วัฒนธรรมและศิลปะ

ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาตินั้น ปรากฏว่ามีอยู่หลายสมัยที่พุทธปัญญาของมนุษย์ไม่มีความสูงส่ง แต่ทว่ามีกำลังจิตที่เข้มแข็ง มีบางสมัยที่มนุษย์มีความเจริญก้าวหน้าอย่างใหญ่หลวง แต่มนุษย์กลับสูญเสียความเข้มแข็งทางด้านกำลังจิตไป

ในยุคเรานี้ จะเห็นได้ว่าสมองมนุษย์ได้สร้างความสำเร็จในกิจการต่างๆ อย่างน่าชื่นชม แต่เมื่อพิจารณาในแง่ความก้าวหน้าของจิตใจแล้ว เราก็ยังอยู่ในระดับต่ำมาก มนุษย์ได้ค้นพบพลังงานปรมาณู ส่งดาวเทียมขึ้นไปสู่ห้วงอวกาศเพื่อเป็นบริวารของดวงอาทิตย์และได้บรรลุผลทางความเร็วอันน่าตื่นใจด้วยเครื่องกล สิ่งที่มหัศจรรย์ทั้งหลายแหล่ซึ่งเกิดจากพลกำลังและความรุนแรงอันมหาศาลนั้น แทนที่จะให้ความอภิรมย์กลับบดขยี้จิตใจของเราลงไป

ชีวิตได้กลายเป็นสิ่งที่ปราศจากเนื้อหา และดูเหมือนว่าประเทศยิ่งเจริญขึ้นเท่าใด ประชาชนพลเมืองก็ยิ่งจะต้องทำงานหนัก เพื่อชดใช้มวลแห่งความต้องการอันเป็นสิ่งเทียมมากขึ้นเท่านั้น ตั้งแต่เช้าจนค่ำ ประสาทของเราเต็มไปด้วยความเคร่งเครียดไม่เคยผ่อนคลาย มิฉะนั้นก็หาไม่พอใช้พอกิน เราว้าวุ่นมาก จนวันหนึ่งๆ ไม่มีเวลาแหงนดูฟ้าว่ามีเมฆหรือแจ่มใส เราผละหนีจากธรรมชาติอันเป็นดุจมารดาที่ให้แต่สิ่งดีสิ่งงามแก่ชีวิตเราไปอย่างผิดทาง ก็เพื่อที่จะสร้างโลกแห่งความหวาดกลัวและความเกลียดชัง สิ่งที่ร้ายที่สุดก็คือเจ้าลัทธินิยมวัตถุ อันน่าพรั่นพรึงนั้นกำลังข่มขู่มนุษย์ทุกรูปทุกนามไปทุกหนแห่ง ปัจจุบันนี้มนุษย์พากันคิดว่า อารมณ์ รู้สึกนึกคิดที่กอปรด้วยความเมตตาสงสารรักใคร่ซึ่งกันและกันนั้นเป็นสิ่งผิด มนุษย์ได้รับการสอนให้เป็นผู้ปราศจากความเมตตาปราณี ให้มีแต่ความโลภหลงและยึดวัตถุเป็นที่ตั้ง

การที่จะสร้างแนวต่อต้านลัทธิวัตถุนิยมนั้น ก็ต้องอาศัยหลักสำคัญ 2 ประการ คือ หลักธรรมอันบริสุทธิ์ทางศาสนา ประการหนึ่ง และศิลปะ อีกประการหนึ่ง แท้จริงนั้น จากประจักษ์การทั้งหลายแหล่ ศิลปะก็คืออาหารของจิตใจและพุทธิปัญญาของมนุษย์เรา ไม่ว่าวรรณกรรม ดนตรี จิตรกรรม ประติมากรรม และมัณฑนศิลป เราได้ประสบแต่ความเพลิดเพลินเจริญใจ ความสงบเยือกเย็น และบ่อเกิดของความหวังอันสูงส่ง ศิลปะทำให้เราเป็นคนดี รักใคร่กันและกัน ทำให้เรามีภาวะเป็นมนุษย์ที่แท้จริง ฉะนั้น ศิลปะจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะขาดเสียมิได้สำหรับชีวิตที่มีวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งบรรดาบุคคลที่เจริญแล้วทั้งหลายต่างสนับสนุนส่งเสริมทั้งในด้านศีลธรรมและด้านการเงินอย่างเต็มที่ ดังนั้นจึงได้มีการเปิดการแสดงแข่งขันศิลปะกัน ทั้งภายในประเทศชาติของตนเองและระหว่างนานาชาติขึ้นทุกๆรอบปี ทุกบ้านทุกเมืองมีการสร้างอาคารขึ้นเป็นศูนย์กลางศิลปะ สร้างหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ศิลปะขึ้นสำหรับประชาชนได้ชื่นชมสมบัติมีค่ายวดยิ่งของชาติ บรรดาประเทศต่างๆทั้งหลายมีการตกแต่งสถานที่ราชการด้วยงานจิตรกรรมและประติมากรรม มีการส่งเสริมศิลปกรรมชิ้นสำคัญๆ ระหว่างประเทศไปแสดงยังประเทศอื่น เพื่อแลกเปลี่ยนความชื่นชมในรสนิยมทางศิลปะซึ่งกันและกัน การกระทำเหล่านี้ทั้งหมดเกิดขึ้นได้ก็ด้วยอาศัยศรัทธาปสาทะ กอปรด้วยความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะรักษาไว้ซึ่งแสงเพลิงอันรุ่งโรจน์ทางพุทธิปัญญาให้มีชีวิตอยู่ได้ ในยุคที่มนุษย์กำลังตกอยู่ในห้วงอันตรายที่จะกลายเป็นทาสของสิ่งผูกมัดทางกาย

