ผลงานจิตรกรรมของพิชัย นิรันดร์

ผลงานจิตรกรรมของพิชัย นิรันดร์ โดย น.ณ ปากน้ำ
วงการจิตรกรรมสมัยใหม่ในเมืองไทย เพิ่งจะตื่นตัวเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ขณะนี้พอจะนับตัวจิตรกรผู้เขียนภาพสมัยใหม่ได้ซึ่งมีอยู่ไม่กี่คนด้วยกัน ในจำนวนคนเพียงหยิบมือนี้มี พิชัย นิรันดร์ รวมอยู่ด้วยผู้หนึ่ง

ผลงานของพิชัย นิรันดร์ ได้เคยนำออกแสดงในงานศิลปกรรมแห่งชาติ จนหยิบรางวัลเหรียญทองมาแล้ว และยังเคยแสดงร่วมกับกลุ่มศิลปินอื่นๆอีกหลายครั้ง เช่น เคยนำผลงานไปแสดงที่มาเลเซีย แสดงร่วมกับ 12 ศิลปินที่ อ.ส.ท. และก่อนที่จะแสดงเป็นส่วนตัวที่หอศิลป์พญาไท เขาก็ได้ร่วมแสดงกับกลุ่มจิตรกรร่วมสมัยที่หอศิลป์ปทุมวัน อันเป็นระยะห่างกันไม่กี่เดือน

งานแสดงครั้งสุดท้าย อันเป็นผลงานส่วนตัวซึ่งเพิ่งจะจัดแสดงเป็นครั้งแรกที่หอศิลป์พญาไท นับว่าได้เรียกความสนใจจากผู้เข้าชมพอสมควร ส่วนมากมักจะยกย่องและมีมุทิตาจิตในงานเหล่านั้นไม่มากก็น้อย นับว่าไม่เสียเที่ยวเปล่าที่ได้ไปชม เพราะว่าเป็นงานที่แปลกใหม่ไม่ข้องแวะกับคตินิยมใดๆที่แสดงคุณลักษณะอันประจักษ์ชัดก็คือความเป็นตนของตนเองซึ่งจะหาได้ไม่ง่ายนักในยุคปัจจุบันนี้ ข้าพเจ้าเคยตั้งใจมานานแล้วที่จะเขียนแนะนำผลงานใหม่ๆของจิตรกรในยุคนี้ แต่จนแล้วจนเล่าก็ยังไม่มีโอกาสเพราะมักจะเห็นงานของหลายต่อหลายคนอยู่ประปรายตามงานแสดงต่างๆซึ่งยังจับลักษณะปัจเจกภาพไม่ได้อย่างถนัดชัดแจ้งนัก แต่ก็เกิดความนิยมในใจอยู่หลายคนด้วยกัน เช่น ผลงานของ ประยุทธ ฟักผล ดำรง วงศ์อุปราช ปรีชา อรชุนกะ พีระ พัฒนพีระเดช และประพันธ์ ศรีสุตา นอกจากนี้ยังมีคนอื่นๆอีกหลายคนซึ่งน่ายกย่องด้วยกันทั้งนั้น เมื่อได้ชมงานแสดงเดี่ยวของพิชัย นิรันดร์ เข้า จึงถือโอกาสแนะนำจิตรกรผู้นี้เป็นรายแรก และต่อไปเมื่อมีงานของคนอื่นๆที่น่าสนใจแสดงเดี่ยวขึ้นบ้าง ถ้าเป็นงานดีน่าชมก็จะได้แนะนำให้รู้จักเป็นอันดับต่อไป …

… ภาพแรกชื่อ ” มาจากไหน” เป็นภาพสีน้ำมันขนาดใหญ่ใช้เทคนิคสีบางๆฟู่กลมกลืนกันทั้งภาพ สีสดใสและสะอาด ภาพทั้งหมดดูเลือนลางคล้ายจมผลุดโผล่อยู่ในหมอก แต่หมอกอันนี้มิใช่หมอกธรรมชาติ ควรเป็นหมอกอันเกิดจากประสาทตาที่เหลื่อมกันอยู่ยังปรับไม่ได้โฟกัสเสียมากกว่า ในท่ามกลางสิ่งพร่าพรายซึ่งดูคลับคล้ายคลับคลากับมวลชีวิตเมื่อแรกกำเนิด บ้างก็ขดตัวงออยู่ในครรภ์ บ้างก็เติบโตเป็นทารก เห็นเนื้อเยื่อและน้ำเลี้ยงชีวิตฟูฟ่อง ทุกอย่างลอยอยู่ในกระแสธารของชีวิต ซึ่งเราไม่อาจรู้ว่าสิ่งเหล่านี้มาจากไหน แม้เบื้องล่างอันมีเศษกระดูกและสิ่งอันไร้สาระต่างๆตกตะกอนอยู่ เราก็ไม่อาจหยั่งไปถึงเบื้องปลายคืออนาคตว่าเป็นเช่นไรเช่นกัน

