กำเนิดการสร้างภาพยนตร์ในสยาม

การถ่ายทำภาพยนตร์ในสยามเริ่มขึ้นโดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวลยวงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ พระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาบที่ ๕  ซึ่งทรงสั่งซื้อกล้องถ่ายภาพยนตร์และอุปกรณ์เข้ามาสยาม เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงตามเสด็จฯ พระพุทธเจ้าหลวง ประพาสยุโรปครั้งแรกเมื่อปี ๒๔๔๐

โดยทรงเริ่มถ่ายทำภาพยนตร์ด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เองเป็นการส่วนพระองค์ ตั้งแต่เมื่อปี ๒๔๔๓ เป็นต้นมา จนสิ้นแผ่นดินรัชกาลที่ ๕ ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ที่ทรงถ่ายคือการบันทึกพระราชกรณียกิจในพระราชพิธีสำคัญๆ ของพระพุทธเจ้าหลวง นอกจากทรงถ่ายภาพยนตร์แล้ว ยังทรงเป็นผู้จัดฉายภาพยนตร์เก็บค่าดูจากสาธรณชน โดยเฉพาะในงานออกร้านขายของประจำปีของวัดเบญจมบพิตรฯ

นอกจากพระองค์เจ้าทองแถมถวลยวงศ์แล้ว ผู้ถ่ายภาพยนตร์ในสยามอีกรายหนึ่งคือ พระศรัทธาพงศ์ (ต่วย) เจ้าของโรงหนังรัตนปีระกา

โรงหนังญี่ปุ่น ซึ่งในปี ๒๔๕๓ ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระพุทธเจ้าหลวงให้ประดับตราแผ่นดินได้ชาวสยามจึงเรียกว่าโรงหนังญี่ปุ่นหลวง ก็มีช่างถ่ายภาพยนตร์ของตรเอง ชื่อนายอิ ทำหน้าที่ถ่ายภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์สำคัญๆ ในสยาม สำหรับฉายที่โรงหนังญี่ปุ่น

ปี ๒๔๕๓ คณะนักถ่ายภาพยนตร์จากบริษัท เบอร์ตันโฮล์ม แห่งสหรัฐอเมริกา เดินทางเข้ามาถ่ายภาพยนตร์แสดงชีวิตความเป็นอยู่และขนบธรรมเนียมของชาวสยาม

ปี ๒๔๖๕ ในแผ่นดินรัชกาลที่ ๖ พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลนั้น ซึ่งขณะนั้นทรงเป็นผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง ได้ทรงจัดตั้ง กองภาพยนตร์เผยแพร่ข่าว ขึ้นในกรมรถไฟหลวง เพื่อทำหน้าที่ผลิตภาพยนตร์ข่าวสารและสารคดีเผยแพร่กิจการของกรมรถไฟ ตลอดจนกิจการของกระทรวงทบวงกรมอื่นๆ ทั้งมวล รวมไปถึงบริการรับจ้างผลิภาพยนตร์ให้แก่เอกชนทั่วไปด้วย นับได้ว่าเป็นการจัดตั้งหน่วยงานผลิตภาพยนตร์อย่างเป็นกิจลักษณะและใหญ่โตระดับชาติ

กองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าวได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์ผลิตภาพยนตร์ ข่าวสารและสารคดีของชาติ นับแต่ปี ๒๔๖๕ เป็นลำดับต่อมาเมื่อกิจการสร้างภาพยนตร์เรื่องบันเทิงของไทยเกิดขึ้นในปี ๒๔๗๐ ก็ได้อาศัยบุคลากรและอุปกรณ์ของกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าวนี้เองเป็นฐานสำคัญ

เมื่อเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประเทศตั้งแต่ปี ๒๔๗๕ แล้ว กิจการของกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าวค่อยๆลดบทบาทลง เพราะรัฐบาลใหม่ในระบอบประชาธิปไตย ได้จัดตั้งสำนักงานโฆษณาการ (คือ กรมประชาสัมพันธ์ในเวลาต่อมา) และตั้งแผนกภาพยนตร์ขึ้นในสำนักงานนี้ เพื่อทำหน้าที่ผลิตภาพยนตร์เผยแพร่กิจการของรัฐบาล

ในแผ่นดินรัชกาลที่ ๗ เป็นยุคที่การถ่ายทำภาพยนตร์สมัครเล่นกลายเป็นงานอดิเรกที่นิยมกันขึ้นในหมู่เจ้านาย ขุนนางและพ่อค้าคหบดีในสยาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ โปรดภาพยนตร์อย่างยิ่ง และทรงเป็นนักถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่นที่สำคัญของสยามและของโลก ทรงเป็นสมาชิกสันนิบาตภาพยนตร์สมัครเล่นแห่งโลก และโปรดเกล้าฯให้จัดตั้ง สมาคมภาพยนตร์สมัครเล่นแห่งสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ขึ้นในปี ๒๔๗๓ เพื่อนเป็นศูนย์กลางชุมนุมพบปะแลกเปลี่ยนความรู้และผลงานระหว่างนักถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่นทำให้วงการถ่ายภาพยนตร์ของสยามคึกคักเข้มแข็งอย่างยิ่ง แต่หลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแล้วสมาคมนี้ก็ยุติไปโดยปริยาย
 

 

You may also like...