โบราณสมัย ประเทศไทยเรามีศิลปกรรมเกี่ยวกับศาสนาอันน่านิยมชมชื่น ซึ่งคนไทยทุกคนต้องภาคภูมิใจ แต่น่าเสียดายที่ไม่มีใครต้องการสร้างงานศิลปะเพื่อส่วนบุคคล หรือสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะตน ดังนั้นจึงไม่มีการเขียนการปั้นรูปเหมือน ไม่มีงานประติมากรรมประดับประดาอาคารบ้านช่องหรือสวนอุทยาน การสร้างงานศิลปเกี่ยวกับศาสนานั้นก็เพื่อที่จะเสริมส่งความต้องการของบุคคลเป็นการส่วนตัว ซึ่งก่อให้เกิดความจำเป็นขึ้นเป็นประเพณีด้วยเหตุนี้เอง ความนิยมชมชอบในศิลปะปัจจุบันจึงอุบัติขึ้น

ศิลปะที่เกี่ยวกับศาสนาในประเทศไทยเรานั้น ถ้ามิได้อยู่ที่เหตุผลทางด้านความต้องการหรือเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ก็กลายเป็นศิลปะเกี่ยวกับการค้าไป เมื่อศิลปินไทยเริ่มเนรมิตงานศิลปะร่วมสมัยปัจจุบัน (กับนานาประเทศ) เป็นการส่วนตัว จึงมีน้อยคนที่มีความสนใจเลื่อมใสในกิจกรรมทางพุทธิปัญญาใหม่นี้ ตรงกันข้าม โดยเหตุผลทางความคิดและความรู้สึกตามประเพณีนิยม คนส่วนมากไม่เข้าใจว่า ศิลปะนั้นคือส่วนหนึ่งของชีวิตทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งไม่อาจหยุดนิ่งอยู่ได้ตามสภาพเดิม กล่าวคือ ต้องแปรเปลี่ยนไป โดยประการฉะนี้เอง ความคิดสร้างงานศิลปะอันเป็นต้นฉบับไม่ซ้ำกับใครของศิลปินปัจจุบันจึงเกิดขึ้น ซึ่งแม้พิจารณาในแง่ศิลปะจะไม่ถึงขั้นเสร็จสมบูรณ์ ก็ยังมีคุณค่ากว่างานออกแบบหรือเลียนแบบศิลปะโบราณ ซึ่งได้กระทำซ้ำซากกันมานับเวลาเป็นศตวรรษๆ เพื่อที่จะยืนยันข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ จำต้องกล่าวถึงภาพเขียนบรรยายเรื่องรามเกียรติ์หรือชาดกว่า ภาพเขียนเหล่านั้นมิใช่ศิลปะเนรมิต ย่อมเป็นสิ่งแน่ว่าศิลปินอาจเขียนหรือปั้นหรือแกะสลักลายเส้นเป็นเรื่องอะไรก็ได้ที่ตนชอบ มิฉะนั้นแล้ว เราก็ตกแต่งประดับประดาเคหะสถานบ้านเรือนด้วยรูปถ่ายจากศิลปกรรมชั้นสูงของโบราณเสียจะดีกว่า

สิ่งที่น่าเศร้าใจในเรื่องศิลปะปัจจุบันนี้ก็คือ ศิลปกรรมเกือบทั้งสิ้นที่จัดแสดงในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ 9 ครั้งที่แล้วๆ มา ซึ่งกรมศิลปากรได้จัดขึ้นนั้น ไม่มีเลยสักชิ้นเดียวที่ทางราชการได้ซื้อไปติดตั้งตามสถานที่ราชการ งานศิลปกรรมแต่ละชิ้นซึ่งทำขึ้นในระยะ 9 ปีที่แล้วมาจึงสูญหายกระจัดกระจายไปสิ้น ถึงเวลาแล้วที่ควรตระหนักว่า ขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้านของเราเขาส่งเสริมศิลปะกันมาก แต่เราเองยังคงปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม ขออย่าให้เราลวงตัวของเราเองเพราะว่าเรามีรถยนต์ มีโทรทัศน์ มีเครื่องบิน และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้มิได้เป็นเครื่องสำแดงถึงความมีวัฒนธรรมของไทยเลย สิ่งซึ่งเป็นเครื่องแสดงออกดังกล่าวนี้แหละที่ทำให้เราเกิดความภาคภูมิใจ และรู้สึกไม่น้อยหน้าใคร เมื่อไรหนอเราจึงจะเริ่มเข้าใจในความจริงข้อนี้กันเสียที่ ? บรรดาศิลปินและคณะดำเนิน งานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ยังมีความมั่นใจว่า ด้วยการเปิดเผยเช่นนี้ วันหนึ่ง เขาอาจปลอบปลุกประชาชนผู้รับผิดชอบให้เกิดความสนใจในศิลปะซึ่งหมายถึง วัฒนธรรมของไทย ขึ้นได้ วัฒนธรรมไทยนั้นมิได้หมายถึงแต่เพียงว่า เราแต่งตัวอย่างไร เราทักทายปราศรัยกันอย่างไร หรือเรานั่งเก้าอี้แทนที่จะนั่งพับเพียบกับพื้น หากหมายถึงความคิดทางสมอง ความรู้สึกจากส่วนลึกภายใน และความบันดาลทางจิตใจของเรา นั่นคือลักษณะอันแท้จริงของชาติ ไม่มีสิ่งใดที่แสดงออกซึ่งความรู้สึกทางวัฒนธรรมยิ่งไปกว่าศิลปะ

ที่มา: ศิลป์ พีระศรี ; เขียน ยิ้มศิริ ผู้แปล. “วัฒนธรรมและศิลปะ” สูจิบัตรประกอบการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 10. พ.ศ. 2502.

You may also like...