เมื่อได้ยืนอยู่เบื้องหน้ารูปนี้ แม้ว่าชื่ออันเป็นปริศนาจะไม่ถูกตั้งขึ้นมาเราก็อดที่จะนึกคิดในใจไม่ได้ว่า สรรพชีวิตเหล่านี้มาจากไหน มาได้ด้วยอย่างไร ควรจะถือว่าภาพนี้เป็นสาระทั้งเนื้อหาและรูปความคิดอันเป็นแก่นสารสำคัญสำหรับคนยุคนี้ที่หลงละเมอเพ้อพกหยิบฉวยเอาสิ่งปลอมๆมาประดับตน แล้วอวดตัวทำได้ต่างๆนานา แท้จริงนั้นเราต่างไม่รู้ด้วยกันทั้งนั้นว่า ตนเองนั้นคือใคร มาจากไหน ภาพนี้เขียนด้วยวิธีแบบโรแมนติกผสมเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ มีคติการจัดภาพแบบแอบสแตรคปะปนอยู่ด้วย ควรนับว่า พิชัย นิรันดร์ ผู้เขียนภาพเป็นคนฉลาด สามารถนำคติอันเป็นสื่อกลางของวิธีการต่างๆมาผสมผสานกันได้อย่างน่าพิศวง

ภาพที่สอง ” ไม่มีชื่อ” เป็นภาพซากนกและปลาอันตายตกตะกอนในแต่ละภพชาติของตน มองเห็นภพและสภาวะของอุปาทานอันก่อเนื่องเป็นภพมีส่วนเชื่อมสัมพันธ์กันอยู่ เห็นแล้วนึกถึงพระไตรลักษณ์ ทุกอย่างอย่าว่าแต่คนเลย แม้สัตว์และพืชย่อมล้วนแต่อยู่ในข่าย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วยกันทั้งสิ้น ดูภาพนี้ซึ่งเขียนในแนวสมัยใหม่ชวนให้คิดไปได้ต่างๆนานา ว่าถึงความงามในการจัดภาพ นับว่าเป็นเอกชวนให้พิจารณานานๆ อยากได้ภาพเหล่านี้ไปติดไว้ในวัด เพื่อเตือนใจให้สาธุชนได้เห็นถึงความไม่เป็นแก่นสารของชีวิต ซึ่งเบื้องปลายล้วนแต่ฝังซากของตัวเองทับถมกันเกลื่อนแผ่นดิน ไม่ผิดอะไรกับซากนกและปลาเหล่านี้ สำหรับสีในภาพนี้ตรงกันข้ามกับภาพแรกอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ กล่าวคือภาพแรกใช้สีสะอาดบางๆเป็นสีฟ้า ชมพู และเหลืองหม่นอ่อนๆเจือจางอยู่ในสีขาวใส บ่งให้เห็นถึงสัญลักษณ์สิ่งแรกเกิด ส่วนภาพหลังใช้สีน้ำตาลหนักๆชวนให้คิดถึงความตายและซากอันปราศจากชีวิตซึ่งหันหลังให้กับความสดใสโดยสิ้นเชิง

ภาพที่สาม ชื่อ “ความต้องการ” เป็นภาพสีน้ำมันขนาดใหญ่ ระบายด้วยสีสะอาดใสเหมือนภาพที่หนึ่ง อันความต้องการหรือตัณหาก็คือตัวเดียวกัน มนุษยชาติเรานี้ต่างเวียนว่ายตายเกิดอยู่ใน เวทนา ตัณหา อุปาทาน ด้วยกันทั้งสิ้น นี่คือภาพสัญลักษณ์ของชีวิตแสดงถึงการดิ้นรน กระสันที่จะดำรงอยู่ในภพชาติของตน มีตัณหาคือความต้องการ เป็นนายกัปตันนำวิถี ดูภาพนี้แล้วก็เหมือนอ่านบทกวีเพราะๆที่บรรยายความเป็นไปของชีวิตด้วยเส้นและน้ำหนัก ชวนให้นึกถึงกาพย์ของ อังคาร กัลยาณพงศ์ ซึ่งพรรณาไว้ว่า

” ถึงภพหน้าฟ้าอื่น ไม่ฟื้นขึ้นชื่นใจใฝ่ฝัน ฟอสซิลดิ้นผวาจาบัลย์ หินผานั้นจะเปื่อยเป็นดิน เผาะเผาะน้ำค้างพร่างพราย รินรินหลายสายกระแสสินธุ์ นองเนินไกรลาสศีขรินทร์ สิ้นสุดหล้าป่าหิมพานต์”

