแพทย์, จิตเวชศาสตร์, จิตวิทยา, อาชญวิทยา, สังคมวิทยา และอื่นๆ.

เขาให้เหตุผลว่า วิทยาศาสต์ต่างๆเกี่ยวกับมนุษย์ ได้มาโค่นล้มระบบระเบียบแบบคลาสสิคเกี่ยวกับการเมืองการปกครองที่วางอยู่บนพื้นฐานอำนาจกษัตริย์ และสิทธิต่างๆลงไป, และได้สถาปนาระบอบใหม่อันหนึ่งขึ้นมาแทนที่ ซึ่งเป็นเรื่องของ”อำนาจ”. อำนาจดังกล่าว มันปฏิบัติการโดยผ่านกลไกต่างๆของระเบียบวินัย และการกำหนดเงื่อนไขที่เป็นบรรทัดฐานต่างๆสำหรับพฤติกรรมของมนุษย์. มันเริ่มในสถานที่ทำงาน, ห้องเรียน, โรงพยาบาล และที่ทำการด้านสวัสดิการต่างๆ; ในครอบครัว และชุมชน; และในคุก, สถานบำบัดทางจิต, ห้องพิจารณาคดี และศาลสถิตยุติธรรม

นอกจากนี้ วิทยาศาสตร์มนุษย์ยังได้สร้างมาตรฐานเกี่ยวกับ”ความเป็นปกติ”(normality)ขึ้นมาด้วย เช่น เด็กปกติ, ร่างกายที่มีสุขภาพปกติ, จิตใจที่เป็นปกติ(มั่นคง), พลเมืองปกติ(ดี), ภรรยาที่ปกติ(เพรียบพร้อม) และผู้คนที่ปกติ(เหมาะสม) – มโนคติเหล่านี้ได้สิงสู่อยู่ในความคิดเราเกี่ยวกับตัวของเราเอง, และได้รับการสร้างขึ้นมา และทำให้มันชอบธรรมโดยผ่านการปฏิบัติการต่างๆของผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ อาทิ ครูบาอาจารย์, คนทำงาน, หมอ, ผู้พิพากษา, ตำรวจ และผู้บริหารต่างๆ.

วิทยาศาสตร์มนุษย์พยายามที่จะนิยามความเป็นปกติขึ้นมา; และสถาปนาความเป็นปกติอันนี้ในฐานะที่เป็น กฎเกณฑ์อันหนึ่งของชีวิตสำหรับเราๆท่านๆทั้งหลาย, ในเวลาเดียวกันวิทยาศาสตร์มนุษย์ก็ได้สร้าง – กระบวนการสอบสวน, กระบวนการควบคุม และการรักษาเยียวยาขึ้น – จากกระบวนการเหล่านี้ มันจึงก่อให้เกิดพื้นที่ขนาดใหญ่เกี่ยวกับการเบี่ยงเบน การออกนอกลู่นอกทางไปจากมาตรฐานปกติดังกล่าวขึ้นมาในสังคม.

Foucault ได้เสนอประวัติศาสตร์อันเป็นแบบจำลองที่แตกต่างกันหลายหลากกับเรา โดยที่มนุษย์ในวัฒนธรรมของเรานั้นเป็น subject(ผู้อยู่ใต้การบังคับ); ในที่นี้ควรจะหมายเหตุเกี่ยวกับนัยะอันคลุมเครือของศัพท์คำว่า”subject”นี้ด้วย. วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับมนุษย์ได้ทำให้ผู้คนเป็น subject(ผู้รับการทดสอบ) ของการศึกษา และเป็น subject(ผู้อยู่ใต้บังคับ) ของรัฐด้วย และรัฐก็ subject (ควบคุม)เราด้วยกฎหมายชุดหนึ่ง ซึ่งพวกเขาอ้างขึ้นมากำหนด”ความเป็นอยู่”ของพวกเรา อาทิ กฎหมายเกี่ยวกับการพูด, ความมีเหตุมีผลทางเศรษฐกิจ, บทบาทหน้าที่ทางชีววิทยา และพฤติกรรมทางสังคม.

โดยผ่านปฏิบัติการต่างๆของ”ศาสตร์”เหล่านี้ พวกเราได้กลายเป็นตัวตนที่ถูกแบ่งแยก, เช่นเป็นต้นว่า การเยียวยาให้สภาพจิตปกติในทางปฏิบัติ, การรักษาสุขภาพอนามัย และความลงรอยเข้ากันได้กับสังคม อันเป็นส่วนประกอบต่างๆของตัวตนที่แท้จริงของพวกเรา และศาสตร์เหล่านี้จะไม่ให้การยอมรับลักษณะที่แปลกออกไป. การแปลกแยกออกไปจะถือว่าเป็นโรคหรือพยาธิของพวกเรา, เช่น ความไร้เหตุผล และความเหลวไหล การกระทำความผิดต่างๆ.

มนุษย์, คือขอบเขตปริมณฑลที่เป็นสากลอันหนึ่ง, ซึ่งบรรจุอยู่ภายในกฎของการดำรงอยู่(a law of being), ซึ่งสำหรับ Foucault แล้ว , กฎดังกล่าว มันคือประดิษฐกรรมของยุคสว่าง(the Enlightenment). และการพยากรณ์ที่เขาได้พูดเอาไว้มากมาย เกี่ยวกับการแตกสลายของมนุษย์ ซึ่งหากจะทำความเข้าใจกันแล้วละก็ เพื่อให้เข้าใจได้ดีที่สุดนั้น (อย่างที่ถกเถียงกันได้ต่อไป) ไม่มีอะไรมากหรือน้อยไปกว่า การอ้างถึงความพยายามที่จะสถาปนาระบบการเมืองอันหนึ่งขึ้นมา บนความเข้าใจทางวิทยาศาสต์เกี่ยวกับธรรมชาติมนุษย์ ซึ่งทั้งผิดพลาดอย่างลึกซึ้งและไม่แน่นอนอย่างยิ่ง.

ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นได้ว่า ทำไมเวลาพูดถึง Foucault ในแนวทางต่างๆของการหวนกลับไปสู่ทฤษฎีที่ยิ่งใหญ่(a Return to Grand Theory) มันจึงเป็นเรื่องที่คลุมเครือ.

ถึงแม้ว่าเขาจะเสนอสถานะทางด้านปรัชญาที่แปลกใหม่กับเรา และการวิเคราะห์ที่น่าทึ่งบ่อยๆเกี่ยวกับเรื่องของอำนาจ และที่ทางของมันในการธำรงรักษาระบบทางการเมืองและระเบียบทางสังคมเอาไว้, แต่ความเกี่ยวพันขั้นปฐมของเขานั้น ต้องการที่จะทำลายอภิปรัชญาของตะวันตก และวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับมนุษย์ลง.

เขาปฏิเสธว่า ไม่ได้กำลังนำเสนอทฤษฎีใหม่อันหนึ่งทางด้านระบบการเมืองหรือสังคมขึ้นมา เพราะว่า, เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด, ความเอาใจใส่ของเขานั้น ต้องการทำลายทฤษฎีพวกนั้น, ซึ่งได้อ้างถึงความเป็นปกติ โดยการใช้มาตรการต่างๆมาควบคุม ซึ่งพยายามที่จะกำหนดบางสิ่งบางอย่างขึ้น หรือสร้างเงื่อนไขมายึดกุมหรือครอบงำมนุษย์-สังคม.

ถ้าหากว่า ข้อคิดเห็นและคำวิจารณ์ต่างๆของ Foucault เกี่ยวกับอนาคต เป็นเรื่องของการหลบหลีกจากสิ่งเหล่านี้; ถ้าเป็นดังนั้นแล้วละก็ มันเป็นเพราะเป้าหมายของเขานั้น ต้องการที่จะโจมตีระบบต่างๆอันยิ่งใหญ่, และความจริงต่างๆซึ่งมีความสำคัญ, ในเวลาเดียวกัน ก็ให้อิสระต่อความแตกต่าง, ต่อความรู้ท้องถิ่น, ความรู้เฉพาะ, ความแตกแยก, ความบังเอิญ, และความไม่ต่อเนื่อง(to rupture, contingency and discontinuity).

สำหรับ Foucault หากเขากระทำสิ่งเหล่านี้ในฐานะที่เป็นนักทฤษฎีที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง การกระทำของเขานั้น ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลบางอย่าง – เกี่ยวกับข้อกำหนดที่มีต่อผู้คนในเรื่องกฎของการดำรงชีวิตของพวกเขา. อันนี้มันผ่านมาทางความเชื่อและหลักปฏิบัติใหม่ต่างๆ, และด้วยเหตุนั้น มันจึงเป็นลักษณะของทรราชย์อันหนึ่งนั่นเอง.

สารัตถะทั่วๆไปอันนี้ได้ครอบคลุมงานของ Foucault ตลอดช่วงเวลา 30 ปี ในฐานะที่เป็นนักเขียนคนหนึ่ง. ในช่วงเวลานั้น เขาได้ผลิตหนังสือขึ้นมาหลายเล่มในเรื่อง ประวัติศาสตร์การจัดการเกี่ยวกับการเจ็บป่วยทางจิต, การกำเนิดของการแพทย์แบบคลินิค, พัฒนาการของชีววิทยา, นิรุกติศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์, ระเบียบวิธีของประวัติศาสตร์ความคิด, การกำเนิดเกี่ยวกับการคุมขัง, และประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องเพศ.

โดยในปี 1970 ผลงานของเขาได้ส่งให้เขามีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมาอย่างเต็มที่ และทำให้เขาได้รับสิ่งตอบแทนการมีชื่อเสียงนั้นโดย ได้ดำรงตำแหน่งอธิการที่ the College de France ในสาขาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับระบบคิด(the History of Systems of Thought). ผลงานที่ตามมาของเขาเกี่ยวกับเรื่องการคุมขังและเรื่องเพศ ได้รับการหมายเหตุ โดยการเข้าไปเกี่ยวพันกับเรื่องใหม่เรื่องหนึ่ง ซึ่งได้พูดถึงบทบาทหน้าที่ของอำนาจภายในชีวิตผู้คน-สังคม.

เขาก็ได้หวนกลับไปสู่งานในช่วงแรกของเขาอยู่อย่างสม่ำเสมอ และทำซ้ำงานความคิดของเขาดังกล่าว – อันนี้ได้ก่อให้เกิดความปิติอย่างมากต่อผู้ติดตามงานของเขาเป็นจำนวนมาก, และในเวลาเดียวกัน มันก็ได้สร้างความสับสนและความระคายเคืองอย่างมากต่อบรรดานักวิจารณ์ทั้งหลายจำนวนมากพอๆกัน. แม้ว่าอันนี้จะหมายความว่า งานของเขา ไม่ใช่งานง่ายๆเลยที่จะได้รับการสรุปอย่างรวบรัด, แต่ข้าพเจ้าก็จะพยายามทำ เพื่อชี้ให้เห็นถึงสารัตถะหลักๆบางอย่างในงานเหล่านั้น.

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าจะสนทนาถึงสาระสำคัญของคำว่าวาทกรรม(discourse), ความสัมพันธ์กันของอำนาจและความรู้(the power/knowledge relation), การสืบสาวในเรื่องของการสืบต่อ(the place of genealogical enquiry), และการไม่ปรากฎตัวของ subject ตามประวัติศาสตร์.

หน่วยของการวิเคราะห์อย่างแรกของ Foucault ก็คือ”วาทกรรม”(discourse).
วาทกรรม สำหรับคำนี้ หากจะทำความเข้าใจได้ดีที่สุดก็คือ มันเป็นระบบหนึ่งของความเป็นไปได้สำหรับความรู้. Foucault ปฏิเสธหน่วยต่างๆที่เป็นแบบจารีตประเพณีเกี่ยวกับการวิเคราะห์และการตีความ – เช่น ตัวบทหรือหนังสือ, ผลงานของนักเขียน, และสไตล์งานเขียน – เช่นเดียวกับเอกภาพต่างๆที่ได้รับการยืนยันทางวิทยาศาสตร์ – ทฤษฎีต่างๆ, กระบวนทรรศน์ และโครงการวิจัย.

การวิเคราะห์ของ Foucault ไม่ได้หมายถึง การเสนอการตีความที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับความหมายที่ยากจะเข้าใจของตัวบทหรือหนังสือ, และไม่ใช่เขาต้องการจะสร้างความมีเหตุมีผลเกี่ยวกับการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ขึ้นมาใหม่. แต่วิธีการของเขา ค่อนข้างเป็นเรื่องของการตั้งข้อสงสัยและเป็น”นามนิยม”(nominalism)มากกว่า

[หมายเหตุ nominalism หรือ นามนิยม, แนวคิดนี้ไม่เชื่อว่ามีสิ่งสากลอยู่จริง การอ้างถึงสิ่งสากล เป็นเพียงคำพูดที่ไม่มีความเป็นจริงรองรับ]

ความสนใจของเขา ได้โฟกัสลงไปที่ถ้อยแถลงต่างๆ(statements) และเป้าหมายของการวิเคราะห์. วิธีการของเขาต้องการตั้งคำถามว่า…
กฎเกณฑ์อะไรที่อนุญาตให้ถ้อยแถลงต่างๆได้รับการสร้างขึ้นมาได้ ?; กฎเกณฑ์อะไรที่วางระเบียบหรือมาสั่งการถ้อยแถลงเหล่านี้ ?;
กฎเกณฑ์อะไรที่ยินยอมให้เราจำแนกแยกแยะได้ว่าถ้อยแถลงบางอย่างเป็นจริง(true) และถ้อยแถลงบางอย่างไม่เป็นจริง(false) ?;
กฎเกณฑ์อะไรที่ยินยอมให้กับโครงสร้าง, แผนภูมิ, แบบจำลอง, หรือระบบการจำแนกเป็นหมวดหมู่อันหนึ่ง ?;
กฎเกณฑ์อะไรที่อนุญาติให้เราจำแนกปัจเจกบุคคลทั้งหลาย ในฐานะที่เป็นผู้สร้าง ?;
และกฎเกณฑ์อะไรที่ถูกเผยออกมา เมื่อเป้าหมายของวาทกรรมได้รับการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือแปรสภาพ?

ดังเช่น อาการทางจิตอย่างหนึ่งที่นักจิตเวชศาสตร์สร้างขึ้นมา, homicidal monomania (อาการคลั่งคิดเกี่ยวกับการฆาตกรรม) กลายมาเป็นสิ่งที่ถูกมองอย่างสงสัยว่า คือความความเสื่อมทรามทางศีลธรรม หรืออาการจิตเภท(paranoid schizophrenia – บุคคลิกแตกแยก). เมื่อไหร่ก็ตามที่กฎเกณฑ์ต่างๆเหล่านี้สามารถถูกแยกแยะได้, เราก็กำลังเกี่ยวข้องกับ กระบวนการสร้างเหตุผลหรือวาทกรรม(discursive formation or discourse).

[หมายเหตุ: homicide เป็นการฆาตกรรมที่อาจจำแนกได้เป็น 3 ลักษณะ คือ murder(ฆาตกรรม), manslaughter(ฆาตกรรมที่ไม่มีการไตร่ตรองไว้ก่อน), infanticide(การฆ่าทารก)].

ด้วยเหตุนี้ Foucault จึงไม่ได้ผูกพันอยู่กับถ้อยแถลงเหล่านั้นโดยตรง ซึ่งได้รับการถือว่าเป็นจริงในขอบเขตความรู้ที่กล่าวมาแล้ว. เขาค่อนข้างที่จะพยายามแสดงให้เห็นถึงกฎเกณฑ์ต่างๆของกระบวนการฐานรากของเหตุผล ซึ่งยินยอมให้สร้างกลุ่มของถ้อยแถลงพวกนั้นขึ้นมา. อันนี้เป็นสิ่งที่ Ian Haking เรียกว่า “จริง”หรือ”เท็จ”(true or false); ถ้อยแถลงต่างๆ, ซึ่งสามารถมองได้แต่เพียง”จริงหรือเท็จ”, เพราะเรามีวิธีการต่างๆในการให้เหตุผลเกี่ยวกับมันแบบนั้นนั่นเอง.

นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไม วาทกรรมอันหนึ่ง มันจึงถูกมองในฐานะที่เป็นระบบหนึ่งของความเป็นไปได้เท่านั้น: มันเป็นสิ่งที่ยอมให้เราผลิตถ้อยแถลงต่างๆขึ้นมา ซึ่งไม่”จริง”ก็”เท็จ”เท่านั้น – มันสร้างความเป็นไปได้ เกี่ยวกับขอบเขตของความรู้อันหนึ่งขึ้นมา.

แต่กฎเกณฑ์ต่างๆเกี่ยวกับวาทกรรม ไม่ใช่กฎเกณฑ์ที่ปัจเจกบุคคลแต่ละคนจะปฏิบัติหรือดำเนินตามอย่างมีสำนึก; วาทกรรม มิใช่วิธีการอันหนึ่ง หรือมาตรการอันหนึ่งเกี่ยวกับการไต่สวน. อันที่จริงแล้ว กฎเกณฑ์เหล่านี้ ค่อนข้างจะเป็นการตระเตรียมเงื่อนไขที่จำเป็นบางอย่างก่อนหน้านั้น สำหรับการสร้างถ้อยแถลงต่างๆขึ้นมา และฐานะดังที่กล่าวมานี้ พวกมันปฏิบัติการ”อยู่เบื้องหลัง หรือสนับสนุนอยู่ข้างหลังของผู้พูดเกี่ยวกับวาทกรรมอันหนึ่ง.

หนทางง่ายๆที่จะมองดูบางสิ่งบางอย่าง เกี่ยวกับธรรมชาติและพลังอำนาจของระเบียบวิธีของ Foucault จะต้องพิจารณาถึงระบบต่างๆของการจำแนกหมวดหมู่. ในตอนเริ่มต้นหนังสือเรื่อง the Order of Thing เขาได้ยกเอาย่อหน้าหนึ่งมาจากนักเขียนเชื้อสายอาร์เจตินา Jorge Luis Borges มาอ้าง, ซึ่งหยิบมาอย่างมีความหมาย จากสารานุกรมจีนเล่มหนึ่ง, สารานุกรมเล่มนั้นได้แบ่งแยกสัตว์ประเภทต่างๆ ตามการจำแนกหมวดหมู่ดังต่อไปนี้:

(1)เป็นของจักรพรรดิ์, (2) ถูกดองเอาไว้, (3) สัตว์ที่เชื่อง, (4) หมูกำลังดูดนม, (5) สัตว์ครึ่งคนครึ่งนก(sirens)(กินนรี), (6) สัตว์ในเทพนิยาย(ไม่น่าเชื่อถือ), (7) สุนัขเร่ร่อน, (8) สัตว์ที่ถูกรวมอยู่ในการจำแนกที่มีอยู่, (9) สัตว์ที่มีอยู่อย่างมากมายเหลือคณานับ, (10) สัตว์ที่ถูกเขียนขึ้นมาโดยพู่กันขนอูฐอันประณีต, (11) อื่นๆ ฯลฯ, (12) สัตว์ที่ทำเหยือกน้ำแตก, (13) สัตว์ที่ดูห่างไกลไปจากพวกแมลงวันมาก.

ดังที่ Foucault ชี้แจง, การจำแนกหมวดหมู่ซึ่งสร้างขึ้นมานี้ข้างต้น, มันเป็นสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้เอาเลยที่จะคิด, อันนี้เนื่องมาจากข้อจำกัดเกี่ยวกับระบบความคิดของพวกเรานั่นเอง. เพราะพวกเราถูกล็อคหรือถูกกักขังให้อยู่ในวาทกรรมของเรา ดังนั้น จึงไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ถึงโลกของสรรพสัตว์ที่อาจได้รับการวางแผนภูมิให้อยู่ในลักษระนี้ได้. เมื่อพวกเราจำแนกหมวดหมู่วัตถุสิ่งของต่างๆ เราจะปฏิบัติการภายในระบบของความเป็นไปได้อันหนึ่ง – และระบบอันนี้ มันทำให้เราสามารถกระทำบางอย่าง และในเวลาเดียวกันก็จำกัดหรือคุมขังเราไว้ในระบบอันนี้และสิ่งเหล่านี้ด้วยพร้อมกัน.

มันมีระบบของการจำแนกหมวดหมู่สัตว์ต่างๆอยู่อย่างมากมายตลอดมาในประวัติศาสตร์, แต่ละวิธีการนั้นมีรากของแนวคิดที่แตกต่างกันไป เกี่ยวกับระบบของโลกธรรมชาติ. อย่างไรก็ตาม เรามีแนวโน้มที่จะทึกทักกันไปว่า การจำแนกหมวดหมู่ข้างต้นนี้ ถูกทำให้ไม่บริสุทธิ์โดยรูปแบบต่างๆทางความคิดทางศาสนา และมีลักษณะดึกดำบรรพ์ ล้าหลัง และด้วยเหตุดังกล่าว เพียงวิธีการจำแนกของเราเท่านั้นที่มีอิสระจากความผิดพลาดอย่างแท้จริง.

แต่มันเป็นที่แน่ชัดว่า ความเคลื่อนไหวอันนี้ Foucault จะไม่ยอมรับ. ความจริง(truth)สำหรับ Foucault แล้ว เป็นผลอันหนึ่งอันเนื่องมาจากกฎเกณฑ์ต่างๆของวาทกรรมอันหนึ่ง – พวกเราไม่สามารถอ้างว่า ระบบการจำแนกหมวดหมู่ของเรา ได้สะท้อนลักษณะที่เป็นอมตะบางอย่างของโลกธรรมชาติ ซึ่งการจำแนกแยกแยะก่อนหน้านั้น มันเป็นสิ่งที่บิดเบือนผิดรูปผิดร่างไป. มันไม่อาจจะไม่ตั้งคำถามหรือเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับความจริงว่า”จริงทั้งหมด” หรือ”ไม่จริงทั้งหมด” ในการจำแนกหมวดหมู่หรือวาทกรรมอันหนึ่งได้ – ความสัมพันธ์ระหว่างคำต่างๆและสิ่งต่างๆ(words and things) มักจะเป็นบางส่วน และมีรากอยู่ในกฎเกณฑ์การให้เหตุผลและการผูกมัด ซึ่งตัวมันเองไม่สามารถที่จะได้รับการให้ข้อพิสูจน์อย่างมีเหตุผลได้.

ในงานช่วงต้นๆของเขา, Foucault ได้ขุดเซาะและทำลายการอ้าง”ความจริง”ของวาทกรรมต่างๆลง โดยการเน้นถึงธรรมชาติอันไม่มีกฎเกณฑ์ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในการให้เหตุผล. เขาได้ย้ำถึงการแตกแยกและความไม่ต่อเนื่องในประวัติศาสตร์ของความคิดต่างๆ จากเรื่องราวอันนั้น ได้ให้ความสว่างเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ว่า ตรรกะและความมีเหตุผล ไม่ได้มีบทบาทต่อการตระเตรียม หรือการก่อตัวขึ้นมาสำหรับวาทกรรมต่างๆ.