ภาพที่สี่ ชื่อ “วงกลม” หรือสังสารวัฏเขียนด้วยสีน้ำมันขนาดใหญ่ท่วมหัวเช่นเดียวกับภาพแรกๆ สีคล้ายภาพที่สอง มีข้อน่าตำหนิอยู่อย่างหนึ่งก็คือสีที่ล้อมรอบวงกลมใช้สีตัน หากใช้สีสะอาดก็จะดูงดงามมิใช่น้อย ทั้งๆที่ภาพภายในวงกลมเขียนอย่างจับจิตจับใจ พอมาถูกล้อมกรอบด้วยสีขุ่นๆ ก็เท่ากับไปทำลายเอกภาพของส่วนข้างในให้สะเทือนหวั่นไหวไปด้วย ข้อนี้หวังว่า พิชัย นิรันดร์ คงจะเข้าใจเจตนาดีของการติเพื่อก่อไว้ด้วย ภาพสุดท้ายชื่อ ” เดือนมืดในป่า” พอจะมองเห็นอารมณ์กวีของเขาอย่างถนัดชัดแจ้งในภาพนี้ เห็นอารมณ์ของป่า ดวงตาของสัตว์ร้าย ดวงดาว และตานกฮูก มีประกายแอบแฝงเร้นลับอยู่ในความมืด

น่าเสียดายสำหรับท่านที่ไม่มีโอกาสได้ชม เพราะจะได้มีโอกาสดูสีสันจากของจริงๆซึ่งชวนประทับใจมากกว่าภาพขาวดำนี้มากนัก อย่างไรก็ดี ท่านที่ได้ชมเพียงภาพขาวดำก็คงจะประจักษ์ชัดแก่ตาของท่านเองแล้วว่างานของเขามีค่าควรแก่การยกย่องเพียงไร เพราะว่าข้าพเจ้าชื่นชมในผลงานเหล่านี้ จึงได้มีแก่ใจเขียนอารัมภบทให้ในสูจิบัตรงานแสดงของพิชัย นิรันดร์ จึงขอถือโอกาสคัดลอกอารัมภบทนั้นมาลงไว้ในตอนท้ายนี้ด้วย เพื่อให้การแนะนำผลงานของจิตรกรผู้นี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นดังนี้

” ภาวะนามธรรมของศิลปะเริ่มอุบัติขึ้น เมื่อทฤษฎีสีแสงในธรรมชาติได้วิวัฒนาการขึ้นสู่จุดอิ่มตัวสูงสุด คณาจารย์ จิตรกรต่างก็เผยแพร่ลัทธิตามคติความคิดเห็นของตน ล้วนแตกแขนงแปลกกันไปไม่มีที่สิ้นสุด คติเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจยาการในโลกของสีโดยเฉพาะ หาได้ยึดถือของเก่าคือธรรมชาตินิยมและมโนภาพนิยม อันเคยยกย่องสืบต่อกันมาหลายศตวรรษนั้นไม่ นัก อิมเพรสชั่นนิสม์เป็นกลุ่มผู้บุกเบิกยอมมอบกายถวายชีวิตให้แก่โลกของสี และบรรยากาศอันมีส่วนพัวพันกันอย่างแนบแน่นเป็นปฐม ต่อจากนั้นกลุ่มสัญชาตญาณป่าหรือที่เรียกกันว่าโฟเวอได้เร่งเร้าให้ชาวโลกรู้จักอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของสี ซึ่งสามารถจะปลุกปั้นให้เป็นโลกจักรวาลแม้กระทั่งสิ่งอันเกิดในภวังคจิต หลักการอันนี้นักสังเคราะห์สีรุ่นใหม่ คือกลุ่มนาบิสนำมาปฏิรูปใหม่โดยจับเคล็ดลับปัจจยาการของสีจากรังสีแสงในบรรยากาศ ตลอดจนการเกิดและแตกดับของสีหนึ่งกับสีอีกสีหนึ่งมีภาพชาติต่อเนื่องกันตามนัยแห่งปฏิจจสมุปบาท กล่าวคือ สีใดสีหนึ่งเมื่อสถิตอยู่ในภาวะสีหนึ่งย่อมเปล่งภาวะภพชาติ ตัณหา อุปาทานของมันออกมาอย่างพร้อมมูล