ในงานช่วงต้นๆนี้ “วาทกรรม” บ่อยครั้ง ดูเหมือนว่าจะเป็นโครงสร้างซึ่งเป็นนามธรรมทางความคิดสูงมากที่ไม่ถูกกระทบกระเทือนโดย”ปัจจัยต่างๆที่ไม่ใช่รากฐานของเหตุผล”(non-discursive elements) อย่างเช่น เหตุการณ์ทางสังคม, การเมือง, และสถาบันต่างๆ, หรือ ขบวนการทางเศรษฐกิจ, และปฏิบัติการต่างๆ. แต่อย่างไรก็ตาม ในงานหลังจากช่วงนั้นมา เขาได้เน้นบทบาทของการประกอบตัวกันขึ้น ซึ่ง”อำนาจ”ได้มามีบทบาทในเรื่อง”ความรู้”. ส่วนหนึ่งของประเด็นอันนี้ของเขา ได้แสดงให้เห็นว่า วิทยาศาสตร์มนุษย์ได้รับการหยั่งรากอยู่ในสิ่งที่ไร้เหตุผล(non-rational), ความบังเอิญ และต้นตอกำเนิดที่ไม่พ้องกัน. อย่างไรก็ตาม, เราควรจะหมายเหตุลงไปด้วยว่า ข้ออ้างของ Foucault นั้น “ความจริง” เป็นเพียง “สิ่งที่ถือว่าเป็นจริง” ภายในวาทกรรมอันหนึ่ง ซึ่งไม่ง่ายเลยที่จะยอมรับ.

ถ้าหากว่า สิ่งซึ่ง Foucault พูดเป็นความจริง, ถ้าเป็นเช่นนั้น ความจริงก็จะต้องสัมพันธ์กับวาทกรรมเสมอ(truth is away relative to discourse); ด้วยเหตุนี้ มันจึงไม่สามารถมีถ้อยแถลงใดๆซึ่งเป็นจริงในทุกๆวาทกรรม, และมันไม่อาจที่จะมีถ้อยแถลงอันใดซึ่งเป็นเจริงสำหรับทุกๆวาทกรรม – ดังนั้น, ในคำอธิบายของ Foucault สิ่งที่เขาพูดจึงไม่สามารถเป็นจริง(ในทุกวาทกรรม)ได้เช่นกัน !

อันนี้เป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อน และไกลห่างไปจากปัญหาหยุมหยิม, และเราจะเห็นว่ามันจะเคลื่อนเข้าไปสู่ผลงานในช่วงหลังต่อมาของ Foucault เพื่อหลบเลี่ยงมัน. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาผูกติดอยู่กับความคลุมเครือสองนัยะที่ฉลาดรอบคอบบางอย่าง ซึ่งอยู่เหนือคำถาม. ไม่ว่า เกี่ยวกับการที่เขากำลังพูดว่า “ความจริง” มักจะสัมพันธ์กับ “วาทกรรม” เสมอ, หรือไม่ว่าเขากำลังอ้างว่า “ความจริง” มีลักษณะที่เป็น “การเมือง” เช่นเดียวกับ สถานะของญานวิทยาอันหนึ่งก็ตาม

ยกตัวอย่างเช่น ไม่ว่าเขาจะอ้างว่า ความรู้ทางด้านจิตเวชศาสตร์ไม่ได้มีพื้นฐานอยู่ในความจริง, หรือไม่ว่า เขากำลังอ้างอย่างง่ายๆว่า ความรู้ทางจิตเวชศาสตร์นั้น ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบกฎเกณฑ์ทางการเมืองที่กดขี่ก็ตาม. แต่ ดังที่ข้าพเจ้าจะเสนอในข้อสังเกตุเชิงสรุปของข้าพเจ้า มันอาจเป็นว่า ความคลุมเครือที่มีสองนัยะ, ตัวมันเอง เป็นส่วนที่สำคัญอันหนึ่งของข้อถกเถียงของ Foucault.

มันน่าจะเป็นประโยชน์ในจุดนี้ ที่จะมาพิจารณากันถึงเหตุผลที่ว่าทำไม หรืออย่างไร ให้ชัดลงไป ซึ่ง Foucault ได้เสนอ ข้ออ้างความจริงเกี่ยวกับจิตเวชศาสตร์ และ วิทยาศาสตร์มนุษย์ เข้ามาอยู่ในข้อสงสัย. ยกตัวอย่างเช่น ลองหยิบเอาการพูดถึงเรื่องของ Henriette Cornier และ Catherine Ziegler ของเขามาดู:

ในปารีส ปี 1827 Henriette Cornier, ซึ่งเป็นคนใช้ , ได้ไปยังบ้านของเพื่อนบ้านของนายจ้างของเธอ และได้ขอร้องให้ เพื่อนบ้านคนนั้นให้ยอมปล่อยให้ลูกสาวของเธอมาอยู่กับเธอช่วงเวลาหนึ่ง. เพื่อนบ้านคนดังกล่าวรู้สึกลังเล, แต่ก็ตกลงใจในที่สุด, หลังจากนั้น, เมื่อเพื่อนบ้านคนนั้นกลับมารับลูกของเธอ, ปรากฎว่า Henriette Cornier เพิ่งจะฆ่าลูกสาวของเธอไป และได้ตัดหัวโยนออกไปนอกหน้าต่าง.

ในเวียนนา, Catherine Ziegler ได้ฆ่าลูกนอกกฎหมายของเธอเช่นกัน. บนคอกจำเลย, เธออธิบายว่า การกระทำของเธอเป็นผลอันเนื่องมาจากอำนาจบีบบังคับที่ไม่อาจขัดขืนได้. เธอได้ถูกตัดสินให้พ้นโทษบนพื้นฐานของความวิกลจริต. เธอถูกปล่อยตัวจากที่คุมขัง. แต่เธอประกาศว่า มันจะดีเสียกว่า ถ้าหากว่าเธอยังอยู่ในคุก ทั้งนี้เพราะเธอจะทำสิ่งนี้อีก. สิบเดือนต่อมา เธอได้ให้กำเนิดทารกขึ้นมาคนหนึ่ง ซึ่งเธอได้ฆ่าทิ้งโดยทันที, และเธอประกาศตอนที่ถูกสอบสวนว่า เธอตั้งครรภ์ขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์เพียงอย่างเดียวคือ “เพื่อฆ่าลูกของเธอเสีย”. เธอได้รับการประณามและถูกตัดสินให้มีความผิด โดยการประหารชีวิต.

Foucault ได้ดึงความสนใจของเราไปสู่ข้อเท็จจริงในการสนทนาต่างๆเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ และกรณีที่คล้ายๆกันในตอนเริ่มต้นของศตวรรษที่ 19, บรรดานักจิตเวชศาสตร์ได้ตัดความสัมพันธ์กับขนบธรรมเนียมเดิมๆจำนวนมากทิ้งไป. พวกเขาได้ตัดเยื่อใยกับหลักการในทางปฏิบัติในศตวรรษที่ 18 เกี่ยวกับการอ้างถึงความบ้า(madness)ซึ่งเป็นเพียง ความวิกลจริต(dementia) หรือความบ้าๆบอๆไม่เต็มบาท(imbecility) (ซึ่งทำให้ขาดคุณสมบัติจากการรับทอดสืบช่วงในเชิงกฎหมายบางอย่าง เช่นกฎหมายที่เกี่ยวกับพลเมือง หรือกฎหมายแพ่ง เป็นต้น) และอารมณ์บ้าคลั่งเท่านั้น – ทั้งหมดนี้ ได้รับการยอมรับกันในหมู่ผู้คนธรรมดาทั่วๆไป.

กรณีที่เป็นเรื่องใหม่ๆเหล่านี้ เป็นเรื่องหนึ่งซึ่ง เป็นอาชญากรรมหรือการกระทำความผิดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน, มันคลอไปกับ หรือตามมาด้วยรูปแบบการระบุถึงเรื่องของ”สติที่ไม่ปกติ”(insanity). กระนั้นก็ตาม บรรดานักจิตเวชศาสตร์ก็ปฏิเสธที่จะดำเนินรอยตามขนบธรรมเนียมที่มีมาแต่เดิม ซึ่งพวกเขาถือว่า มันเป็นสิ่งซึ่งไม่เหมาะสมหรือเข้ากับหลักในการที่จะอ้างไปถึง จิตหรือสติอันไม่ปกติ ในกรณีต่างๆที่จริงจังอันเกี่ยวโยงถึงอาชญากรรม.

พวกเขาได้นำเสนออาชญากรรม”ใหม่”เหล่านี้ขึ้นมา ในฐานะที่เป็นอาชญากรรมต่างๆที่สวนทางกันกับกฎของธรรมชาติ – ขณะที่อาชญากรรมต่างๆ เป็นเรื่องที่น่าหวาดหวั่น และถูกพิจารณาอย่างง่ายๆ ในฐานะที่เป็นตัวอย่างที่ตรงๆเกี่ยวกับการฝ่าฝืนต่อหลักการและกฎเกณฑ์ต่างๆของขนบธรรมเนียมเดิมๆ. พวกเขาได้เน้นว่า อาชญากรรมเหล่านี้ที่กระทำผิด ปราศจากผลประโยชน์ กิเลสตัณหา เหตุผล หรือแรงกระตุ้น และพวกเขาได้เหตุผลว่า อันนี้ทำให้อาชญากรรมเป็นสิ่งที่เป็นไปอย่างไม่ฉลาด, หรือไร้เหตุผล. กระนั้นก็ตาม หลักฐานหรือพยานเพียงอย่างเดียวที่พวกเขามี สำหรับความผิดปกติทางจิตนี้ก็คือ อาชญากรรมในตัวมันเอง.

ข้อเท็จจริงที่กล่าวมานี้ Foucault อ้างว่า: “ในคริสตศตวรรษที่ 19 บรรดานักจิตเวชศาสตร์ได้คิดประดิษฐ์แก่นสารที่สร้างขึ้นมาเองทั้งหมด, อาชญากรรม ซึ่งเป็นความผิดปกติทางจิต, อาชญากรรมซึ่งไม่มีอะไรเลย เว้นแต่จิตที่ผิดปกติ, และความผิดปกติทางจิตอันหนึ่งซึ่งไม่ใช่อะไรเลย นอกจาก อาชญากรรม. พวกเขาเรียกการสรรค์สร้างขึ้นมาอันนี้ของพวกเขาว่า “homicidal monomania” (อาการคลั่งคิดแต่สิ่งๆเดียวเกี่ยวกับการฆาตกรรม) – ลักษณะของการจำแนกอันหนึ่ง ที่มีรากอยู่ในความผิดปกติที่ว่า มันมีความผิดปกติทางจิตบางอย่าง ซึ่งได้รับการแสดงออกมา แต่เพียงในการฆาตกรรมที่รุนแรงเท่านั้น.

ถึงแม้ว่า “homicidal monomania” จะได้รับการส่งต่อสู่หนังสือประวัติศาสตร์เกี่ยวกับจิตเวชศาสตร์, แต่เราไม่ควรที่จะทึกทักเอาว่า การตีความทั้งหลายของพวกเราเกี่ยวกับเรื่องอาชญากรรม ได้หนีรอดไปจากการหลอมรวม ระหว่าง”ระบบกฎหมาย” และ “ความมีเหตุผล” ซึ่งแรกเริ่มเดิมที ได้สร้างการจำแนกหมวดหมู่อันประหลาดมหัศจรรย์เกี่ยวกับความผิดปกติทางจิตขึ้นมา.

“homicidal monomania”, ได้สร้างวิธีการจำแนกอันหนึ่งขึ้นมา ซึ่งได้ยืนยันถึงอาชญากรรมและรูปแบบอันหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความบ้า. ด้วยเหตุดังนั้น มันจึงได้เปิดช่องทางอันหนึ่งขึ้น ในระบบการศาลสำหรับผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตเวชศาสตร์ ซึ่งเป็นผลลัพธ์เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลง ในการโฟกัสเกี่ยวกับปฏิบัติการด้านการศาล จากอาชญากรรมไปสู่ตัวอาชญากร – จากความเกี่ยวพันอยู่กับหลักอาชญากรรม และการละเมิดของมัน ไปสู่ ความเกี่ยวพันอยู่กับความมีเหตุผลของการกระทำความผิดทางอาญา, และด้วยเหตุนั้น จึงผูกพันไปถึงอัตลักษณ์ของอาชญากร และถึงวิธีการกระทำความผิดของเขาหรือเธอ หรือการปรับปรุงแก้ไข.

เมื่อกฎหมายที่เกี่ยวกับการประกอบอาชญากรรมได้ถูกนำมาตีความ ในฐานะที่มันเกิดขึ้นมาจากรูปแบบหนึ่งของความผิดปกติทางจิต, เมื่อคำถามต่างๆของความมีเหตุผล, แรงกระตุ้น และเหตุผลของการกระทำได้รับการนำเสนอ, อาชญากรรมในลักษณะอื่นๆก็ค่อยๆได้รับการเปิดไปสู่คำถามเกี่ยวกับอัตลักษณะ และภาวะทางจิตใจของอาชญากรด้วย. ดังนั้น มันจึงเป็นเพียงก้าวสั้นๆก้าวหนึ่งและใช้เวลาไม่มากนัก ที่นำไปสู่แนวความคิดเกี่ยวกับ”อาชญากรรมที่ก่อตัวมาจากอาการทางจิต”.

ด้วยเช่นกัน เมื่อเรายอมรับรูปแบบอันหนึ่งของความผิดปกติทางจิต ที่แสดงตัวของมันเองออกมาในการก่ออาชญากรรม การยอมรับเช่นนี้ เท่ากับว่าเราได้อนุญาตให้มีการคุกคามอันหนึ่ง อันเกี่ยวเนื่องกันกับ”ปัจเจกชนที่มีอันตราย” เกิดขึ้นมาพร้อมกัน – ปัจเจกชนในที่นี้ คือคนที่อาจจะระเบิดการกระทำความผิดอันใดอันหนึ่งขึ้นมา แบบทันทีทันใด ตามธรรมชาติและตามระบบกฎหมาย. โดยเหตุแห่งการยอมรับข้างต้นนี้ จึงทำให้นักจิตเวชศาสตร์ ซึ่งครั้งหนึ่งได้เคยเคลื่อนคล้อยเข้าไปสู่ระบบทางด้านการศาล, และห้องพิจาณาคดี, นักจิตเวชศาสตร์ก็ได้ขยับขับเคลื่อนเข้าไปสู่ชุมชนในความพยายามที่จะสืบหาพยาธิวิทยา หรือโรคที่เกี่ยวกับการคุกคามในสังคมด้วย.

ขณะที่อาชญากรรม ได้รับการตีความมากขึ้นๆในฐานะที่เป็นบทบาทหน้าที่อันหนึ่งของบุคลิกภาพ, อัตลักษณ์ และภาวะทางจิตต่างๆ, พวกเราก็เลยเอาใจใส่ตัวของเราเองมากขึ้น เกี่ยวกับเรื่องของศักยภาพที่อาจทำให้เกิดความเบี่ยงเบน ในท่ามกลางผู้คนเหล่านั้น ซึ่งยังไม่ได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมาย, แต่ผู้ซึ่งอาจจะกระทำเช่นนั้นเมื่อไรก็ได้.

ด้วยเหตุดังนั้น มันจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงไปอันหนึ่งจากการประยุกต์ใช้การลงโทษทางกฎหมาย ไปสู่การสืบสาวและการบำบัดรักษาทางด้านบุคลิกภาพ, และการเปลี่ยนแปลงที่สัมพันธ์กันอันหนึ่ง จากการบังคับด้วยระบบทางกฎหมาย ไปสู่การบำบัดชุมชุน และต้นตอต่างๆของมันเกี่ยวกับการกระทำความผิด.

โดยการเข้ามาแทนที่ของการแบ่งแยกให้เป็นเรื่องของ “homicidal monomania” (ความคลั่งคิดแต่สิ่งๆเดียวเกี่ยวกับการฆาตกรรม) โดยอาการนั้น ได้เข้ามาทดแทนเกี่ยวกับเรื่องความเสื่อมทรามทางศีลธรรมในอดีต, และต่อมา ก็ถูกแทนที่วิธีการแบ่งแยกนี้ โดยการศึกษาเกี่ยวกับพยาธิวิทยา(โรค)ทางสังคมในการกระทำผิดต่างๆ, พวกเราจึงเปลี่ยนจากกฎเกณฑ์ทางกฎหมาย ไปสู่ความครอบงำอันหนึ่ง โดยการสร้างแนวคิดเกี่ยวกับ”ความเป็นปกติ” และสุขภาพของประชากรขึ้นมาอันหนึ่ง อย่างค่อยเป็นค่อยไป.

การเปลี่ยนแปลงอันนี้ได้ก่อให้เกิดผลที่น่าประหลาดใจอื่นๆตามมาด้วย. กล่าวคือ การจำแนกเกี่ยวกับหมวดหมู่อันหนึ่งในเรื่องความบ้า ซึ่งถูกระบุว่า แสดงออกมาเพียงในอาชญากรรมที่น่ากลัวเท่านั้น, แต่จากบทเรียนที่เกิดขึ้น ปรากฎว่า อาชญากรรมบางอย่าง ที่ค่อนข้างน่าขนลุกขนพองมากๆนั้น มันมักจะถูกกระทำโดยความมีเหตุผลอย่างเต็มที่เสมอ, ความมีเหตุผลนี้เป็นตัวแทนต่างๆที่เป็นปกติในทางจิตวิทยา, ซึ่งก่อให้เกิดการตีความเกี่ยวกับมูลเหตุ, การกระทำ และความรับผิดชอบตามมา ซึ่งวิธีการนี้ยังคงมีอิทธิพลครอบงำในการปฏิบัติการด้านการศาลอยู่.

พวกเราได้รับเอาแนวความคิดอันหนึ่งเกี่ยวกับความรับผิดชอบมา สำหรับการกระทำซึ่ง ไม่เพียงคาดคะเนไว้ล่วงหน้า ถึงการมีอยู่ของความสำนึกอันหนึ่งซึ่งไม่มีอะไรขุ่นมัวเท่านั้น, แต่ยังมีการกำหนดลงไปบนความสามารถเข้าใจได้ทางด้านเหตุผลของการกระทำ และมีการอ้างอิงถึงความประพฤติ, อุปนิสัย และกำพืดต่างๆของปัจเจกบุคคล. พวกเรายังให้การยอมรับถึงความจริงที่ไม่ต้องพิสูจน์ที่ว่า การกระทำความผิดต่างๆที่มีอิสระปราศจาการบังคับ จะต้องได้รับการลงโทษ – ดังนั้น, จึงต้องรับผิดชอบสำหรับการกระทำอันหนึ่ง, ซึ่งการกระทำนั้นจะต้องเป็นอิสระไม่มีใครบังคับ.

ยิ่งมีการกำหนดวางแผน หรือตั้งใจกระทำมากเท่าไหร่ – กล่าวคือ, ยิ่งมั่นคงมากเท่าไร โดยใคร และ อะไรที่ปัจเจกบุคคลทำ – ผู้กระทำที่ถูกจับก็จะต้องยิ่งรับผิดตามกฎหมายมากขึ้นเท่านั้น; ขณะที่ การกระทำใดที่ยิ่งไม่เข้าใจหรือรู้ตัวเท่าไร – ยิ่งหลุดลอยไปจากตัวตนมาก และไม่มีการกำหนดวางแผนโดยแรงกระตุ้นหรือตามความคิดเหตุผล – ก็จะต้องยิ่งอภัยโทษให้มากเท่านั้น.

ด้วยเหตุนี้ ลัทธิเหตุปัจจัยในทางจิตวิทยา จึงกลายเป็นดัชนีของการมีอิสระภาพทางกฎหมาย และความรับผิดชอบทางศีลธรรม – ขณะที่การกระทำที่หลุดออกไปจากตัวตนหรือสำนึกรู้ คือการกระทำที่ไม่มีอิสระ. ดังนั้น กฎหมายจึงกลายเป็นสิ่งซึ่งเต็มไปด้วยปัญหาที่กำเริบขึ้นบ่อยๆเกี่ยวกับแรงกระตุ้น, เหตุผล, และมูลเหตุต่างๆ. และหัวใจของกระบวนการทางศาลยังวางอยู่บนความเชื่อที่ว่า ถ้าหากว่า การกระทำอันหนึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องถูกลงโทษ การกระทำนั้นจะต้องเป็นอิสระปราศจากการบังคับ, และถ้ามันเป็นอิสระ มันก็เป็นสิ่งจำเป็นต้องถูกลงโทษอย่างไม่มีทางเลี่ยง

หลุดออกมาจากการบูรณาการทางแนวคิดอันนี้ มันได้ทำให้เกิดดินแดนของผู้เชี่ยวชาญในด้านศีลธรรมขึ้นมา ไม่ใช่กฎหมาย, เกิดผู้เชี่ยวชาญทางสังคมศาสตร์ จิตวิทยา ผู้ซึ่งจะมาพินิจพิเคราะห์ ตรวจสอบลักษณะ อุปนิสัย ความมั่นคงทางจิตใจ และบุคลิกภาพขึ้น, บุคคลเหล่านี้จะทำหน้าที่ควบคุมหรือคอยวางระเบียบการประยุกต์ใช้การลงโทษ และนอกจากนี้ มันยังทำให้เกิดผู้ที่จะคอยดำเนินการตามกลไกของรัฐ เกี่ยวกับการควบคุมดูแลทางสังคม: นั่นคือ นักจิตเวชศาสตร์, เจ้าหน้าที่ภาคทัณฑ์, คนทำงานด้านสวัสดิการต่างๆขึ้น.

ข้อถกเถียงของ Foucault ก็คือว่า การจำแนกหมวดหมู่ร่วมสมัยของพวกเราเกี่ยวกับการกระทำความผิด, อันที่จริง วิธีการคิดทั้งหมดของเราเกี่ยวกับอาชญากรรมและการก่ออาชญากรรม, เกิดขึ้นจากการก่อตัวขึ้นมาของรากฐานทางเหตุผลอันหนึ่ง ซึ่งนำเราไปเกี่ยวพันกับปลักตมของความผูกมัดต่างๆทางแนวคิดที่สับสน.

เขาไม่ได้ให้ความเอาใจใส่เป็นพิเศษกับคุณค่าต่างๆของความจริงเกี่ยวกับถ้อยแถลงต่างๆของปัจเจกบุคคล ซึ่งถูกพบในจิตเวชศาสตร์ และสาขาวิชาที่เกี่ยวเนื่องของมัน. แต่สิ่งซึ่งสร้างความสนใจให้กับเขาก็คือ วิธีการที่ถ้อยแถลงต่างๆเหล่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องจริงหรือเท็จ ที่พึ่งพิงหรืออาศัยวิธีการคิด เกี่ยวกับ และมีปฏิกริยาต่อการก่ออาชญากรรม, และวิธีการอันนั้นของความคิด ซึ่งตรงข้ามกับข้ออ้างของมันที่อ้างถึงจุดยืนทางวิทยาศาสตร์, ซึ่งไม่สามารถที่จะพิสูจน์ได้ในทางเหตุผล.

เรายังได้เข้าใจด้วยว่า ทำไม Foucault จึงเอาใจใส่ต่อบทบาทหน้าที่ของอำนาจในสังคมสมัยใหม่. จิตเวชศาสตร์ และสาขาวิชาที่ไม่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอื่นๆ ซึ่งคอยตรวจตราความเป็นปกติภายในระบบสังคม ซึ่งได้สร้างอำนาจบีบบังคับเพื่อเป็นไปตามระเบียบวินัย ที่มาดูแลควบคุมมากขึ้น อาทิ ขนบธรรมเนียม ประเพณี และชีวิตเกี่ยวกับชุมชนของเรา. แต่เพื่อจะเข้าใจอย่างลึกซึ้งเต็มที่เกี่ยวกับแรงผลักดันของข้ออ้างเหตุผลของ Foucault เราต้องมองเข้าไปในรายละเอียดมากขึ้น เกี่ยวกับการสนทนาของเขาในเรื่องความสัมพันธ์ของอำนาจและความรู้.