สิ่งเหล่านี้แสดงออกด้วยรังสีในสเปคตรัมซึ่งจิตรกรจับเอามาร้อยกรองเป็นงานจิตรกรรม เพราะว่าแนวใหม่นี้มีทางออกอย่างกว้างไพศาล เปรียบเสมือนนทีที่ไหลสู่เวิ้งมหาสมุทร ย่อมไม่อาจหยั่งถึงขอบเขตความสิ้นสุดของมันได้ จิตรกรแห่งยุคสมัยนี้ จึงตัดกังวลในคณปลิโพธ คือการถือกลุ่มคณะเหมือนแต่ก่อน ณ บัดนี้งานศิลปะได้ถูกปลดปล่อยจากความพิชาญ และการบงการของศาสนา และแม้กระทั่งกรอบข้อบังคับของนักวิจารณ์ศิลปะ นั่นก็คือเมื่อจิตรกรเข้าถึงสัญลักษณ์ และอารมณ์นามธรรมของสีทั้งลีลาอัตโนมัติในน้ำหนักแสงเงา โดยไม่ยอมให้อายตนะทั้งปวงคอยรายงานความรู้สึกอันมากระทบใจ แล้วคอยรายงานสมองว่าควรจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หามิได้ จิตอันได้รับการอบรมในสุนทรียะอิสระอันมีสีเป็นประธาน ย่อมครอบงำด้วยภูตัตถตารมณ์ หาได้ยินดียินร้ายในรูปและสัญญาเก่าๆไม่ ความอหังการและมมังการก็ย่อมจะถูกปลดปล่อยไปเสียด้วย เพราะภาวะอันก่อรูปและสัญญาต่างๆล้วนเป็นอนิจจังเสียทั้งนั้น ความเป็นอนัตตาของงานศิลปะ ก็คือการทิ้งรูปแบบและความเชื่อดึกดำบรรพ์ลงไป มาสู่ภาวะใหม่คือรูปารมณ์ และศิลปะชนิดนี้เรียกกันว่าศิลปะนิรรูป

ขึ้นชื่อว่างานศิลปะก็ย่อมต้องอาศัยการฝึกฝนทั้งฝีมือและรสนิยมโดยฝึกปรือเสมอมิได้ว่างเว้น แม้ดูเผินๆว่าศิลปะแนวใหม่นี้จะไม่ยึดถือรูปหรือเหตุบันดาลใจใดๆ นอกจากภพในภวังคจิตหรือความผสานกันโดยอัตโนมัติของสี โดยมีสุนทรียะที่ฝึกฝนแล้วเป็นเครื่องบงการ เช่นเดียวกับวลีต่างๆอันเปล่งออกมาจากแถวแนวอันยาวเหยียดของเพลงซิมโฟนี่ เป็นกลไกอันพิสดารเหลือจะพรรณนาให้เข้าใจง่ายๆ แม้การเข้าถึงเพียงชั่วระยะฉาบฉวย ผู้ได้รับการฝึกมาดีแล้วย่อมได้เปรียบกว่าผู้ไม่คุ้นเคยมาก่อนอย่างแน่นอน อย่างไรก็ดี ความแปร่งปร่าของศิลปะทั้งปวงย่อมจะมีจุดหยั่งเหมือนหูของนักดนตรีย่อมจับได้ฉับพลันว่า อะไรเพี้ยนอะไรผสานกันเป็นเลิศ

ข้อนี้ในภาพเขียนก็ฉันนั้น งานที่ดีย่อมขึ้นอยู่กับความมีวสีของจิตรกร และจิตรกรที่ดีย่อมจะยึดมั่นในคติปัจเจกภาพของตนเป็นใหญ่ หาได้หวั่นไหวต่อโลกธรรมทั้งปวงไม่ ข้าพเจ้ามั่นใจว่าเมื่อทุกท่านได้เห็นผลงานของพิชัย นิรันดร์ แล้วก็คงจะยอมรับว่าเขาคือ จิตรกร อันคู่ควรแก่การยกย่องในยุคปัจจุบันนี้ และทุกสิ่งทุกอย่างอันเป็นคุณสมบัติของจิตรกรที่ดีดังที่ข้าพเจ้าพรรณนามานั้น เขามีอยู่อย่างครบถ้วนในตัวและแม้ในผลงานเหล่านี้ด้วยแล้ว คำนำนี้ ข้าพเจ้าได้เขียนให้แก่จิตรกรไทยผู้รักและมีเจตจำนงอันแรงกล้าที่จะสร้างสรรค์ผลงานให้ดีเด่นทั้งฝีมือ เทคนิค และความคิด แม้ว่างานเหล่านี้อาจจะมิใช่ผลงานที่สุกงอมของเขา ซึ่งเป็นเพียงระยะเริ่มผลิตเมล็ดตมออกมาเท่านั้น ถึงกระนั้นเมื่อท่านผู้อ่านได้เห็นผลงานที่ตีพิมพ์ประกอบด้วยนี้ก็คงจะประจักษ์ชัดแก่ใจตนเองว่า ข้าพเจ้ามิได้กล่าวเกินความจริงไปเลยแม้แต่น้อย

ที่มา: ประยูร อุลุชาฏะ. “ผลงานจิตรกรรมของพิชัย นิรันดร์.” ศิลปทัศน์ , พระนคร : โอเดียนสโตร์ 2511, หน้า 277-291.

You may also like...