ทัศนะเกี่ยวกับอำนาจของ Foucault
ทัศนะเกี่ยวกับเรื่อง”อำนาจ”ของ Foucault ได้เปลี่ยนแปลงไป นับจากที่เขาได้นำเสนอแนวคิดนี้ขึ้นมาเป็นครั้งแรกในการวิเคราะห์. โชคดีที่ ถ้อยแถลงหลังๆมา มันค่อนข้างแสดงออกมาอย่างชัดเจน มากกว่าการแสดงข้อคิดในช่วงต้นๆของเขา. มาถึงตอนนี้ เขามองเรื่องของอำนาจ ในฐานะที่เป็นความสัมพันธ์กันระหว่างปัจเจกบุคคลทั้งหลาย ซึ่งเป็นการกระทำที่มีตัวแทนอันหนึ่ง ด้วยวิธีการซึ่งส่งผลต่อการกระทำต่างๆของอีกคนหนึ่ง.

ความสัมพันธ์ต่างๆเชิงอำนาจ เป็นสิ่งที่จะต้องแยกจากความสัมพันธ์ที่วางอยู่บนพื้นฐานความยินยอม หรือบนความรุนแรง – ซึ่งกระทำต่อร่างกายหรือกับสิ่งต่างๆ; มันบีบบังคับ, มันโน้มน้าว, มันประหัตประหาร, มันทำลาย, หรือมันปิดประตูทุกบานในความเป็นไปได้ต่างๆทั้งหมด. ดังนั้น “อำนาจ”ในที่นี้จึงอธิบายความสัมพันธ์ต่างๆ ซึ่งเป็นตัวแทนอันหนึ่งที่สามารถทำให้คนอีกคนหนึ่งกระทำ ในสิ่งที่เขาหรือเธอไม่ต้องการจะทำอีกอย่างหนึ่ง

ขณะที่ จำนวนมากของสิ่งที่ Foucault ตอนนี้พูดถึง”อำนาจ” ดูเหมือนว่ามันจะเข้ากันได้อย่างดิบพอดีกับความคิดแบบเสรีและความคิดที่รุนแรง(liberral and radical thought)ต่างๆมากมาย, เขาได้แยกจากเรื่องราวมาตรฐานเหล่านี้ ในการสนทนาของเขาเกี่ยวกับความสัมพันธ์กันระหว่างอำนาจ/ความรู้.

ในทางตรงข้ามกับทัศนะแบบเสรี โดยสาระแล้ว อำนาจคือการบีบบังคับอันหนึ่งซึ่งมาหน่วงเหนี่ยวหรือขัดขวางต่อพัฒนาการทางด้านความรู้ โดยการระงับยับยั้งและการบังคับควบคุม, Foucault ให้เหตุผลว่า อำนาจเป็นองค์ประกอบที่สมบูรณ์อันหนึ่ง ในการสร้างความจริงขึ้นมา: “ความจริง ไม่ได้อยู่ภายนอกอำนาจ, หรือขาดเสียซึ่งอำนาจ…ความจริงคือสิ่งๆหนึ่งของโลกใบนี้: มันได้ถูกสร้างขึ้นมาบนรากฐานอันแข็งแกร่งของรูปแบบอันหลากหลายเกี่ยวกับการบังคับควบคุม. และมันชักนำหรือมีอิทธิพลต่อผลต่างๆของอำนาจ(Truth isn’t outside power, or lacking in power…Truth is a thing of this world; it is produced only by virtue of multiple forms of connstrain. And it induces the regular effects of power).

ด้วยเหตุนี้ ดังตัวอย่างเช่น การมีอยู่ของวิทยาศาสตร์มนุษย์ได้ส่อแสดงถึง การมีอยู่เกี่ยวกับชุดของความสัมพันธ์เชิงอำนาจในเวลาเดียวกัน ซึ่งสามารถทำให้ผู้ปฏิบัติการเกี่ยวกับมันสร้างขอบเขตของความเป็นไปได้ขึ้นมาในสิ่งที่ อาชญากรรม ความบ้า ความป่วยไข้ ความแก่ การละเมิดกฎหมาย และความเป็นปกติในเชิงอนุมาน ต้องกระทำตาม. โดยผ่านอำนาจของพวกเขา ได้ผลักให้คนอื่นๆสู่การกระทำ, ผู้ปฏิบัติการเหล่านี้สามารถที่จะตรวจตรา, ออกคำสั่ง, จำแนกแยกแยะ ทดสอบ และดำเนินการได้บนตัวแทนต่างๆเหล่านี้ เพื่อผลักความรู้ของพวกเขาไปสู่การปฏิบัติ, และเพื่อรับเอาความรู้เพิ่มเติมมากขึ้นจากปฏิบัติการต่างๆของพวกเขา.

เราอาจกล่าวว่า เมื่อนักจิตเวชศาสตร์ได้มาซึ่งอำนาจการควบคุมของชนชั้นที่เข้าถึงอำนาจได้เพียงไม่กี่คน, และนักจิตวเชศาสตร์เป็นตัวแทนที่มาจำแนกเรื่องของ homicidal monomania ขึ้นมา, พวกเขาจึงสามารถพัฒนาสิ่งต่างๆ, โดยผ่านการทดลองและการดูแลควบคุม, อย่างเช่น แนวความคิดใหม่ๆและการจำแนกหมวดหมู่ต่างๆ ซึ่งได้ถูกนำกลับไปสู่เวทีด้านการศาล และใช้เพื่ออ้างถึงพื้นที่และเรื่องราวอื่นๆเพิ่มขึ้นสำหรับการปฏิบัติการ.

เราจักต้องตระหนักด้วยว่า อำนาจ, สำหรับ Foucault นั้น, มิใช่บางสิ่งบางอย่างที่เป็นตัวแทนทางด้านวิทยาศาสตร์มนุษย์ที่มาจากจารีตประเพณี ที่ได้รับการมองในฐานะที่เป็นแกนกลางรองรับของอำนาจ – รัฐ. ในทางตรงข้าม, อำนาจเป็นลักษณะภายในที่มีอยู่แล้วของความสัมพันธ์ทางสังคม(เพราะว่า มันจะต้องมีอยู่แล้ว เมื่อไรก็ตาม ที่เราสามารถกระทำหรือปฏิบัติด้วยวิธีการหนึ่ง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อวิธีการที่สิ่งอื่นๆกระทำ).

เนื่องจากว่า ความสัมพันธ์ต่างๆทางอำนาจอันนี้ โดยศักยภาพแล้ว มักจะไม่ค่อยมีความมั่นคง และพลิกกลับได้โดยศักยภาพเสมอ – ข้าพเจ้าอาจจำกัดทางเลือกของคุณเกี่ยวกับการกระทำต่างๆ, แต่การกระทำของคุณอาจจำกัดข้าพเจ้าเท่าๆกัน (เช่น คุณออกระเบียบปฏิบัติขึ้นมาให้คนอื่นปฏิบัติ คุณก็ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียนั้นด้วย).

แต่อย่างไรก็ตาม ขณะที่มีการอ้างว่า ความสัมพันธ์เชิงอำนาจมันมีรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้นี้, Foucault ก็ได้ให้เหตุผลต่อมาว่า ในสังคมสมัยใหม่ วิทยาศาสตร์มนุษย์, โดยผ่านข้ออ้างของพวกมันในเรื่องความรู้และความเชี่ยวชาญ, ได้เปลี่ยนความสัมพันธ์ที่ไม่มั่นคงเหล่านี้ไปสู่แบบแผนทั่วๆไปของการควบคุมครอบงำ. ดังที่เขากล่าว, “พวกเราทั้งหลายได้ถูกควบคุมโดยผลิตผลของความจริงโดยผ่านอำนาจ, และพวกเราไม่สามารถที่จะปฏิบัติการเชิงอำนาจได้ ก็ต่อเมื่อโดยผ่านผลผลิตของความจริง”.

รัฐสมัยใหม่นั้น มันไม่ใช่รัฐในศตวรรษที่ 18 ธรรมดา ซึ่งบวกหรือเพิ่มการปฏิบัติการต่างๆเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์มนุษย์เข้าไป, ที่มันมองดูแล้วเหมาะสมกับความชอบธรรม เพื่อที่จะแผ่ขยายการควบคุมของมันออกไปครอบคลุมประชากรของรัฐ. ในทางตรงข้าม, วิทยาศาสตร์มนุษย์มันเจริญงอกงามขึ้นมาจากยุคสว่าง(Enlightenment) ซึ่งเรียกร้องการปกครองหรือการจัดการที่มีระบบระเบียบแห่งเหตุผล – ระบบระเบียบอันหนึ่งที่ก่อตัวขึ้นมาบนเหตุผลและบรรทัดฐานเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของมนุษย์, มากกว่าบนอำนาจรัฐและกฎเกณฑ์ทางด้านกฎหมาย – และมันได้ผ่านการเจริญเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเพิ่มความแข็งแรงมากขึ้นเกี่ยวกับความรู้และการปฏิบัติ ซึ่งพวกมันได้สร้างอาณานิคมขึ้นมา, มันเปลี่ยนแปลง, และแผ่ขยายออกไปในพื้นที่ต่างๆเกี่ยวกับกิจกรรมของรัฐอย่างมากมาย; ด้วยผลลัพธ์ดังกล่าว อำนาจรัฐจึงเปลี่ยนรูปไปสู่รูปแบบของระเบียบวินัย และการทำให้เป็นปกติ ที่แพร่กระจายอยู่ทั่วไป.

อันเนื่องมาจากวิทยาศาสตร์มนุษย์ ที่พวกเรารับเอาแนวความคิดนี้มา เกี่ยวกับสังคมในฐานะที่เป็นองค์ระบบอันหนึ่ง ซึ่งได้วางระเบียบอย่างชอบธรรมกับประชากรของมัน และพยายามที่จะค้นหาเครื่องหมายต่างๆของโรค, การรบกวน และความเบี่ยงเบน เพื่อว่าพวกเขาจะได้สามารถทำการเยียวยาและทำให้มันกลับมาสู่หน้าที่ตามปกติ ภายใต้สายตาที่จ้องดูของระบบตรวจสอบหรือตรวจตราต่างๆ. อำนาจรัฐ, สำหรับ Foucault, คือประเด็นหลักของการวิเคราะห์; มันได้รับการสร้างขึ้นมาจากปฏิบัติการของปัจเจกชนเป็นจำนวนมากของอำนาจ ซึ่งได้รับการทำให้เข้มแข็งขึ้น และถูกทำให้ประสานกันโดยสถาบันทั้งหลาย, ซึ่งสถาบันเหล่านั้นจะปฏิบัติการต่างๆ และเป็นสถานที่ที่มีการการอ้างความรู้ของสาขาวิชาต่างๆ. หากปราศจากข้องอ้างความรู้เหล่านี้ การประสานกันของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่นำไปสู่แบบแผนต่างๆของการครอบงำ สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นเพียงเรื่องชั่วคราวและไม่มั่นคง. เมื่อเราตระหนักในเรื่องอันนี้, เราก็จะเห็นได้อย่างง่ายดายถึงสิ่งที่ Foucault กำลังพยายามที่จะเสนอในการอธิบายของเขาเกี่ยวกับวาทกรรม.

Foucault ได้อธิบายเรื่องของเขาในฐานะที่เป็นการสืบสาวไปหาที่มาที่ไป ซึ่งเขาเรียกว่า genealogies. Genealogy(ในที่นี้)เกี่ยวพันกับ การสืบสวนค้นคว้าอย่างระมัดระวังและถี่ถ้วนอีกครั้งเกี่ยวกับการดิ้นรนต่อสู้, การโจมตีต่ออำนาจกดขี่ของสิ่งที่เขาเรียกว่า”วาทกรรมรวบยอด”(totalising discourses), และการสืบค้นอีกครั้งเกี่ยวกับความรู้ที่เป็นส่วนๆ, ที่ถูกพิชิต, ที่เป็นท้องถิ่น และความรู้เฉพาะอย่าง. มันถูกควบคุมและชี้นำจากความจริงที่ยิ่งใหญ่ต่างๆ, ระบบที่ใหญ่โต และการสังเคราะห์อันใหญ่ยิ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงบ่อเกิดหรือมดลูกของอำนาจ/ความรู้ของระบบสมัยใหม่.

คำอธิบายของเขามีเป้าหมายเพื่อที่จะเปิดหน้ากากการปฏิบัติการของอำนาจ เพื่อที่จะทำให้คนเหล่านั้นที่ต้องทนทุกข์กับมัน สามารถที่จะต่อต้านมันได้. ในการแปรเปลี่ยนเกี่ยวกับอำนาจของสังคมยุคใหม่, ในวาทกรรมซึ่งได้มาวางระเบียบแก่ประชากรที่มีส่วนร่วมของมัน และยัดเยียดบรรทัดฐานต่างๆลงบนพวกเขา, สิ่งที่ถูกบดขยี้คือท้องถิ่น, ความรู้ที่แตกต่าง – ความรู้ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเป็นหนึ่งเดียวได้ เพราะมันได้แสดงถึงประสบการณ์โดยเฉพาะของปัจเจกบุคคลและชุมชน.

Foucault ได้ให้สุ้มเสียงในเชิงสนับสนุนลักษณะอนาธิปไตย, มากกว่าที่ให้การสนับสนุนสำหรับระบบใหม่อันหนึ่งขึ้นมา. การสนับสนุนของเขาได้รับการหยิบยืมไป โดยคนเหล่านั้นซึ่งได้รับผลต่อการปฏิบัติการของอำนาจกระแสหลักที่มีชัยชนะ และต้องการต่อต้าน: คนเหล่านั้น, อย่างเช่น พวกเรียกร้องสิทธิสตรี, พวกที่ปฏิเสธที่จะยอมจำนนมอบเรือนร่างของพวกเขา ต่อปฏิบัติการที่ได้รับการตั้งมั่นแล้วทางการแพทย์; บุคคลเหล่านั้น ผู้ซึ่งพยายามต่อต้านคามเป็นมืออาชีพที่อ้างความรู้การเป็นผู้เชี่ยวชาญ (ดังเช่น ในขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านต่อจิตเวชศาสตร์); คนเหล่านั้นซึ่งเรียกร้องสิทธิที่จะพูดถึงวิธีการตายของพวกเขา; บุคคลเหล่านั้น ผู้ซึ่งต่อต้านการครอบงำชนกลุ่มน้อย ครอบงำสังคม ครอบงำศาสนา ครอบงำเรื่องทางเพศ หรือครอบงำทางเศรษฐกิจ หรือการตักตวงผลประโยชน์; และผู้คนเหล่านั้นที่ต่อต้านอัตลักษณ์ ที่ถูกยัดเยียดลงมาสู่พวกเขาโดยคนอื่นๆ – ดังที่บรรดาผู้หญิงทั้งหลายเริ่มที่จะต่อต้านการทำให้พวกเธอต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ชาย, เด็กที่ถูกควบคุมโดยพ่อแม่, คนไข้ถูกควบคุมโดยหมอ, และในส่วนต่างๆของประชากร ซึ่งต่อต้านการแทรกแซงในการดำรงชีวิตของพวกเขา และสิ่งแวดล้อม โดยอำนาจรัฐที่มาจากศูนย์กลาง หรือโดยอำนาจท้องถิ่น.

การดิ้นรนต่อสู้เหล่านี้เป็นการโต้ตอบโดยทันที ต่อสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในทุกท้องที่และในทุกๆด้าน. เหนืออื่นใดทั้งหมด, พวกเขาดีดตัวขึ้นมาจากการไม่ยอมอ่อนข้ออีกต่อไปของปัจเจกบุคคลทั้งหลาย; และงานของ Foucault ได้รับความตั้งใจที่จะให้เป็นตัวกระตุ้นต่อความดื้อดึงและการดิ้นรนต่อสู้ดังกล่าว – งานเหล่านั้นพยายามที่จะให้พื้นที่ว่างใหม่ต่างๆสำหรับการปรากฎตัวขึ้นมาของความรู้กระแสรอง หรือความรู้ที่ถูกเอาชนะ และสำหรับองค์กรเกี่ยวกับการต่อต้านทั้งหลาย.

อันนี้หมายความว่า Foucault ต้องการที่จะปลดปล่อยให้มีอิสระขึ้นมาใช่ไหม ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของ Henriette Cornier และ Catherine Ziegler ? การที่เขาได้ช่วยสถาปนา และดำเนินการในกลุ่มต่างๆของเรื่องเกี่ยวกับการคุมขังในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 อาจเป็นการเสนอแนะว่า มันเป็นเช่นนั้น; แต่วัตถุประสงค์ของเขาก็ไม่ได้ตรงไปตรงมาอย่างนั้นเสียทีเดียว. การวิพากษ์เกี่ยวกับการคุมขังของเขา มีความหมายเพื่อที่จะเปิดเผยให้เห็นถึงความเจ็บปวด และยอมให้คนที่ถูกคุมขังได้รับสิทธิที่จะได้ยินและได้ฟัง.

การคุมขังไม่ค่อยได้ผลดังที่ตั้งใจ – ไม่มีที่กักขังใดใกล้เคียงกับทัศนะหรือความคิดของ Bentham, ซึ่งได้วาดหวังเอาไว้ เกี่ยวกับการกวาดตามองได้ทั้งหมดจากมุมๆเดียว(panopticon) – และทัศนะของ Foucault ก็คือ มันได้นำมาใช้อย่างไม่ได้ผล ซึ่งจะมาปลดเปลื้องหรือลดการกระทำผิดทางกฎหมาย.

[หมายเหตุ: ลักษณะของ panopticon เป็นแบบจำลองของที่คุมขัง ที่สร้างขึ้นมาเป็นแนวโค้งหรือหน้ากระดาน และมีการเฝ้าจับตาโดยผู้คุมอยู่ตลอดเวลาจากมุมๆเดียว – คิดถึงเครื่องฉายภาพยนตร์ กับจอภาพยนตร์, เครื่องฉายคือ”สายตาของผู้คุม” จอภาพคือ”ที่คุมขัง”]

ที่คุมขังจะปิดปากผู้ถูกคุมขังให้สงบ, และผลของความเงียบ ได้อนุญาตให้ผู้เชี่ยวชาญหรือมืออาชีพทั้งหลายกระทำสิ่งที่อ้างว่า พวกเขาคือขบวนการบำบัดรักษาที่ถูกประกาศให้ใช้อำนาจนั้นเป็นกฎหมาย. การวิจารณ์ของ Foucault เป็นการชี้นำที่สวนทางกันกับข้ออ้างของพวกมืออาชีพเหล่านี้. จุดมุ่งหมายของเขาไม่ได้ต้องการวางแผนที่จะปฏิรูป แต่ต้องการปลดปล่อยให้เกิดมีความเป็นอิสระเกี่ยวกับเสียงของคนที่ถูกคุมขัง โดยผ่านปฏิบัติการเกี่ยวกับการวิจารณ์ในลักษณะการสืบค้นทางประวัติศาสตร์.

ถ้าหากว่าการคุมขังและกลไกการลงโทษจะได้รับการเปลี่ยนแปลงไปแล้วละก็, มันจะไม่เป็นเช่นนั้นได้ เพราะการวางแผนการปฏิรูป ซึ่งได้ค้นพบวิธีการดังกล่าวนี้ในหัวของบรรดาคนที่ทำงานด้านสังคม; แต่มันจะเป็นเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อ บุคคล ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องกับความจริงในการลงโทษทางกฎหมายทั้งหมด ได้มาปะทะกันโครมครามหรือขัดแย้งกันกับคนแต่ละคน และกับตัวองพวกเขาเอง, อันนำไปจนสุดทาง, เกี่ยวกับปัญหาต่างๆและการไม่อาจเป็นไปได้, โดยผ่านความขัดแย้งและการเผชิญหน้า; เมื่อการวิพากษ์วิจารณ์ได้รับการเสนอออกมาอย่างหมดเปลือกในความเป็นจริง, ก็จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นมาได้. แต่จะไม่ใช่เมื่อตอนที่บรรดานักปฏิรูปทั้งหลายทำให้อุดมคติต่างๆของพวกเขาเป็นจริงขึ้นมา…

การวิจารณ์ไม่ได้เป็นหลักฐานที่มาสนับสนุนเกี่ยวกับวิธีการนิรนัยซึ่งสรุปว่า : ดังนั้น นี่คือสิ่งซึ่งต้องการให้มีการกระทำ. มันควรจะเป็นเครื่องมืออันหนึ่งสำหรับบุคคลเหล่านั้น ผู้ซึ่งได้ต่อสู้, คนเหล่านั้นซึ่งปฏิเสธและต่อต้านสิ่งที่เป็นอยู่. การใช้ประโยชน์เกี่ยวกับมัน ควรเป็นกระบวนการของความขัดแย้งและการเผชิญหน้า, การพยายามที่จะบอกปัดหรือปฏิเสธ.

ด้วยเหตุนี้ ในด้านหนึ่งนั้น genealogy หรือการสืบค้นอย่างถี่ถ้วน จึงมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นการวิจารณ์และการต่อสู้ ซึ่งได้ถูกทำลายลงโดยวาทกรรมในการลงโทษที่แพร่หลายของเรา, ที่ซึ่งสิทธิของผู้ถูกคุมขังเพียงประการเดียวก็คือ ต้องเชื่อฟังคำสั่งของระเบียบวินัยเท่านั้น. แต่มันก็มีวัตถุประสงค์อีกข้อหนึ่งด้วยที่ทำงานอยู่.

ในหลายๆทาง, ประเด็นของ Foucault ในการโฟกัสความสนใจของเราลงไปยัง Ziegler หรือ Cornier, หรือในกรณีเปรียบเทียบมากมาย ซึ่งปรากฎอยู่ในงานต่างๆของเขานั้น, คือ ไม่ได้ต้องการที่จะประณามหรือกล่าวโทษเรา สำหรับสิ่งที่พวกเราได้กระทำต่อพวกเขา, แต่ต้องการแสดงให้พวกเราเห็นว่า เราได้กระทำกับตัวของพวกเรากันเองโดยกระทำสิ่งต่างๆเหล่านี้กับพวกเขา.

เพื่อแสดงให้เห็น, นั่นคือ, เรากระทำต่อตัวของพวกเราเอง ในเรื่องของความบ้า , ความเจ็บป่วย, และการทำผิดกฎหมายโดยการพยายามปฏิบัติกับความบ้า ความป่วยไข้ และการทำผิดกฎหมายของคนอื่น. โดยกำกับการควบคุมตรวจตราของเรา ภายใต้ผิวหน้าของเหตุการณ์ต่างๆ สู่หัวใจ, จิตใจ และวิญญานของปัจเจกชนทั้งหลายบนบัลลังก์ศาล, เราได้เปิดตัวของเราเองไปพร้อมกัน สู่การเฝ้ามองอันนั้น และยอมรับการอยู่ภายใต้การควบคุมของเราที่มีต่อมัน. และเหนือสิ่งอื่นใด การสืบค้นอย่างถี่ถ้วน(genealogy)ได้ไปเกี่ยวพันกับการปฏิเสธหรือไม่ยอมรับเกี่ยวกับข้ออ้างความจริง และการอวดอ้างเกี่ยวกับความรอบรู้ของสาขาวิชาต่างๆ ซึ่งปัจจุบัน มันยังเฝ้าดูพวกเราอยู่.

หัวใจของงานของ Foucault ได้วางอยู่บนความเชื่อมั่นที่ว่า มันไม่มีเรื่องราวของมนุษย์ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยในประวัติศาสตร์ – นั่นคือ มันไม่มีมานุษยวิทยาเชิงปรัชญาที่ชอบด้วยเหตุผล – และด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีพื้นฐานใดๆสำหรับการอ้างว่า เราสามารถที่จะจำแนกหรือชี้ชัดได้ถึงสิ่งที่เกี่ยวโยงกันอันหนึ่ง และเงื่อนไขหรือธรรมชาติมนุษย์ที่มั่นคง แน่วแน่.

แน่นอน, ประวัติศาสตร์ไม่ได้เผยให้เห็นถึงเงื่อนไขหรือธรรมชาติใดๆนั้นเลย. และมันก็ไม่เคยมีมูลเหตุอันมีเหตุผลใดๆในประวัติศาสตร์: นั่นคือ มันไม่มีการประสบชัยชนะในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปเกี่ยวกับความมีเหตุผลของมนุษย์เหนือธรรมชาติ – ตัวของเรา หรือคนอื่น – และมันไม่เคยมีวัตถุประสงค์ที่ครอบคลุม หรือเป้าหมายในประวัติศาสตร์(ดังที่มาร์กซทึกทักว่าอย่างนั้น).

ดังนั้น การศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สามารถให้เราได้ก็คือ ไม่มีลักษณะที่คงที่ไม่เปลี่ยนแปลง, ไม่มีความสุขสบาย และไม่มีการปลอบโยน: ประวัติศาสตร์คือสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ และไร้ทิศทาง. ในการอธิบายงานทางประวัติศาสตร์ของ Nietzsche (นิทเช่) Foucault ได้อธิบายตัวของเขาเองได้อย่างเห็นจริงเห็นจัง:

“ประวัติศาสตร์ที่แท้จริง ต่างไปจากประวัติศาสตร์แบบจารีตที่เป็นอยู่ กล่าวคือ ปราศจากความมั่นคง. ไม่มีอะไรในตัวมนุษย์ – ไม่แม้กระทั่งร่างกายของเขา – ที่มั่นคงพอจะมาใช้เป็นพื้นฐานสำหรับการยอมรับอันนี้ หรือสำหรับการเข้าใจคนอื่น… ประวัติศาสตร์กลายมามีผลต่อระดับที่ว่า มันนำเสนอความไม่ต่อเนื่องเข้ามาสู่การดำรงอยู่ที่แท้จริงของเรา – ดังเช่นที่มันแบ่งแยกอารมณ์ความรู้สึกของเรา, ทำให้สัญชาตญานต่างๆของเราน่าทึ่ง, เพิ่มพูนเรือนร่างของเรา และตระเตรียมตัวของมันเอง สวนทางกับตัวของมันเอง.” (Foucault)

เส้นทางของประวัติศาสตร์ การเล่าเรื่องเกี่ยวกับตัวแทนมนุษย์ จากอดีตสู่ปัจจุบัน เป็นมายาภาพอันหนึ่ง. อดีตกาลของพวกเรา มักจะเป็นการประดิษฐ์ขึ้นมาอันหนึ่งของปัจจุบันเราเสมอ – และปัจจุบันของเรา, มันดูเหมือนว่า, มักจะต้องมองดูตัวของมันเองในฐานะที่เป็นจุดสูงสุด ที่ได้รับการเสริมหน้าโดยตีนเขาที่อยู่ต่ำลงไปของอดีตที่ได้รับการจินตนาการขึ้นมาของเรา.

Foucault โจมตีทัศนะที่มองความก้าวหน้าอันนี้ของประวัติศาสตร์. สวนกันกับเรื่องของระบบหรือแบบแผน เขาวางความขัดแย้งต่างๆสุ่มๆ – สวนกับความเห็นส่วนใหญ่, การต่อสู้ที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง. มันเป็นการต่อสู้ และไม่มีจุดจบของการต่อสู้; ปัจเจกชนทั้งหลายยังคงติดอยู่ในสายใยต่างๆของความบังเอิญ ซึ่งอันนั้น มันไม่มีทางรอด ทั้งนี้เพราะ มันไม่มีธรรมชาติมนุษย์ที่มั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลงนั่นเอง, ไม่มีการดำรงอยู่ของมนุษย์ที่มีแก่นสาร ที่สามารถยืนหยัดอยู่ภายนอกสายใยและการกระทำนี้ เพื่อถ่วงดุลย์การเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ และยัดเยียดระบบแบบแผนในลักษณะเล่าเรื่องอันหนึ่งเข้ามา. การต่อสู้มันได้รับการเรียกร้อง และเป็นเงื่อนไขอันหนึ่งของกระบวนการที่ไม่มีแบบแผนอันนี้.

มันมีความจำเป็นที่จะหลีกเลี่ยงการครอบงำ, และแม้ว่า มันจะไม่สามารถรับรองความเป็นอิสระ นับจากที่ ปฏิบัติการเกี่ยวกับอำนาจที่มีอยู่เหนือคนอื่น ได้ถูกสร้างขึ้นมาบนหลักฐานข้อสรุปที่ว่า คำจารึกต่างๆ สามารถจะผลิกผันหรือเปลี่ยนแปลง, หรือถูกหล่อหลอม หรือสร้างขึ้นมาใหม่อีกครั้งได้เสมอ. ประวัติศาสตร์, ความรู้ และเรื่องราวของมนุษย์ โดยเบื้องต้นแล้ว ได้ถูกวางรากอยู่ในความบังเอิญ, ความไม่แน่นอน ความไม่ต่อเนื่อง และต้นกำเนิดต่างๆที่ไม่ได้เป็นไปอย่างซื่อๆ. สำหรับ Foucault, พวกเราคือสิ่งที่ไม่ดีพอ และไม่ค่อยเป็นตัวของตัวเอง.

สรุป
ขณะที่ข้าพเจ้าพยายามที่จะให้การบ่งชี้บางอย่างเกี่ยวกับสิ่งที่ Foucault กำลังพยายามจะทำ และเขาได้ดำเนินการในส่วนที่เป็นภาระงานของเขาอย่างไรนั้น ข้าพเจ้าไม่ได้พูดถึงการวิจารณ์เกี่ยวกับสถานะของเขามากมายนัก. ข้าพเจ้าต้องการที่จะสรุปโดยวิพากษ์วิจารณ์เพียงสั้นๆ และถัดจากนั้นจะเสนอว่า ทำไมการวิจารณ์จึงเป็นเรื่องที่ยุ่งยากที่จะกลัดหรือตรึง Foucault เอาไว้ให้นิ่งได้

การวิจารณ์ของข้าพเจ้าจะเอาใจใส่ต่อ การละเลยของ Foucault เกี่ยวกับเรื่องราวของมนุษย์ และความพยายามของเขาที่จะกระตุ้นการต่อต้านและการต่อสู้ขึ้นมา. ปัญหาต่างๆก็คือ ต้องทำความเข้าใจว่า ทำไมผู้คนทั้งหลายจึงควรที่จะต่อสู้ และพวกเขาควรจะต่อสู้เพื่ออะไร.

ในคำอธิบายของ Foucault, ความดื้อดึงอย่างเต็มที่ของปัจเจกบุคคลทั้งหลาย, สิ่งซึ่งเขาเรียกว่า agonism หรือ”กระหายที่จะต่อสู้”(thirst for struggle), ทำให้มั่นใจว่าพวกเขาจะดิ้นรนต่อสู้; แต่เขามิได้ให้รากฐานใดๆเพื่อสนับสนุนการต่อต้าน, และไม่ได้ให้อะไรสำหรับการแยกแยะระหว่างการต่อสู้ที่ต่างกันไป. เพื่อย้ายจากข้ออ้างอันหนึ่งที่อธิบายเรื่องการต่อต้าน สู่ข้ออ้างคำอธิบายอีกอันหนึ่งที่จะพิสูจน์ และสนับสนุนมันในบริบทบางอย่าง ทำให้พวกเราต้องผูกพันกับแนวความคิดหนึ่งเกี่ยวกับความดีของมนุษย์, และปกติแล้ว อันนี้พึ่งพาอาศัยทัศนะบางอย่างเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ และความเป็นอัตวิสัยของมนุษย์.

ข้าพเจ้าไม่สามารถมองเห็นว่า Foucault จะหลบเลี่ยงการกระทำบางสิ่งบางอย่างที่คล้ายคลึงกันนี้ได้อย่างไร ถ้าเผื่อว่าเขาปรารถนาที่จะสงวนรักษามิติในเชิงวิพากษ์อันหนึ่งในการวิเคราะห์ของเขาเอาไว้ – แต่การทำอย่างนั้นให้ชัดเจน ก็จะต้องคอยบอกปัดเกี่ยวกับเรื่องราวของมนุษย์ และการปฏิเสธของเขาเกี่ยวกับธรรมชาติอันมั่นคงของมนุษย์. มันง่ายที่จะเข้าใจว่า ทำไม Foucault จึงไม่ต้องการที่จะพูดเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ แต่การที่ไม่ทำเช่นนั้น ได้ทำให้เขาเปิดทางไปสู่ภาระที่ ภาพข้างหน้าของเขาได้สนับสนุนเราให้ต่อสู้สำหรับอำนาจ โดยไม่คำนึงถึงว่า เราปรารถนาจะใช้มันอย่างไร.

การวิจารณ์อันนี้, และความคิดเห็นของข้าพเจ้าก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับคำอธิบายของ Foucault ในเรื่องความจริง, ได้ให้ตัวอย่างที่เป็นแบบฉบับต่างๆของวิธีการที่ การพิจารณาในเชิงปรัชญาทั้งหลาย ได้รับการหยิบขึ้นมาในฐานะที่เป็นไปในลักษณะการตัดสิน ในการประเมินเกี่ยวกับวิธีการทางประวัติศาสตร์ หรือทฤษฎีทางสังคมและการเมือง. กระนั้นก็ตาม การวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ก็ไม่อาจตรึง Foucault เอาไว้ได้อย่างง่ายๆ เพราะมันเป็นที่ชัดเจนว่า ทัศนะอันนี้เกี่ยวกับปรัชญา ซึ่ง Foucault โจมตี (และมันไม่ได้กระจ่างชัดทั้งหมด กับการที่ข้อพิจารณาทั้งหลาย สามารถได้รับการหยิบขึ้นมาในฐานะที่เป็นตัวตัดสินระหว่างแนวความคิดต่างๆทางปรัชญา).

ปรัชญาของ Foucault ได้รับการวางรากอยู่ในการเล่าเรื่อง(story-telling) และในการกระทำ. ประวัติศาสตร์ต่างๆของเขา, เขากล่าว, เป็นเรื่องที่สร้างขึ้น(fiction) ซึ่งพยายามหล่อหลอมความเชื่อมโยงต่างๆ, สถาปนาความสัมพันธ์ทั้งหลาย และ ฝ่าฝืนต่อระเบียบแบบแผนที่ตั้งมั่นแล้ว(established order) และเอกภาพของวาทกรรม(unity of discourse).

เจตนาของเขา ต้องการโยนสมมุติฐานของเรา และความแน่นอนต่างๆลงไปสู่บ่อคำถามหรือข้อสงสัย; เพื่อยอมให้กับความหลากหลายและความแตกต่างซึ่งเป็นที่ทางที่ถูกต้องจริงๆของมัน – ความหลากหลายและความแตกต่าง ที่ซึ่งได้รับการขจัดหรือทำลายลงโดยวิทยาศาสตร์ที่มีชัยชนะเกี่ยวกับการอธิบายเรื่องมนุษย์ ซึ่งเจริญงอกงามขึ้นมาภายใต้การคุ้มครองของวิทยาศาสตร์และการพิทักษ์แบบดันทุรังของอภิปรัชญาตะวันตก, และที่ได้สถาปนาตัวของพวกมันเองขึ้นมา ในฐานะที่เป็นตัวแทนของอำนาจภายในรัฐสมัยใหม่.

นอกจากนั้น มันเป็นเรื่องยากที่จะวิจารณ์หรือจับผิด Foucault โดยไม่เชื่อมตัวเองเข้ากับระบบหนึ่งซึ่งเขาโจมตีอยู่ – พวกเรายืนอยู่กับเขา หรือไม่เราก็ยืนประณามต่อการปราบปราม หรือการทำให้เป็นข้า. แม้กระนั้นก็ตาม มันเป็นไปไม่ได้ที่ ความเข้มแข็งเอามากๆเกี่ยวกับงานของ Foucault นั้น มันจะไม่สร้างแรงดึงดูดใจ: สิ่งต่างๆมากมายที่เขาพูดมันใกล้กับความจริงมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความกระอักกระอ่วนและความรู้สึกที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก, และแม้ว่าทัศนะของเขาเองที่เสนอเรื่องความไม่แน่นอนต่างๆก็น่าสนใจทีเดียว. ถ้าหากว่ามันเป็นเช่นนี้แล้ว Foucault ก็ประสบความสำเร็จในความเป็นผู้นำ ซึ่งเขาได้อธิบายเอาไว้ดังนี้:

เพื่อให้การช่วยเหลือบางอย่าง ในทำลายหลักฐานที่ไม่มีการพิสูจน์ และความซ้ำซาก เกี่ยวกับความบ้า, ความปกติ ความป่วยไข้ อาชญากรรมและการลงโทษ; เพื่อทำให้มันเกิด, พร้อมด้วยอื่นๆอีกจำนวนมาก, วลีต่างๆอันนั้น ไม่สามารถที่จะพูดออกมาอย่างสะเพร่าได้อีกแล้ว, การกระทำบางอย่าง, หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องลังเลใจ, การปฏิบัติ, เพื่อสนับสนุนต่อการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในวิธีการต่างๆของการรับรู้ของผู้คน และในการกระทำสิ่งต่างๆ, เพื่อมีส่วนร่วมในการเข้าแทนที่อันนี้ของรูปแบบต่างๆของอารมณ์ความรู้สึก และจุดเริ่มต้นของความอดกลั้นและใจกว้าง – ข้าพเจ้าไม่ค่อยจะรู้สึกว่า สามารถจะพยายามมากไปกว่านั้นได้. (Foucault).

เราอาจต้องกล่าวว่า อันนี้ทำให้ปรัชญาของ Foucault มีลักษณะเป็นการเค้น, นั่นคือ มันถูกผูกกับการสร้างผลกระทบต่างๆ มากกว่าจะไปเกี่ยวพันกับข้อถกเถียงเชิงเหตุผล และการชักชวน. แต่อันนี้ก็พลาดข้อเท็จจริงที่ว่า ถ้าเราถูกรบกวนโดยสิ่งที่เขาพูด มันเป็นเช่นนั้นก็เพราะ เรื่องที่สร้างขึ้นมาของเขา ได้รับการยอมรับในฐานะความคุ้นเคย. มันเป็นราวกับว่า พวกมันทำให้รู้ถึงประสบการณ์อันอ่อนหัดของเราเกี่ยวกับชีวิตในรัฐสมัยใหม่.

ความเข้าใจอันนี้ที่พูดถึงเกี่ยวกับ Foucault, เราสามารถเห็นได้ว่า เขาต่างไปจากบรรดานักทฤษฎีคนอื่นๆ สำหรับการอุปมาอุปมัยต่างๆในเชิงขุดค้นหลักฐานทางทางโบราณคดีของเขาทั้งหมด, เขาไม่ได้ขุดเซาะดินแดนใหม่ทางทฤษฎีโดยการทำลายพื้นที่เก่าๆของความแน่นอน. ด้วยการสูญเสียความแน่นนอนลงไป ที่ยืนยันโดยวิทยาศาสตร์ของมนุษย์ เราได้ถูกทิ้ง, อีกครั้ง, ด้วยอาณาเขตอันหนึ่งสำหรับความแตกต่าง, การต่อสู้ดิ้นรน และการต่อต้านของเรา. อันนี้อาจจะปล่อยให้เราเกิดความไม่มั่นใจต่อมาว่า เราเป็นใครหรือเป็นอะไรกันแน่, แต่ Foucault จะประสบความสำเร็จได้ ถ้าหากว่าเขาจะปล่อยให้เราเชื่อมั่นว่า ไม่มีใครสามารถที่จะรู้อันนี้ ด้วยความแน่นอนใจมากเกินไปกว่าตัวของเราเอง.

หนังสืออ่านเพิ่มเติม
หากสนใจวิธีการทางความคิดของ Foucault ว่า ได้พัฒนาขึ้นมาอย่างไร อาจพิจารณาผลงานที่ค่อนเข้มแข็งมาก โดยผ่าน งานเขียนขนาดใหญ่ที่สมบูรณ์เรียงตามลำดับวันเวลาไปตลอด. แต่อันที่จริงแล้ว นี่อาจจะไม่จำเป็นก็ได้.

หนังสือของ Alan Sheridan เกี่ยวกับ Foucault ได้เสนอเรื่องราวที่เชื่อถือได้ทั่วๆไปและมีขนาดสั้นเอาไว้ แต่ก็ไม่ใช่แนวเล่าเรื่องที่ไม่วิพากษ์วิจารณ์ เกี่ยวกับงานสำคัญๆต่างๆ ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นพื้นฐานอันหนึ่งสำหรับการเลือกอ่านมากขึ้น จากงานเขียนต่างๆในช่วงแรกๆ(sheridan 1980).

ทางเลือกอีกอันหนึ่ง สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าถึงงานของ Foucault โดยตรง ขอแนะนำว่า วิธีการที่ดีที่สุดในการเริ่มต้น ขอให้อ่านเรื่อง Discipline and Punish (1977) และผนวกกับหนังสือเล่มนี้ด้วยความเรียงบางชิ้นของ Foucault โดยเฉพาะ: “เกี่ยวกับ แนวความคิดเรื่อง “Dangerous Individual”(1978) และ”Questions of Method”(1980). ยังมีงานรวบรวมที่มีประโยชน์อีกชิ้น เกี่ยวกับบทความอื่นๆ, เรียบเรียงโดย Colin Gordon, ซึ่งได้ให้การชี้แนะที่ดีเกี่ยวกับความสนใจของ Foucault อย่างกว้างขวาง, และแม้ว่า งานรวบรวมในช่วงต้นๆของ Bouchard มาถึงตอนนี้ ดูเหมือนว่าจะเก่าไปหน่อยก็ตาม ซึ่งมันได้บรรจุเอางานชิ้นที่มีพลังเอาไว้คือ”What is an Author?” ซึ่งได้ทำให้ Foucault มีชื่อเสียงท่ามกลางนักวิจารณ์วรรณกรรม Post-structuralist ทั้งหลาย(Foucault 1977).

สำหรับผลงานเล่มหลังสุดคือ The History of Sexuality(1979), ไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจได้ง่ายๆเหมือนกับ Discipline and Punish, แต่มันก็ได้เสนอคำอธิบายที่ปลุกเร้าโดยตลอดอันหนึ่งเกี่ยวกับ นักคิดคนหนึ่งที่มีอิทธิพลครอบงำอย่างยิ่งใหญ่ในยุคสมัยของเรา.

ผู้อ่านที่สนใจในเรื่องความสัมพันธ์เกี่ยวกับ”อำนาจและความรู้” จะขอแนะนำให้เริ่มต้นด้วยงานชิ้นหนึ่ง อันเป็นสัญญานแรกเกี่ยวกับความสนใจของ Foucault ในเรื่องนี้คือ, The Order of Discourse”(Foucault 1971), โดยให้เปิดไปยังบทที่ 6 และ 7 ในงานรวบรวมขึ้นมาของ Gordon, และทันสมัยขึ้นมาอีกโดยอ่านงานเรื่อง History of Sexuality และบทความอีกชิ้นเรื่อง “The Subject and Power”(Foucault 1982).

กระนั้นก็ตาม ผลงานในช่วงต้นๆของ Foucault แม้ว่ามันมักจะไม่ง่ายนักที่จะอ่านเสมอมา แต่ก็ยังคงเป็นงานเขียนที่กระตุ้นและปลุกเร้า ในขอบเขตความรู้ที่ดำเนินมาตามลำดับ.

Madness and Civilization (1967) เป็นงานที่ส่งผลกระทบอย่างสำคัญชิ้นหนึ่งในประวัติศาสตร์ของจิตเวชศาสตร์;
The Birth of the Clinic (1973), ภาระงานในหน้าที่ของ Foucault ในช่วงต้นในฐานะผู้ดูแลควบคุมในด้านประวัติศาสตร์เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์, Georges Canguilheim, ได้ให้คำอธิบาย เกี่ยวกับการปรากฎตัวขึ้นมาเกี่ยวกับแนวความคิดทางการแพทย์ในเรื่องของพยาธิวิทยา;
The Order of Things (1970), อันเป็นหนึ่งในผลงานที่สลับซับซ้อนที่สุดของ Foucault, บ่อยทีเดียว มันเป็นการวิเคราะห์ที่น่าประทับใจและเรียกความสนใจชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับต้นตอกำเนิดของเศรษฐศาสตร์, สังคมวิทยา และนิรุกติศาสตร์;
ขณะที่ The Archaeology of Knowledge (1972), ถือเป็นตำราเกี่ยวกับระเบียบวิธีค้นคว้าที่สำคัญของ Foucault, แม้ว่า จะเกิดขึ้นมาก่อนการรวมเรื่องของอำนาจเข้ามาในงานของเขา, แต่มันก็ยังคงเป็นอนุสาวรีย์ที่กระตุ้นเร้าใจต่อการสร้างสรรค์ทางปรัชญาของเขา.

ผลงานในขั้นทุติยภูมิ หรืองานที่เขียนขึ้นโดยคนอื่นเกี่ยวกับ Foucault ปัจจุบัน มีอยู่มากมายก่ายกองทีเดียว. เช่น Gordon และ Sheridan (1980) ทั้งสองได้จัดหาบรรณานุกรมต่างๆมาให้ไว้. และผลที่ตามมาของสิ่งตีพิมพ์เหล่านี้ ได้ทำขึ้นมาเป็นหนังสือขนาดใหญ่จำนวน 5 เล่มเกี่ยวกับ Foucault: Dreyfus and Rabinow 1982, Lemert and Gillan 1982, Major-Moetzl 1983, Racerskis 1983, และ Smart 1983. และยังคงจะมีตามมาอีก. แต่อย่างไรก็ตาม จำนวนมากของผลงานขั้นทุติยภูมิ ยอมอ่อนข้อให้เล็กน้อยต่อผู้อ่านที่ไม่มีประสบการณ์มากนักหรือยังไม่ชำนาญ, ผู้ซึ่งจะพบว่ามันเป็นตัวแทนที่ออกจะไม่ดีพอเท่าไรนัก เมื่อเทียบกับผลงานต้นฉบับ.

 

แปลและเรียบเรียง :  สมเกียรติ ตั้งนโม

ขอบคุณข้อมูลจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน :  http://61.47.2.69/~midnight/fineartcmu2001/newpage19.html

 

You may also like...